สกลนคร หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "เมืองหนองหานหลวง" เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนตั้งอยู่ในแอ่งสกลนคร คำขวัญประจำจังหวัด " พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม "

สถานที่แนะนำ

วัดพระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ที่ริมหนองหาน ถนนเจริญเมือง อำเภอเมือง มีงานนมัสการพระธาตุประจำปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือนยี่




พระธาตุเชิงชุม ตั้งหันหน้าไปทางหนองหานที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหืนทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม ด้านทิศ เหนือ ใต้ และตะวันตก ซุ้มประตูทางเข้าจริงด้านทิศตะวันออกแต่แรกเริ่มพระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องจากช่วงที่อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่

ภายในพระวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร



การสร้างสิงห์ ตำนานทางภาคเหนือ ซึ่งได้รับอิธิพลมาจากพม่า ที่เล่ากันว่านานมาแล้ว ณ นครแห่งหนึ่ง พระราชามีพระธิดา เป็นเจ้าหญิงที่ทรงแต่งงานกับเจ้าชายหนุ่มจนมีพระโอรสและพระธิดาเล็ก ๆ สององค์ กาลนั้นมีราชสีห์ตัวหนึ่งมีความพึงพอใจในตัวเจ้าหญิง พระโอรสและพระธิดา จึงเข้าลักพาทั้งสามพระองค์ไปเลี้ยงดูอย่างดีในป่า โดยมิได้ทำอันตรายแต่ประการใด ราชสีห์ตัวนี้รักพระโอรสและพระธิดาเสมือนลูก พอเจ้าชายโตขึ้นได้รู้ความจริงว่าราชสีห์ไม่ใช่พ่อของตน เจ้าชายจึงพากันหนีกลับเข้าเมือง เมื่อราชสิงห์ตามมาและฆ่ามนุษย์มาตามทาง ทำให้ผู้คนล้มตายเดือดร้อนไปทั่ว เจ้าชายจึงอาสาไปปราบโดยได้ยิงธนูสิงห์ใส่ปากราชสิงห์ ภายหลังเมื่อเจ้าชายได้ขึ้นครองราชย์ ทรงประชวรมีพระอาการปวดพระเศียรเสมอ แม้แพทย์หลวงจะถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถก็มิอาจรักษาได้ พระองค์ทรงทุกขเวทนามาก จนกระทั่งมีปุโรหิตาจารย์ท่านหนึ่งทูลว่าที่พระองค์เป็นเช่นนี้ ก็เพราะบาปกรรมที่พระองค์ได้ฆ่าผู้มีคุณที่เคยเลี้ยงดูมาแต่ทรงเยาว์วัย และเมื่อทรงถามวิธีแก้ ปุโรหิตาจารย์ตอบว่าต้องสร้างรูปสิงห์ไว้บูชา แต่ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์มนุษย์จะสร้างรูปสัตว์ไว้บูชาย่อมไม่สมควรกระทำ แต่เพื่อให้หายจากโรคร้ายจึงทรงเลี่ยงไปสร้างรูปราชสีห์ไว้ตามประตูวัดแทน

อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่


อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มีลักษณะเป็นรูปเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสื่อถึงการนำคริสตชนฝ่าคลื่นลมสู่ความสำเร็จ และความรุ่งเรือง เช่นเดียวกับเรือสำเภาโนอาห์ในพระคัมภีร์


การสร้างโบสถ์รูปทรงเรือ เพื่อเป็นการระลึกถึงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของคริสตชนในหมู่บ้านนี้ โดยเมื่อปี ค.ศ.1881 คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก พระสงฆ์ คณะมิสซังแห่งกรุงปารีสได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ให้มาเผยแผ่ศาสนาที่ภาคอีสาน จนกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ.1884 คุณพ่อโปรดม กับคุณพ่อเกโก และ ครูทัน ครูเณรชาวเวียดนามได้เดินทางจากอุบลฯ มายังนครพนมและตั้งกลุ่มคริสตชน แต่เดิมมีชื่อว่าวัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร ใช้เป็นศาสนสถานสำหรับการรับศีลล้างบาปของคริสตศาสนิกชน


ความหมายของรูป สัญลักษ์และเครื่องหมายๆ ใน .. อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่


