กว่าจะมาเป็นละคร “จ้าวสมิง” ผมต้องเสียน้ำตา แทบฆ่าตัวตาย !!!


ข้อเขียนชิ้นนี้ มิได้ประสงค์ที่จะประชาสัมพันธ์ละคร หรือตนเอง หากแต่ต้องการที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ การทำงาน ความล้มเหลว ความมุมานะ ไม่ยอมแพ้ ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ผมแทบจะหมดสิ้นความหวัง และเกือบยอมแพ้ไปแล้วหลายหน เพราะในช่วงที่ระหว่างเขียนบทละครเรื่องนี้ ครอบครัวผมพบกับปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากลูกชายป่วยด้วยค่าเลือดในตับสูงถึง 250 และเขาท้อแท้หมดหวังในชีวิต จนทำให้เราพบกับปัญหามากมายตามมา


ตอนนั้น ถ้าผมยอมแพ้ ในวันนี้ ก็คงไม่มีละครเรื่องนี้ออกมาให้ได้ชมกัน

เช่นเดียวกับที่วันนั้น กว่าผมจะผ่านวิกฤติชีวิตมาได้ สมองผมก็ช๊อตและหยุดเขียนงานไปนานมากหลายเดือน เพื่อประคบประหงมลูกชายให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตอีกครั้ง

ละครเรื่องนี้ จึงมีกลิ่นอายความรักระหว่าง “พ่อ” กับ “ลูก” ถ่ายทอดออกไปให้เห็นถึง 4 คู่ด้วยกันนั่นก็คือ “อากาพะโย” กับ “อูซาน” ที่เป็นเสือสมิง ที่ลูกต้องสิ้นหวัง หดหู่ ไม่ยอมกลับไปบ้าน เที่ยวซมซานร่อนเร่อยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางป่าถึง 30 ปี ความเจ็บปวดของพ่อลูกคู่นี้ ถ่ายทอดมาจากความเจ็บปวดของผม ในวันที่ลูกสิ้นหวัง ท้อแท้ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะเขารู้ว่า พ่อต้องสูญเสียเงินมากมายในการยื้อชีวิตของเขาเอาไว้ ทั้งๆที่เขาไม่ใช่สายเลือดแท้ๆของผม แต่ผมก็เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็ก ลูกบอกกับผมว่า

“พ่อ ปล่อยให้ผมไปเถอะ พ่ออย่ายื้อ อีกเลย พ่อเองก็เหนื่อยมากแล้ว ผมสงสารพ่อ”

แต่ผมก็บอกกับลูกว่า “พ่อยังไม่เหนื่อย แล้วลูกจะท้อ จะยอมแพ้ทำไม ต่อใหเราต้องหมดตัว พ่อก็ไม่มีวันปล่อยให้ลูกจากไปแบบนี้”

แต่วันนั้น คือวันที่พ่อสิ้นหวังที่สุดในชีวิต หมดแรงสู้ หมดแรงยื้อชีวิตลูก และหมดแรงที่จะเขียนบทละครเรื่อง "จ้าวสมิง" ที่กำลังเขียนค้างอยู่ จนทำให้สมองหยุดแล่น คิดไม่ออก หยุดเขียนงานไปนานถึงสองเดือน เพื่อทุ่มเทพลังกายที่มีทั้งหมดในชีวิต เพื่อลูก อยู่กับลูกทุกวัน ให้กำลังใจลูกว่า อย่าท้อ อย่ายอมแพ้ พ่อยังสู้ไหว เมื่อพ่อยังไหว พ่อจะไม่มีวันปล่อยให้ลูกเป็นอะไรแน่นอน

ณ ตอนนั้น ผมจึงคิดที่จะเขียนนิยาย "จ้าวสมิง" ขึ้นมาจากบทละคร และพิมพ์ออกจำหน่าย เพื่อหาเงินก้อนหนึ่งมาช่วยลูก เพราะเราหมดกำลัง หมดเงิน และหมดกำลังใจจริงๆ

วันนั้น คือวันที่พ่อกลับมาบ้านและโพสเฟชบุ๊คขึ้นมา เพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ให้ช่วยกันจองหนังสือนิยายเล่มนี้ และมีน้ำใจจากเพื่อนมากมายหลั่งไหลกันเข้ามาช่วยเรา



“ พ่อ....ผมเหนื่อยเหลือเกิน...”

