งานสงกรานต์ที่เปียมไปด้วยความงดงามทางวัฒนธรรม ความสามัคคี และความแปลกที่ไม่มีใครเหมือน


การเดินทางเล็กๆของเราครั้งนี้เริ่มจากความคิดที่ว่า สงกรานต์นี้ไปไหนดีว่ะ

หลายคนอาจจะอยากไปเที่ยวเล่นน้ำตามแหล่งชุมชนต่างๆ ถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว รึถนนข้าวไรซ์เบอร์รี่

แต่ในโอกาสดีที่หนึ่งปีจะมีสักครั้ง ผมอยากออกไปเจอโลกมากกว่า อยากไปเจออะไรที่นานๆจะมีสักครั้ง

สงกรานต์ชาวมอญที่เมืองสังขละจึงเป็นคำตอบสำหรับความคิดนี้...

เพราะสงกรานต์ที่นี้มีเสน่ห์ไม่แพ้สงกรานต์ที่ไหนในประเทศทั้งนั้น

เริ่มต้นการเดินทางจากกรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรยามรถยนต์น้อยยิ่ง

เรามาขึ้นรถตู้ไปเมืองกาญที่อนุสาวรีชัย



ท่ารถตู้ไปกาญที่นี้มีหลายเจ้ามีหลายมุมแต่เราเลือกท่ารรถตู้ที่อยู่ใกล้ๆห้างเซนจูรี่ ราคารถไปเมืองกาญ 125 บาท


นั่งรถไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ถึงใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเราก็มาถึงสถานนีขนส่งเมืองกาญ

ที่นี้เราต้องต่อรถตู้อีกหนึ่งต่อเพื่อไปเมืองสังขละบุรี ราคาประมาณ 175 บาท


ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเราก็มาถึงโดยสวัสดิภาพ การเดินทางในเมืองสังขละนั้นจะให้ดีก็น่าจะเช่ามอไซค์ครับ

อยากจะไปไหนก็ไปได้ แต่ถ้าไม่คิดจะไปไหนมาไหนบ่อยๆก็ใช้บริการของพี่สุชาติ วินมอไซค์รับจ้างคนเก่งของเรา

และอย่าลืมขอเบอร์พี่เค้ามาด้วยเพื่อเวลาเรียกใช้จะได้โทรหาพี่เค้าได้เลย

สำหรับผมมีรุ่นน้องทำงานอยู่ที่นี้เลยโชคดีหน่อย น้องเค้าเลยอาสาเป็นไกด์ผมเที่ยวเมืองสังขละบุรี

ที่เเรกที่เรามาก็คือจุดเล่นน้ำซองกาเลีย ผมมาสังขละก็หลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เคยมาที่นี้เลย

สงสัยตัวเองอยู่ว่าเอาตาไปไว้ไหนเนี่ยยยยยยย


จุดนี้เรียกได้ว่าเป็นแหล่งพักผ่อนของชาวสังขละเลยก็ได้ครับ

มีแคร่ไม้ไผ่อยู่ริมลำธารให้ยื่นขาไปเล่นได้ ห่วงยางก็มีให้เช่า อาหารก็มีให้ซื้อ


ฟินมากกกกกกกก....ให้นอนที่นี้ทั้งวันยังได้


พอเริ่มค่ำก็ได้เวลาไปเดินที่ถนนคนเดินสังขละ เราจะไปหาขออร่อยๆกินกันที่นี้แหละครับ

อย่างแรกคือหมูจุ่มไม้ละบาท อาหารยอดฮิตที่ใครมาต้องกิน


อันนี้คือซาโมซ่า รสชาติแบบเครื่องเทศมาเต็ม....


วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่มีพิธีสงฆ์น้ำพระแล้วครับ แต่ผมขอเล่าสักนิดนึงก่อนว่า

สงกรานต์มอญสังขละบุรีนั้นมีการจัดงานทั้งหมด 5 วันด้วยกัน

โดยยึดถือวันตามปฏิทินสงกรานต์ โดยวันที่ 1 คือวันสงกรานต์ลง ซึ่งหมายถึงวันที่นางสงกรานต์จะนำเศียรของท้าวกบิลพรหม

ลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลา 3 วัน วันที่ 2 คือวันคาบปี หรือวันสิ้นปี วันที่ 3 คือวันสงกรานต์ขึ้น ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่

วันที่ 4 คือวันสรงน้ำพระ และวันที่ 5 คือวันตรวจน้ำ หรือกรวดน้ำ ซึ่งนั้นนี้ก็คือวันที่สีนั้นเองครับ

ชาวบ้านจะเตรียมน้ำอบน้ำปรุงลอยดอกไม้มาเพื่อสรงน้ำพระ


วันนี้ชาวมอญ โดยเฉพาะสาวๆ ที่จะแต่งหน้าอย่างสวยงาม สวมเสื้อแขนยาวลูกไม้โปร่งสีสันสดใสและนุ่งผ้ายาว

