'ตะโหมด' อยู่ที่ไหน?

แว๊ปแรกที่ได้ยินชื่อชุมชน 'ตะโหมด' ชื่อนี้ต้องมาจาก 'ตาลตะโหนด' ที่นี่ต้องมีต้นตาลตะโหนดเยอะเป็นแน่ ค้นหาชุมชนนี้ผ่าน google map เจอแต่พื้นที่สีเขียวๆ ค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวตามโปรแกรม ที่ชุมชนจัดไว้แทบไม่เจอเลยล่ะ ค้นเจอเพียงแต่วัดประจำชุมชน คุณ gps ก็คงนำเราไปถึงแน่ๆ มาถึงขนาดนี้แล้วเป็นไงเป็นกัน เริ่มต้นการเดินทางสู่ เมืองที่ไม่รู้จัก

เราเดินทางจากกรุงเทพบินลัดฟ้าสู่สนามบินหาดใหญ่ ด้วยเที่ยวบินที่เช้าที่สุด จากนั้นขับรถมุ่งหน้าสู่เมืองพัทลุง เเยกเข้าสู่อำเภอตะโหมด จากถนนสี่เลนค่อยๆ ลดลงเหลือสองเลน จากทิวทัศน์สองข้างทางที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ เปลี่ยนเป็นกลุ่มไม้ยืนต้น เล็กใหญ่สลับกันเป็นแถวเป็นแนว

เมื่อรถลงเนินเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน บรรยากาศสองข้างทาง รวมไปถึงอากาศและความเงียบสงบ เปลี่ยนไปราวกับหลุดเข้าในอีกโลกนึงเลย
ถึงจุดนัดพบเราก้าวเท้าลงรถในเวลาไล่เลี่ยกัน ภาพเเรกหลังจากเงยหน้าขึ้นมา ก็พบกับวิวทุ่งนาสีเขียวๆ กับลมพัดเย็นๆ ใบไม้พลิ้วไหว ฮึบ.. เท้าสะเอวพร้อมกับยืดตัวสูดอากาศเข้าปอดกันยกใหญ่ กะว่าตุนเผื่อเอาไว้ให้ได้สักสามสี่เดือนเป็นอย่างน้อย

"กินอะไรกันมารึยัง"

คำทักทายเเรกแว่วมาแต่ไกล จากชายร่างท้วมผ้าขาวม้าคาดเอวหน้าตาดุ เดินมาพร้อมกับกระจาดขนมและผลไม้พื้นบ้านน่ารักๆ ที่ถูกตระเตรียมไว้รอผู้หิวโหย เราไม่รอช้าหยิบกันคนละหนุบหนับ รู้สึกตัวอีกทีพบเเต่ความว่างเปล่า

แล้วเราก็เริ่มต้นพูดคุยกันด้วยความอิ่มท้องพร้อมลุย 'พี่ธนิน' และ 'พี่อภัย' ประธาน และ ประชาสัมพันธ์ เครือข่ายชุมชนการท่องเที่ยวตะโหมด เล่าเรื่องราวความเป็นมาความเป็นอยู่ของชุมชน ให้เราได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้น

"พ่อท่านช่วย ช่วยเราได้"

หมุดหมายเเรกของเราคือ 'วัดตะโหมด' ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางชุมชนตะโหมด และเป็นที่ตั้งของวิหาร 'พ่อท่านช่วย' เจ้าอาวาสองค์แรกของของวัดตะโหมด พระผู้เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน ชาวตะโหมดเชื่อกันว่าหากได้มาสักการะ ท่านจะช่วยคุ้มครอง ไม่ว่าจะมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ท่านจะช่วยปัดเป่าให้ทุกคนได้สมหวังทุกประการ

'เรียนรู้ความ(ส)บายใจ'

