เมื่อพูดถึงเส้นทางสายไหมในหัวเราก็คิดไปถึงเส้นทางขนส่งสินค้าโดยเฉพาะผ้าไหมอันเลื่องชื่อของจีนไปยังประเทศแถบยุโรปในอดีต หรือไม่ก็เป็นโรตีสายไหมแถวถนนหน้าโรงพยาบาลอยุธยา แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่า มีเส้นทางสายไหมที่ไปเที่ยวได้ง่าย อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองบางกอกของเรานี่เอง พอเราได้ไปดูแล้วก็บอกเลยว่า อืม...เหนือความคาดหมาย ลองมาดูกันว่าทริปนี้จะเหนือความคาดหมายยังไงบ้าง
ทริปนี้เราจะเริ่มต้นทำความรู้จักกับผ้าไหมจากบ้านจิม ทอมป์สัน คุณจิมใช้ที่นี่เป็นสถานที่ทำงานพัฒนางานผ้าไหม โดยแหล่งทอผ้าไหมที่คุณจิมได้นำมาใช้เป็นหลักในเวลานั้นก็คือ ผ้าไหมจากชุมชนบ้านครัวเหนือ เราจะไปดูการทอผ้าไหมด้วยมือกันที่บ้านคุณลุงอี๊บ ครัวผ้าไหมไทยผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าของแขกจาม ที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าไหมตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงปัจจุบัน ต่อด้วยบ้านคุณลุงอู๊ดซึ่งมีความชำนาญเรื่องการย้อมสีไหม ทำด้วยมือเองทุกกระบวนการ แล้วไปปิดท้ายที่ร้าน IMMAS (ในปัจจุบัน) ผู้ที่ตัดเย็บเนคไทเส้นแรกให้กับจิม ทอมป์สัน อยู่ที่ชุมชนมัสยิดฮารูณ เขตบางรัก
บ้านจิม ทอมป์สัน
ถ้าพูดถึงผ้าไหม ชาวไทยและชาวต่างชาติก็น่าจะนึกถึงแบรนด์จิม ทอมป์สันเป็นแบรนด์แรก ซึ่งเพื่อน ๆ ทราบหรือไม่คะว่ามีพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันตั้งอยู่กลางกรุงใกล้กับย่านห้างดังมาบุญครองนี่เอง เริ่มต้นการเดินทางโดยเรา เพื่อน ๆ และทีมงาน เดินจากสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติเข้าซอยเกษมสันต์ 2 ไม่กี่อึดใจก็มาถึงพื้นที่สีเขียวขนาดย่อม “พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson House Museum)”
ภายในบริเวณจะประกอบด้วยอาคารเรือนไทย และมวลหมู่ต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่นมาก ช่วยบรรเทาความร้อนของวันไปได้มากเลยทีเดียว
ระหว่างรอรอบนำชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 200 บาทต่อคน เรามาเดินชมบรรยากาศโดยรอบกัน โดยเริ่มจากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของจิม ทอมป์สันซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหมมากมายหลายรูปแบบ เช่น กระเป๋า พวงกุญแจ สมุดจดบันทึก เนคไท ปลอกหมอน ฯลฯ ดูสวยแบบมีคุณค่าทั้งนั้นเลย
พอได้เวลาพวกเราก็เอากระเป๋ารองเท้าฝากไว้ในล็อกเกอร์ (ฟรี) แล้วตามเจ้าหน้าที่นำชมเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์กัน (แต่ภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายรูปนะคะ) ข้างในพิพิธภัณฑ์เราจะได้รื่นรมย์ไปกับศิลปะการตกแต่งบ้าน และของสะสมส่วนตัวของคุณจิม บางชิ้นมีอายุหลักร้อย บางชิ้นก็มีอายุนับพันปีเลยทีเดียว ชิ้นที่เราชอบที่สุดก็คงจะเป็นกาใส่ไวน์เบญจรงค์ซึ่งมีการดีไซน์ที่สวยงาม และเห็นตอนแรกเราไม่คิดว่ามันจะไว้ใช้ใส่ไวน์
