ตามรอยอารยธรรมขอม ตอน 1 ปรางค์กู่สมบูรณ์

ทิวาซัวซะเดย (สวัสดีตอนบ่าย) . . . บ่ายวันเสาร์แบบนี้ไปไหนดีหน๋อ? เปิดโทรศัพท์ปรึกษาอากู๋ (Google) มันใช่เลยอ่ะ! ใกล้บ้านด้วย! คว้ากล้อง คว้ามอเตอร์ไซค์บึ่งออกไป . . .

ตั้งต้นจากโรงเรียนบ้านหัวช้าง มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เลี้ยวขวาไปยังถนนทางหลวงหมายเลข 2349 เเล้วขับต่อไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางกว่า 8 กิโลเมตร ก็จะเห็นป้าย วัดป่าเนรัญชราวนาราม เลี้ยวขวาเข้าไปเลย ก็จะเจอทางเข้าไปยังสถานที่เป้าหมาย เข้าไปปุ๊บก็จะสัมผัสได้ถึงความสบาย เพราะตลอดเส้นทางเข้าไปมีต้นไม้เขียวครึ้มตลอดทาง

วัดป่าเนรัญชราวนาราม

ที่ตั้ง : บ้านหนองคู ตำบลเป๊าะ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ

พิกัด : 15.30044,104.09338

นอกจากความสงบร่มรื่นของต้นไม้แล้ว ตัวอาคารของวัดยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา ตัวอาคารส่วนบนคล้ายกับโดม ส่วนล่างคล้ายกับเรือขนาดใหญ่ มีน้ำล้อมรอบ ไม่เเน่ชัดเรื่องแนวคิดในการออกแบบ แต่รับรองเรื่องความสวยงามว่า โดดเด่น สะดุดตา ไม่เหมือนใคร


ชมความสวยจนเพลินตาจนเกือบลืมเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ปรางค์กู่สมบูรณ์ เอ๊ะ!!! อยู่ตรงไหนหนอ?! ลองไปตามแสงพระอาทิตย์บ่ายๆ ที่กำลังจะคล้อยตกดินดีกว่า


ปรางค์กู่สมบูรณ์ (ตั้งอยู่ในวัดป่าเนรัญชราวนาราม)

ที่ตั้ง : บ้านหนองคู ตำบลเป๊า อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ

พิกัด : 15.30044,104.09338


เดินตามแสงไปเรื่อยๆ ก็จะพบบ่อน้ำขนาดปานกลาง ถัดไปก็จะเป็นที่ประดิษฐ์สถานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ผุดผ่อง ภายใต้ศาลาที่มีความทรุดโทรมอยู่พอสมควร ใกล้ๆ กันมีเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่ง


มองต่อไปด้านหลังก็จะเห็นศาลขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ติดกับทางเข้า (ดินแดง) ที่สามารถใช้สัญจรได้อีกหนึ่งเส้นทาง ความรู้สึกตอนนี้ คือ "ภายใต้ความเขียวมีความขลัง" แอบขนลุกนิดนึง


วาดสายตามาจากศาลเล็กๆ ด้านหลังมาทางขวามือก็จะเจอป้ายที่เเสดงรายละเอียดของโบราณสถานแห่งนี้


ประวัติความเป็นมา ปรางค์กู่สมบูรณ์หรือกู่บ้านหนองคู สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือประมาณปี พ.ศ. ๑๖๕๐-๑๗๐๐ สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในเวลาใกล้เคียงกับปราสาทปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ เพื่อใช้เป็นเทวสถานหรือเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์


ลักษณะโดยทั่วไป ปรางค์กู่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นปรางค์ ๓ องค์ สร้างเรียงกันอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกคล้ายกับปรางค์กู่ ที่อำเภอปรางค์กู่ บริเวณรอบ ๆ มีสระน้ำโบราณ ปรางค์องค์กลางสร้างด้วยศิลาแลงปนอิฐ ผนังด้านในเป็นศิลาแลงทั้งหมด ภายในคูหาของปรางค์มีแท่นหินสี่เหลี่ยมจัตุรัสแท่นหนึ่ง น่าจะเป็นแท่นสำหรับตั้งศิวลึงค์หรือเทวรูป ปรางค์ด้านทิศเหนือและทิศใต้ปรักหักพังเกือบหมดสิ้น เหลือเพียงเนินดินเพราะได้มีการขุดค้นหาเทวรูปและทรัพย์สินมีค่า ซึ่งเชื่อว่าคนในสมัยโบราณฝังดินเอาไว้


