ทริปนี้ผม เพื่อน ๆ เรียกว่า น้าอ๊อด (ยืม Log in น้าป้อม มาแบ่งปันความสุขในการเดินทางมาโพสท์ให้เพื่อนชมกันครับ).....ขอพาเพื่อน ๆ ตามมาเที่ยว เมืองพังงา ไข่มุกอันดามัน ของภาคใต้บ้านเรา...(ขอตัดฉากการขับรถระหว่างทางจาก กทม - พังงา เลยเนอะ)... เมื่อผมขับรถผ่านวงเวียนเขาตะปู จุดแรกที่แวะเพราะเป็นภูมิแพ้ตึกเก่าๆ สีเหลืองเขียวแบบนี้รู้สึกดีทุกครั้งที่เห็นจริงๆ นะ ไปหาความรู้กันซักนิดนึงก่อนจะได้เที่ยวพังงาอย่างคนมีภูมิซักนิ๊ดนึง555

อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองพังงาถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นศาลาศาลากลางจังหวัดพังงาโดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโคโลเนียล หลังจากศาลากลางจังหวัดได้ถูกย้ายไปที่ใหม่แล้วอาคารนี้ก็ปรับปรุงใหม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองพังงาและให้เข้าชมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี2556นู้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชม ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงบ่าย 4 โมงเย็น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดครับ...(ภาพทริปนี้ 7/5/2561 นะครับ)

ทริปนี้ใช้อุปกรณ์กล้อง Canon 5d MK3 + เลนส์ 16-34 F4L IS + 24-70 F4 L IS + 70-300 F4-5.6L นะครับ 

ยังมีเรื่องราวในการเที่ยวเมืองไทย ในอีกมุมมองนึงสำหรับ ผู้ที่ชอบหาความรู้เจาะลึกเรื่องราวความเป็นมาของแต่ละจังหวัด สามารถเข้าไปติดตามกันได้ที่ www.museumthailand.com/th/home   กันได้เลยนะครับ อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองพังงา สถาปัตยกรรม สวยงาม คลาสิค ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีเลยครับ...อยากชวนเพื่อนทุกท่าน ที่มาเมือง พังงา ได้เข้าไปแวะชมกันบ้าง

ด้านในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 6 ห้องโดยให้ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดพังงาได้อย่างครบถ้วนรอบด้านดูจบภายในเวลา 20 นาที จบแล้วฉลาดขึ้นทันทีเลยนะ 555.....โดยห้องจัดแสดงที่1  จะให้ความรู้พื้นฐานทางด้านทำเลที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในจังหวัดพังงา

เขาตะปู หรือ เจมส์ บอนด์ ไอซ์แลนด์ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ..ใครมาเที่ยวพังงา ต้องแวะเซลฟี่หน่อยนะครับ เดี๋ยวเค้าว่ามาไม่ถึง

ห้องจัดแสดงที่ 2 จะจัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพังงาโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือพังงาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่จะเล่าถึงการค้นพบแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ

หุ่นจำลองการเขียนภาพเขียนสีเชิงหน้าผาของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำตัวบนน่าจะเป็นโลมา ส่วนตัวล่างคงเป็นหมูป่า ว่างั้นนะ
ส่วนที่ 2 จะพูดถึงพังงาในยุคประวัติศาสตร์ซึ่งจะแสดงเรื่องราวความเป็นเมืองท่าที่ค้าขายกับนานาชาติ แสดงเส้นทางสายไหมทางทะเลของโลกยุคโบราณ

เทวรูปพระนารายณ์ค้นพบที่ เขาพระเหนอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

เมืองโบราณทุ่งตึกซึ่งเป็นเมืองท่าการค้าโบราณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งบนชายฝั่งอันดามันในยุคสมัยนั้น

