ชมตำหนักสวนสุนันทา ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ผ่าน พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา


  • วันที่เปิดให้บริการ: ทุกวันจันทร์ - อาทิตย์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • เวลา: 9.30 - 16.00 น.
  • Facebook: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
    https://www.facebook.com/ArtsandCultureSSRU/

หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา" เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เคยเป็นพื้นที่ที่ประทับและที่พำนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และยังมีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ให้เที่ยวชมได้จนปัจจุบัน

วันนี้พิระมีโอกาสได้ไปชมงาน 100 ปี เสด็จขึ้นตำหนักสวนสุนันทา และได้เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ โดยมีคุณชนะภพ วัณณโอฬาร ทำหน้าที่เป็นผู้พาชมพร้อมให้ความรู้ตลอดทริปนี้ค่ะ

พิระจึงขอนำไฮไลท์ที่น่าสนใจ และไม่ควรพลาด มาฝากทุกคนกันค่ะ

ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จะมีบอร์ดแผนที่ขนาดใหญ่ติดให้เราดูเป็นระยะ
จุดหมายของเราในวันนี้คือ อาคารสายสุทธานภดล หมายเลข 27 ค่ะ

ระหว่างทางที่เดินมาชมตำหนัก ก็สามารถแวะชมความสวยงามของร้านค้าที่ออกแบบรูปทรงและการตกแต่งให้เข้ากับเขตวังได้เป็นอย่างดี

ใครที่กลัวหลงทาง ไม่ต้องกังวลนะคะ มองเห็นร้าน Amazon เมื่อไหร่ มองไปฝั่งตรงข้ามก็จะเจอพิพิธภัณฑ์เลยค่ะ

ตำหนักสายสุทธานภดล เมื่อมองจากด้านนอกจะเห็นว่ามี 2 มุข (เป็นตึกแฝดที่มีทางเดินเชื่อมกัน) มุขด้านหนึ่งเป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอฯ ส่วนมุขอีกด้านจะเป็นที่ประทับของสมเด็จหญิงพระองค์น้อย พระราชธิดาองค์เล็กของพระวิมาดาเธอฯ


มาถึงแล้วก็ตรงเข้าไปลงทะเบียน รับแผ่นพับอธิบายประวัติความเป็นมา แล้วเข้าไปชมพร้อมกันเลยค่ะ

บันไดเวียน และสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในตำหนัก เป็นโครงสร้างที่มีมาดั้งเดิม

ตอนนี้หลายๆ คนอาจจะเริ่มสงสัยว่าตำหนักนี้คือตำหนักของใคร แล้วสวนสุนันทานี่ใครเป็นผู้สร้าง สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง ตาม Pira Story ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ


ที่ประทับและที่พำนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

ราชสำนักฝ่ายใน หรือ พระราชฐานชั้นใน มีทั้ง "พระที่นั่ง" อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ก็ยังมี "ตำหนัก" และ "เรือน" ต่างๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับและที่พำนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน


ประวัติของสวนสุนันทา

หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 มีพระราชประสงค์ให้สร้างสวนสุนันทา เพื่อใช้เป็นที่ประทับอีกแห่ง แต่เมื่อสิ้นรัชกาลของรัชกาลที่ 5 ก็ยังสร้างสวนสุนันทาไม่เสร็จ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จ สวนสุนันทา จึงกลายเป็นราชสำนักฝ่ายในขนาดใหญ่ ตลอดสมัยรัชกาลที่ 6 - 7

เคยมีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์เสด็จมาประทับ ณ สวนสุนันทา โดยบางพระองค์ก็ประทับเป็นครั้งคราวแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่น พระราชธิดาของรัชกาลที่ 4 และ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 เป็นต้น โดยในสมัยนั้น มีตำหนักพระวิมาดาเธอฯ เปรียบเสมือนศูนย์กลาง

ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ถือเป็นศูนย์กลางของตำหนักฝ่ายใน เพราะเป็นตำหนักที่มีเจ้านายพระยศสูงประทับอยู่ ดังนั้นตำหนักแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมของเจ้านายฝ่ายใน เวลาที่มีกิจกรรมเสด็จเยี่ยมเยียนตำหนักต่างๆ ก็มักจะมารวมกันอยู่ที่ตำหนักนี้ เช่น การเสวยพระกระยาหารค่ำ เป็นต้น

