รีวิวเมืองกอร์โดบา (Córdoba) ประเทศสเปน
รีวิวนี้จะกล่าวถึงวิธีการเดินทางและสถานที่ที่นักท่องเที่ยวควรไปชม นอกจากนี้ เจ้าของกระทู้ก็จะเขียนประวัติเมืองกอร์โดบาเพื่อแสดงถึงความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมในเมืองกอร์โดบา ผู้ที่ต้องการความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม สามารถอ่านประวัติของเมืองกอร์โดบาหลังจากที่อ่านรีวิวจบ
เมืองกอร์โดบาเป็นเมืองหลวงของจังหวัดกอร์โดบา ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในแคว้นอันดาลูเซียและเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมมุสลิมในประเทศสเปน อันเป็นผลมาจากการที่ชาวมุสลิมเคยเข้ามาครอบครองประเทศสเปนเป็นเวลานานหลายร้อยปี
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเมืองกอร์โดบาด้วยรถไฟความเร็วสูงจากกรุงมาดริด ซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 50 นาที รถประจำทางของบริษัทอัลซา (Alsa) จากเมืองเซบียา (Sevilla) ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง จากเมืองกรานาดา (Granada) ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งเช่นกัน ข้อดีของเมืองกอร์โดบาก็คือสถานีรถประจำทางและสถานีรถไฟอยู่ตรงข้ามกัน ภายในสถานีรถไฟมีศูนย์ข้อมูลนำเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปขอแผนที่หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ จากนั้นก็ขึ้นเมล์สาย 3 ที่ป้ายระหว่างสถานีรถบัสกับรถไฟเพื่อเข้าเมืองกอร์โดบา
ป้ายที่ต้องลงจากรถเมล์มีชื่อว่าโลสมาร์ตีเลส (Los Mártires) ในบริเวณเดียวกันนี้มีห้องน้ำกาหลิบ (Baños de Alcázar Califal de Córdoba) ซึ่งต้องเสียค่าเข้าชมไม่กี่ยูโร ภายในห้องน้ำมีป้ายอธิบายถึงวิธีการอาบน้ำชำระร่างกายของชาวมุสลิม
หลังจากที่ชมห้องน้ำกาหลิบแล้ว ควรเดินเลียบคลองและกำแพงเมืองที่ล้อมรอบเมืองเก่ากอร์โดบา (medina de Córdoba) ซึ่งอยู่ทางขวามือ เมื่อเดินไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะพบกับประตูอัลโมโดบาร์ (puerta de Almodóvar) ความจริงแล้ว คนที่ไม่ต้องการนั่งรถเมล์สามารถเดินมาเรื่อยๆ จนถึงประตูอัลโมโดบาร์แล้วเดินเข้าเมือง ระยะเวลาที่ใช้เดินก็ประมาณ 20 นาที
เมื่อเดินผ่านประตูอัลโมโดบาร์เข้ามาในเมือง ก็จะพบกับอาคารบ้านเรือนสีขาว ภาพบนก็คือชื่อประตู ซึ่งจะอยู่ทางด้านซ้ายมือเมื่อหันหน้าเข้ามาในตัวเมือง ภาพล่างคือประตูอัลโมโดบาร์และอาคารบ้านเรือนเมื่อหันหลังกลับไปมอง
ถ้าหันหลังให้ประตูอัลโมโดบาร์ แล้วมองไปทางด้านขวามือ จะเห็นถนนสายเล็กๆ ซึ่งก็คือถนนฆูดีโอส (calle de Judíos) ชื่อถนนแปลว่าถนนชาวยิว ถนนสายนี้คือเส้นทางไปบ้านอัลอันดาลุส (Casa Andalusí คำหลังนี้เป็นคำคุณศัพท์ของคำว่า Al Andalus) ซึ่งเต็มไปด้วยของตกแต่งบ้านที่น่ารัก นอกจากนี้ ก็มีวัดยิว (sinagoga) เพราะย่านนี้คือย่านชาวยิว (judería) พวกเขาอาศัยที่เมืองนี้และหลายๆ เมืองของสเปนจนถึงปีค.ศ. 1492 ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์คาทอลิกยื่นข้อเสนอให้ชาวยิวเปลี่ยนมานับถือคริสต์หรือออกไปจากประเทศสเปน