ประโยคนี้ของลูก ผมเอามาถ่ายทอดเป็นคำพูดของ “อูซาน” วันที่ยืนอยู่บนหน้าผา กอดพ่อร่ำไห้ เพราะเขาเหนื่อยที่จะหลบหนีการตามล่า เหนื่อยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไร้คนที่ตนเองรัก คนดูประทับใจกับฉากนี้ แต่จะมีใครสักคนล่วงรู้ว่า นั่นคือชีวิตจริงของเรา ในวันที่ผมกับลูก เกือบฆ่าตัวตาย เพื่อหนีความเจ็บปวดทรมานมาแล้ว

ความรักที่พ่อมีต่อลูก ไม่เพียงคู่นี้เท่านั้น หากแต่ผมยังถ่ายทอดไปยังคู่ของพระเอก คือ “ยองตะมุ” กับ “ตะวัน” ความรักของ พ่อ “จอปา” ที่ตามล่าล้างแค้นเสือสมิงที่ไปฆ่าลูกสาวตนเองตาย ไม่เว้นแม้กระทั่งความรักของพ่อลูกตัวร้าย อย่าง “เสือคล้อย”กับ “เสือแคล้ว” ที่แม้ว่าจะชั่วช้าสักเพียงใด แต่ลึกๆข้างในแล้ว หัวอกพ่ออย่างเสือคล้อยก็รักลูกเหมือนแก้วตาดวงใจเช่นกัน

ละครสะท้อนชีวิตของคนเราเสมอ อาจจะมาจากชีวิตของคนที่เรารู้จัก หรือบางครั้งก็มาจากส่วนหนึ่งในชีวิตเรา บทบาทของพ่อทุกคนในละคร "จ้าวสมิง" ถ่ายทอดความรักของผมที่มีต่อลูก ผ่านพวกเขา ยอมทำทุกอย่างได้ ยอมตายเพื่อลูกเหมือนอย่างที่ "เสือคล้อย" ยอมสละชีวิตตนเองเพื่อให้ลูกที่โคตรเกเรของเขาได้มีชีวิตต่อไป

หลายครั้งที่มีคนก่นด่าพ่อแม่ของคนร้ายในคดีต่างๆ ว่าสอนลูกยังไงถึงได้เลวแบบนั้น พ่อแม่มันเลว แบบนี้นี่เอง ลุกมันถึงได้เลวแบบนั้น ผมเชื่อว่าคนที่ด่า ยังไม่มีลูกของตนเอง หรืออาจจะยังไม่ได้แต่งงาน เพราะถ้าคุณมีลูกแล้ว ลูกคุณโตพอที่จะห้าวเป้งแล้ว คุณจะไม่มีวันพูดแบบนี้แน่นอน เพราะคุณจะสัมผัสได้แล้วถึงความรักที่เรามีต่อลูกของเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นคนเช่นไร แต่เขาก็คือลูก เขาคือ "แก้วตาดวงใจ" ของเรา

ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกยิ่งใหญ่ สามารถแบกรับความเจ็บปวด ความทุกข์ทั้งหมดได้โดยที่จะไม่มีวันปริปากพูดออกมาให้ลูกได้ยิน คนที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่ จะไม่มีวันเข้าใจหรอกครับ

ในอดีตที่ผ่านมา ผมเคยเป็นเด็กเร่ร่อน ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากในกรุงเทพ ผมไม่รู้ว่าความอบอุ่นในครอบครัวเป็นอย่างไร เพราะหลังจากที่แม่ของผมส่งผมขึ้นมาอยู่กับบ้านน้าชายน้าสะใภ้ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และผมหนีขึ้นกรุงเทพ ความสุขในวัยเด็กของผมก็สิ้นสูญตั้งแต่อายุ 15 ปี

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยลืมเลือนเลย ก็คือ “ประเพณีวัฒนธรรม” ที่สวยงามและน่าเลื่อมใส ของชนชาติมอญ ที่ผมได้รับเมื่อครั้งที่อาศัยอยู่ที่อำเภอโพธาราม ดังนั้นเมื่อผมเติบโตขึ้นมา ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร เขียนนิยาย บทความสารคดีต่างๆมากมาย นิยายผมหลายเรื่องจะสืบเนื่องมาจากเรื่องราวของชนชาวมอญ เหมือนอย่างละคร “จ้าวสมิง” เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน

ในวันที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทให้เขียนละครเรื่อง “เสือสมิง” ต่อจากภาคแรก ผมกลับบ้านไปนั่งคิดพล๊อตใหม่อยู่เกือบครึ่งเดือน จึงได้เขียนเรื่อง “หัวใจอสูร” ขึ้นมา โดยนำเอาเรื่องราวของปิศาจตนหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธา เมื่อพันกว่าปีล่วงมาแล้ว มาผูกเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากนิยายเรื่องนั้น มีฉากสงครามซึ่งเป็นฉากใหญ่ และมีเรื่องราวของมอญกู้ชาติที่ยังคงหลงเหลืออยู่ อีกทั้งยังมีฉากที่ต้องใช้ CG มากมาย จึงทำให้ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 มีคำสั่งลงมาให้เขียนพล๊อตใหม่ ที่ไม่อลังการมากเกินไป เพราะเขากลัวบริษัท โคลีเซี่ยมจะสร้างไม่ได้ กลัวโดนผู้ชมด่า

เรากลับมาทบทวนกันใหม่ ผมตัดสินใจหยิบเอาเรื่องราวของ “เสือลายพาดกลอนกินคนที่สังขละบุรี” ที่ปรากฏอยู่ในบันทึกขึ้นมาเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้ โดยหยิบเอาเรื่องราวของ “หม่องโปตู” 1 ใน 37 ผีนัตของพม่า (องค์นี้นั่งบนหลังเสือเพราะถูกเสือกันตาย) มาเขียนเป็นแกนหลักของเรื่อง