ที่นี่ 'ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงครัวเรือนแบบยั่งยืน' 'คุณลุงนึง' พาไปรู้จักพืชพื้นบ้าน ที่บางชนิดมีเฉพาะในพัทลุง คุณลุงเล่าว่าวิถีความเป็นของชาวตะโหมดกับผูกพันธ์กับธรรมชาติอย่างเเน่นแฟ้นด้วยธรรมชาติรอบตัว อยู่ที่นี่รับรอง(ส)บายใจ

อีกกิจกรรมต้องลอง คือการ 'ขี่ม้าชมสวน' เราก็ไม่รอช้า เหยียบเท้าซ้ายแล้วเหวี่ยงตัวขึ้นนั่ง ขาหนีบตัวม้าเอามือจับบังเหียนไว้ให้เเน่น คล่องแคล่วว่องไวเหมือนได้ฝึกขี่ม้ามาก่อนแล้ว แต่เปล่าเลยนี่เป็นการขี่ม้าครั้งแรก เสียงหัวเราะของพี่คาวบอยและครูฝึกม้าดังขึ้นพร้อมกัน สุดท้ายต้องช่วยจูงม้าเดินพาชมไปรอบๆ สวนของคุณลุง ขี่ม้าครั้งเเรกเพิ่งรู้เลยว่าโยกไปโยกมามันเป็นยังไง การทำความรู้จักเข้าอกเข้าใจม้า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

'คุณลุงนึง' (คนึง สหัสสธารา) ปราชญ์ชุมชนและคณะคาวบอย เเสนมันฮา และใจดี ผู้มากประสบการณ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ตามรอยศาสน์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่พวกเรา

ลงจากหลังม้าแล้ว สิ่งที่เราเฝ้าคอยก็มาถึง มื้อเที่ยงส่งตรงจาก 'ครัวร้อยสาย' อาหารใต้รสมือเเม่แม่ วางเรียงรายไว้รอเรา กับข้าวหน้าตาคุ้นเคย รสชาติถูกปาก ทั้งแกงเหลือง ต้มกะทิกุ้ง ไข่ลูกเขย น้ำพริกกะปิ ผักพื้นถิ่น และน้ำสมุนไพรเพิ่มความสดชื่น ตบท้ายด้วยขนมและผลไม้ สุดฟินกับมื้อกลางวันวันนี้ในบรรยากาศบ้านสวนอันเเสนร่มรื่น

"น้ำใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา"

กับกิจกรรมพายเรือคายัค ลัดเลาะไป 'คลองโหล๊ะจังกระ' ลำคลองขนาดไม่กว้าง น้ำไม่ลึกมากนัก ริมตลิ่งทั้งสองข้างเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ประสานกันเป็นอุโมงค์ต้นไม้เป็นระยะ ระหว่างทางได้เห็นวิธีการจับปลาตามริมตลิ่ง บ้างก็สุมไม้ไผ่ซ่อนไซดักปลา แต่รูปแบบที่แปลกตาไปคือ การเอาเเหกางออกเป็นรูปดาว ขึงให้ลอยไว้เหนือน้ำ ห้อยเหยือลงมาจากแห แล้วโยงเชือกสำหรับปล่อยแหลงน้ำมาริมตลิ่ง เมื่อปลาเข้ามากินเหยื่อใต้แห กระดิ่งที่ติดอยู่จะดังส่งเสืยง คนที่คอยนั่งเฝ้าจะกระตุกเชือกปล่อยแห จะทำให้แหร่วงลงมาครอบปลาไว้ได้ทันที พี่คนพายเล่าว่าปลาที่นี่ชุกชุมหาไม่ยาก เพียงเเค่เราออกมาหาปลา ยังไงก็ได้ปลากลับไปกินกันแน่นอน

'ที่นี่นอโม ชื่อนี้มีความหมาย'

