"ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ที่เลี้ยวซ้าย'" เป็นการสังเกตจำนวนคนอย่างคร่าวๆ หลังเรือเที่ยวแรกจากท่าเรือเซ็นเตอร์พอยต์ถึงเกาะช้าง เมื่อ 3 ปีก่อนเป็นการมาเที่ยวเกาะช้างครั้งแรกของเรา ด้วยเวลาที่มีน้อยกับการเดินทางที่ไม่เป็นดังใจทำให้ได้แต่เที่ยวอยู่ทางฝั่งขวาของเกาะ ทะเลใสหาดทรายสวยอย่างที่คิดไว้ สิ่งอำนวยความสะดวกก็มีมากเหมือนที่บนฝั่งมี เช่นเดียวกับคนและความวุ่นวาย นั่นคงเป็นเกาะช้างที่คนส่วนใหญ่มองเห็นเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ครั้งนี้เรากลับมาอีกครั้งเพื่อสัมผัสเกาะช้างในอีกหนึ่งมุมมอง โดยตั้งใจมาเที่ยวเฉพาะเกาะช้างฝั่งซ้าย

เหรียญยังมีสองด้านซึ่งไม่ต่างจากที่นี่ เราขี่มอเตอร์ไซค์ที่เช่ามาจากท่าเรือไปทางซ้ายของเกาะ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ สวนยาง สวนมะพร้าวและบ้านคน มีโรงแรมให้เห็นแบบไม่หนาตา กลิ่นทะเลและอากาศเย็นสบายยามเช้าประกอบกับแสงแดดที่ยังไม่จัดมากทำให้การเดินทางเริ่มต้นด้วยความสดชื่น เส้นทางเงียบสงบเราแทบนับจำนวนรถที่สวนทางกับเราได้ แค่เพียงเลี้ยวมาคนละทางเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

"ถ้าชอบแสงสีและความคึกคักให้เลี้ยวขวา แต่ถ้าตามหาธรรมชาติและความสงบให้เลี้ยวซ้าย"


เกาะช้างฝั่งซ้ายถึงแม้จะมีที่พักไม่หนาแน่น แต่ก็มีให้เลือกตั้งแต่โฮมสเตย์ไปจนถึงที่พักหรู หรือจะเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์พร้อมแพ็จแกจดำน้ำรวมอาหาร ถ้าใครชอบเรียนรู้วิถีชุมชนเราแนะนำให้พักโฮมสเตย์ที่บ้านสลักเพชร บ้านสลักคอกเป็นหมู่บ้านชาวประมง นอกจากจะได้เห็นวิถีชีวิตชาวประมงแล้วยังได้ชิมอาหารทะเลสดๆ อีกด้วย


กิจกรรมก็มีไม่น้อยหน้าอีกฝั่งแพ็จเกจดำน้ำหาซื้อได้จากที่พัก พายเรือคายัคข้ามเกาะ เล่นน้ำตก ไม่ก็เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน แต่กิจกรรมที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจมากคือการนั่งเรือมาดชมป่าชายเลนที่บ้านสลักคอก เมื่อถึงทางแยกให้เลี้ยวซ้ายไปทางป้าย "สลักคอก-แจ็กแบ้" เพื่อมุ่งสู่ "ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก" ไปทางเดียวกับร้านสลักคอกซีฟู๊ด เส้นทางไม่ซับซ้อนมากนักแต่ต้องคอยสังเกตป้ายบอกทางให้ดี

ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก ก่อตั้งขึ้นโดยคนในชุมชนเพื่อทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสร้างรายได้เสริม ทำให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่ตัวเองมี เกิดความหวงแหนและช่วยกันอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเสมือนเป็นเกราะป้องกันธรรมชาติจากผู้ที่หวังเข้ามาใช้ประโยช์จากทรัพยากรจนส่งผลเสียต่อคนในชุมชน กิจกรรมที่นี่มีพายเรือคายัคสำรวจป่าชายเลน ส่วนใครไม่อยากออกกำลังแขนมีบริการเรือมาดพร้อมฝีพายให้นั่งชมธรรมชาติ หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "กอนโดล่าแห่งเกาะช้าง"

