วัดสามพระยาวรวิหาร
แทบจะถือเป็นประเพณีไปแล้ว สำหรับการไหว้พระขอพรในเทศกาลงานบุญสำคัญต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวัดขึ้นปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์นั้น มักจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางออกมาทำบุญไหว้พระกันมากกว่าปกติ โดยถือว่า "การเริ่มต้นที่ดี คือ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ"
หลาย ๆ ตั้งข้อสงสัยกว่า การที่เราไปตามวัด พอไปถึงก็จุดธูปไหว้อธิฐานต่าง ๆ นา ๆ แล้วขึ้นรถไปวัดต่อไปนั้น จะได้บุญหรือไม่
การไหว้พระรฤกถึงคุณงามความดี ของพระพุทธองค์นั้น ก็ถือว่ามีอานิสงส์สูงแล้ว อย่าเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ที่เชื่อว่าบาปบุญ คุณโทษมี นรกสวรรค์มี พระอรหันต์มี แต่ยังไม่มีความเข้าใจอะไรลึกซึ้งมากนัก แต่ก็ยังถือว่ายังดี
หลาย ๆ คนอย่างข้าพเจ้าเองมักจะทำบุญไหว้พระสวดมนต์เฉพาะวันสำคัญ แต่หากใช้ปัญญาในการพิจารณาแล้ว คือ จะถือได้ว่าไม่ประมาทผลบุญ หรือบาปเล็กน้อย รวมถึงการร่วมอนุโมทนาบุญกับผู้ทำบุญก็เช่นกัน
การเข้าวัด แม้นจะเพียงชั่วครั้ง ชั่วคราว ก็มีโอกาสได้บุญ ความพยายามไปให้ครบ ๙ วัด ก็เป็นวิริยบารมีเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปให้ครบ ๙ วัดในวันเดียว ต้องใช้ความอดทน ใช้ปัญญาและความเพียร เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
โดยส่วนตัวแล้ว "พระพุทธรูป" เป็นตัวแทนของ "พระพุทธองค์" ให้เรารฤกถึง "คุณงามความดีของพระองค์ท่าน ที่เผยแผ่ธรรมของพระพุทธศาสนา ให้มวลชลได้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม และวัฏสงสารที่เวียนวนอยู่อย่างไม่จบสิ้น" ไม่ว่าจะไหว้กราบกี่ที่ หรือที่ใด หรือแม้นกระทั้งตั้งจิตอธิฐาน เพียงขอให้มีใจอันเป็นธรรมบริสุทธิ์ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ย่อมได้กุศลผลบุญให้ใจบริสุทธิ์ ผุดผ่องด้วยบุญทั้งมวล
กลับมาเรื่อง "ทำบุญไหว้พระ 9 วัด" หากคิดเช่นนั้นแล้ว "ทำไมต้องไปถึง 9 วัด" นั่นเพราะเป็นคติความเชื่อ อันเป็นกุศโลบายให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัด ข้าพเจ้าจึงให้เป็นเกณฑ์ในการชักจูง และสอนสั่งหลาน ๆ ให้ร่วมเดินทางเข้าวัดไปด้วยกัน ตราบเมื่อพวกเขาเติบโต จะได้คุ้นเคยกับวัด และเมื่อสติปัญญาอันเติบโตเต็มที่ พวกเขาเหล่านั้น จะได้คิดได้เองว่าควรปฏิบัติตนเป็น "พุทธศาสนิกชนที่ดี" อย่างไร
ในระหว่างนี้ ก็ถือเป็นการเดินทางเทียววัดในกรุงเทพฯ รอบ ๆ บ้าน ทำความรู้จักคุ้นเคยกับวัด กับพระไปพราง ๆ ก่อน
หลวงพ่อพระพุทธเกสรประดิษฐานภายในพระอุโบสถ
เราเริ่มต้นกันด้วยวัดใกล้บ้าน จะได้ถวายสังฆทานที่เตรียมไว้ทั้งหมด 9 ชุด แน่นอนมันจะหนัก แต่เมื่อเราค่อย ๆ ถวายไปทีละวัด ความหนักก็จะค่อย ๆ หมดไป และสุดท้าย ความเบา อันเป็นบุญในจิตใจ ก็จะเข้ามาแทนที่
วัดแรก เราเริ่มจาก "วัดสามพระยาวรวิหาร" วัดเก่าแก่ที่มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เดิมเป็นวัดราษฎร์ เรียกว่า วัดสักบ้าง วัดบางขุนพรหมบ้าง
ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระยาราชภักดี (สิงห์ทอง) ๑ พระยาเทพอรชุน (ทองปาน) ๑ พระยาราชวรานุกูล (ทองคำ) ๑ รวมสามคนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันได้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นวัดหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดสามพระยา”
นอกจานี้ยังมีเรื่องที่เล่ากันมาว่า ผู้สร้างวัดสามพระยา นอกจากพระยาทั้งสามนั้นแล้ว ยังมีอีกท่านหนึ่งตามที่สืบถามได้ความว่า คือ พระยาเกษตรรักษา (บุญชู) เป็นผู้สร้างวัดสามพระยาด้วยอีกท่านหนึ่งนั้น โดยปรากฏมีโคลงกล่าวถึงได้ คือ มีพระภิกษุรูปหนึ่งอยู่วัดพระเชตุพน ได้มาหาพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งอยู่วัดสามพระยา พอสนทนากันได้สักหน่อย จึงเขียนคำโคลงถามถึงนามท่านผู้สร้างวัดสามพระยาว่า
วัดนี้ผู้ใดสร้าง ทำมา
เรียกนามสามพระยา อย่างนี้
ยินนามแต่ยลหา บ่พบ เลยพ่อ
คุณช่วยวิสัชน์ชี้ เล่าให้เห็นจริง
ภิกษุรูปที่อยู่วัดสามพระยา จึงเขียนตอบเป็นคำโคลงว่า
อ๋อ ผู้ที่ท่านสร้าง อาราม
พระยาราชภักดีตาม ชื่อตั้ง
สองเทพเกษตรสาม สี่ราช นาพ่อ
จึงเรียกนามพร้อมทั้ง เสร็จด้วยสามพระยา