ตรงนี้บ้านนอโม 'พี่ธนิน' เล่าให้ฟังว่า คนตะโหมดนั้นประกอบด้วยผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม อยู่ร่วมอย่างเเน่นเเฟ้น แต่เดิม 'บ้านนอโม' ถูกบุกเบิกโดยชาวพุทธและตั้งชื่อว่า 'บ้านนะโม' ต่อมาคนมุสลิมเขามาอยู่ที่นี่ คำว่า 'นะโม' จึงเพี้ยนเป็น 'นอโม' แต่มัสยิดศูนย์รวมใจ ของชาวมุสลิมชาวตะโหมดยังคงใช้ชื่อ 'มัสยิดควนอินนะโม' แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีกัน ของชาวพุทธและพี่น้องชาวมุสลิม เป็นอย่างดี

"เห็นรุ้งกินน้ำอย่าชี้นะ เดี๋ยวนิ้วจะกุด"

เส้นทางภายใน 'คลองโหล๊ะจังกระ' เป็นลำคลองเล็กๆ ลัดเลาะไปตามป่าชุมชน และสวนผลไม้ของชาวบ้าน บ้างช่วงจะมีกอไผ่ใหญ่ๆ ขึ้นเต็มริมตลิ่งทั้งสองข้าง บางช่วงเป็นหน้าผาหิน บ้างช่วงที่เป็นสวนผลไม้ ชาวบ้านก็ตะโกนทักทาย ชวนชิมผลไม้จากต้นในสวน บางช่วงก็จะมีรุ้งกินน้ำก็แวะมาทักทายพวกเรา

จากความเงียบสงบ เปลี่ยนเป็นเสียงเด็กโหวกเหวกโวยวาย เราพายเรือผ่านโค้งมา เห็นเป็นเด็กน้อยกลุ่มใหญ่ กำลังเล่นน้ำดำผุดดำโผล่ บ้างก็โดดลงมาจากต้นไม้ริมตลิ่ง อันเป็นสัญญาณว่า เรามาถึงปลายทางแล้ว เรือเข้าจอดเทียบท่า เราต่างก็พากันก้าวขึ้นจากเรือกล่าวขอบคุณ และร่ำลาพี่ฝีพายที่พาเราดื่มด่ำกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ตลอดริมฝั่งคลองสองชั่วโมงเต็ม

ก่อนจะก้าวเท้าขึ้นรถ เพื่อนของเราคนหนึ่ง ก็เหยียบเข้ากับวัตถุสีเขียว หน้าตาเหมือนหอยเม่น พี่ธนินบอกว่ามันคือ 'ลูกกอ' เอาไปคั่วกินได้มันคือ 'เกาลัดเมืองไทย' ได้ยินแบบนี้ก็ตาลุกวาว เก็บมาได้ถุงใหญ่ จะเอาไปลองคั่วกินกัน


'อ่างเก็บน้ำเขาหัวช้าง'

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและจัดสรรน้ำสำหรับใช้ในพื้นที่อย่างเหมาะสม แล้วเสร็จในปี 2556 ตอนนี้นะยังเป็นจุดชมวิวพานอรามา นั่งชิวยามเย็นพร้อมกับดูพระอาทิตย์ตกอย่างดีเลยเเหละ

รูปร่างหน้าตา 'อ่างเก็บน้ำเขาหัวช้าง' มีความคล้ายเขื่อขุนด่านปราการชล แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ภายในเขื่อนมีเรือหางยาวคอยให้บริการเช่าเหมาลำท่องเที่ยวภายในอ่างเก็บน้ำด้วย

ยามเย็นเช่นนี้ริมอ่างเก็บน้ำ เหมาะแก่การนั่งรับลมเย็นๆ พัดเข้าใส่ และสิ่งที่เราไม่น่าจะพลาด คือการได้ถ่ายภาพร่วมกันแบบนี้

"มาปักษ์ใต้ ต้องได้ลองรสสะตอ"