หลังจากติดต่อนั่งเรือมาดที่ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกเรียบร้อยแล้ว ทางชมรมฯ ได้โทรศัพท์ตามฝีพายจับใจความได้ว่า "ถึงคิวมาพายเรือแล้ว" นั่งรอไม่นานก็ถือร่มใหญ่สีขาวเดินนำเราไปที่จุดลงเรือ เรือมาดสามารถนั่งได้ 4 คน ราคาคนละ 200 บาท เราถามเจ้าหน้าที่ทำไมต้องเป็นเรือแบบนี้ ได้คำตอบว่าเป็นเรือเก่าของชาวบ้านนำมาดัดแปลงต่อโต๊ะใส่ร่ม ซึ่งตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสมายังเกาะช้าง ได้ทรงประทับเรือมาดเป็นพาหนะในการชมความสวยงามของอ่าวสลักคอกด้วย

เสียงไม้พายกระทบไปกับผืนน้ำนิ่งสีเขียวอมฟ้า ทางขวามือเป็นหมู่บ้านชาวประมงสลักคอก ก่อนที่ทัศนียภาพทั้งสองข้างจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามการเคลื่อนที่ของเรือกลายเป็นป่าชายเลนสีเขียวสบายตาและสะอาดแทบไม่มีขยะ จากบทสนทนากับพี่ฝีพายได้ความว่าชาวบ้านที่นี่รวมตัวกันเก็บขยะตลอด นักท่องเที่ยวเข้ามาจึงได้เห็นป่าชายเลนที่สวยงาม ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นจากข้อความข้างต้นที่เขียนไว้ว่า "ใช้การท่องเที่ยวเป็นเกราะป้องกันธรรมชาติ" ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวมีการปันผลให้คนในชุมชนทุกปี เป็นรายได้ที่มาจากกิจกรรมนั่งเรือมาดและพายเรือคายัค ส่วนโฮมสเตย์นั้นเป็นกิจการส่วนตัว

ปุ่มชัตเตอร์จากกล้องถ่ายรูปถูกกดไม่หยุด แต่ความสวยงามนั้นยากที่จะถูกบันทึกไว้ในรูปถ่าย ไม่คิดว่าเกาะช้างจะมีสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ ทั้งที่บริการนั่งเรือมาดมีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่ค่อยเห็นตามสื่อหรือโซเชียลมีเดีย ทิวทัศน์ข้างหน้าเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อเรือพายมาถึงปากอ่าว จากป่าชายเลนเขียวสีสดกลายเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ก่อนจะย้อนกลับมาทางเดิม ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 40 นาทีเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่แสนประทับใจ

จุดหมายต่อไปอยู่ที่วัดสลักเพชรฝั่งตรงข้ามเป็นทางเข้า "เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนบ้านนาใน" หรือมีอีกชื่อว่าโครงการฟื้นฟูบูรณะป่าชายเลนบ้านสลักเพชร เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนสะพานไม้สีแดงทอดยาวไปจนจุดที่ปากอ่าวสลักเพชร มีระยะทาง 520 เมตร

ระหว่างทางจะพบกับพืชพันธ์ุไม้ป่าชายเลนต่างๆ หากมาช่วงที่พระอาทิตย์กำลังตกดินใบต้นโปรงแดงโปรงขาวจะเป็นสีเขียวอมเหลืองพร้อมฉากหลังเป็นทิวเขา แม้สะพานไม้จะชำรุดไปตามกาลเวลาแต่ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ขาดสายโดยเฉพาะชาวต่างชาติ

จากการเดินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางนี้ทำให้เรารู้ถึงความสำคัญของป่าชายเลน ที่เป็นแหล่งอาหารและบ้านของสัตว์น้ำ ถ้าป่าชายเลนมีมากและอุดมสมบูรณ์สัตว์น้ำก็จะมีปริมาณมากสัมพันธ์กัน ส่งผลต่ออาชีพของคนที่นี่ซึ่งประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มองกว้างออกมาอีกส่งผลเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ หากป่าชายเลนถูกทำลายสุดท้ายแล้วมนุษย์จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นการเข้ามาเที่ยวที่นี่อยากให้เก็บแต่ความรู้และความทรงจำออกไป ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะ ไม่ขีดเขียนหรือดึงทึ้งต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยว หากยังอยากเห็นธรรมชาติที่สวยงามควรเริ่มต้นจากตัวเองท่องเที่ยวด้วยหัวใจอนุรักษ์