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สวนสุนันทาถือเป็นราชสำนักฝ่ายในรุ่นสุดท้าย เนื่องจากหลังจากนั้น ราชสำนักฝ่ายในไม่จำเป็นต้องมาอาศัยอยู่รวมกันภายในเขตที่ประทับเดียวกันอีกต่อไป สามารถสร้างวังเองข้างนอกได้

สวนสุนันทาจึงเปลี่ยนเป็นสถานศึกษา ซึ่งตำหนักเดิม ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 10 หลังเท่านั้น

ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนสุนันทา กลายเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งมีอาคารโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมหลายหลัง เช่น พระที่นั่งซึ่งเป็นอาคารที่มีการใช้เสารับน้ำหนักเป็นยุคแรกๆ ของประเทศไทย จึงเป็นต้นแบบทางสถาปัตยกรรมที่น่าศึกษาและอนุรักษ์ไว้

พิระมีข่าวดีมาแจ้งทุกคนด้วยค่ะ ว่าในอนาคตจะมีการปรับปรุงและพัฒนาให้ทุกตำหนักในสวนสุนันทากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้บริการ ต้อนรับนักท่องเที่ยว และผู้สนใจสามารถเข้ามาเที่ยวชมได้ทุกตำหนัก ถ้าทุกตำหนักพร้อมให้เข้าชมเมื่อไหร่ รับรองว่าพิระจะต้องไปชมอย่างแน่นอนค่ะ!


ประวัติของพระวิมาดาเธอฯ

พระวิมาดาเธอฯ คือหนึ่งในพระมเหสีของรัชกาลที่ 5 มีพระราชโอรส และ พระราชธิดากับรัชกาลที่ 5 ทั้งหมด 4 พระองค์ โดยองค์เล็กสุดคือ สมเด็จหญิงพระองค์น้อย ซึ่งภายหลังได้มาอาศัยอยู่ในตำหนักเดียวกับพระวิมาดาเธอฯ

มุมประทับของพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งมีของสำคัญ 2 ชิ้นที่จะขาดไปไม่ได้ คือ พระสุธารสชา และ พานหมาก เพราะโปรดเสวยชามาก เวลาที่เสด็จไปประทับที่ไหน จะต้องมีเครื่องใช้เหล่านี้ติดตามไปด้วยเสมอ

ทราบประวัติคร่าวๆ ของตำหนักในสวนสุนันทากันไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ เราเข้าไปชมความงดงามภายในตำหนักกันค่ะ


ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานพดล

พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานพดล มีไฮไลท์ที่น่าสนใจ ที่พิระเลือกมาแล้วว่าอยากแนะนำให้ทุกคนไปชมกันค่ะ

ภาพพระวิมาดาเธอฯ

ภายในพิพิธภัณฑ์จะมีภาพพระวิมาดาเธอฯ รวมไปถึงเจ้านายอีกมากมายหลายท่าน ติดประดับประดาไปทั่วทั้งตำหนัก แต่มีภาพภาพหนึ่งที่พิเศษกว่าภาพอื่นๆ นั่นคือภาพด้านล่างนี้ค่ะ

เมื่อขึ้นมาถึงตำหนักชั้น 2 จะพบกับภาพถ่ายของพระวิมาดาเธอฯ ภาพนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นภาพที่รัชกาลที่ 5 ฉายด้วยพระองค์เองค่ะ

พัดชัก

สภาพอากาศร้อนๆ แบบนี้ หลายคน (รวมถึงพิระด้วย) อาจนึกสงสัยว่า คนในอดีตเขาอาศัยอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนแบบนี้กันได้ยังไง เวลานอนไม่ร้อนเหรอ วันนี้พิระของพาทุกคนไปชมสุดยอดนวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาอากาศร้อนตอนนอน

นั่นก็คือ "พัดชัก" เครื่องโบกลมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ติดระบายติดห่วงแขวนกับเพดานมีเชือกชัก ซึ่งติดอยู่ด้านบนเหนือเตียง แล้วมีเชือกห้อยยาวลงมา เมื่อดึงเชือก พัดชักก็จะพัดกลับไปกลับมาซ้ายขวาเป็นการพัดลมเย็นๆ ลงไปที่เตียง ผู้ที่นอนบนเตียงก็สามารถนอนหลับได้เย็นสบาย เหมือนมีพัดลมระบบอัตโนมือ

