วันนี้ยังพอมีเวลาที่จะไปเที่ยวป้อมแดง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเดลี เราเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า Metro โดยลงที่สถานี Chandni Chowk
บนเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้าสู่ป้อมแดงซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่าหรือโอล์ดเดลีพาให้เราสัมผัสวิถีชีวิตของชาวอินเดียที่ปรากฏบนทางเท้าที่เราก้าวผ่าน ไม่ว่าจะเป็นที่นอนบนทางเท้าของคนไร้บ้าน ร้านอาหารแบกะดิน ห้องปัสสาวะที่เปิดโล่งเย้ยฟ้าท้าลม ซึ่งจริงๆแล้วจะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ เพราะพวกเขาสามารถปลดทุกข์ทั้งหนักและเบาได้อย่างหน้าตาเฉยริมถนนที่ผู้คนสัญจรไปมา การใช้ชีวิตสำหรับพวกเขาจึงดูเป็นเรื่องง่าย ไม่มีความซับซ้อนเหมือนพวกมีอันจะกิน ที่แม้จะเดินบนดิน แต่เท้าก็ไม่เคยสัมผัสถึงความอ่อนหยาบของดินที่ตนเหยียบ
แม้สิ่งที่ได้เห็นจะดูแล้วไม่เจริญหูเจริญตา แต่นั้นก็คือวิถีชีวิตอันแท้จริง ที่ปราศจากการปรุงแต่งเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมได้เลือกแล้วที่จะพาตัวเองมาเรียนรู้และสัมผัส
หลังจากเห็นความแตกต่างถึง 25 เท่าของราคาค่าเข้าป้อมแดง (Red Fort) ระหว่าง 10 รูปีสำหรับชาวอินเดีย กับ 250 รูปีสำหรับชาวต่างชาติ ผมก็ถึงกลับถอยมาตั้งหลัก จนเกิดความลังเลว่าค่าเข้าแพงขนาดนี้จะเข้าดีไหมหนอ ซึ่งหากเป็นการ์ตูน ในเวลานี้คงเกิดรูปหลอดไฟสว่างขึ้นมาที่หัวของหรั่ง เมื่อหรั่งเกิดความคิดปริ๊งขึ้นมาว่า คนไทยสนิทสนมกลมเกลียวกับคนอินเดียประดุจญาติมิตร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์มาเผยแพร่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ จึงน่าจะสามารถใช้พาสปอร์ตลดราคาค่าเข้าได้ แต่ก็ติดปัญหาว่าตัวหรั่งเองดันลืมพาสปอร์ตไว้ที่ห้องพัก เพื่อเห็นแก่เงิน งานนี้ผมจึงอาสาไปซื้อตั๋วให้เพื่อนๆ โดยยื่นพาสปอร์ตของผมเพียงคนเดียว แล้วตั๋วเข้าราคา 10 รูปีเหมือนคนอินเดีย ก็ตกเป็นของพวกเรา ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในศักยภาพ และสำนึกบุญคุณพาสปอร์ตไทยเป็นยิ่งนัก
เราเดินผ่านซุ้มประตูอันสูงใหญ่ ซึ่งชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อว่าป้อมแดง เนื่องจากสีของป้อมที่เป็นสีแดงตามสีของหินทรายที่ใช้ในการก่อสร้าง แต่สำหรับชื่อจริงๆที่เป็นภาษาอินเดียนั้นเพราะพริ้งกว่า แถมยังมีความหมายดีๆว่า ลาลคีลา (Lal Qila) อันหมายถึงความสุข เนื่องจากภายในป้อมปราการที่สูงตระหง่านนี้เป็นที่ตั้งของหมู่พระตำหนักของกษัตริย์ในราชวงศ์โมกุล ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนาอันกว้างใหญ่ โดยได้รับการออกแบบให้เป็นดั่งสรวงสวรรค์ตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่กล่าวไว้ว่า หากสวรรค์บนดินมีอยู่จริง สวรรค์แห่งนั้นก็คงอยู่ ณ ที่แห่งนี้
ป้อมแดงในอดีตนั้นมีความสำคัญถึงกับเป็นจุดศูนย์กลางของเดลี เมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรที่กษัตริย์ชาห์ จาฮัน (Shah Jahan) แห่งราชวงศ์โมกุล (Mughal Emperor) ซึ่งเป็นพระองค์เดียวกับที่ทรงสร้างทัชมาฮาล ทรงสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2182
ด้วยเหตุที่ราชวงศ์โมกุลเป็นราชวงศ์นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากดินแดนตะวันออกกลาง รูปร่างหน้าตาของป้อมแดงจึงมีโครงสร้างตามศิลปะแบบเปอร์เซียอยู่มิใช่น้อย ผมจึงต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองไปยังยอดป้อมที่มีลักษณะคล้ายโดมของมัสยิด ที่ตั้งตระหง่านบนกำแพงสูงกว่า 20 เมตร