เดินทางกลับเข้าบ้านพักหลังใหญ่ คุณลุงคุณป้านั่งรอต้อนรับ ตระเตรียมอาหารเย็น จัดสำรับวางรอไว้ จานโปรดที่รอคอย 'สะตอผัดกุ้ง' แต่รสไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ เลย ไม่เข้มไม่เผ็ด สะตอออกมัน เคี้ยวเพลินมากกว่า กินคู่กับปลาทอดขมิ้นนะ ขอข้าวเพิ่มอีกสองสามจาน

อีกอย่างเเนะนำเลยคนที่นี่นิยมกิน 'ข้าวสังข์หยด' ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของเมืองพัทลุง จะมีกลิ่นหอม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่สำคัญที่นี่ทำการเกษตรปลอดสารพิษทั้งหมด ฝากท้องที่ตะโหมดอิ่มท้องพร้อมสุขภาพดีอีกต่างหาก

หลังจากล้อมวงสนทนาพูดคุยกับเหล่าคุณลุงคุณป้า จนอิ่มสำราญก็แยกย้ายเข้าที่พัก คุณป้านำเราขึ้นมาที่ห้องพัก น้ำท่าและผลไม้ คุณป้าเตรียมไว้ให้เผื่อจะหิวกันช่วงกลางคืน แยกย้ายกันอาบน้ำอาบท่าห้องน้ำก็เเสนจะสะดวกสบาย

ส่วนห้องนอนเเล้วความคิดเเว้ปแรก "ไม่มีแอร์ พัดลมตัวเดียว คือนี้ต้องร้อนเเน่เลย" ตกดึกอากาศเย็นจนผ้าห่มผืนบาง เหมือนจะไปพอ ถึงกับต้องขอผ้าห่มเพิ่มกันเลยทีเดียว

'ที่นี่...ควนตาคม'

เช้านี้เราตื่นกันตั้งเเต่ตีห้า เพื่อไปชมทะเลหมอกที่ 'ควนตาคม' จุดชมทิวชื่อดังที่ต้องห้ามพลาดของตะโหมด เดินทางออกจากที่พัก 5 นาที ก็มาถึงทางเข้าควนตาคม เราจัดแจงจอดรถ แล้วพากันเดินผ่านสวนยางพาราขึ้นไป อาศัยแสงสว่างจากโทรศัพท์มือถือส่องนำทาง ใช้เวลาเดินขึ้นมาไม่ถึง 5 นาที ก็ขึ้นมาถึงจุดชมวิว

จุดชมวิวเป็นลานเปิดโล่ง มีลมพัดตลอดเวลามีความหนาวเย็นกำลังดี จัดแจงปูเสื่อนั่งรอแสงแรกของวัน แม้วันนี้ลมแรงจนไม่มีทะเลหมอกให้เห็น แต่สิ่งที่เราได้เห็นก็คืนพระอาทิตย์ดวงกลมโตที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า ทำเราหลงมองนิ่งๆ จนเกือบลืมยกกล้องบันทึกภาพกันเลยทีเดียว

กาแฟอุ่นๆ กับข้าวเหนียวสามเหลี่ยมย่างร้อนๆ ให้เราได้อิ่มท้องและดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเช้าที่แสนอบอุ่น

นี่เลย จุดถ่ายภาพยอดนิยมบน 'ควนตาคม' ที่มีฉากหลังเป็น 'เขาหัวช้าง' บน 'ควนตาคม' เรายังสามารถขึ้นมาชมวิวแบบ 360 องศาได้ทั้งยามเช้าและยามเย็น ว่ากันว่ายามเช้าฟ้าใสๆ เราสามารถมองเห็นวิวได้ไกลไปถึงทะเลน้อยเลย


"เขาหัวช้างประตูสู่ป่าใหญ่"

'เขาหัวช้าง' มีตำนานเล่าว่า 'นายหัวช้าง' หลงรักสาวผู้หนึ่ง แต่ไม่ได้คลองรักกันจึงตรอมใจตาย แล้วจึงเกิดเป็นเขาหัวช้าง ซึ่งภูเขาก็มีหน้าตาคล้ายหัวช้างที่กำลังหมอบอยู่ คนที่นี่ทั้งไทยพุทธและมุสลิมมีความเชื่อและให้ความเคารพต่อเขาหัวช้าง ปัจจุบันเป็นเขตป่าชุมชน ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมกันดูแลเพื่อการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน

"เมื่อคืนหลับสบายไหมลูก"

'คุณลุงยศ' (สมยศ ทองรักษ์) และ 'คุณป้าล่อง' (อรุณี ทองรักษ์) ถามขึ้นอีกครั้งหลังจากเรากลับเข้าบ้านมาพักผ่อนอาบน้ำอาบท่า "หลับสบายมากค่ะอากาศหนาวเหมือนเปิดแอร์เลย" แล้วคุณลุงก็ชี้ชวนว่าอย่าลืมไปนั่งหลังบ้านนะ พอเปิดประตูออกไปเท่านั้นเเหละทุ่งนาสีทองตัดกับทิวเขาสีเขียว ลมพัดโชยชวนเคลิ้ม ทำเอานั่งนิ่งกับภาพที่อยู่ตรงหน้าไปพักใหญ่

"มาตะโหมดอย่าลืมชิม โรตีกรอบ"

'กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนประชาบำรุง' เกิดจากรวมตัวของสตรีทำขนมขาย กำไรที่ได้จะถูกปันผลกันเมื่อปลายปี 'คุณป้าฉลาด' (สมจิตร ปราบปรี) และทีมงาน เปิดโอกาสให้เราได้ลองทำโรตีกรอบ โดยเริ่มจากนวดแป้งจนเข้ากัน ปั้นเป็นเส้นหั่นเป็นชิ้นบางพอดีคำ ทอดจนกรอบ อบรีดน้ำมัน คลุกน้ำตาลพอหวานหอม บรรจุถุงออกจำหน่าย เคล็ดลับความอร่อยของโรตีกรอบที่นี่คือกลิ่นหอมๆ จากข้าวสังข์หยด ผสมกับสมุนไพรให้ได้รสต่างๆ เช่น งาดำ งาขาว แครอทและฟักทอง

ผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นชื่อคุณภาพระดับ OTOP จังหวัดพัทลุง เป็นสิ่งที่แนะนำให้ติดมือกลับบ้าน เป็นของฝากของกินเล่น

"เอาต๊ะลูก เอา(ทุ)เรียนไปกิน"

น้ำผึ้งเดือนห้าที่ 'ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มเลี้ยงผึ้ง'
ก่อนจะพาชมสวน เราก็ได้รับการต้อนรับด้วย เงาะและมังคุดกระจาดใหญ่ ก่อนจะเอ่ยคำทักทาย จากนั้น 'บังเเดง' (แดง ไชยสงคราม) ปราชญ์ชุมชนอีกท่านพาเดินชมสวน ดูบ้านของผึ้งที่คุณลุงเลี้ยงไว้ให้ แอบดูการทำรัง และเล่าถึงวงจรชีวิตของผึ้งจนผลิตเป็นน้ำผึ้งออกมาได้อย่างไร สามารถแปรรูปออกมาเป็นอะไรได้บ้าง

หันไปอีกที เจอคุณป้ากำลังสอยมงคุดเลยได้เห็นภูมิปัญญาในการทำไม้สอย ด้วยการผ่าไม้ไผ่ออกเป็นซี่ยาว ทำเป็นตะกร้อสอยที่เดียวได้หลายลูก โดยไม่ต้องปืน แล้วคุณป้าก็เดินไปหยิบทุเรียนมาให้ 4 ลูกเเล้วบอกว่าเอาไปกินกัน น้ำใจของคนที่นี่มีมากล้นจริงๆ อะไรทำให้เขาหยิบยื่นน้ำใจ ให้กับคนแปลกหน้าต่างถิ่นอย่างเราได้ถึงขนาดนี้ ตัดภาพกลับมาที่เรากำลังยืนมองเพื่อน 3 คน กำลังอุ้มทุเรียนคนละ 1 ลูก เดินขึ้นรถ....