หัวเรือ รูปทรงของอาสนวิหารฯ
อาสนวิหารฯ นี้ถูกออกแบให้เป็นหัวเรือ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวท่าแร่ ที่อพยพโดยใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นแพใหญ่ข้ามหนองหารจากฝั่งสถลนครมาที่นี่ เมื่อปี ค.ศ.1884 นอกนั้น หัวเรือยังหมายถึงอัครสังฆมณฑลท่าแร่ที่จะต้องฝ่าคลื่นลมไปสู่ความสำเร็จ และเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับสำเภาของโนอา


รูปปั้นพระนางมารีย์ และศีลมหาสนิท
รูปปั้นพระนางมารีย์ และศีลมหาสนิท ตั้งอยู่บนยอดเสาคนละด้านของหัวเรือ ทำขึ้นตามความฝันของนักบุญยอห์น บอสโก ที่ฝันว่าเรือ (พระศาสนจักร) ต้องพบกับคลื่นพายุ แต่จะไม่จมเพราะมีเสา 2 เสาคอยยึดไว้คือ ความเชื่อศรัทธาต่อพระนางมารีย์ และศีลมหาสนิท ตัวอักษร IHS ย่อมาจากภาษากรีก IHCOYC หมายถึง พระเยซูเจ้าผู้กอบกู้มนุษย์



รูปปั้นอัครเทวดามีคาแอล
"มีคาแอล" แปลว่า "ใครจะเหมือนพระเจ้า" เป็นชื่อหรือองค์อุปถัมภ์ของอาสนวิหารแห่งนี้ ซึ่งเวลาอพยพข้ามหนองหาน บรรพบุรุษชาวท่าแร่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอัครเทวดามีคาแอลให้ช่วยคุ้มครองป้องกันให้ปลอดภัย


รูปปั้นนักบุญโยเซฟ
นักบุญโยเซฟ เป็นภัสดาของพระนางมารีย์ ท่านมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระนางมารีย์และพระกุมารเยซู สมควรแล้วที่มีรูปของท่านไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งพาของครอบครัวคริสตชน


รูปงานเลี้ยงที่ตู้ศีลมหาสนิท
ตู้ศีลมหาสนิททำด้วยโลหะนำเข้าจากกรุงโรม อิตาลี แล้วเสริมเติมแต่ด้วยไม้กางเขนล้อมรอบ ทำด้วยไม้ยมหอม ที่ขอบประตูของตู้ศีลมหาสนิทเป็นภาพของ พระเยซูเจ้าทำพิธีบิขนมปัง (บูชามิสซา) กับศิษย์สองคนที่หมู่บ้านแอมมาอูส ศิษย์สองคนจึงจำพระองษ์ได้ แล้วรีบเดินทางกลับเยรูซาเล็มในคืนนั้น เพื่อไปแจ้งข่าวแก่บรรดาสาวกว่าพระองค์ได้ทรงกลับคืนชีพแล้ว

ลูกแกะตรงกลางพระแท่น
ลูกแกะ หมายถึง พระเยซูเจ้าผู้พลีพระชนม์เป็นบูชา เพื่อลบล้างบาปของโลก ชาวยิวมีธรรมเนียมเอาลูกแกะมาฆ่าเป็นบูชาเพื่อชดเชยบาป ดังนั้น พระคัมภีร์จึงเรียกพระเยซูเจ้าว่า เป็นลูกแกะของเจ้า ลูกแกะนี้ถือธงและเงยหัวขึ้น หมายถึง ลูกแกะปัสกา คือ พระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนชีพและมีชัยชนะต่อบาปและความตาย

รูปนกพิราบ และหนังสือพระคัมภีร์ ที่บรรณฐาน
บรรณฐานหรือธรรมาสน์ เราจะเห็นรูป นกพิราบบินลงมาเหนือหนังสือพระคัมภีร์ หมายถึงพระคัมภีร์เป็นพระวาจาของพระเจ้า ที่ได้รับการดลใจโดยพระจิตเจ้า