ใส่เครื่องประดับแบบจัดเต็มกันเลยทีเดียว


ประมาณบ่ายสี่...ชาวมอญจะเริ่มมาจับจองที่ในการสรงน้ำพระกันแล้วครับ


หนุ่มๆบางส่วนก็จะมารอรับพระสงฆ์ ให้พระสงฆ์เหยียบร่างของตนเพราะชาวบ้านจะถือว่าพระสงฆ์ เป็นผู้บริสุทธิ์

ที่ไม่สมควรจะเหยียบย่ำหรือสัมผัสกับพื้นดิน


พิธีจะเริ่มจากการอัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งถือว่าเป็นตัวเเทนของพระพุทธเจ้า มาทรงน้ำพระก่อนครับ


จากนั้นพระสงฆ์จะเดินเรียงกันออกมาจากองค์เจดีย์ และเดินเหยียบไปบนหลังชายผู้มีศรัทธาที่นอนคว่ำเรียงรายกัน



จนถึงปลายรางไม้ไผ่ ซึ่งชาวมอญก็จะเทน้ำผ่านรางไม้ที่ทำมาจากไม้ไผ่ แล้วไหลไปรวมที่พระสงฆ์




หลังจากสรงน้ำพระเสร็จชาวบ้านผู้ชายจะช่วยกันอุ้มพระไปส่งที่บันไดวัด เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ต้องสัมผัสกับพื้นดิน

และหลังสรงน้ำพระทุกรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวมอญจึงนำน้ำที่เหลือจากการสรงน้ำพระ

มาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานก็เป็นอันเสร็จพิธีในวันที่สี

เวลายังมีเหลือเราจึงนั่งเรือไปยังวัดวังวิเวการามหลังเก่าหรือวัดบาดาลนั่นเองครับ


ค่าเรือไม่แพงมากครับ แต่ละเจ้าราคาเท่ากันมีมาตรฐานเหมือนกันหมด


ปีนี้แล้งหนักจริงครับ...สองปีแล้วช่วงเดียวกันผมมาที่นี้ยังไม่เเล้งเท่านี้เลย


ครั้งนี้ได้มาวัดบาดาลยามเย็นเลยขอเก็บแสงสวยๆหน่อย


ขากลับผมขอให้ลุงไปส่งที่สะพานมอญครับ เพราะจะได้เดินกลับที่พักได้ง่ายๆ ตอนนี้น้ำน้อยจนสันดอนกลางน้ำโพล่ขึ้นมาเลย



เช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ (ปี2559 นี้ตรงกับวันที่ 18 เมษายน)

ชาวมอญจากซุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้านจะพร้อมใจกันจัดกองผ้าป่าที่ตกแต่งเป็นรูปหงส์ สีเงิน-สีทอง อย่างสวยงาม


พร้อมด้วยเครื่องสังฆทาน สำรับอาหารคาว-หวาน และจตุปัจจัยไทยธรรม มารวมพร้อมกันที่หน้าตลาดวัดวังก์กลางหมู่บ้าน


จากนั้นจะร่วมกันแห่กองผ้าป่า นำขบวนด้วยการฟ้อนรำตามแบบชาวมอญที่สนุกสนาน

เดินเท้าเป็นแถวยาวไปยังศาลาการเปรียญของวัดวังก์วิเวการาม


ที่ศาลาการเปรียญนี้ชาวบ้านก็จะเอาอาหารคาวหวานมาวางไว้ที่นี้ก่อนครับ


ชาวบ้านบางคนก็จะได้พักผ่อนกันบ้างก่อนจะเริ่มพิธีต่อไป


จากนั้นชาวมอญทั้งหมดพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งวัด จะมาตั้งแถวร่วมกันหามเสลี่ยงอัญเชิญยอดฉัตร 9 ชั้นจากวัดวังก์วิเวการาม

ไปยังเจดีย์ทรายที่ชาวบ้านได้ร่วมกันก่อไว้ที่บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยา


เชื่อกนี้จะยาวมากครับ เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมในพิธีอัญเชิญยอดฉัตรนี้ได้ครบทุกคน



เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงเจดีย์ทรายจะอัญเชิญยอดฉัตรเดินวนขวา 3 รอบ




จากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามจะร่วมกันอัญเชิญฉัตรขึ้นไปประดิษฐานที่ยอดบนสุดของเจดีย์ทราย

พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วชาวบ้านร่วมกันโปรยทาน


จากนั้นชาวมอญจะกลับมาที่ศาลาวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศบุญกุศล

ก็จะเป็นอันจบสิ้นประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญสังขละบุรีแล้วล่ะครับ

.

.

.

สำหรับผมมันเป็นประเพณีสงกรานต์ที่งดงาม เต็มไปด้วยความสามัคคี ความสนุกสนาน

และยังมีเอกลักษณ์ของชาวมอญไว้อย่างเต็มเปี่ยม

ซึ่งหากเป็นไปได้ผมก็อยากให้สงกรานต์ที่เราเห็นกันอยู่ดาษดื่นเป็นสงกรานต์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าแบบนี้มากๆครับ

ว่างๆก็ไปเยื่ยมกันได้ที่ WeFoto นะครับ

Wefoto

 วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 13.45 น.

ความคิดเห็น