"ครัวร้อยสาย"

สงสัยมาตั้งเเต่เมื่อวานว่า 'ครัวร้อยสาย' คืออะไร จนมาเข้าใจในมื้อสุดท้ายของทริปนี้ว่า ในภาษาถิ่นใต้ เขาจะเรียกปิ่นโตว่า 'ชั้น' และเรียกจำนวนปิ่นโตว่า ’สาย’

'โฮมสเตย์ชุมชนตะโหมด' ดำเนินงานในแบบเครือข่าย ชาวบ้านในเครือข่ายจะทำอาหารด้วยฝีมือของตัวเอง เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชน อย่างวันนี้เป็นเวรของ 'ก๊ะสา' (ปาติเหม๊าะ ช่วยดำ) และ 'พี่เล็ก' (อรุณวรรณ ละเเมง) เเม่ครัวมือหนึ่งของตะโหมด ทำอาหารใส่ปิ่นโต คนละ 1 สาย มารอจัดเตรียมอาหารกลางวันไว้ให้พวกเรา ทริปนี้เรามากัน 4 คน อาหารในปิ่นโต 2 สาย จึงเพียงพอสำหรับเรา 4 คน หากมีนักท่องเที่ยวเป็นหลักร้อย จำนวนปิ่นโตก็จะมากเป็น ' ร้อยสาย' เช่นเดียวกัน

เราจะได้เรียนรู้วิถีการกินของชาวตะโหมด โดยที่เราจะได้ลิ้มลองรสชาติ อาหารพื้นบ้านที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายของเมนูอาหารด้วย

อาหารมื้อนี้จากปิ่นโต 2 สาย ก็จะมีอาหารพื้นบ้านบางอย่างมีเฉพาะที่นี่เท่านั้น 'ครัวร้อยสาย' ทำให้เราได้สนุกกับการลุ้นว่าเปิดมา เราจะได้กับข้าวอาหารแน่นอนว่ากับข้าวต้องหลากหลาย ส่วนรสชาตินิหายห่วงเติมข้าวอย่างน้อยสองจาน ที่สำคัญไม่ลืมแกะทุเรียนที่รับมาจากสวน มาตบท้ายมื้อนี้เเน่นอน

"ลูกกอ เกาลัดเมืองไทย"

วัตถุคล้ายหอยเม่นสีเขียว ที่เราเก็บกันมา มีชื่อเรียกว่า 'ลูกกอ' ลุงกับป้าบอกว่าสามารถแกะเมล็ดภายใน ออกมาจากหนามสีเขียว นำเมล็ดที่ได้มาแช่น้ำไว้ครู่นึง ก่อไฟตั้งกระทะคั่วเมล็ดจนสุก แล้วกระเทาะเอาเปลือกออก จะเห็นเนื้อในสีเดียวกับเกาลัด แถมรสชาติหวานมันเหมือนเกาลัดอีกต่างหาก ต้อง! ห้าม! พลาด!


"ว่าด้วยของดีชุมชนตะโหมด"

เที่ยวเล่นตรงโน้นแวะตรงนี้กันจนเพลิดเพลิน ก็ไม่ลืมซื้อของฝากกลับไปฝากคนที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนทอดและโรตีกรอบ ที่รับรองว่าเมื่อได้เปิดห่อแล้วรู้ตัวอีกทีเหลือเเต่ถุงว่างๆแน่นอน ผลิตภัณฑ์ระดับ OTOP ของพัทลุง ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งบริสุทธิ์ ปลอยภัยจากสารพิษเพราะที่นี้ทำเกษตรแบบอินทรีย์ 100%

เอ้าา าา ช็อปได้!!!