พระอุโบสถวัดสามพระยานั้นมี หลวงพ่อพระพุทธเกสร ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ วัดสามพระยาวรวิหารมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล พุทธลักษณะหล่อขึ้นด้วยเนื้อโลหะพิเศษลงรักปิดทอง ประทับบนรัตนบัลลังก์ ปางมารวิชัย ปางพระพุทธเจ้าชนะมาร นั่นหมายความว่า “ชนะสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ให้มลายหายไป”
มีคติความเชื่อว่า หากใครได้ไปกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อพระพุทธเกสรแล้วไซร้ จักทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นที่รักแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
หลวงพ่อพระนอน
หลวงพ่อพระนอน เป็นพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูยักษ์ศักดิ์สิทธิ์อันสำคัญอีกองค์หนึ่ง สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 พระพุทธรูปปางนี้มีพระพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปในพระอิริยา บถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายวางทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนยรองรับ ลืมพระเนตรมองมาข้างหน้า และแย้มพระโอษฐ์ หรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์
หลวงพ่อพระนั่ง
"หลวงพ่อนั่ง" เป็น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 พระพุทธรูปปางนี้มีพระพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่งบัลลังก์ หย่อนพระบาททั้งสองทอดลงมาเหยียบบนพื้น พระพาหาทั้งสองประคองบาตร ซึ่งจะแตกต่างกับพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ที่สร้างกันโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นชาวบ้านบ้างจึงเรียกว่า หลวงพ่ออุ้มบาตรก็มี
ความเป็นมาของพระพุทธปางนี้คือ ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับ ณ วัดโฆสิตาราม ในนครโกสัมพี วันหนึ่งมีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับพระวินัย ทรงตักเตือนแล้วก็ไม่ฟัง จึงทรงหลีกเร้นจากเหตุวุ่นวายนั้นไปประทับที่ป่ารักขิตวันในละแวกบ้านปาริเลยยกะ ได้มีลิงและช้างชื่อว่าปาริเลยยกะคอยปรนนิบัติ
พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์เป็นพระประจำวันของคนที่เกิดวันพุธกลางคืน เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ มีคติความเชื่อว่า หากใครได้ไปกราบไหว้ขอพรทำ ให้มีเงินมีทองใช้ มีกินมีใช้ไปตลอด
วัดใหม่อมตรส
วัดถัดไป อยู่ตรงข้ามคนละฝั่งถนนกับวัดสามพระยาวรวิหาร นั่นก็คือ วัดใหม่อมตรส ที่วัดใหม่ก็มีการจัดให้มีการสรงน้ำพระต้อนรับเทศกาลสงกรานต์เช่นกัน "วัดใหม่อมตรส" เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านพานถม บางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯตามประวัติ วัดแห่งนี้ ได้สร้างขึ้นในปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดวรามะตาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า วัดอำมาตยรส หรือ วัดอมฤตรส แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดบางขุนพรหม หรือ วัดบางขุนพรหมใน คู่กันกับวัดบางขุนพรหมนอก หรือ วัดอินทรวิหาร
พระประธานในพระอุโบสถของวัดใหม่อมตรส
วัดเอี่ยมวรนุช
เป็นวัดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่คนละฟากถนนกับวัดสามพระยาวรวิหาร และอยู่ใกล้กันกับวัดใหม่อมตรส วัดแห่งนี้ก็เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง เพราะมีอยู่ก่อนที่จะสร้างวังบางขุนพรหมเมื่อ พ.ศ. 2442 เสียอีก ที่วัดแห่งนี้ ท่านเจ้าอาวาสมีความเมตตาสูง เปิดกุฏีให้กับผู้ที่ต้องการมาทำบุญ ฟังธรรมและรับพร อยู่เป็นนิจ
พระแก้วมรกตจำลองที่นำมาประดิฐสถานให้สรงน้ำหน้าพระอุโบสถ
เจ้าอาวาสวัดเอี่ยมวรนุช
วัดอินทรวิหาร
วัดถัดมา คือ วัดอินทรวิหาร ซึ่งมี "หลวงพ่อโต" พระยืนที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร ประดิฐสถานอยู่ วัดอินทรวิหารนั้น เป็นพระอารามหลวง สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประมาณปี พ.ศ. 2295 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง อุโบสถแต่เดิมแบบเตาเผาปูน กุฏิฝากระแชงอ่อน เดิมชื่อ "วัดไร่พริก" เพราะเป็นวัดที่ปลูกอยู่ใกล้สวนผักของชาวจีน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางขุนพรหม" ตามชื่อของหมู่บ้านซึ่งมีขุนพรหมเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าสิริบุญสารผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต ได้ยกกองทัพรุกรานมาถึงบ้านดอนมดแกง (จังหวัดอุบลราชธานี – ปัจจุบัน) ได้จับพระลอ ผู้ซึ่งสวามิภักดิ์ในพระบรมโพธิสมพาน ของพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วทำการประหารเสีย เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงขัดเคืองพระทัย จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพพร้อมด้วยพระสุรสีห์กรีฑาทัพขึ้นไปปราบปรามและสามารถตีเมืองเวียงจันทน์แตก