ห้องที่ 3 จัดแสดงเรื่องการเมืองการปกครองและการค้า โดยเล่าเรื่องราวและพัฒนาการของเมืองสำคัญ 3เมือง คือเมืองพังงา เมืองตะกั่วป่าและเมืองตะกั่วทุ่ง

ในด้านการค้าบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สินค้าที่สำคัญของพังงาในสมัยนั้นได้แก่ สินค้าจากป่า เครื่องเทศ ลูกปัดแก้ว-หินสีและแร่ธาตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งดีบุก ที่อุดมสมบูรณ์มาก

ความสำคัญของดีบุกกับการสร้างเมืองพังงา

ห้องที่ 4 คนพังงา ห้องนี้จัดแสดงเรื่องราวของผู้คนในจังหวัดพังงา ซึ่งประกอบด้วยคน 4 กลุ่มหลัก คือชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวเล ตลอดจนภาษาและตำนานพื้นบ้านรวมไปถึงศาสนาและความเชื่อต่างๆของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี และชายฝั่งทะเลแถวอำเภอท้ายเหมือง

ภาษา และตำนานพื้นบ้าน แต่ละท้องถิ่น ในเมือง พังงา

ศาสนา และความเชื่อ ของคนพังงา

เครื่องแต่งกายของชนกลุ่มต่างๆ ทั้งชาย และหญิง

ห้องที่ 5 มรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดแสดงเรื่องราว เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของชาวพังงา ที่สืบทอดต่อกันมาได้แก่การประกอบอาชีพ ประเพณี เทศกาลสำคัญ ศิลปะการแสดงและการละเล่นที่สำคัญ เช่น หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า และวัฒนธรรม อาหารการกิน

ภูมิปัญญาในการทำประมง มีเรือประมงพื้นบ้านหรือที่เรียกว่าเรือหัวโทง การจมปู การเลี้ยงหอยนางรมและการเลี้ยงปลาในกระชัง

ด้านการเกษตรมีการทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และไร่นาสวนผสม

ประเพณีในท้องถิ่นงดงาม มากมาย หลากหลายทางวัฒนธรรม

หนังตะลุง หรือละครเงาแสดงถึงการรับวัฒนธรรมอินเดียอย่างชัดเจน หนังตะลุงในจังหวัดแถบอันดามันจะโดดเด่นเรื่องคารมคมคาย ดำเนินเรื่องไว มุขตลก นายหนังที่มีชื่อเสียงเช่นหนังเหม่ง บ้านนาพระ หนังแป้นตลด

รองเง็ง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมร้องเล่นกันในหมู่ชาวไทยมุสลิม จัดเป็นคณะเช่นเดียวกับคณะรำวง มีเครื่องดนตรีคือไวโอลิน และกลองรำมะนา เป็นเครื่องเล่นให้จังหวะที่สนุกสนาน

อาหารการกินของชาวพังงา มาครบครับ ทั้งคาว หวาน ของว่าง

ห้องที่ 6 เอกลักษณ์สถาปัตยกรรม นำเสนอมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ ของจังหวัดพังงา แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการของบ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการก่อสร้างบ้านเรือนของชาวพังงา

อาคารบ้านเรื่อนที่ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบชิโน-โปรตุกีส 3 ยุคสมัย งดงาม คลาสิคแตกต่างกันไป
ประตูไม้เก่าๆที่จะพบได้ทั่วไปในย่ายชุมชนเก่าของพังงา
ยังครับเรายังไม่หยุดเรียนรู้กันง่าย ๆ พี่เจ้าหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์พังงาแนะนำให้เราไป ศูนย์ศึกษาและวิจัย ศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน ซึ่งพี่เค้าบอกว่ามันใหญ่โต จัดแสดงได้ดีมาก และที่สำคัญลงทุนไป160 กว่าล้าน ...คนที่สนใจใคร่รู้อย่างผมควรจะไปมาก ๆ  และขับรถไปอีกแค่ 10 นาทีก็ถึงแล้ว ...โอเครคร้าบ ผมเป็นคนมีน้ำใจ และไม่ชอบปฎิเสธใครด้วย