"หลบร้อน นอนแช่น้ำ"

'น้ำตกหม่อมจุ้ย' อยู่เหนือขึ้นไปจากหมู่บ้าน เป็นเเหล่งต้นน้ำสายหนึ่งที่หล่อเลี้ยงชุมชน น้ำตกแห่งนี้เคยเป็นจุดพักทัพของหม่อมจุ้ยครั้งยกทัพไปปราบกบฏไทรบุรีทางใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งต่อมาหม่อมจุ้ยได้รับพระราชทานตำแหน่งพระยาพัทลุง เจ้าเมืองพัทลุง และกลายเป็นชื่อของน้ำตกแห่งนี้

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านในชุมชนจะขึ้นมาทำบุญบริเวณน้ำตกแห่งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

'น้ำตกหม่อมจุ้ย' จะแบ่งเป็นชั้นขึ้นไปหลายชั้น ระหว่างชั้นของน้ำตกจะมีเเอ่ง หรือวัง เช่น วังขี้ขม วังหาดใหญ่ วังสไลเดอร์ ซึ่งมีชื่อเรียกตามลักษณะ และหน้าตาของเเต่ละแอ่ง สามารถลงไปเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย

การเดินทางมา 'น้ำตกหม่อมจุ้ย' มีความสะดวกสบาย สามารถขับรถเข้ามายัง 'ลานหม่อมจุ้ย' แล้วลงเล่นน้ำในแอ่งล่างได้เลย 'น้ำตกหม่อมจุ้ย' เหมาะสำหรับการการท่องเที่ยวของกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว

'น้ำตกหม่อมจุ้ย' ตั้งอยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าบ้านตะโหมด จึงปลอดภัยหายห่วง มาที่นี่จะพบกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์และเงียบสงบ ถ้าจะลองเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติก็ดีไม่น้อย เพราะตลอดทางมีต้นไม้ร่มรื่นเขียวขจีตลอดทางเดิน

"หลักรวมใจสองศาสนา"

ชุมชนตะโหมดเป็นชุมชนที่ประกอบคนที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ที่มีความผูกพันกับอย่างเเน่นเเฟ้น จึงมีสุสานของทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันบน 'ควนเปลว' หรือ 'ควนโต๊ะโหมด' ผู้มาบุกเบิกที่นี่เป็นคนเเรก ในช่วงสงกรานต์ก็จะมีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษของทั้งสองศาสนา และอธิษฐานขอพรกับหลักสองศาสนา โดยพี่น้องมุสลิมจะขอพรอีกฝั่งหนึ่ง และพี่น้องพุทธก็จะขอพรอีกฝั่งหนึ่ง


"อยู่ตะโหมด 7 วัน อายุยืนขึ้นอีก 1 เดือน"

คำกล่าวนี้ของ 'พี่ธนิน' อาจจะดูเกินจริง หากเรายังไม่ได้มาเยือนชุมชนแห่งนี้ ทันทีที่ย่างก้าวเข้ามายังชุมชน เราถูกต้อนรับด้วยปราการธรรมชาติ เสมือนเหล่าพรรณไม้ใหญ่น้อย เปิดทางตั้งแถวต้อนรับเราเข้าสู่ชุมชน สิ่งแรกที่เราพบเห็นคือ สีเขียวของทิวไม้ใหญ่ สีเหลืองของท้องทุ่งรวงทอง สีฟ้าของท้องฟ้าอันกว้างไกล ทำให้เราเผลอหยุดยืนหลับตา เงยหน้าสู้ฟ้า แล้วสูดหายใจเข้าออกลึกๆ เต็มแรงในรอบหลายเดือน เก็บเอาความสดชื่นเผื่อไว้สำหรับอีกหลายเดือนข้างหน้า