ปรางค์ส่วนกลางของเทวาลัย


ส่วนบนมีพระพุทธรูปประดิษฐานภายใน


ส่วนล่างมีเศษซากไม่เเน่ใจเหมือนกันว่าหลุดร่วงออกมาจากชิ้นส่วนใด


เหนือปรางค์ส่วนกลางมีภาพศิลาทับหลัง กลิ่นอายของศิลปะขอมโบราณ


ซูมดูชัดๆ อีกสักใบ งดงาม ดุดัน ทรงพลัง


กวาดสายตาลงมายังฐานล่างสุดของปรางค์องค์กลาง ก็จะพบบัวยอดปราสาทซึ่งแกะสลักด้วยศิลาทราย ไล่ระดับลดหลั่นกันลงมา นับคร่าวๆ ตามประสาคนความรู้น้อย แบ่งได้เป็น 3 ชั้น


ชั้นที่ 2


ชั้นบนสุด


บริเวณข้างฐานปรางค์องค์กลางมีต้นไม้เล็กๆ ขึ้นมาต้นนึง สัญลักษณ์ของการแสวงโอกาสเพื่อดำรงอยู่ (อันนี้มโนไปเอง 555+)


จากปรางค์องค์กลางก็ย้ายสายตามาชมปรางค์ทางด้านขวา


มีแท่นสี่เหลี่ยมจตุรัสอยู่ตรงกลาง จะใชแท่นสำหรับตั้งศิวลึงค์หรือพระพุทธรูปแบบที่เค้าคาดเดากันมั้ยน๊า?

ติดกันกับปรางค์ด้านขวามีต้นไม้สีขาวโดดเด่น สูงใหญ่ สวยงาม สะดุดตา


นอกจากความสวยงามของลำต้นแล้ว ยังมีคำคมติดไว้สอนใจผู้ไปเยือน "เปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ" สาธุ! สาธุ! สาธุ!

ลำต้นใหญ่ เรือนยอดก็แผ่ปกคลุมกว้างไกล ทำให้นึกถึง กลอนสอนใจที่ชอบกด Like กด Share กันบ่อยๆ ใน Facebook "วันนี้เป็นกอหญ้า วันหน้าเป็นกอไผ่ ถ้าไม่ล้มความตั้งใจ จะเป็นต้นไทรที่แข็งแรง" สาธุ!


เสร็จสิ้นการสำรวจปรางค์ด้านขวาก็ย้ายมาสำรวจปรางค์ด้านซ้ายมือ มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ต่างตรงปรางค์ด้านนี้ มีเหมือนฐานหรือแท่นอะไรบางอย่างอยู่ด้านใน


สงสัยจัง ต่างกันยังงัย? เอ๋...หรือจะเหมือนกันแต่ด้านขวาหลุดไป?


ทดความสงสัยไว้ในใจ เดินสำรวจบริเวณด้านหลังบ้างดีกว่า


มุมมองจากด้านหลังสุดไปยัง ปรางค์กู่สมบูรณ์ มุมมองนี้กว้างไกลยาวไปถึงตัวอาคารหลักของวัด


เห็นสภาพปัจจุบันแล้วอยากรู้ไปถึงอดีตจริงๆ ว่าคนสมัยก่อนเค้ามาทำอะไรกันบริเวณนี้


ด้านหลังขวามือมีเศษซากศิลาตั้งอยู่อย่างเป็นระเบียบ คาดว่าเก็บไว้หลังจากมีการบูรณะ


แสงกำลังสวย แต่กลัวมืดกลับดีกว่า . . . ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน เนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์อาจจะน้อยไปบ้างต้องขออภัย แต่สัญญาคะว่าจะรีบศึกษาเพิ่มเติม แล้วมารอติดตามต่อตอนหน้านะคะ ว่าจะไปตามรอยอารยธรรมขอมกันที่ไหน? . . . จุมเรียบเลีย (ลาก่อน)

ภาษาเขมรวันละคำสองคำ

ทิวาซัวซะเดย อ่านว่า ทิ-วา-ซัว-สะ-เดย แปลว่า สวัสดีตอนบ่าย

จุมเรียบเลีย อ่านว่า จุม-เรียบ-เลีย แปลว่า ลาก่อน

ความคิดเห็น