ถึงแล้วมันใหญ่โตซะจริงๆ ถึงกับ งง จนหาทางเข้าไม่ถูกเลยทีเดียว ศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรมวัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามันจังหวัดพังงาจะประกอบด้วย อาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยภาคใต้ประยุกต์ เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงหลังคาทรงปั้นหยาและทรงมนิลามุงกระเบื้องว่าว มีอาคารจัดแสดงถาวร 5 อาคารด้วยกันเรียงตัวเป็นรูปครึ่งวงกลม ที่นี่เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงครึ่งนะครับ..มาเที่ยวกันให้ทันนะครับ

รูปจำลองเทวรูปพระนารายณ์ ตั้งเด่นตรงทางเข้าให้นักท่องเที่ยวได้สักการะก่อนจะเข้าชมส่วนจัดแสดงด้านใน..ก่อนเข้าชม ก็ได้เห็นความงามของงานปั้นแล้วครับ

อาคารจัดแสดงที่ 2 3 4 ใหญ่จริงจังมากกกกกกก

อาคารที่1 “อันดามันที่สุดแห่งใจ” จัดแสดงเรื่องราวของอันดามันเพื่อเป็นบทนำ ให้เห็นภาพรวมกว้างๆ ทางด้านลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมร่วมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ ของอันดามัน โดยมีนิยามขอ'แต่ละจังหวัดดังนี้  "พังงาดินแดนแห่งป่าเกาะ ระนองประตูสู่อันดามัน ภูเก็ตไข่มุกแห่งอันดามัน กระบี่มรกตอันดามัน ตรังปะการังใต้ทะเลเสน่ห์หาดทรายงาม และสตูล สงบสะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ "

อาคารที่สอง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีตามพัฒนาการของคาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ โดยใช้การจัดแสดงภาพและหุ่นจำลอง แสดงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สภาพภูมิประเทศและเสียงบรรยายประกอบเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเห็นภาพ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจัดว่าเด็ดที่เดียว

วิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์และศิลปะบนผนังถ้ำ

นี่เลยประวัติการโล้สำเภาที่ตามหา 555

ภาพรวมๆภายในห้องจัดแสดงห้องที่ 2 ลงทุนและทำได้ดีน่าสนใจเลยนะครับ

ทันสมัยขึ้นมาหน่อยมาถึงยุคประวัติศาสตร์กันละ

เส้นทางการค้าโบราณ : เส้นทางสายไหมและเส้นทางเครื่องเทศ เชื่อมโยงการค้าระหว่างยุโรป เปอร์เซีย อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนเข้าด้วยกัน

การผลิตลูกปัดโบราณ

การเข้ามาของชาวต่างชาติและการเผยแผ่ศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม

เมืองท่าและเรือสำเภาโบราณ มีหลายๆจุดทำเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเล่นด้วยนะ

แผนที่โบราณอายุกว่า 200 ปีจากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี แสดงภาพทะเลอันดามันและเมืองท่าต่างๆ  (มีหน่วยเป็นโยชณ หรือ โยชน์นะ กูเกิ้ลมาให้แล้วว่า 1 โยชน์ = 400เส้น และ 1 เส้น = 40เมตร ดังนั้น 1 โยชน์ ก็เท่ากับ 16 กิโลเมตร นะ

อาคารที่ 3 “ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม” จัดแสดงเรื่องของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆของชาวอันดามันที่เป็นเอกลักษณ์  กลุ่มคนที่อาศัยอยู่หลากหลายเช่นซาไก ชาวเล ชาวเมืองและคนต่างแดน กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ ศาสนาความเชื่อ ภาษาที่ อยู่อาศัย อาหารการกิน การแต่งกาย แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยมีรูปจำลองของแต่ละชาติพันธุ์ การละเล่นและอาคารที่อยู่อาศัยจัดแสดงไว้ด้วย

