หลังจากที่ผมลงพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัยเข้าสู่วันที่3 มนต์เสน่ห์แห่งชุมชนนี้เริ่มเผยความงามมากขึ้น วันนี้ผมได้ทำพระพิมพ์ครั้งแรกในชีวิตผม รวมถึงการยิงธนู และทำกระทงเอกลักษณ์ของสุโขทัยอีกด้วยครับ


วันที่3- เรียนรู้ทำพระพิมพ์



เช้าวันนี้ วันที่อากาศเย็นสบาย ผมได้เดินทางโดยรถคอกหมู รถประจำทางสุดคลาสสิกที่นี่ จากที่พัก มาที่ศูนย์เรียนรู้พระพิมพ์เมืองสุโขทัย ไม่ไกลจากที่พักครับ โดยมีครูกบ ผู้สอนการทำแม่พิมพ์ให้ผม คอยต้อนรับอยู่อย่างอบอุ่น ถือเป็นไฮไลท์ที่หาชมได้ยากครับ



ครูกบเล่าให้ผมฟังว่า ที่บ้านครูกบ มีอาชีพการทำพระพิมพ์อยู่แล้ว มำให้ครูกบได้ซึมซับภูมิปัญญาการทำพระพิมพ์ ตั้งแต่วัยเยาว์ ที่นี่รวบรวมพระหลายร้อยปางจัดแสดงให้ชม


ขุด-ทุบ-หล่อ-พิมพ์พระเมืองสุโขทัย



ครูชี้แจงว่า วันนี้ เป็นการทำพิมพ์พระเต็มวัน ถือเป็นโอกาสดี ที่ผมจะได้พระพิมพ์จากมือของผมเองทุกขั้นตอน(ยกเว้นเผา) การทำพระพิมพ์อย่างแรกคือการที่นำดินที่มีคุณภาพมาทำพระพิมพ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่เท่าไหร่ และผมต้องลงมือขุดด้วยตัวเอง


การเลือกดิน ครูกบบอกว่า ต้องเลือกบริเวณดินพร้อมใช้งานซึ่งอยู่ใกล้เตาทุเรียง เราจึงเดินทางไปนั่นและขุดดินที่จะนำมาใช้ประมาณ2ฝามือจะได้พระราว50องค์


หลังจากได้ดินมาแล้ว ครูกบนำดินมาตีด้วยไม้ที่มีขนาดพอสมควร เพื่อให้ดินรวมเป็นหนึ่งเดียว หากเห็นหินในดิน ให้นำหินออกมา เพราะจะทำให้องค์พระแตกได้ง่าย หากดินมีการเริ่มเเข็งให้พรมน้ำ โปรยทราย เวลาเผาพระได้ไม่แตก



หลังจากเตรียมดินจนได้ที่ ขั้นตอนต่อไป คือการนำดินกดบนแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อที่จะได้พระพิมพ์ ออกมาเป็นต้นแบบที่ทำจากมือผมเอง



จากนั้น นำดินบางส่วนมาตั้งเป็นกำแพงบนแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด นำพระพิมพ์ที่พิมพ์ไว้ วางไว้ตรงกลาง นำปูนพลาสเตอร์มาเท รอจนแห้งราว2ชม. ส่วนดินที่เหลือ ครูกบบอกว่า ต้องใช้ใบตองห่อกันลม ดินจะแห้งนั่นเอง

หลังจากที่ปูนพลาสเตอร์แห้ง ถึงเวลานำดินที่ตั้งเป็นกำแพงออก จะได้แป้นพิมพ์พระ ฝีมือผมเองครับ

เมื่อแป้นพิมพ์แห้งสนิท นำดินที่เราห่อใบตองมาพิมพ์บนแป้นพิมพ์ที่เราทำจากมือเราเองครับ ผมขุดดินมาเยอะ เลยถือโอกาสนี้ พิมพ์พระจากมือผมเอง นำกลับไปฝากคนที่บ้านเพื่อความเป็นมงคลอีกด้วยครับ



หลังจากที่พิมพ์พระได้เป็นที่ต้องการแล้ว เข้าสู่การเผา ครูกบบอกว่า ใช้เวลาเผาราว2วัน เมื่อได้แล้ว จะนำไปให้ที่ห้องพักครับ แอบตื่นเต้นนะครับ




ที่นี่ นอกจากสอนการพิมพ์พระ ยังสอนการยิงธนู และการจุดไฟในป่า ให้ผมนำกลับไปปรับใช้อีกด้วยครับ


จุดประทีบกระทงถวาย


หลังจากเราเรียนการทำพระพิมพ์เรียบร้อย ชุมชนพาผมไปแต่งกายชุดไทยสุโขทัย เพื่อมาประดิษฐ์กระทง ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เป็นไฮไลท์อันโด่งดังของสุโขทัย ณ ท่าน้ำรับเสด็จ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยมีลุงบวบ ปราชญ์ชาวบ้านฝึกสอนอย่างอบอุ่นครับ

หลังจากประดิษฐ์กระทงเสร็จเรียบร้อย วันนี้มีตลาดบริเวณท่าน้ำรับเสด็จพอดี จึงถือโอกาสนี้เดินเลือกซื้อสินค้า อาหาร และมีร้านข้าวเปิ๊บของดีเมืองสุโขทัย ที่นำแป้งมาทาบนผ้าขาวนึ่งร้อน คล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ มาห่อวุ้นเส้น หมู และผัก บนเตานึ่งร้อนๆ ก่อนนำเเป้งที้อยู่ข้างๆ มาพับ (เปิ๊บ แปลว่าพับ) และเทน้ำซุปใส่ กินคล้ายก๋วยเตี๋ยว รสชาติหอม อร่อย ชวนลิ้มลองอีกด้วยครับ


หลังจากอิ่มอร่อยกับข้าวเปิ๊บเป็นที่เรียบร้อย ดวงอาทิตย์ตก ความมืดมาเยือน ถึงเวลานำกระทงไปลอย ณ ท่าน้ำวัดตระพังทอง ชาวสุโขทัยนิยมลอยในวันขึ้น15ค่ำเดือน12 เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์เพื่อมาเยือนสุโขทัยที่ต้องห้ามพลาด



วันที่3 วันนี้ ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย พาผมมาสัมผัสถึงมรดกภูมิปัญญาที่หาชม ทำได้ยากอย่างพระพิมพ์จากมือผมเอง รวมถึงการประดิษฐ์กระทง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของสุโขทัย โดยพรุ่งนี้ ชุมชนจะพาไปชมและเรียนรู้ไฮไลท์คือการวาดลายถ้วยชามสังคโลก ซึ่งถือเป็นศิลปะที่โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย และการชมค้างคาวออกจากปากถ้ำเจ้ารามที่สวยงามด้วย ห้ามพลาดครับ รุ่งอรุณแห่งความสุข @ ชุมชมเมืองเก่าสุโขทัย EP.4 เรียนรู้ลายสังคโลกของดี เร็วๆนี้

บันทึกคนแบกเป้

 วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 22.02 น.

ความคิดเห็น