ปังและถ้วยกาลิกส์ บริเวณพระแท่น
ไม้ที่ตกแต่งบริเวณพระแท่นทำด้วยไม้มะค่า แกะสลักเป็นรูปปังและถ้วยกาลิกส์ รูปปังและถ้วยกาลิกส์ หมายถึง ศีลมหาสนิท ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นในงานเลี้ยงครั้งสุดท้าย ปังและน้ำองุ่นที่อยู่ในถ้วยกาลิกส์ เมื่อได้รับการเสกบนพระแท่นแล้วจะเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ปังแล้วถ้วยกาลิกส์ตกแต่งรอบบริเวณพระแท่นเพื่อสื่อให้รู้ว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของอาสนวิหาร

ไม้กางเขน บนฉากหลังพระแท่น
ไม้กางเขนนี้ ทำด้วยไม้สักทั้งหมด เป็นไม้กางเขนดั้งเดิมของอาสนวิหารฯ ไม้กางเขนเตือนใจเราคริสตชนว่า พระเยซูเจ้าทรงไถ่บาปเราโดยทางไม้กางเขน บนไม้กางเขน มีคำลาตินจารึกว่า INIR แปลว่า เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว

เสา 4 ต้นข้างไม้กางเขน
เสา 4 ต้นข้างไม้กางเขน (ด้านละ 2 ต้น) หมายถึง สมาชิกของพระศาสนจักรได้แก่ พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส พระศาสนจักรกำเนิดจากพระโลหิต และน้ำที่ไหลออกมาจากพระสีข้างของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน


รูปพระนางมารีย์ตามข้อรำพึงสายประคำ
รูปพระนางมารีย์ตามข้อรำพึงสายประคำ ทำด้วยกระจกสี จำนวน 8 รูป ได้แก่
1. ฑูตสวรรค์คาเบรียลมาแจ้งข่าวแด่พระนางมารีย์
2. พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ
3. พระเยซูเจ้าประสูติ ณ เมืองเบธเลเฮม
4. พระนางมารีย์ถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร
5. พระนางมารีย์พบพระเยซูเจ้าในพระวิหาร
6. พระจิตเจ้าเสด็จมา
7. พระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
8. พระนางมารีย์ได้รับสวมมงกุฏเป็นราชินีแห่งสวรรค์
ข้อรำพึงเหล่านี้เตือนใจเราคริสตชนว่าเรามีพระแม่มารีย์เป็นที่พึ่งและเป็นแบบอย่างในการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซู



รูปครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และรูปแม่พระฟาติมา
ทั้ง 2 รูปตั้งอยู่คนละด้านของระเบียงหน้าวัด ทำด้วยไฟเบอร์ ขนาดสูง 2.30 เซนติเมตร กว้าง 1.70 เซนติเมตร
รูปครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ มีพระเยซูเจ้า แม่พระและนักบุญโยเซฟ นำมาติดตั้ง เพื่อเตือนใจเราคริสตชนทุกครอบครัว จะได้เลียนแบบและถวายตนแด่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
รูปแม่พระฟาติมา นำมาติดตั้ง เพราะชาวท่าแร่มีความศรัทธาต่อแม่พระฟาติมาเป็นพิเศษ เคียงคู่ไปกับบ้านเณรฟาติมา ท่าแร่


รูปปั้นนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล ตั้งบริเวณระเบียงทั้งสองข้างของวัด
นักบุญเปโตรและเปาโล อัครสาวก การนำรูปปั้นของท่านทั้ง 2 มาตั้งด้านซ้ายและขวาของอาสนวิหารฯ เพื่อเป็นการสื่อความหมายว่า ท่านทั้ง 2 เป็นเสาหลักของศาสนจักร