สถานที่อื่นๆ ในย่านชาวยิวก็มีวิหารมูเดฆาร์ซานบาร์โตโลเม (Capilla Mudéjar San Bartolomé คำว่ามูเดฆาร์หมายถึงศิลปะแบบผสมผสานระหว่างศิลปะคริสต์และมุสลิม) บ้านเซฟารัด (Casa Sefarad คำว่าเซฟารัดหมายถึงประเทศสเปน ซึ่งเป็นดินแดนที่ชาวยิวต้องจากไป)
ถ้าเดินกลับมาที่ประตูอัลโมโดบาร์ แล้วเดินลัดเลาะต่อไป ก็จะพบกับอาคารบ้านเรือนที่มีผนังสีขาว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชุมชนที่อยู่ตามย่านทะเลเมดิเตอร์เนียน สีขาวนี้คือปูนขาว ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซึมความร้อนน้อย ทำให้ภายในบ้านรักษาความสดชื่น ในแคว้นอันดาลูเซียมีชุมชนสีขาวที่แลดูสวยงามสะอาดตาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะจังหวัดกาดิซ (Cádiz) ซึ่งมีเส้นทางชุมชนสีขาว (ruta de pueblos blancos)
ผนังบ้านและลานในเมืองกอร์โดบามักมีกระถางดอกไม้มาประดับตกแต่ง ซึ่งเรียกว่าลานแบบกอร์โดบา (patio cordobés) ความจริงแล้ว ลานลักษณะนี้เป็นที่พบเห็นในแคว้นอันดาลูเซีย แต่มีความเฉพาะของจังหวัดกอร์โดบามากกว่าที่อื่นๆ เหตุผลที่นำกระถางดอกไม้มาประดับบ้านก็เพื่อสร้างความสดชื่น ลดความร้อน
หลังจากที่เดินชมเมือง ก็ควรเข้าชมสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแลนด์มาร์กของเมืองกอร์โดบาและเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือมัสยิด – อาสนวิหารเมืองกอร์โดบา (Mezquita – Catedral de Córdoba)
ประตูเปร์ดอน (puerta de Perdón) ซึ่งอยู่ใกล้กับหอคอยหรือ minarete (มีนาเร้เตะ) คือประตูหลักในการเข้าสู่ลานต้นส้ม (patio de Naranjos) ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของมัสยิดอาสนวิหาร ด้านหน้าของมัสยิด – อาสนวิหารมีโค้งเกือกม้า (arco de herradura) ซึ่งแสดงถึงตอน (nave) ทั้ง 19 ตอนของมัสยิด - อาสนวิหาร ประตูที่มีลวดลายอยู่ด้านบนชื่อว่าประตูใบลาน (puerta de las Palmas) ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Semana Santa) ชาวคริสต์แห่ใบลานผ่านประตูนี้ในวันอาทิตย์ใบลาน (Domingo de Ramos)
ประวัติมัสยิดเมืองกอร์โดบาก็คือเมื่อชาวมุสลิมมาถึงเมืองกอร์โดบาในปีค.ศ. 711 พวกเขาก็ขอแบ่งพื้นที่วรมหาวิหารซานบีเซนเต (Basílica de San Vicente) จากชาววิซิกอธเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม (ชาววิซิกอธก็คือกลุ่มชนที่ครอบครองประเทศสเปนในตอนที่ชาวมุสลิมเข้ามา)
ต่อมา ในปีค.ศ. 786 – 788 องค์เอมีร์อับเดรามันที่ 1 (Emir Abderramán I) สั่งให้สร้างมัสยิดที่มี 11 ตอน เนื่องจากจำนวนประชากรชาวมุสลิมเพิ่มขึ้น พวกเขาเรียกมัสยิดแห่งนี้ว่าอัลฆามา (Mezquita Aljama) ซึ่งแปลว่ามัสยิดหลัก เนื่องจากเมืองกอร์โดบามีมัสยิดหลายแห่ง
หลังจากนั้น ชาวมุสลิมก็ขยายขนาดมัสยิดด้วยการขยายความยาวของตอนและเพิ่มจำนวนตอน ซึ่งเกิดขึ้น 3 ครั้ง คือ ในปีค.ศ. 833 – 848 ในปีค.ศ. 951 และในปีค.ศ. 991 แต่ต่อมาชาวมุสลิมก็สูญเสียเมืองกอร์โดบาให้แก่ชาวคริสต์ในปีค. ศ. 1236 และชาวคริสต์ก็ใช้มัสยิดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ เมื่อถึงปีค.ศ. 1489 ชาวคริสต์ก็เริ่มก่อสร้างอาสนวิหารภายในมัสยิด ซึ่งใช้เวลาเป็นร้อยกว่าปี การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จ ผู้ที่ต้องการข้อมูลอย่างละเอียดสามารถอ่านคู่มือนำชม ซึ่งมีแผนผังที่แสดงถึงการก่อสร้างและการขยับขยายขนาดมัสยิดและการก่อสร้างอาสนวิหาร