เพราะในภาคแรก ละคร “เสือสมิง” ผมได้หยิบเอาเรื่องราวของ ผีนัต 2 พี่น้องแห่งเมืองตะโกง นั่นก็คือ “ชะเวเมี๊ยตนา” กับ “มิ่งมหาคีรี” มาเขียนไปแล้ว ภาคนี้จึงเป็นเรื่องของพ่อค้าวาชินผู้มีอาชีพขายใบชาที่ไปถูกเสือกัดตายในป่ารัฐฉาน ปรากฏว่าเรื่องนี้ผ่าน ช่อง 7 อนุมัติให้สร้างได้ แต่บริษัทโคลีเซี่ยมต่องทุ่มค่า CG หรือภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคที่ปรากฏในเรื่องเกือบ 10 ล้านบาท

ระหว่างที่เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนี้ ผมประสบกับปัญหาชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพของลูกชาย แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ เพราะรู้ว่า ถ้าพ่อยอมแพ้ ถอดใจทั้งเรื่องลูก เรื่องงาน ผมก็จะสูญเสีย ทุกสิ่งทุกอย่าง งานไม่เสร็จ ลูกจากไป ผมคงอยู่อย่างคนที่เหมือนตายทั้งเป็น แต่ถ้าผมสู้ ผมฮึด ไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับโชคชะตา ผมก็จะสามารถอยู่ได้และลูกชายก็จะมีชีวิตต่อ

ในระหว่างที่เขียนบทละครเรื่องนี้ ผมขอร้องลูกว่า เมื่อลูกหาย ไปเล่นละครให้พ่อเรื่องนี้นะ พ่อจะได้บันทึกเอาไว้ว่านี่คือ ละคร ที่พ่อเขียนมาเพื่อให้ลูกมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ลูกจะได้จดจำเอาไว้ตลอดชีวิต ลูกรับปากว่าจะเล่น ผมก็ไปขอทางบริษัทและช่อง 7 ซึ่งผู้ใหญ่ ก็อนุญาต เพราะทุกคนรู้จักลูกผมดี ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ผมจึงได้เขียนบทบาทของ “เอฉื่อ” หรือ “หมาน้อย” ขึ้นมาในบทของเด็กชายชาวกะเหรี่ยงที่ต้องกลายเป็นหมาป่า เพื่อช่วยเหลือทดแทนคุณพระเอก

แต่เมื่อเขียนบทจบ แถลงข่าวไปแล้ว ลูกมาเปลี่ยนใจทีหลัง เพราะเขาไม่ชอบออกสื่อ ไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวายเรื่องส่วนตัว ลูกขอไม่เล่น พ่อก็ไม่ว่าอะไร บทบาทของ “หมาน้อย” ก็ได้น้องอีกคนหนึ่งมาแสดงแทน ซึ่งก็น่ารักไปอีกแบหนึ่ง

ถึงวันนี้ ละคร “จ้าวสมิง” กลายเป็นละครที่เรตติ้งสูงสุดในขณะนี้ เป็นละครที่ผู้ชมชื่นชอบทั้งประเทศ ไปไหนคนก็พูดถึงแต่ “เข้ม หัสวร์” พูดถึงแต่ “หมาน้อย” ที่ตายไวไปหน่อย น่าจะมีเพิ่มขึ้นมาอีกสักตอนสองตอน ผมเองก็ได้แต่ปลื้มใจ ที่วันนี้ เราประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ เพราะเราไม่ยอมถอดใจ ไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อนในวันนั้น


เขียนบทความนี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อระบายความในใจ และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะให้กำลังใจ ผู้อ่านทุกคนว่า

“ แม้เราจะทุกข์หนัก สาหัสสักเพียงไหน ก็อย่าได้ถอดใจ อย่าได้ยอมแพ้ให้กับโชคชะตา แต่ขอให้มีกำลังใจเข้มแข็ง ลุกขึ้นต่อสู้ อย่าให้ชะตาชีวิตมาลิขิตชีวิตเรา เพราะเราจะต้องลิขิตชีวิตของเราเอง ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แล้วสักวันหนึ่ง เราก็จะถึงจุดหมายปลายทางที่เราหวังเอาไว้...”

ขอเอาใจช่วยทุกคนที่กำลังประสบปัญหาและผมเชื่อว่าทุกคนจะผ่านพ้นไปได้ ด้วยกำลังใจที่แข็งแกร่งของคุณเองครับ....

@อาร์ม อิสระ

หากมีอะไรที่ผมช่วยได้ เข้าไปคุยกันได้นะครับ (ชมคลิป CG เสือตบกันท้ายโพสต์นะครับ)

ภาพข้างล่าง คือ "หม่องโปตู" 1 ใน 37 ผีนัตของพม่า กำลังนั่งอยู่บนหลังเสือครับ




อาคม อาษาชำนาญ

อาร์ม อิสระ

 วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16.16 น.

ความคิดเห็น