พระอุโบสถ วัดอินทรวิหาร
ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารได้ลี้ภัยไปอาศัยในแดนญวน ภายหลังเสร็จศึกสงคราม สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำตัวเจ้าอินทวงศ์ โอรสในพระเจ้าสิริยุญสารลงมากรุงธนบุรีด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวงศ์และคณะพำนักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณตำบลไร่พริก (แขวงบางขุนพรหม – ปัจจุบัน) เจ้าอินทวงศ์มีศักดิ์เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียว เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ธิดาคนหนึ่งของเจ้าอินทวงศ์นามว่า เจ้าทองสุก กับเจ้าน้อยเขียว ได้เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ต่อมาเจ้าอินทวงศ์ได้มีศรัทธาดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงรูปทรงอุโบสถก่ออิฐถือปูนเป็นแบบที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และสร้างศาลาพร้อมกับขุดคลองเหนือใต้และด้านหลังวัด เมื่ออารามมีความมั่นคงดีแล้ว จึงอาราธนาท่านเจ้าคุณอรัญญิกเถร (ด้วง) ผู้เรืองในวิปัสสนาธุระและใจดีมาช่วยเป็นภาระธุระในกิจการของสงฆ์ และถือเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่มีหลักฐานปรากฏยืนยัน
พระสงฆ์รับเครื่องสังฆทาน
ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระองค์เจ้าอินทร์ ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งยังคงปรากฏมาจนปัจจุบัน ครั้นถึงแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผ่านกลางวัดบางขุนพรหม วัดบางขุนพรหม จึงกลายเป็น 2 วัดคือวัดบางขุนพรหมนอก (วัดใหม่อมตรส – ปัจจุบัน) และวัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง – ปัจจุบัน) เนื่องจากอยู่ภายในเขตวังเทวะเวสม์ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ (จึงเรียกชื่อว่า "วัดบางขุนพรหมใน")
วัดนรนาถสุนทริการาม
วัดถัดมา คือ วัดนรนาถสุนทริการาม ซึ่งอยู่เลยไปทางเทเวศน์ เล็กน้อย วัดนรนาถสุนทริการาม เดิมชื่อว่า “วัดเทพยพลี” บางคนเรียกเพื้ยนไปเป็น วัดฉิมพลี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้น ระหว่างปลายรัชกาลที่ 2 ถึงก่อน พ.ศ. 2394 ซึ่งเป็นปีที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม และคลองนี้ได้ตัดผ่าน พื้นที่ของวัดเทพยพลีด้วย ต่อมาสมัยต้นรัชกาลที่ 5 พระยาโชฎีกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) ครั้งยังเป็นพระยานรนาถภักดี กับคุณหญิงสุ่น (ภรรยา) ได้มีจิตศรัทธาสละทรัพย์ทำการปฏิสังขรณ์วัด แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างวัดขึ้นใหม่เพราะ ได้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ และกุฏิสงฆ์ใหม่หมด แม้แผ่นศิลาสี่เหลี่ยมจำนวนมากที่ปูภายใน บริเวณวัดก็สั่งมาจากเมืองจีน
พระอุโบสถ วัดนรนาถสุนทริการาม
ครั้นปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อย ก็ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงรับไว้ เป็นพระอารามหลวงและได้ทรงแปลงให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดนรนาถสุนทริการาม” ตั้งแต่ พ.ศ. 2418 เป็นต้นมา ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเห็นความทรุดโทรมของวัดในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการซ่อมแซมหมดทั้งวัด
ต่อมา พ.ศ. 2475 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี พระราชธิดาในพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎฯ ได้ทรงช่วยซ่อมพระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิสงฆ์อีกครึ่งหนึ่ง ในสมัยสงครามเอเชียบูรพา ปูชนียวัตถุภายในวัดแตกร้าวหักพังเพราะแรงสะเทือน ภายหลังเมื่อสงครามสงบแล้ว ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมบ้างและสร้างกุฏิสงฆ์ศาลาการเปรียญ และตึกสามัคคีเนรมิตเพิ่ม
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325
มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า "รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณะปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร" ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำเล่าต่อกันมาว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า "วัดสระเกศ"
พระพุทธรูปประดิษฐานเรียงกันอยู่เต็มพระระเบียงทั้ง 4 ด้าน
พระระเบียงรอบพระอุโบสถ มีพระเจดีย์รายรอบ ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงกันอยู่เต็มพระระเบียงทั้ง 4 ด้าน มีจำนวนทั้งหมด 163 องค์ ประดิษฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระปั้นปิดทองปางสมาธิที่ใหญ่โต พร้อมด้วยความงามสมพุทธลักษณะองค์หนึ่งในกรุงเทพมหานคร เล่ากันมาว่าปั้นหุ้มพระประธานองค์เดิมของวัดซึ่งดูเล็กเกินไปไม่สมกับความใหญ่โตของพระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วมาทำการปฏิสังขรณ์เขียนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ฝาผนังด้านใน สองด้านเบื้องล่างเป็นภาพทศชาติ ด้านบนเป็นภาพเทวดาและท้าวจตุโลกบาล ด้านหน้าเป็นภาพมารวิชัย ส่วนด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ คือสวรรค์ มนุษย์
พระประธานปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระปั้นปิดทองปางสมาธิที่ใหญ่โต
่เรื่องเล่า แร้งวัดสระเกส ในสมัย รัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนัก ในกรุงเทพมหานคร ขณะนั้น ยังไม่มีวิธีรักษา และรู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน
กิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์
กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาต์ประมาณ 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากา เพราะฝังและเผาไม่ทัน บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนกลาดไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการ และธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัด เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วย และจัดการกับศพของญาติมิตร ในเวลานั้น วัดสระเกศ เป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน
หอพระไตรปิฏก สมัยรัชกาลที่ 1
อหิวาต์ เวียนมาในทุกฤดูแล้ง และหายไปในฤดูฝนเช่นนี้ทุกปี จะในปี พ.ศ. 2392 อหิวาต์ ก็ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปีนังก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" ในระยะเวลาช่วง 1 เดือน ที่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 - 20,000 คน และตลอดฤดู ตายถึง 40,000 คน
เจ้าฟ้ามงกุฏฯ หรือ พระราชอิสริยยศของ รัชกาลที่ 4 ในขณะนั้น ดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ มีศพที่นำมาเผาสูงสุด ถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้น ศพที่เผาไม่ทัน ก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด
โดยเฉพาะวัดสระเกศ มีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่ลงทึ้งกินซากศพ ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้ง ที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระจายได้ และจิกกินซากศพ จนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ "แร้งวัดสระเกศ" ที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว
พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้าง พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
วัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เดิมชื่อ วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ใน รัชกาลที่ 3 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2379 เสร็จในปี พ.ศ. 2382
สรงน้ำพระบริเวณหน้าพระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดเทพธิดาราม
สิ่งสำคัญในวัดนี้คือ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 บุษบกที่รองรับพระประธานภายในโบสถ์ ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามและที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบอย่างในรัชกาลที่ 3 วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. 2383 - 2385 เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกว่า "บ้านกวี" เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์
พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3
ภิกษุณี ภายในวิหาร มีอากัปกริยาแตกต่างกัน
ภายในวิหารวัดเทพธิดาราม
เจดีย์เก็บอัฐิ ในวัดราชนัดดา
วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ "วัดราชนัดดา" ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับวัดเทพธิดาราม ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
โลหะปราสาท กำลังซ่อมแซม
โลหะปราสาท ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแทนการสร้างเจดีย์ โลหะปราสาทนี้ สร้างขึ้นตามประวัติพระพุทธศาสนา ถือเป็นโลหะปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก โดยโลหะปราสาทหลังแรก สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา บุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เป็นปราสาท 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ ที่ชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท"
ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระลังกา ในราวปีพุทธศักราช 382 เป็นปราสาท 9 ชั้น 1,000 ห้อง มีความกว้างและความสูงแต่ละด้าน 100 ศอก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง
โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด หมายถึง พระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล
สรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หน้าพระอุโบสถวัดราชนัดดา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมา คือ ทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุดและชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ
การบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้
เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรก แห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
สืบเนื่องจากโอกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น(ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นยศ พลอากาศตรี) ศิลปินแห่งชาติเป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และ นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
วัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี
สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า "พระพุทธชุติธรรมนราสพ"
ภาพจิตกรรมฝาผนัง พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากโปรดพระราชมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงษ์
และมาถึงวัดสุดท้าย ที่เรามาในวันนี้ นั่นคือ วัดสังเวชวิศยาราม ว่ากันว่าก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก่อนจะสถาปนา "บางกอก" เป็นเมืองหลวงนั้น พื้นที่ดินเดิมริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาของบางกอกเอง ก็จัดว่าเป็นเมืองที่เจริญ และ อุดมสมบูรณ์มาแต่เก่าก่อนแล้ว หลักฐานชั้นต้นสิ่งหนึ่ง ที่พอจะบ่งชัดได้ถึง ความเจริญของบางกอกนั้น ดูได้จากวัดทั้งหลายที่มีการปลูกสร้างมากมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
และมามีความเจริญขึ้นโดยพลัน เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้เลือกเอาบางกอก เป็นนครหลวงแห่งใหม่ต่อจากธนบุรีนั้น มีวัดเก่าแก่อยู่หลายวัดที่ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 นั้น ทรงได้รับพระราชทานจากพระเชษฐา สมเด็จกรมพระราชวังบวร ฯ เองก็ทรงรับเอาวัดโบราณหลายวัดมาเป็นวัดในองค์อุปถัมภ์อยู่มิใช่น้อย และ มีอยู่วัดหนึ่งในย่านบางลำพู ที่ชื่อ วัดสังเวชวิทยาราม ก็เป็นหนึ่งในวัดที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์ด้วย
อุโบสถวัดสังเวชวิทยาราม
วัดสังเวช ฯ นี้เป็นวัดโบราณที่มีชื่อเดิมว่า วัดบางลำพู ตั้งอยู่ที่คลองบางลำพูบน มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากนั้น กรมพระราชวังบวรฯ ได้รับเอาวัดบางลำพูไว้อุปถัมภ์ เพื่อประทานให้กับพระสนมชาวเขมรที่คิดจะครองสมณเพศเป็นชี กาลล่วงมาถึงรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดการสร้าง และ ทำนุบำรุงวัดวารมมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ก็ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดแล้ว พระราชทานนามเสียใหม่ว่า วัดสังเวชวิศยาราม มาในปัจจุบัน
การเดินทางไหว้พระ 9 วัดในย่านนี้ และเกาะรัตนโกสินทร์นั้น ทำได้ไม่ยาก ด้วยว่ามีวัดต่าง ๆ ทั้งวัดหลวงและวัดราช เป็นจำนวนมาก ท่านสามารถวางแผนการเดินทาง ให้จบได้ภายในวันเดียวเช่นกัน
อ้างถึง :: https://sites.google.com/site/allthaitemple/
สายลม ที่ผ่านมา
วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 11.45 น.