ลักษณะของห้องบรรทมจะมีแท่นบรรทมตั้งอยู่ตรงกลาง มีม่านกั้นอีกชั้น เหนือม่านมีพัดชัก คุณข้าหลวงถวายงานอ่านหนังสือ และพัดชัก ใครที่แวะมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อย่าลืมมาชมพัดชักกันนะคะ


ห้องเซฟ

ชั้นบนของตำหนัก มุขฝั่งที่เป็นที่ประทับของสมเด็จหญิงพระองค์น้อย จะมีห้องบรรทมที่มีเตียงตั้งอยู๋กลางห้อง และด้านหลังเตียงนั่นเองคือไฮไลท์สำคัญที่อยากให้ทุกคนได้ชมกัน

นั่นก็คือ "ห้องเซฟ" เป็นห้องเล็กๆ สำหรับเก็บสมบัติของมีค่า โดยจะเก็บเอาไว้ในหีบสีดำ วางเรียงต่อกันเป็นชั้นๆ ตั้งแต่พื้นจนถึงเพดานห้อง ก่อนที่จะปิดประตู ล็อคกุญแจ แล้วให้คุณข้าหลวงผู้ดูแลกุญแจทำหน้าที่นั่งเฝ้าอยู่หน้าห้อง


ภาพวาดสีน้ำ ลายดอกไม้

เมื่อเข้ามาในตำหนักแห่งนี้ จะพบภาพวาดสีน้ำ ลายดอกไม้สีสันสวยงาม ประดับประดาอยู่มากมาย ภาพเหล่านี้คือผลงานภาพวาดสีน้ำ ซึ่งจำลองมาติดประดับเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ให้ได้ชมกัน ส่วนภาพจริงนั้น ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดูแลรักษาด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากภาพวาดแต่ละภาพมีอายุเป็นร้อยปีแล้ว จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

โดยดอกไม้ที่อยู่ในรูปเหล่านี้ เป็นดอกไม้ที่ปลูกอยู่ในสวนสุนันทาด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นภาพดอกกุหลาบ และกล้วยไม้ที่พระวิมาดาเธอฯ ทรงโปรด โดยลานจอดรถหน้าตำหนักในปัจจุบันนั้น ในอดีตเคยเป็นเรือนกล้วยไม้มาก่อนค่ะ


พัดรอง

พัดรองในงานฉลองพระพรรษาครบ 60 ปี เป็นศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระวิมาดาเธอฯ ออกแบบโดยกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ตรงกลางจะมีลายเซ็นสีชมพูซึ่งปรากฏอยู่บนผลงานของพระยานริศทุกชิ้นอีกด้วย ลองซูมภาพดูชัดๆ กันได้นะคะ

ตราประจำพระองค์ของพระวิมาดาเธอฯ เป็นตัวอักษร “สสภ” ย่อมาจากชื่อเต็มของท่าน คือ สายสวลีภิรมย์


ตู้เสื้อผ้าไม้ สไตล์ดั้งเดิม

ห้องประทับสมเด็จหญิงพระองค์น้อย มีตู้เสื้อผ้า หรือ ตู้ฉลองพระองค์แบบดั้งเดิมในลักษณะของเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน สวย คลาสสิก ประหยัดพื้นที่ในห้อง

โดยการแต่งกายของเจ้านายฝ่ายในในตำหนักนี้ จะมี 2 ลักษณะ คือ

  • การแต่งกายของเจ้านายฝ่ายใน คุณข้าหลวง เจ้านายรุ่นใหญ่ จะยังคงแต่งกายตามแบบสมัยรัชกาลที่ 5 คือ สวมเสื้อแขนกระบอก ตัดผมสั้น หวีเสย ห่มสไบและแพรแถบ
  • การแต่งกายของเจ้านายรุ่นสาวๆ จะเริ่มเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม คือ นุ่งซิ่น ไว้ผมยาว ดัดผมลอน เป็นต้น


โต๊ะเสวยแบบตะวันตก

ในยุคสมัยนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยเริ่มมีการนำช้อนส้อมเข้ามาใช้ในการรับประทานอาหาร ดังนั้น เจ้านายฝ่ายในในสวนสุนันทาจึงเป็นผู้หญิงไทยกลุ่มแรกที่เริ่มใช้ช้อนส้อม เริ่มสัมผัสวัฒนธรรมความเป็นสมัยใหม่ โดยจะได้รับการฝึกฝนวิธีการใช้ช้อนส้อม รวมไปถึงมารยาทบนโต๊ะอาหาร เนื่องจากในพระราชพิธีสำคัญ เลี้ยงอาคันตุกะต่างๆ ต้องให้ผู้หญิงร่วมนั่งงาน หรือ ออกรับรอง พบปะแขกคนสำคัญ


