
ออกจากศาลากู่แก้วยังไม่ทันจะเที่ยงดี เลยคิดว่าแวะไปกราบนมัสการหลวงพ่อพระใส ที่วัดโพธิชัยก่อนแล้วค่อยไปหาข้าวกินหน้าจะดีกว่า เพราะตอนนี้ยังไม่หิวเลยสักนิด ขับรถมาไม่ไกล ก็ถึงวัดโพธิชัย

เป็ดเหลืองหน้าวัดโพธิชัย

วัวัดโพธิ์ชัย เดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่ มีชื่อเรียกกันว่า วัดผีผิว ไม่ปรากฏหลักฐานเมื่อแรกสร้าง แต่สันนิษฐานว่าเป็นพระอารามสำคัญของเวียงจันทน์มาแต่เดิม จนเมื่อท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) และได้มาสร้างเมืองหนองคายขึ้นที่บ้านไผ่ มีการอัญเชิญ พระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์ที่ยึดมาได้คราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ มาไว้ที่วัดหอก่องในปี พ.ศ. ๒๓๗๒

อาชีพคู่เคียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขายหวย

วิหารหลวงพ่อพระใส
แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณวัดหอก่องทำให้เกิดเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ต่อหน้าพระเสริม ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันของชาวเมืองและขุนนางข้าราชการไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นอาเพศบ้านเมืองจะทุกข์ร้อน บ้างก็ว่าเป็นลางบอกเหตุว่าพระเสริมต้องการเสด็จไปวัดอื่น บ้างก็ว่าวัดหอก่องเป็นวัดเล็กไม่เหมาะสมที่จะนำพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ทรงสร้างมาประดิษฐานไว้ในที่แคบๆ เช่นนี้ เป็นต้น


เมื่อเป็นเช่นนั้น พระปทุมเทวาภิบาล ผู้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองหนองคายจึงได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็มีมติว่าจะต้องหาสถานที่เพื่อสร้างเป็นวัดใหญ่ และอัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐานอยู่ซึ่งสถานที่ดังกล่าวก็คือ วัดผีผิว

วิหารหลวงพ่อพระใส

วัดผีผิวเป็นวัดร้างที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งอดีต ภายในประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ลาวโบราณที่งดงาม และไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ดังนั้น จึงมีมติในการบูรณะวัดผีผิวและเปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดโพธิ์ชัย เมื่อกรมเมืองหนองคายมีมติดังกล่าวแล้ว พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ผู้เป็นเจ้าเมืองก็ได้นำความเข้าปรึกษากับ ท่านญาครูหลักคำ ผู้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่สุดของเมืองหนองคาย

หลวงพ่อพระใส จัดสร้างขึ้นโดย พระราชธิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่ง ล้านช้าง ทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระสุก พระเสริม และพระใส พระสุก นั้นได้จมลงที่แม่น้ำโขงขณะอัญเชิญลงมายังกรุงเทพ บริเวณที่พระสุกจมลงชาวบ้านจึงเรียกว่า เวินพระสุก ยังปรากฏมาจนปัจจุบันนี้ ส่วนพระเสริมนั้นได้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคาย จึงเป็นประธานฝ่ายฆราวาสโดยมีท่านญาคูหลักคำเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทำการยกวัดโพธิ์ชัย คือการยกฐานะจากวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา พร้อมกับบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุและสามเณรขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๒ ดังปรากฏในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ว่า


...ศักราชได้ ๒๐๑ ปีกัดไค้ เจ้าเมืองหนองคาย (ยก) วัดโพไซย เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ วันเสาร์แล…
เมื่อทำการบูรณะและยกวัดเสร็จแล้ว พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ได้นิมนต์ท่านญาคูหลักคำมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย และได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระเสริมจากวัดหอก่องมาประดิษฐานที่สิม (พระอุโบสถ) วัดโพธิ์ชัย แต่นั้นมาวัดโพธิ์ชัยก็กลายมาเป็นวัดหลวงประจำเมืองหนองคาย เนื่องจากเจ้าเมืองเป็นผู้สร้างหรือบูรณะขึ้น อนึ่ง ภายหลังจากประกอบพิธียกวัดโพธิ์ชัยและอัญเชิญพระเสิมมาประดิษฐานยังวัดโพธิ์ชัยแล้ว ถัดจากนั้นมาอีก ๑๓ วัน คือ วันที่ ๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญคือเกิดสุริยุปราคาขึ้น


หลัง พ.ศ. ๒๓๘๒ เป็นต้นมา พระเสิมและพระใสก็ได้รับการเคารพบูชาจากชาวเมืองหนองคายรวมถึงขุนนางข้าราชการจากกรุงเทพมหานครที่ได้เดินทางมาราชการที่เมืองหนองคายเป็นนิจ สมัยนั้นวัดโพธิ์ชัยมีท่านญาคูหลักคำเป็นเจ้าอาวาสก็ดำเนินการปกครองและพัฒนาวัดตามสมควร โดยได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากท่านเจ้าเมืองคือพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ทำให้วัดได้รับความเจริญมาตามลำดับ


เมื่อขุนวรธานีและเจ้าเหม็น เป็นข้าหลวงอัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัยลงไปยังกรุงเทพฯ ขุนวรธานีจะอัญเชิญพระใสไปพร้อมกับพระเสริมด้วย แต่เกิดปาฏิหาริย์ โดยพราหมณ์ผู้อัญเชิญนั้นไม่สามารถขับเกวียนนำพระใสไปได้ แม้จะใช้กำลังคนหรืออ้อนวอนอย่างไรก็ตาม จนในที่สุดเกวียนได้หักลง เมื่อหาเกวียนใหม่มาแทนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้อีก จึงปรึกษาตกลงกันว่าให้อัญเชิญพระใสมาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแทนพระเสริม ดังนั้นหลวงพ่อพระใสจึงประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยจนถึงปัจจุบัน



วัดโพธิ์ชัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเป็นองค์ประธาน ยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2523 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2524 ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ปัจจุบันมี พระธรรมมงคลรังษี (คำบ่อ อรุโณ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๘ เป็นเจ้าอาวาส


สำหรับหลวงพ่อพระใสนั้น เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณ์งดงามมาก ขนาดหน้าตัก กว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว สวนสูงจากพระสงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ของชางไม้ ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดหนองคายนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากและเป็น ที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้าง (บางท่านเชื่อว่า เป็นธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช) ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้น 3 องค์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แล้วขนานนามพระพุทธรูปตามพระนามว่า พระสุก พระเสริม และพระใส มีขนาดลดกันตามลำดับ พระสุกนั้นเป็นพระประจำพี่ผู้ใหญ่ พระเสริมประจำคนกลาง ส่วนพระใสประจำคนสุดท้อง

ตามประวัติการสร้างเล่าว่า มีพิธีการทางบ้านและทางวัดช่วยกันใหญ่โต มีคนสูบเตาหลอมทองอยู่ไม่ขาดระยะ นำเป็นเวลา 7 วันแล้วทองก็ยังไม่ละลาย ถึงวันที่ 8 เวลาเพล เหลือหลวงตากับสามเณรน้อยรูปหนึ่งสูบเตาอยู่ได้ปรากฏชีปะขาว ตนหนึ่งมาขอช่วยทำ หลวงตากับเณรน้อยจึงไปฉันเพล ญาติโยมที่มาส่งเพลจะลงไปช่วยแต่มองไปเห็นชีปะขาวจำนวนมากช่วยกันสูบเตาอยู่ แต่เมื่อถามพระ พระมองลงไปก็เห็นเป็นชีปะขาวตนเดียว พอฉันเพลเสร็จคนทั้งหมดจึงลงมาดู ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง เหตุเพราะได้เห็นทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้ง 3 เบ้า แล้ว และไม่เห็นชีปะขาวแล้ว


หลังสร้างเสร็จพระสุก พระเสริม และพระใส ได้ประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงอาณาจักรล้านช้าง มาช้านาน คราใดที่เกิดสงครามบ้านเมืองไม่สงบสุข ชาวเมืองก็จะนำพระพุทธรูปทั้งสามไปซ่อนไว้ที่ภูเขาควาย หากเหตุการสงบแล้วจึงนำกลับมาไว้ดังเดิม ส่วนหลักฐานที่ว่าประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่เมื่อใดนั้นยังไม่มีปรากฏแน่ชัด ทราบเพียงว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียสิ้น จึงให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ได้เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ เมื่อเมืองเวียงจันทน์สงบแล้ว จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใสมาที่จังหวัดหนองคาย


มีคำบอกเล่าว่า คราที่อัญเชิญมานั้น ไม่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์โดยตรงแต่อัญเชิญมาจากภูเขาควาย ซึ่งชาวเมืองนำไปซ่อนไว้ การอัญเชิญนั้นได้ประดิษฐานหลวงพ่อทั้งสามไว้บนแพไม้ไผ่ล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงเวินแท่นได้เกิดอัศจรรย์ คือ แท่นของพระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุแรงจัดพัดแพจนเอียงชะเนาะที่ขันพระแท่นติดกับแพไม่สามารถที่จะทนน้ำหนักของพระแท่นไว้ได้ บริเวณนั้นจึงชื่อว่า “เวินแท่น” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ครั้นล่องแพต่อมาจนถึงแม่น้ำโขง ตรงปากงึม เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้บังเกิดฝนฟ้าคะนอง พระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำ ท้องฟ้าที่วิปริตต่างๆ จึงหายไป บริเวณนั้นจึงได้ชื่อ “เวินสุก”ตั้งแต่นั้นมา ด้วยเหตุข้างต้น การอัญเชิญครั้งนี้จึงเหลือแต่พระเสริม และพระใสมาถึงหนองคาย สำหรับพระใสนั้นได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระเสริมได้ อัญเชิญไปไว้ยังวัดหอก่อง หรือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ และพระสุก ได้สร้างองค์จำลองไว้ที่วัดศรีคุณเมือง ณ ปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัยลงไปยังกรุงเทพฯ ขุนวรธานีจะอัญเชิญพระใสไปพร้อมกับพระเสริมด้วย แต่เกิดปาฏิหาริย์ โดยพราหมณ์ผู้อัญเชิญนั้นไม่สามารถขับเกวียนนำพระใสไปได้ แม้จะใช้กำลังคนหรืออ้อนวอนอย่างไรก็ตาม จนในที่สุดเกวียนได้หักลง เมื่อหาเกวียนใหม่มาแทนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้อีก จึงปรึกษาตกลงกันว่าให้อัญเชิญพระใสมาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแทนพระเสริม ซึ่งอัญเชิญไปกรุงเทพฯ เมื่ออธิษฐานดังกล่าวพอเข้าหามเพียงไม่กี่คนก็อัญเชิญพระใสมาได้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ว่า เป็นพระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ และทรงสันนิษฐานเรื่องการสร้างเป็น 2 ประการ คือ อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใดทางตะวันออกของอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาตกอยู่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือช่างลาวพุงขาว

เอาหละค่ะ กราบพระขอพรกันเรียบร้อยแล้ว เดี๋ยวเราไปกินข้าวกลางวันกันค่ะ ร้านนี้ดัง ของดีเมืองหนองคาย "แดงแหนมเนือง"

สายลม ที่ผ่านมา
วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 08.28 น.