หลังเต็มอิ่มกับบรรยากาศในบ้านจิม ทอมป์สันแล้ว พวกเราก็เดินเลาะริมคลองแสนแสบที่อยู่ด้านข้างบ้านจิม ทอมป์สันแล้วข้ามสะพานไปยังชุมชนบ้านครัวเหนือ
บ้านครัวเหนือ
ที่ดินบริเวณชุมชนบ้านครัวเหนือนี้เป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานให้แขกจามเนื่องจากได้เข้าไปช่วยร่วมรบในสงคราม 9 ทัพ หลังจากนั้นชาวชุมชนบ้านครัวเหนือจึงได้ทอผ้าไหมเป็นหนึ่งในอาชีพหลักจนทำให้มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน
เรามาแวะกันที่แรกที่บ้านลุงอี๊บ
คุณลุงอี๊บเล่าให้พวกเราฟังว่า ในสมัยก่อนผ้าไหมที่ทอก็จะส่งขายให้กับจิม ทอมป์สันเป็นหลัก นอกจากนี้ก็มีชาวพระประแดงมาซื้อ หรือล่องเรือไปขายด้วยตนเองบ้าง ปัจจุบันจะมีไปออกงานต่าง ๆ เช่น งานโอทอป (OTOP) งานของกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ และส่งออกต่างประเทศ
งานทอผ้าไหมของชุมชนบ้านครัว ช่วงแรกจะเป็นการทอกี่กระทบ แล้วค่อยมาเริ่มทอกี่กระตุก ผ้าไหมที่โดดเด่นของของชุมชนบ้านครัวก็คือ ผ้าไหมเหลืองสิรินธร ซึ่งนี่ทำให้เราเพิ่งรู้ว่าผ้าไหมแบบไม่แข็งก็มีนะนี่ เหนือความคาดหมายจริง! หลังจากได้ลูบ ๆ คลำ ๆ ผ้าไหมเหลืองสิรินธรอยู่สักพัก รู้สึกได้ว่าทั้งนิ่มและบาง สีเหลืองทองสวยมาก ซึ่งคุณลุงอี๊บบอกว่าต้องใช้เทคนิคพิเศษในการทำค่ะ
ปัจจุบันในบ้านของคุณลุงอี๊บเหลือกี่ทอผ้าไม่ถึง 10 กี่แล้วค่ะ มีการทอผ้าน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลังจากคุณจิม ทอมป์สันได้หายตัวไปตอนเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซีย
พวกเราได้ไปดูการทอผ้าด้วยมือที่ยังทำกันอยู่ในใจกลางกรุงเทพ เป็นภาพที่เหลือเชื่อจริง! บางคนก็ได้ลองทอจริงด้วยนะคะ บอกได้เลยว่า ไม่ง่ายอย่างที่เห็น งานนี้ต้องอาศัยประสบการณ์พอตัว
หลังจากนั้นพวกเราก็เดินไปบ้านลุงอู๊ด ซึ่งปัจจุบันบ้านคุณลุงอู๊ดไม่ได้มีการทอผ้าแล้ว เหลือแต่การย้อมสีไหม ซึ่งองค์ความรู้ในการย้อมสีนี้ คุณลุงอู๊ดได้เรียนรู้มาตั้งแต่ยังเด็ก และก็ทำอาชีพเกี่ยวกับการย้อมสี ควบคู่กับการทอผ้าไหมมาโดยตลอด ด้วยวันเวลาที่เปลี่ยนไป อะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลง คุณลุงอู๊ดต้องยกเลิกการทอผ้าไป เหลือแค่การย้อมสีไหมซึ่งก็ไม่ได้ทำทุกวันเหมือนเช่นในอดีต
คุณลุงอู๊ดได้เล่าถึงกระบวนการย้อมสีไหมไว้คร่าว ๆ ว่า ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้ แช่-ต้ม-ย้อม-กระทบ-ตาก ส่วนรายละเอียดจะเป็นยังไงนั้น อยากให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปมีโอกาสสัมผัสเองจะดีกว่า แล้วจะรู้ว่าแค่ขั้นตอนการย้อมสีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย
ระหว่างทางเดินออกจากชุมชนบ้านครัวเหนือ
Home Cuisine Islamic Restaurant
หลังจากเสร็จการสำรวจเรื่องราวของผ้าไหมที่ชุมชนบ้านครัวเหนือแล้วพวกเราก็นั่งตุ๊กตุ๊กแว๊นซ์กันไปแถวสถานทูตฝรั่งเศส เพื่อไปกินอาหารกลางวันกันที่ Home Cuisine Islamic Restaurant
ร้าน Home Cuisine Islamic Restaurant เป็นร้านอาหารฮาลาลสไตล์ฟิวชั่นไทย-อินเดีย ดังนั้นกลิ่นเครื่องเทศจะไม่แรงมาก และรสไม่จัด คนที่ไม่คุ้นเคยกับอาหารแนวนี้ก็น่าจะพอกินได้สบาย ส่วนเราเป็นคนที่ชอบกินอาหารอินเดียอยู่แล้วเลยรู้สึกว่ารสชาติอ่อนไปนิดนึง เมนูแนะนำของที่นี่ได้แก่ ข้าวหมกไก่ และกาเลียไก่
ก่อนกลับเหลือบไปเห็นว่ามีของหวานอยู่ในตู้ด้วย น่ากินมาก แต่ว่าหมดเวลาสำหรับสาวกินจุอย่างเราแล้ว ต้องไปเที่ยวชมที่อื่นต่อเลยอดไป ไว้วันหลังจะแอบมากินใหม่นะ
ร้าน IMMAS
หลังจากกินอาหารกลางวันเสร็จเราก็เดินเข้าไปในชุมชนมัสยิดฮารูณ เข้าไปไม่ลึกมากก็จะเจอกับร้าน IMMAS ร้านนี้ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดเนคไทเส้นแรก ๆ ของจิม ทอมป์สันเลยก็ว่าได้ การทำเนคไทของที่นี่เป็นการทำด้วยมือทุกกระบวนการ แถมทำแบบละเอียดทุกขั้นตอนด้วยสิ! โดยเฉพาะขั้นตอนการตัดผ้าไหมทั้งชิ้นด้วยกรรไกรอันคมกริบในครั้งเดียวด้วยฝีมือคุณพ่อของคุณอิมซึ่งมีอายุร่วม 80 ปีแล้ว เห็นแล้วคือว้าวมาก! วรยุทธ์ท่านสูงส่งจริง!นับว่าเป็นยอดฝีมือที่หาได้ยาก
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของร้าน IMMAS นอกจากเนคไทแล้วยังมีผ้าคลุมไหล่ กล่องผ้าไหม กรอบรูป ตุ๊กตา ผ้านาโน ผ้าอบกลิ่น ทำส่งให้กับผู้ว่าจ้างจากหลายที่ทั้งในและต่างประเทศ
ก่อนกลับพวกเราได้ลองทำงานฝีมือเล็ก ๆ แล้วเอากลับบ้านเป็นที่ระลึกกันด้วย
วันนี้ถือว่าเต็มอิ่ม และน่าสนใจมาก ๆ สำหรับการท่องเที่ยวเส้นทางสายไหมแห่งเมืองบางกอก: บ้านจิม ทอมป์สัน-บ้านครัวเหนือ-ร้าน IMMAS ความลับแห่งเส้นไหมที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครของเรานี่เอง
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวเส้นทางสายไหมแห่งเมืองบางกอกนี้ก็ต้องขอขอบคุณ Local Alike ซึ่งเป็นผู้จัดการท่องเที่ยวโดยชุมชม เพื่อให้ชุมชนเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร มา ณ โอกาสนี้ด้วย
สอบถามข้อมูลทริปเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเก๋ ๆ แบบนี้เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Local Alike หรือโทร. 02-115-9861
GoNeverStop
วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 19.05 น.