ชักโครกไม้

ชักโครกไม้ที่สร้างจำลองให้เหมือนชักโครกในยุคสมัยนั้นมากที่สุด


มาลัยจากดอกไม้และใบไม้หลายชนิด

งานดอกไม้เป็นกิจกรรมที่คุณข้าหลวงในตำหนักแห่งนี้ต้องทำกันเป็นประจำ เนื่องจากพระวิมาดาเธอฯ และ สมเด็จหญิงพระองค์น้อย จะต้องใช้มาลัยสำหรับสวดมนต์เย็นทุกวัน จึงต้องร้อยมาลัยเตรียมเอาไว้ให้อย่างสม่ำเสมอ

มาลัยที่ตำหนักนี้จะแตกต่างจากมาลัยทั่วไป ตรงที่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้ดอกไม้หรือใบไม้อะไรเท่านั้น สามารถนำดอกไม้ที่ปลูกในพื้นที่ของสวนสุนันทา ใบไม้ และใบตองมาร้อยเป็นมาลัยได้เช่นกัน


สูตรอาหารตำรับชาววัง

เมื่อนึกถึงสวนสุนันทา โดยเฉพาะตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ เนื่องจากพระวิมาดาเธอฯ เป็นผู้ควบคุมห้องเครื่อง มีหน้าที่ทำอาหารถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีชื่อเสียงโดดเด่นเรื่องอาหารเป็นอย่างมาก เอกลักษณ์สำคัญที่ขึ้นชื่อลือนามก็คือเรื่องสูตรการทำอาหาร ที่มีการคิดค้นสูตรใหม่ๆ เป็นเคล็ดลับเฉพาะที่แตกต่างจากวังอื่นๆ

เช่น "น้ำพริกลงเรือ" ซึ่งมีที่มาจากครั้งที่เจ้านายต้องการเสวยในเรือ แต่ห้องเครื่องยังไม่ได้เตรียมเครื่องเสวย จึงต้องใช้ไหวพริบในการนำอาหารที่มีอยู่ในครัวมาสร้างสรรค์ค์ให้เป็นเมนูใหม่ โดยใช้น้ำพริกกะปิและหมูหวานซึ่งเป็นเมนูสามัญประจำครัว ต้องมีติดครัวอยู่เสมอ มาผัดรวมกัน ตอกไข่เค็มเฉพาะไข่แดง ใส่ปลาดุกฟูลงไปรวมกัน

น้ำพริกลงเรือของสวนสุนันทา จะนำอาหารทุกอย่างจัดเรียงรวมกันเป็นชั้นๆ ในภาชนะเดียว ไม่มีการจัดเครื่องเคียงแยกออกไปด้านนอก เมื่อตักขึ้นมาหนึ่งคำก็จะได้รสสัมผัสของส่วนประกอบทั้งหมดในคำเดียว นอกจากนี้ การเสวยในเรือ หากใช้ภาชนะ จาน ชามหลายใบจะไม่สะดวก การทำอาหารลงในภาชนะใบเดียวจึงสะดวกมากกว่าอีกด้วยค่ะ


นอกจากนี้ ยังโปรดการทำขนมหวานต่างๆ เช่น ขนมผิง หรือ ลูกกวาดที่ทำจากเม็ดถั่วเคลือบน้ำตาล

วันที่พิระไปชม มีสาธิตการทำขนมสัมปันนี หรือ สำปันนี เป็นขนมโบราณที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตามบันทึกของพ่อค้าชาวฝรั่งเศส วิธีทำคือ นำแป้งมันมาคั่วให้สุก อบควันเทียนให้ได้กลิ่นหอม ผสมน้ำเชื่อม กะทิ น้ำตาลทราย เคี่ยวจนเหนียว คลุกกับแป้งมัน อัดใส่พิมพ์ ตากลมให้หน้าขนมแห้ง แล้วจึงเคาะออกมารับประทาน หอมกลิ่นเทียนอบ รสหวานกำลังดี




อ่านบทความของ Pira Story เพิ่มเติม ได้ที่นี่ค่ะ



Amm Pirada

Pira Story

 วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เวลา 15.25 น.

ความคิดเห็น