บ้านโบราณ ท่าแร่




คฤหาสน์ อุดมเดชวัฒน
อาคารโบราณหลังนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 268 หมู่ที่ 6 ถนนราษฎร์เจริญ บ้านท่าแร่ เป็นของนายคำสิงห์ อุดมเดช หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ องเด สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) ในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) โดยช่างชาวเวียดนาม ที่อพยพมาอยู่ในจังหวัดนครพนมและบ้านท่าแร่ เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ปลูกอาคารแต่เดิมเป็นดินโคลนปลักควาย จึงมีการถมให้แน่น ชั้นล่างทำเป็นร้านค้า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด สิ่งจำเป็นในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งตาชั่งจีน ส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัย มี 2 ห้องนอน อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีแท่นพระที่สวยงามตั้งอยู่ตรงกลางห้องโถง สำหรับตั้งกางเขน พระรูปพระเยซู รูปพระแม่มารีย์และนักบุญต่างๆ ไว้ให้สมาชิกในครอบครัวได้เคารพบูชาและสวดภาวนา พร้อมที่จะใช้ประกอบพิธีทางศาสนา สภาพของอาคารในปัจจุบัน พื้นชั้นล่างทรุด ขาดการบูรณะซ่อมแซม เพราะไม่มีผู้อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี โครงสร้างส่วนสำคัญของอาคารหลังนี้ ซึ่งช่างได้ใช้เทคนิคแบบโบราณในการก่อสร้าง โดยใช้ปูน ทราย อิฐ ผสมผสานยึดติดกันกับเสาไม้ได้อย่างลงตัว ทำให้ผนังและหลังคามีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

บ้านโบราณของ องเลื่อง โสรินทร์
อาคารโบราณหลังนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 269 หมู่ 6 ถนนราษฎร์เจริญ บ้านท่าแร่ เป็นของนายเลื่อง โสรินทร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) โดยช่างชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่ในจังหวัดนครพนมและบ้านท่าแร่ เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) ผสมเวียดนาม ช่างก่อสร้างได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ในการก่อสร้าง แบบก่ออิฐถือปูน ไม่มีปูนซีเมนต์ ไม่มีเหล็ก แต่ช่างได้ใช้วัสดุพื้นบ้าน โดยการนำปูนขาวผสมกับทราย ยางพืชพื้นเมือง คือยางบงและน้ำอ้อยแทนปูนซีเมนต์ โครงสร้างชั้นบนส่วนมากเป็นไม้ อุปกรณ์บางอย่าง นำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส ผ่านทางคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัครเทวดามีคาแอล ลงเรือมาถึงกรุงเทพ ขึ้นรถไฟมาถึงโคราช และบรรทุกใส่เกวียนต่อมาถึงท่าแร่

ร้าน ระเบียงดาว Coffee & Ice-cream อยู่ตรงข้ามบ้านโบราณ ร้านเล็กๆ ที่จัดร้านได้น่านั่ง


ทะเลสาบหนองหาร

ทะเลสาบหนองหาร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองจากบึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่บริเวณอำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร มีเนื้อที่กว่า 77,000 ไร่ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 2.0–10.0 เมตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด นกน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศไทย สันนิษฐานว่าหนองหารเกิดจากการยุบตัวของแผ่นเปลือกโลกอันเนื่องมาจากการถูกชะล้างของชั้นหินเกลือใต้ดินจนเกิดโพรงขนาดใหญ่ และเกิดการพังทลายยุบตัวลงเป็นหนองน้ำในเวลาต่อมา ตามคติความเชื่อของชาวสกลนคร หนองหาร เป็นผลจากการกระทำของพญานาค สืบเนื่องมาจากการกระทำอันผิดทำนองคลองธรรมของชาย-หญิง ในตำนานผาแดง นางไอ่

อุทยานบัว เฉลิมพระเกียรติ

อุทยานบัว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่างๆ และรองรับการประชุมวิชาการบัวนานาชาติปี พ.ศ.2553 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสกลนคร

ปัจจุบันอุทยานบัวแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนดังนี้
1. ส่วนรวบรวมพันธุ์บัว เป็นการรวบรวมพันธุ์บัวทั้งในและต่างประเทศทั้งหมด 34 สายพันธุ์ เช่นบัวกระด้ง บัวสาย บัวผัน-เผื่อน และบัวฝรั่ง รวบรวมไว้ในรูปแบบสระบัวบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมีทางเดินที่สามารถเดินลงไปชมบัวได้ อย่างใกล้ชิด
2. ส่วนแสดงพันธุ์บัว โดยนำบัวพันธุ์จำนวน 74 สายพันธุ์มาจัดโชว์บนกระถาง เพื่อให้ผู้สนใจ
ได้ใกล้ชิดกับบัวมากขึ้น
3. ส่วนนิทรรศการ ได้จัดแสดงไว้ในชั้นล่างของอาคารวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นนิทรรศการความรู้และความเป็นมาของบัวพันธุ์ต่าง ๆ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งภายในห้องนิทรรศการประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับบัวต่างๆ ดังนี้