ภายในมัสยิด – อาสนวิหารเต็มไปด้วยเสาที่มีโค้ง จำนวนเสามีมากถึง 850 ต้น ทำให้หนังสือของสเปนเรียกที่นี่ว่าป่าเสา (bosque de columnas) ส่วนโค้งก็มี 2 ชั้น โค้งชั้นบนเป็นโค้งครึ่งวงกลม (arco de medio punto) ที่ชาวโรมันชอบใช้ โค้งชั้นล่างเป็นโค้งเกือกม้าที่ชาวมุสลิมชอบใช้ แต่ละโค้งประกอบไปด้วยริ้ว (dovela) สีขาวสลับกับริ้วสีแดง ริ้วสีขาวสร้างจากหินขัด (piedra paliza) ส่วนริ้วสีแดงสร้างจากอิฐ (ladrillo) แต่โค้งที่อยู่ในตอนที่อัลมันซอร์ (Almanzor) ขยาย (การขยายครั้งสุดท้าย) เป็นหินขัดสลับกับการทาสีแดง ข้อดีของการใช้โค้งก็คือทำให้ภายในมองดูโล่งและโปร่ง ไม่มืดทึบ
ในส่วนของอาสนวิหารก็งดงามไม่แพ้กัน เช่น พื้นที่ทำพิธีของพระสงฆ์ (coro) ซึ่งมีเพดานที่มีลวดลายสวยงาม ส่วนพื้นที่ด้านล่างก็เป็นเก้าอี้แกะสลัก (sillería) เรียงรายกัน เก้าอี้ที่สำคัญที่สุดก็คืออาสนะ (cátedra) ของพระสังฆราช ตำราบางเล่มใช้คำว่าบัลลังก์ของพระสังฆราช (trono episcopal) นอกจากนี้ ส่วนตัด (crucero) ก็มีความสวยงามเช่นกัน
อีกส่วนหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือพื้นที่สงวนสำหรับเจ้าเมืองในสมัยมุสลิม ซึ่งเรียกว่า Maqsura (หมักซู้หระ) พื้นที่นี้ล้อมรอบด้วยเสาที่มีโค้งเล็กๆ ต่อเนื่องกันหลายโค้ง (arco polilobulado) แต่ละโค้งมีริ้วลวดลายพฤกษาอาหรับ (arabesco หรือ ataurique) ในมักซูรามีซุ้มที่เรียกว่ามีห์รับ (mihrab) ซึ่งเป็นซุ้มที่บอกทิศทางนครเมกกะ ด้านหน้าของซุ้มมีลักษณะเป็นโค้งเกือกม้าที่ได้รับการประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระเบื้องโมเสกจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ นอกจากนี้ ก็มีกรอบ (alfiz) ครอบโค้งเกือกม้า ผนังด้านที่ซุ้มมีห์รับตั้งอยู่เรียกว่า quibla (กี๊บละ) แหล่งข้อมูลภาษาสเปนกล่าวว่ากีบลาของมัสยิดเมืองกอร์โดบาเอียงไปทางใต้เล็กน้อย เนื่องจากติดขัดกับแนวขอบของอาคารบ้านเรือนที่อยู่บริเวณมัสยิด
หลังจากที่จบการชมมัสยิด นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปสะพานโรมัน (puente romano) ก่อนที่จะเดินถึงสะพาน เราสามารถหันกลับมาชมอาคารมัสยิด – อาสนวิหาร ไม่กี่ก้าวต่อมา ก็จะถึงซุ้มประตูแบบโรมันที่เป็นทางเข้าสะพาน อีกด้านหนึ่งของสะพานก็คือหอคอยกาลาออรา (torre Calahorra) สะพานแห่งนี้ทอดข้ามแม่น้ำกวาดาลกีบีร์ (río Guadalquivir) ชื่อนี้มาจากชื่อ wadi al-Kabir ซึ่งแปลว่าแม่น้ำใหญ่ในภาษาอาหรับ
เมื่อเดินมาถึงอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ก็สามารถชมมัสยิด – อาสนวิหารในมุมกว้าง
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเมืองกอร์โดบาก็คือปราสาทกษัตริย์ (Alcázar de los Reyes Cristianos) ซึ่งมีการจัดสวนแบบอาหรับ มีต้นไม้รูปทรงเรขาคณิต นอกจากนี้ ก็มีจุดชมทัศนียภาพเมืองกอร์โดบาในมุมสูง ซึ่งมีความสวยงามและน่าประทับใจ สถานที่แห่งนี้ในอดีตก็คือที่พักของเจ้าเมืองในสมัยโรมัน ต่อมาก็เป็นที่พักของเจ้าเมืองชาววิซิกอธ แล้วเป็นที่พักของเจ้าเมืองมุสลิม หลังจากที่ชาวคริสต์แย่งชิงเมืองกอร์โดบาคืนจากชาวมุสลิม กษัตริย์อัลฟองโซที่ 11 ก็สร้างปราสาทกษัตริย์คริสต์