ผ่านพ้นจากแนวกำแพงสู่พื้นที่ภายใน แต่เราก็ยังไม่ได้ไปไหน เนื่องจากป้อมปราการที่เห็นเด่นสง่าจากด้านนอกนั้น ภายในจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นยุทโธปกรณ์ และโมเดลจำลองของการทำสงครามในอดีต โดยป้อมแห่งนี้ได้รับหน้าที่หนักในคราวที่กองทัพอังกฤษยกพลมายึดครองในปีพ.ศ.2400 ซึ่งเป็นเหตุให้กษัตริย์บาฮาดูร์ ชาห์ที่ 2 (Bahadur Shah II) กลายเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของประเทศอินเดีย อันเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์โมกุล และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเกิดเมืองใหม่ หรือนิวเดลีในยุคปัจจุบัน
แม้หน้าที่ในการเป็นป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกของป้อมแดงได้สิ้นสุดลง แต่ด้วยความยิ่งใหญ่และอายุการก่อสร้างนับร้อยปี ทำให้ป้อมแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีพ.ศ.2550 พร้อมกับการรับบทบาทใหม่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงนิวเดลี
นักท่องเที่ยวคลาคล่ำอยู่ตามพระตำหนักที่ตั้งกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง แต่ไม่มีพระตำหนักใดจะมีความโดดเด่นเท่ากับคาส มาฮาล (Khas Mahal) ที่สร้างขึ้นจากหินอ่อน โดยมีลวดลายสลักเสลาอย่างสวยงาม โดยเฉพาะลายดอกไม้ที่กำลังผลิบานนั้นอ่อนพลิ้วจนทำให้ผมเผลอใจปล่อยให้เหล่าดอกไม้นั้นงอกงามในใจจนล่วงเลยถึงเวลาพระอาทิตย์เริ่มยอแสง
จากความใหญ่โตของพระตำหนักและป้อมปราการของกษัตริย์ เรากลับมาสู่วิถีชีวิตของชาวอินเดียในปัจจุบัน ในเวลานี้ถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างป้อมแดงกับสถานีรถไฟนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ส่วนใหญ่กำลังใช้เวลานี้กับอาหารมื้อเย็นตามร้านอาหารที่เรียงรายตลอดเส้นทาง แม้ร้านอาหารอินเดียจะมากเพียงใด แต่หรั่งกับต้นกลับเลือกที่จะกำจัดพื้นที่ว่างในกระเพาะด้วยเมนูอาหารของร้านฟาสท์ฟู้ดที่คุ้นเคย แต่สำหรับผม จุ๊และเบสท์ นั้นตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าตลอดทริปนี้จะเทพื้นที่กระเพาะให้กับอาหารอินเดียเท่านั้น
เพราะการมา Check In ในความหมายของผม มิใช่เพียงมาถ่ายรูปกับสถานที่ท่องเที่ยว แล้วนำไปโพสท์เพื่ออวดเพื่อนๆว่าเรามาถึงแล้ว เตรียมกด Like หรือ Comment กันได้เต็มที่ หากแต่หมายถึงการได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนที่เราไปสัมผัส ฉะนั้นการลิ้มลองอาหารถิ่นริมถนน ที่คนท้องถิ่นเขากินกัน ไม่ใช่การกินอาหารในร้านที่ขายนักท่องเที่ยวที่แต่งหน้าตาอาหารไว้อย่างสวยหรู จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมไม่พลาด ผมจึงชักชวนสองสาวเข้าร้านอาหารอินเดียที่ลูกค้าแน่นร้าน โดยเริ่มจากอาหารเรียกน้ำย่อยอย่าง Tiki Chat ซึ่งเป็นแป้งทอดแล้วราดน้ำจิ้มรสเปรี้ยวๆหวานๆ ข้างในสอดไส้ แต่กินจนหมดก็ยังเดาไม่ถูกว่าไส้นั้นทำมาจากอะไร ต่อด้วย Besan Chila เป็นขนมปังชุบไข่ทอด กินกับแป้งห่อผัก ซึ่งชิ้นใหญ่มาก เวลากินจึงต้องอ้าปากกว้างสุดๆ
มาถึงอาหารจานหลัก คือ Masala Dosa ซึ่งมีลักษณะคล้ายเครปญี่ปุ่น กินกับซอสถั่วที่กลิ่นและรสชาติรุนแรงต่อลิ้นและจมูกยิ่งนัก แต่เราสามคนก็จัดการจนไม่เหลือ แต่ที่ถูกใจพวกเราที่สุดเห็นจะเป็น ไจ๋ หรือชานมร้อนๆ เมนูยอดนิยมของคนอินเดีย ที่ทั้งหวานมันและส่งกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ตลอดทริปนี้ผมจึงลิ้มลองไจ๋ราคา 5 รูปีไปหลายเสียหลายแก้ว
นี่แค่การเปิดม่านแดนภารตะเพียง 1 วัน ยังเต็มไปด้วยสีสันขนาดนี้ แล้วอีก 9 วันต่อจากนี้ในอีกหลายต่อหลายเมืองที่ต้องก้าวไป ชีวิตในแดนภารตะจะเต็มไปด้วยสีสันมากขนาดไหน
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.20 น.