  • การจำแนกพันธุ์บัว
  • ประวัติบัวในไทย
  • การปลูกบัว
  • การดูแลรักษา
  • โรคและศัตรูที่สำคัญ
  • การปรับปรุงพันธุ์
  • การทำนาบัว
  • ประโยชน์จากบัว

วัดถ้ำผาแด่น


วัดถ้ำผาแด่น ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 17 กม. เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสกลนคร มีความเป็นมานับร้อยปี โดยมีชื่อตามทะเบียนสำนักพระพุทธศาสนา แห่งชาติ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 สภาพธรรมชาติร่มรื่นมีต้นไม้ และโขดหินขนาดใหญ่ เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ซึ่งในอดีตได้มี พระเกจิอาจารย์ สายวิปัสสนาหลายองค์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรม อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาจำพรรษาด้วย และเมื่อช่วงปี 2550 พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน ได้เข้ามาพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และพัฒนาเป็น สถานที่ท่องเที่ยว เชิงธรรมะ เพื่อดึงประชาชน และกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น


ภายในวัดเต็มไปด้วยงานประติมากรรมแกะสลักหินทรายประติมากรรมหินทรายขนาดใหญ่ถูกแกะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น ภาพแกะสลักหินทรายพระพุทธสีหไสยาสน์ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 19 เมตร เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของผู้มาเยือน ประดิษฐาน ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น เป็นจุดเด่น ของวัดถ้ำผาแด่น





ภาพแกะสลักเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ด้านหลังเป็นภาพพระอริยสงฆ์รูปต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนด้านข้าง คือ พญาครุฑเวสสุวรรณ สื่อถึงความอยากได้อำนาจ เงินตราของมนุษย์อย่างไม่สิ้นสุด ด้านบนเป็นที่ตั้งของหินสีทอง ที่สามาถมองเห็นมาแต่ไกล เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา คือภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล พร้อมแกะสลักหิน สื่อถึงรูปต่างๆ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ นับแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ไปถึงมนุษย์นาค ครุฑ ยักษ์มาร และเทวดา โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่ รอบๆ เขาพระสุเมรุ


หินแกะสลักรอยพระพุทธบาท 4 รอยจำลอง และมีการแกะสลักหิน 4 มหาเทพ หรือเรียกว่าหินเทพ

รูปปั้นหลวงปู่ทวดแกะสลักหินองค์ใหญ่ ซึ่งแกะจากหินขนาดใหญ่ทั้งก้อน มีช้างหมอบด้านข้างและมีงูใหญ่คอยปกป้อง เป็นพระประธานให้ประชาชนได้กราบไหว้


มีศาลาที่มีพระพุทธรูปแกะสลักประจำวันเกิด ปางต่างๆ


ศาลายาใจคนบุญ ทมีการนำเอาต้นไม้ขนาดใหญ่หายากอายุหลายร้อยปี มาทำเป็นเสาศาลา


มีการจัดพื้นที่ ให้สามารถชมทิวทัศน์และถ่ายรูป บริเวณศาลาผาแดงมองเห็นตัวเมืองสกลนครและทะเลสาบหนองหารได้แบบ 180 องศา

การเดินทางไปวัดถ้ำผาแด่น
จากตัวเมืงสกลนครใช้เส้นทางสกลนคร – กาฬสินธุ์ ผ่านสี่แยกบายพาส ถึงไทวัสดุ จะมี 3 แยกที่บ้านศรีวิชา มีป้าย บอกไปวัดถ้ำผาแด่น และ ไปอำเภอเต่างอย เลี้ยวซ้ายตรงไปอีก 10 กม.ถึงบ้านดงน้อย มีป้ายบอกว่าไปถ้ำผาแด่น เลี้ยวขวาเข้าไปตาม ทางเข้าหมู่บ้านไปอีก 3 กม . เป็นทางขึ้นภูเขา จนถึงลานจอดรถ จะมีรถสองแถวมารอให้บริการพาขึ้นไปส่งที่วัด คนละ 20 บาท

ความคิดเห็น