ประวัติเมืองกอร์โดบา
- ก่อนปีที่ 169 ก่อนคริสต์ศักราช อารยธรรมโบราณ (ส่วนหนึ่งของอาณาจักรตาร์เตสโซส แหล่งอาศัยของชาวอีเบโร เผ่าตูร์เดตาเนีย ชาวคาร์เธจยึดเมืองได้ในช่วงปีที่ 230 ก่อนคริสต์ศักราช)
- ปีที่ 169 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันแย่งชิงดินแดนจากชาวคาร์เทจและก่อตั้งเมือง
- ปีที่ 27 ก่อนคริสต์ศักราช กอร์โดบาได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองหลวงของจังหวัดบาเอตีกา (Baetica) ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของดินแดนอิสปาเนีย (Hispania ชื่อที่ชาวโรมันเรียกสเปน)
- ค.ศ.409 อนารยชนเผ่าอลัน เผ่าซูเอวี และเผ่าแวนดัลรุกรานประเทศสเปน
- ค.ศ. 415 ชาววิซิกอธเข้ามาในประเทศสเปนเป็นครั้งแรก
- ค.ศ. 418 ชาววิซิกอธตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ตูลูส (ฝรั่งเศส) ในฐานะสหพันธรัฐของจักรวรรดิโรมัน
- ค.ศ. 567 กษัตริย์อตานาฆิลโด (Atanagildo) ย้ายเมืองหลวงมาที่โตเลโด ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศสเปน
- ค.ศ. 572 กษัตริย์เลโอบีฆิลโด (Leovigildo) และกองทัพวิซิกอธพิชิตเมืองกอร์โดบาจากชาวโรมัน
- ค.ศ. 711 ชาวมุสลิมเข้ามาครอบครองดินแดนของชาววิซิกอธ พวกเขาเรียกประเทศสเปนว่าอัลอันดาลุส (Al-Andalus) ในตอนแรกประเทศสเปนมีฐานะเป็นอาณาจักรเอมีร์แห่งกอร์โดบา (Emirato de Córdoba) ซึ่งขึ้นอยู่กับอาณาจักรกาหลิบแห่งดามัสกัส (Califato de Damasco) โดยมีราชวงศ์อุมัยยะห์ปกครองและมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย
- ค.ศ. 756 เกิดการจราจลในกรุงดามัสกัส ราชวงศ์อับบาสียะห์เข้ากุมอำนาจการปกครองและย้ายเมืองหลวงไปที่แบกแดด ในเหตุการณ์นี้มีเจ้าชายในราชวงศ์อุมัยยะห์ (เจ้าชายอับเดรามันที่ 1) ที่หนีมาพึ่งญาติที่อัลอันดาลุส จากนั้นเขาก็ประกาศก่อตั้งอาณาจักรเอมีร์อิสระแห่งกอร์โดบา
- ค.ศ 880 – 929 เกิดสงครามประกาศอิสรภาพในหมู่ผู้คนที่ถูกบีบคั้น แต่องค์เอมีร์อับเดรามันที่ 3 (Abderramán III) สามารถปราบสงครามได้และเขาก็ประกาศก่อตั้งอาณาจักรกาหลิบแห่งกอร์โดบา (Califato de Córdoba)
- ค.ศ. 1013 อาณาจักรกาหลิบแห่งกอร์โดบาล่มสลายและเกิดการแตกออกเป็นอาณาจักรเล็กอาณาจักรประมาณ 40 อาณาจักร ซึ่งเรียกว่าไตฟา หนึ่งในนั้นก็คือก็อาณาจักรไตฟาแห่งกรานาดา (taifa de Granada) ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นอาณาจักรกรานาดา (อาณาจักรสุดท้ายของชาวมุสลิมในสเปน อาณาจักรนี้ดำรงอยู่ถึงปีค.ศ. 1492)
- ค.ศ. 1236 ชาวคริสต์แย่งชิงเมืองกอร์โดบากลับคืนจากชาวมุสลิม ผู้นำทัพก็คือกษัตริย์เฟร์นันโดที่ 3 แห่งอาณาจักรกัสตียา (Fernando III de Castilla)
หมายเหตุ หลังจากที่ชาววิซิกอธสูญเสียดินแดนให้ชาวมุสลิม ตำราประวัติศาสตร์สเปนไม่ได้เรียกชาววิซิกอธว่าชาววิซิกอธ แต่เรียกว่าชาวคริสต์ (los cristianos) ทั้งนี้หมายความรวมถึงชนชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินสเปนมาก่อน
ติ๊ก เบกอนญา
วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 16.43 น.