ที่พักของเรา "Journey's End" เป็นโฮมสเตย์ราคาหลักร้อยอยู่เกือบสุดทางของเกาะช้างฝั่งซ้าย มีห้องพักให้บริการจำนวน 5 ห้อง สามารถกางเต็นท์ได้ มีอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากโฮมสเตย์เพิ่งเปิดได้ไม่นานจึงรองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่มาก ผู้ดูแลที่พักให้นามบัตรเราwร้อมบอกว่าถ้ารถเสีย น้ำมันหมด ยางแตก หลงทางหรือมีปัญหาอะไรให้โทรฯ มา บางทีเราไม่ได้ต้องการความสะดวกสบายอะไรมาก ความเรียบง่ายและน้ำใจทำให้เราเข้าพักที่นี่อย่างเป็นสุข

จากห้องพัก 200 เมตรเป็นทะเลที่ไม่มีคลื่นมองเห็นยอดเขาแหลม น้ำไม่ลึกชวนให้คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นลากเรือคายัคลงทะเลแม้เป็นวันที่พรำท้องฟ้าไม่สดใส หากมีกำลังแขนเหลือเฟือสามารถพายไปตามเกาะเล็กเกาะน้อยได้






ยังมีอีกหลายที่ในเกาะช้างฝั่งซ้ายที่เรายังไม่ได้ไป แต่เราไม่รู้สึกผิดหวังเพราะทำให้เราอยากกลับมาอีก ค่อยๆ ทำความรู้จักกับเกาะช้างในมุมนี้ สิ่งที่ทำให้เราประทับใจคือความเงียบสงบและเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติในความหมายนี้นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้วยังรวมไปถึงวิถีชุมชนของคนดั้งเดิมในพื้นที่ เราได้ท่องเที่ยวไปพร้อมการเรียนรู้ ความเงียบสงบของเกาะช้างฝั่งซ้ายชวนให้เราทำทุกอย่างช้ากว่าเดิม จากคนที่เร่งรีบในการท่องเที่ยวแบบที่ไม่อยากพลาดสักจุดเช็คอิน คอยกังวลว่าสถานที่นั้นคนจะเยอะไหม และอารมณ์เสียกับบรรยากาศที่วุ่นวาย ผิดหวังในวันที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ กลับปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์ อีกหนึ่งความประทับใจคือ การเข้าไปท่องเที่ยวของเราทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งความภูมิใจนี้จะก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม



ข้อมูลการเดินทาง

รถทัวร์ ขึ้นได้ที่สถานีขนส่งเอกมัยและหมอชิต เชิดชัยทัวร์ฺซื้อตัวได้ที่สถานีขนส่งมีรอบรถเยอะกว่าของ บขส. ไม่รับจองล่วงหน้า ส่วนรถทัวร์ บขส. สามารถจองล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ บริษัท ขนส่ง จำกัด

จากบขส.ตราด มีรถสองแถวไปส่งท่าเรือเซ็นเตอร์พอย์ค่ารถไม่ควรเกิน 80 บาท

เราซื้อตั๋วเรือไป-กลับพร้อมรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ ของเชิดชัยทัวร์ที่จุดขายตั๋วเรือ ราคา 330 บาทแพงกว่าซื้อเองนิดหน่อยแต่เรามั่นใจได้ว่ามีรถทัวร์กลับ กทม. แน่นอน โดยราคานี้รวมค่าสองแถวจากท่าเรือไป บขส. ตราดด้วย หากสะดวกซื้อตั๋วเองสามารถซื้อตั๋วได้ที่จุดจำหน่ายตั๋วที่ บขส. ตราด

ส่วนการเดินทางบนเกาะเราแนะนำให้เช่ามอเตอร์ไซค์ที่ท่าเรือจะได้ไปเที่ยวหลายๆ ที่ ค่าเช่าวันละ 250 บาท หากขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น มีรถสองแถวราคาตามตกลงกันค่ะ

แป้งเจอนี่เจอนั่น

 วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 23.37 น.

ความคิดเห็น