การแต่งกายของแต่ละชาติพันธุ์ ดูก็รู้ว่าใครขี้ร้อนสุด
ซาไก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของอันดามัน และคาบสมุทรมลายู อาศัยบริเวณป่าลึกในที่ราบสร้างเพิงพักแบบง่ายๆ โดยใช้วัสดุธรรมชาติมีที่พักไม่เป็นหลักแหล่งเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ โดยเลือกอาศัยอยู่ใกล้ลำธาร เนื่องจากใกล้แหล่งอาหารจำพวกหัวเผือกหัวมัน และล่าสัตว์เล็กๆ ประเภทปลา นก กระรอก ด้วยลูกดอกกับไม้ซาง

ชาวเลเป็นกลุ่มคนที่เดินทางอพยพเร่ร่อนตามเกาะแก่งและชายหาดฝั่งทะเลอันดามันตั้งประเทศพม่า ไทย มาเลเซียไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เดิมจะอยู่กินอยู่ หลับนอนกันเป็นครอบครัวบนเรือที่เรียกว่า ก่าบัง ยังชีพด้วยการจับสัตว์ทะเล เมื่อถึงฤดูมรสุมชาวเลจะอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนตามเกาะหรือบริเวณชายหาดที่มีอ่าวกำบัง

ชาวไทยพื้นเมืองส่วนใหญ่ถือศาสนาพุทธทำอาชีพเกษตรกรรมและประมงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆมักจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเช่นประเพณีสารทเดือนสิบที่ผสมผสานความเชื่อทางพุทธพราหมณ์และการนับถือผีบรรพบุรุษ ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด และนำอาหารคาวหวานมารวมกันเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

ชาวไทยมุสลิมหรือมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามทุกปีจะมีประเพณีสำคัญได้แก่พิธีฮารีรายอเพื่อเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอด ญาติพี่น้องจะกลับมาพบปะสังสรรค์ร่วมกันประกอบอาหารคาวหวาน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบฝั่งทะเลอันดามันเพื่อทำการค้าและทำเหมืองแร่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนจาก ปีนัง สิงคโปร์และชาวจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบันชาวไทยเชื้อเชื้อสายจีนยังคงมีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ และมีการสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่นไม่ว่าจะเป็นประเพณีตรุษจีนหรือประเพณีไหว้บรรพบุรุษ

มีวิดิโอโชว์ การละเล่นต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น รองเง็ง ลิเกป่า โนรา ให้นั่งดูสบาย ๆ ครับ

ผมชอบว่าวกระบือมาก (ว่ายควายนั่นแหล่ะ) เสียงเพราะ เป็นภูมิปัญญาของชาวใต้จริงๆ ...ใครอ่านแล้ว งง ๆ ต้องไปเที่ยวที่นี่เลยนะครับ หาดูไม่ง่ายแล้ว

หนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนฝั่งอันดามันที่แตกต่างจากตะลุงฝั่งตะวันออก ทั้งในด้านการขับร้อง การพูด รูปตัวหนังและธรรมเนียมการเล่น จนมีศัพท์เรียกหนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันตกว่าหนัง ปละดก

หนังตะลุง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก เอกลักษณ์การละเล่นโบราณ ของชาวใต้

อาหารชาวอันดามัน

สถาปัตยกรรม แบบชิโน-โปรตุกีส ที่มีเอกลักษณ์

รถสองแถวไม้อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวพังงาและภูเก็ต ชาวภูเก็ตจะเรียก รถโพ้ถ้อง ดู ๆ ไปก็เหมือนลูกผสมระหว่างรถกระบะกับรถสิบล้อนะ

