เปิดภาพประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เล่าเรื่องราวสยามประเทศ.... จักรพงษ์นิทรรศน์ นิทรรศการแสดงพระประวัติและผลงาน ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เริ่มจัดแสดงวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง วันที่ 30 กันยายน 2560 เวลา 10:00-18:00 (หยุดทุกวันจันทร์และวันอังคาร) ณ ตำหนักจิตรลดา พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน เข้าชมฟรี.....






นับว่าเป็นครั้งแรกกับการจัดแสดงลายพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ






ภายในนิทรรศการยังจัดแสดงภาพร้อยปีสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งแสดงภาพเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ของสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีการส่งกองกำลัง ทหารอาสาไปร่วมสู้รบ พร้อมกันนี้ยังมีหนังสือที่เล่าเรื่องราวการร่วมข้อมูลสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยามและประโยชน์ที่สยามได้รับจากการชนะสงครามทั้งที่เป็นเรื่องภายในประเทศและระดับโลก โดยในปีนี้นับเป็นเวลาครบรอบหนึ่งร้อยปีที่สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 (ครบรอบในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 )ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี





จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นต้นราชสกุล "จักรพงษ์" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ มีชื่อเล่นเรียกกันระหว่างญาติพี่น้องว่า เล็ก เจ้าฟ้าจักรพงษ์และหม่อมคัทริน พระชายา ชาวรัสเซีย





เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระองค์ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการทหารเป็นเสนาธิการทหารบก โดยทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ
ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในเมืองไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย"





ตำหนักจิตรลดา เป็นอาคารแบบอิตาเลียนวิลล่า สูง ๒ ชั้น ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบสติลลิเบอร์ตี้ (Stile Liberty) ของอิตาเลียน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับ สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว ของฝรั่งเศส

นายมาริโอ ตามาญโญ นายช่างเอกแห่งกรมโยธาธิการ เป็นผู้ออกแบบในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๔๖-๒๔๔๘ ก่อสร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช ๒๔๔๙


สถาปนิกออกแบบให้ผังตำหนักจิตรลดาเป็นรูปตัว U... แบบไม่สมมาตร โดยวางตำแหน่งมุขทางเข้าค่อนมาทางทิศเหนือ เพื่อสร้างความน่าสนใจ โดยออกแบบให้เป็นมุขโปร่ง เพื่ออวดโครงสร้างคาน และเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก อันเป็นวัสดุนำสมัยในขณะนั้น ตำหนักจิตรลดา ถือเป็นตัวแทนของอาคารยุคศิลปะ


สติลลิเบอร์ตี้ หรือ อาร์ตนูโว อันเป็นศิลปะสมัยใหม่ที่กำลังนิยมในยุโรปช่วงต้นศริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ที่ส่งอิทธิพลมาสู่สยามประเทศ แสดงถึงการปรับใช้ภาษาสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ตลอดจนโครงสร้างและวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ โดยออกแบบให้ประสานสอดคล้องกับสภาพอากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายสยาม ในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นอย่างดี





นิทรรศการทั้งสองจะพาผู้ชมเรียนรู้เรื่องราวสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่ผ่านมากว่า ศตวรรษ นอกจากนี้ทางสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “ถึงลูกชายเล็ก” โดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ที่รวบรวมเรื่องราวพระประวัติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ในช่วงที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศรัสเซีย โดยศึกษาค้นคว้าผ่านพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโต้ตอบกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ และหนังสือ “สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1” โดยคุณสเตฟาน เฮลล์ ที่เล่าเรื่องราวการมีส่วนร่วมของสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1ได้อย่างมีสีสัน






รัชกาลที่ ๕ ทรงส่งนายพุ่มไปเรียนโรงเรียนนายร้อยรัสเซียพร้อมกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถก็เพื่อให้พระองค์ท่านเกิดขัติยะมานะในการศึกษาเล่าเรียนว่า พระองค์จะเรียนแพ้สามัญชนไม่ได้ ... จึงทำให้พระองค์ท่านตั้งพระทัยเล่าเรียนจนได้ที่หนึ่งของโรงเรียนนายร้อยรัสเซีย ... โดยมีนายพุ่มตามมาติดๆโดยสอบได้เป็นที่ ๒รัสเซียสมัยนั้นเป็นชาติมหาอำนาจในยุโรปที่ชาติต่างๆต้องเกรงใจ





ท่านทรงเป็นผู้บุกเบิก การฑูตยุคแรกๆ ระหว่าง ไทย-รัสเซีย





การเสด็จทิวงคตของจอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความโศกเศร้าอาลัยต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชการฝ่ายทหารอย่างสุดซึ้ง ดังปรากฏข้อความในคำนำหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ มีความตอนหนึ่งว่า


....นอกจากเธอเป็นน้องที่ข้าพเจ้ารักมากที่สุด เธอยังได้เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยราชการอย่างดีที่สุดหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ โดยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุมากกว่าเธอ ข้าพเจ้าจึงได้เคยหวังอยู่ว่าจะได้อาศัยกำลังของเธอต่อไปจนตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ฉะนั้นเมื่อเธอได้มาสิ้นชีวิตลงโดยด่วนในเมื่อมีอายุยังน้อย ข้าพเจ้าจะมีความเศร้าโศกอาลัยปานใด ขอท่านผู้ที่ได้เคยเสียพี่น้องและศุภมิตรผู้สนิทชิดใจจงตรองเองเถิด ข้าพเจ้ากล่าวโดยย่อ ๆ แต่เพียงว่าข้าพเจ้ารู้สึกตรงกับความที่สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงไว้ใน
เตลงพ่ายว่า “ถนัดดั่งพาหาเหี้ยน หั่นให้ไกลองค์”


เมื่อจอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จทิวงคต สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา 3 เดือน 10 วัน พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิศริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช พระราชทานเศวตฉัตร 5 ชั้น ประดับเหนือพระโกศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จมาพระราชทานเพลิงพระศพพระอนุชาฯ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2463 พระอังคารของพระองค์ได้บรรจุไว้ที่อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามตราบเท่าทุกวันนี้




“วังปารุสกวัน” หรือย่อว่า “วังปารุสก์” ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449

ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล



ขอบคุณทุกการติดตาม

ท่านสามารถชมรีวิวอื่นๆได้ที่ www.facebook.com/reviewsiam , www.reviewsiam.com


รีวิวสยาม

 วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เวลา 22.15 น.

ความคิดเห็น