หลังจากที่เอารถไปเข้าศูนย์บริการของโตโยต้า เพื่อตรวจเช็คสภาพรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางกันแล้วค่ะ จากที่พัก โรงแรม วีธรา บูธีค โฮเทล กลางเมืองอุดรธานี เราก็มุ่งขึ้นเหนือไปยังจังหวัดหนองคายกันเลยค่ะ สถานที่ ๆ เราตั้งใจจะไปคือ "ศาลากู่แก้ว"

“ศาลาแก้วกู่” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดแขก” คือ สวนประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 42 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกะสมาคมจังหวัดหนองคาย สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนของทุก ๆ ศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้

คำว่า “กู่” ในศาลาแก้วกู่นั้นมีความหมายว่า “กุฏิ” , “อาวาส” หรือ “ศาลา” เพราะฉะนั้นคำว่า “ศาลาแก้วกู่” จึงเป็นคำซ้อนที่มีความหมายว่า “ศาลาแก้ว”

งานประติมากรรมปูนปั้นซึ่งตั้งอยู่ในสวนโดยรอบอาณาบริเวณของศาลาแก้วกู่นั้น ส่วนมากจะเป็นงานประติมากรรมที่บอกเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ตามตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา พราหมณ์ ฮินดู และคริสต์ แต่ก็มีงานประติมากรรมบางส่วนซึ่งได้จำลองเอาเหตุการณ์จากวรรณคดี สุภาษิตโบราณ หรือนิทานพื้นบ้าน นำมาจัดแสดงไว้เช่นกัน (ตัวอย่างงานประติมากรรมปูนปั้นในบริเวณของศาลาแก้วกู่ เช่น พระพุทธรูปปางนาคปรก , พระโพธิสัตว์ , พระยาจิตราช , พระพิฆเนศ , พระขันธกุมาร , เจ้าแม่กาลี , รามเกียรติ์ เป็นต้น)

งานประติมากรรมเหล่านี้จะมีคำอธิบาย “ภาษาไทยอีสาน” และ “ภาษาไทยภาคกลาง” บอกเล่าถึงเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับชิ้นงานนั้นๆ สลักเอาไว้บริเวณส่วนฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อ่านได้ศึกษาทำความเข้าใจ หากลองนับจำนวนชิ้นงานประติมากรรมปูนปั้นภายในสวนของศาลาแก้วกู่ก็จะพบว่ามีพระพุทธรูป เทวรูป และเทวาลัยทั้งหมด 208 องค์ และในจำนวนนี้มีมากกว่า 10 องค์ที่มีขนาดความสูงเกินกว่าตึก 3 ชั้น (บางองค์สูงมากกว่า 30 เมตร ซึ่งเทียบได้กับความสูงของตึก 10 ชั้นเลยทีเดียว)

ถือได้ว่า “ศาลาแก้วกู่” เป็นศาสนสถานที่มีการจัดแสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดยักษ์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว (อีกที่หนึ่งซึ่งถือเป็นสถานที่แฝดของศาลากู่แก้ว คือ อุทยานพุทธ ที่วัดเชียงควน เวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งสร้างโดย “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เช่นกัน)

ศาลาแก้วกู่เปิดให้เข้าชมสวนประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. แต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบสักการะร่างของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” บนศาลาแก้วกู่ชั้น 3 ได้เฉพาะเวลา 07.00 – 17.00 น. เท่านั้น ค่าบัตรเข้าชมศาลาแก้วกู่ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท

อาคาร "ศาลากู่แก้ว" ที่บรรจุร่างของ "พ่อปู่บุญเหลือ"

ร่างของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์”

เราออกจากศาลากู่แก้ว ในเวลาที่ยังไม่ทันจะเที่ยงวันดี ดั้งนั้น ก่อนที่เราจะแวะไปกินอาหารกลางวันที่ร้านดังเมืองหนองคาย เราก็จะแวะนมัสการ "หลวงพ่อพระใส" ที่วัดโพธิชัย เอาฤกษ์เอาชัยเสียก่อนไปกันค่ะ

สายลม ที่ผ่านมา

 วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 19.07 น.

ความคิดเห็น