อาคารที่4 “เขา ป่า นา เล และโลกสีคราม” จัดแสดงความสวยงามทางธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้ความรู้ทางชีววิทยา นิเวศวิทยาและธรณีวิทยาสอดคล้องกับพื้นที่ด้านหลังอาคารที่เป็นป่าชายเลนในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและยังแสดงข้อมูลทางพฤกษศาสตร์เกี่ยวกับพืชท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้รวมทั้งพืชเศรษฐกิจได้แก่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน

จัดแสดงสภาพนิเวศวิทยาป่าชายเลน

ยางพาราพืชเศรษฐกิจของชาวใต้...ขอให้ราคายางสูง ๆ นะครับ พี่น้องชาวใต้จะได้มีความสุข

ทรัพยากรทางทะเลอันสมบูรณ์ของอ่าวพังงา

อาคารที่ 5 “สวรรค์อันดามัน”  สรุปเรื่องราวเกี่ยวกับอันดามันทั้งหมดด้วยความสวยงามทั้งทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและธรรมชาติอันเป็นที่มาของคำว่าสวรรค์อันดามันโดยจำลองบรรยากาศและสถานที่มือชื่อเสียงในมุมต่างๆ ของพังงา ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ...... สาวๆ น่าจะชอบห้องนี้ ได้เวลาเซลฟี่กันแล้ว

ความงดงามทางธรรมชาติ ของ พังงา ทำให้ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่มาถ่ายทำที่พังงา และถ่ายทอดความสวยงามของอันดามันสู่สายตาชาวโลก  เช่น The Beach กับ 007 นี่จำได้แม่นเลย ทำให้เมืองพังงา และประเทศไทย ดังไปทั่วโลก ทำให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนในจังหวัด และประเทศไทยไม่น้อยเลยครับ
เอาละครับซึมซับความรู้กันจนท่วมท้นแล้วสมควรแก่เวลาที่เราจะออกไปชื่นชมธรรมชาติอันสวยงามของเมืองพังงากันจริง ๆ ซักทีไปที่แรกกันเลย บ้านสามช่องใต้....หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ...บ้านสามช่องใต้ หนึ่งในสถานที่สุดประทับใจของผมตั้งแต่เริ่มถ่ายภาพมา มีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับมาที่นี่ มันมีความสงบ ความบริสุทธิ์และสวยงามของธรรมชาติที่ผสมกับวิถีของชาวประมงพื้นบ้านได้อย่างลงตัว ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกันนักแค่มี ทางช้างเผือก เพิ่มเข้ามาหน่อย สร้างความงดงามเพิ่มขึ้นมากมายครับ

แสงเช้าช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นกับวิวกว้างๆ ลมเย็นๆ ตรงหน้าแบบนี้ ก็ยังทำให้ชื่นใจและหัวใจพองโตได้เสมอ ๆ

ชาวประมงชายฝั่ง ตื่นก่อนพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ยังไม่ทันขึ้นเลยก็ออกไปทำงานกันแล้วหนุ่มๆ หมู่บ้านนี้ ...ไม่มีความอดอยาก ในหมู่คนขยันเนอะ ๆ

อีกหนึ่ง Landmark สำหรับคนรักการถ่ายภาพที่จำเป็นต้องมาเลยนะถ้ามาพังงา สะพานไม้หาดเขาปิหลาย สะพานไม่เก่าแก่ในตำนานที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน และจะอยู่ให้พวกเราได้ชื่นชมได้อีกไม่นานแล้ว ไปให้เห็นกับตาซะก่อนที่ทุกอย่างจะหายไปนะ...ปัจจุบัน สะพานนี้ยังอยู่รึเปล่าไม่รู้นะครับ ลองเช็คข้อมูลคนในพื้นที่ก่อนนะครับ

สะพานแห่งนี้ได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการขนแร่ดีบุกจากเรือเข้าสู่โรงแยกแร่บนฝั่ง ปัจจุบันแร่ดีบุกได้ถูกขุดไปจนหมดแล้วพร้อมกับการปิดตัวไปของโรงงานบนฝั่งคงเหลือไว้แต่เพียงซากสะพานไม้ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงความรุ่งเรืองของพังงาในยุคตื่นแร่บริเวณชายหาดเขาปิหลาย