คำกล่าวทักทายแรกที่ดังขึ้นก่อนคำว่า "สวัสดี" ก้าวแรกที่เราลงจากรถไม่ว่าเราจะไปพบใคร ที่ไหนในชุมชนแห่งนี้ มักจะได้ยินคำทักทายว่า "กินอะไรมาหรือยัง" เสมอ หลังจากนั้นจะตามมาด้วย กระจาดขนม ผลไม้พื้นเมือง เงาะ มังคุด รวมไปถึงทุเรียน เหมือนเป็นการทักทายคนแปลกหน้า หรือนี่จะเป็นธรรมเนียมที่คนแปลกหน้า ต้องอิ่มท้องก่อนแล้วจึงเริ่มพูดคุย

ด้วยชุมชนตั้งอยู่ริมเทือกเขาบรรทัด ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีหลากหลาย ตั้งแต่แม่น้ำลำคลอง น้ำตก อ่างเก็บน้ำ ถ้ำพระขนาดใหญ่ ทุ่งนาสีเหลืองทอง เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จุดชมวิว ที่เราต้องเลือกว่าจะมาจุดนี้ตอนไหนดี จนรู้สึกว่า คำว่า “จะเที่ยวที่นี่ให้ครบ คงต้องอยู่เป็นสัปดาห์” คำกล่าวนี้ดูท่าจะจริง ทริป 2 วัน 1 คืน ของเราอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว

ชุมชนที่น่ารัก อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เปี่ยมล้นไปด้วยน้ำใจแลรอยยิ้ม มีหรือคนมาพักมาเที่ยวอย่างเรา จะไม่(ส)บายใจ

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ 'พี่ธนิน' ธนินธรณ์ ขุนจันทร์ (ขวา) ประธานเครือข่ายชุมชนการท่องเที่ยวตะโหมด และ 'พี่อภัย' อภัย สุรรณจินดา (ซ้าย) ประชาสัมพันธ์เครือข่ายชุมชนการท่องเที่ยวตะโหมด เนวิเกเตอร์ ดูแลพวกเราเป็นอย่างตลอดทริปสองวันหนึ่งคืน


ข้อมูลการเดินทาง

ชุมชนบ้านตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง พิกัด : https://goo.gl/maps/fV72kH21ZaL2 ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทาวได้โดยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางถนนหมายเลข 4 เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 4237 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะสามารถเดินทางมาถึงชุมชนแห่งนี้แล้ว


โปรแกรมการท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน

วันที่หนึ่ง

- เดินทางจากกรุงเทพถึงหาดใหญ่โดยเครื่องบิน แล้วเดินทางต่อไปยังอำเภอตะโหมด - กราบพระรูปพ่อท่านช่วย (พระอธิการช่วย อินฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดตะโหมดองค์แรก - ชิมทุเรียนทอดวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านตะโหมด - เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนเศรษฐกิจพอเพียงแบบยั่งยืน และรับประทานอาหารกลางวัน - พายคายัคล่องคลองโหล๊ะจังกระ - ชมอาทิตย์อัสดงที่อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ - รับประทานอาหารเย็นและเข้าพักโฮมสเตย์

วันที่สอง

- ชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่ควนตาคม พร้อมรับประทานอาหารเช้า - กิจกรรมทำโรตีกรอบ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนประชาบำรุง และเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ กลุ่มเลี้ยงผึ้ง - รับประทานอาหารกลางวันแบบครัวร้อยสาย - เส้นทางศึกษาธรรมชาติ น้ำตกหม่อมจุ้ย - เรียนรู้ศูนย์รวมใจสองศาสนา ก่อนเดินทางกลับ


ค่าใช้จ่ายที่พัก 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหารและกิจกรรมในชุมชม

ราคา 2-3 ท่าน ท่านละ 1,250 บาท ราคา 4 ท่าน ขึ้นไป ท่านละ 900 บาท

***ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าเดินทางและกิจกรรมพายคายัค


สามารถแวะไปเยี่ยมเยือนแลพูดคุยกันกับเราได้ที่

https://www.facebook.com/whenigoout/

แค่อยากออกไป

 วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 12.35 น.

ความคิดเห็น