แสงเข้าจากจุดชมวิว เสม็ดนางชี วันนั้นสวยแบบขาดใจตายกันเลยที่เดียว (แอบร้อง...เบา ๆ ในใจหลายต่อหลายครั้ง ว่าทำไมมันสวยหมดจดได้ขนาดนี้ 555) แนะนำให้มาถึงจุดชมวิวก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นจะได้คอยเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสีสันและท้องฟ้าได้แบบเต็ม ๆ ตานะครับ

ปัจจุบันมีที่พักใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะมากตามความป๊อบของเสม็ดนางชี ครั้งนี้ผมพักที่โฮมเสตย์ของกำนันที่อยู่กลางซอยบ้านหินร่ม เป็นบ้านสีเหลืองหลังโต ราคาดีมาก (ทั้งหลัง1500) พักกันได้เป็น10เลย และสามารถนัดแนะกับทางกำนันให้เอารถมารับที่บ้านเพื่อมาส่งที่จุดชมวิวนี้ตั้งแต่ตี 4 ก็สะดวกมากๆ ครับ

ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น ก่อนแสงแรงๆจะเริ่มแยงตา ฟ้าก็จะหวานแบบนี้

สีหวานๆ ตัดกันของฟ้า และน้ำที่เสม็ดนางชี

วันนี้มีแผนจะไปพักผ่อนที่เขาหลักต่ออีกซักคืนก่อนจะขับยาวกลับกรุงเทพเพราะซื้อแพ็คเกจจากเขาหลักลากูน่ารีสอร์ท ทิ้งไว้ตั้งนานแล้วได้โอกาสใช้ซักที่ละคราวนี้

ก่อนจะเข้าเขาหลัก ขอแวะเข้าไปชม ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ซักนิดนึง การเดินทางจากบ้านหินร่มใช้เวลา 1 ชั่วโมงนิดๆ กับระยะทางราวๆ 70 กิโล ค่อยๆขับไปนะครับทางขึ้นเขาลงเขาพอสมควร โปรดใช้ความระมัดระวังในการขับขี่

ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์อยู่เยื้องๆ กับท่าเรืองทับละมุ อ.ตะกั่วทุ่ง มีรถเข้ามาจอดในบริเวณศุนย์ฯ เยอะมากตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะทะเลอันดามัน

ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ อยู่ในกองทัพเรือภาค 3 หมู่บ้านทับละมุ  โดยฐานทัพเรือพังงาสร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป เป็นอาคาร 2 ชั้น แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

ศูนย์ฯ แห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมป่าไม้ กรมประมง จ.พังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในวโรกาสที่มีพระชนมายุครบ 36 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.25436 และเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล

ภายในอาคารมีห้องจัดแสดงนิทรรศการ อุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์36อยู่ด้วย เปิดให้เข้าชมเวลา 08.30-16.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการตบแต่งเหมือนอยู่ในเรือรบเลย ส่วนนี้แสดงเกาะต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและสุรินทร์

วัตถุประสงคฺของโครงการและภารกิจของกองเรือภาคที่3   และในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับโครงการฝึกอบรมนักประดาน้ำเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเล และการวางทุ่นผูกเรือในแนวปะการังด้วย

จัดแสดงแนวคิดและวิธีการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์  รูปแบบกิจกรรมทางน้ำที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งท่องเที่ยว และจุดพักสำคัญที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมต่างๆ และข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ถูกต้อง

จัดแสดงบรรยากาศใต้ท้องทะเล หืมมมม...ฉลามเยอะไปนะ!!!

หลังจากนั้น ผมออกมาหาที่พักคืนนี้ดีกว่า... เขาหลัก ลากูน่า รีสอร์ท คือคำตอบสุดท้ายครับ  ผมได้พักห้องแบบโอเรียนทอล วิลล่า อยู่เกือบจะติดทะเลเลย เสียดายดันมีอีก2ห้องมาขวางเอาไว้ ...อย่าไปนึกว่าช่วงซึนามิว่าที่นี่จะเป็นยังไงบ้าง! คืนนี้ขอหลับให้สบายๆก่อนพรุ่งนี้ตอนออกจากที่นี่แล้ว

ค่อยกลับมานึกต่อก็ยังไม่ช้าไปนะ 555 ราคาแพ็คเกจถ้าจำไม่ผิดประมาณ 3 พันหน่อยๆรวมอาหารค่ำริมหาด และอาหารเช้าสำหรับ2คนนะครับ บรรยากาศยามเย็นช่วงอาทิตย์ตกสวยงามเลย

กินลมชมวิวกันไปทั้งหาดมีผมอยู่คนเดียว.....มันก็จะเสียวๆหน่อย! แต่แสงสวยๆแบบนี้ยังไงก็ต้องทนนะ

ตัดภาพมาที่สระว่ายน้ำริมหาดตอนเช้าเลย เมื่อคืนนอนหลับฝันดีไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้นนะครับไม่ต้องกลัวไปตามไปเที่ยวกันได้

บรรยากาศภายในโรงแรมตรงส่วนโอเรียนทอล วิลลา มันช่วยสร้างบรรยากาศดีจริงๆ (สว่างแล้วเดินเล่นได้ 555)

เอ้าไหนๆก็พูดถึงที่พักแล้ว ....ที่พักในตัวเมืองพังงาคราวนี้ผมพักที่ พังงาคอทเทจ ก็หาเจอจากอโกด้าตอนดึก ๆ 555 เห็นว่าได้คะแนนเยอะแล้วก็อยู่ไม่ไกลจากแหล่งบันเทิงทั้งหลายและราคาน่าคบหาที่เดียว 750 บาทเท่านั้น ห้องเป็น 2 ชั้นครับตามภาพชั้นล่างจอดรถ ด้านหลังเป็นมุมนั่งเล่นไม่มีหลังคาลมโกรกเย็นดี มีรั้วเตี้ยๆปิดได้แต่ผมไม่ได้ปิด...ซินะ!

บันไดขึ้นมาชั้น2

ชั้นบนแบ่งเป็น 2 ส่วน ห้องนอนก็ประมาณนี้

ห้องน้ำอ่างล้างหน้า ตู้เย็นอยู่ด้านนอกแยกสัดส่วนได้ดีเลยชอบๆ ห้องพักสะอาดดีครับ หมอนผ้าห่มผ้าเช็ดตัวไม่มีอะไรจะติ กับราคานี้  (ไม่มีอาหารเช้านะคร้าบ)
จบละครับขอปิดทริปพังงา เมืองมรกตแห่งอันดามันด้วยภาพแสงสุดท้ายของวัน ตอนที่ผมกำลังขับรถออกจากเมืองพังงาเลยละกัน เป็นวันที่แสงสวยมากๆวันนึงในรอบปีเลยนะ

ข้อคิดสะกิดใจที่ได้จากการขับรถมาเที่ยวไกล ๆ คนเดียวในครั้งนี้ก็คือ ควรจะหาเพื่อนมาด้วยเผื่อตอนเมื่อยจะได้ชวยกันชับ555... อันนั้นก็เรื่องนึงแต่ข้อสังเกตนึงที่ยังคงสงสัยและยังไม่มีคำตอบว่าการรวมชาติของคนในอันดามัน ให้มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง นั้นเป็นไปได้ยังไงจากข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาในวันสองวันนี้ว่าแถบอันดามันนี้ถูกสร้างและเจริญขึ้นมาจากความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม เรียกว่าแตกต่างกันในทุก ๆ ด้านก็ว่าได้ ...ขอเก็บไปคิดต่อเป็นการบ้านละกันนะครับ สวัสดี

ความคิดเห็น