ตั้งใจจะเขียนรีวิวนี้ตั้งแต่เมื่อคืน เพื่อให้ทุกคนที่อยากเข้าชมพระที่นั่งพิมานปฐมได้ไปในวันนี้ แต่ก็หลับก่อน

ทริปนี้เกิดขึ้นเพราะตื่นเช้า แล้วอยากไปพระราชวังสนามจันทร์ ขาไปเราเลือกนั่งรถตู้ที่ผ่านหน้าซอยบ้าน ขาไปขึ้นรถบางลี่ ลงที่หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว ค่าโดยสาร 50 บาท เดินย้อนมาที่แยกสนามจันทร์ เดินเข้าไปจนสุดจะเจอประตูพระราชวังสนามจันทร์ วันนี้ (31 สิงหาคม 2562) ไม่เสียค่าเข้าชม เข้ามาถึงก็ดูแผนผังของพระราชวังสนามจันทร์ก่อน

ก่อนเริ่มเดินชมก็ค้นหาประวัติพระราชวังสนามจันทร์เพื่อให้เดินชมได้สนุกขึ้น

พระราชวังสนามจันทร์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบริเวณที่เชื่อว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า “เนินปราสาท” เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับเวลาเสด็จมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสำหรับต้านทานข้าศึก ซึ่งจะยกเข้ามาทางน้ำได้อย่างดี ด้วยทรงจดจำเหตุการณ์ เมื่อ ร.ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทยได้ และไม่ต้องการที่จะให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้สำหรับเป็นเมืองหลวงที่สอง หากประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติ พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมีพระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลป์) เป็นแม่งาน สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2450 และได้พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์"

พระราชวังฯ มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ มีอาณาเขตกว้างขวาง ประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่ตรงกลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบ และมีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ รวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวัง

เดินมาเจอเจ้าหน้าที่ของพระราชวังสนามจันทร์ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าวันนี้และพรุ่งนี้ (31 สิงหาคม และ 1 กันยายน 2562) ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ดูแลพระราชวังสนามจันทร์เปิดให้เข้าชมพระที่นั่งพิมานปฐม และจะปิดแบบยังไม่รู้กำหนดเปิด ให้เรารีบไปที่พระที่นั่งพิมานปฐมก่อนแล้วค่อยออกมาดูพระตำหนักอื่นๆ (พระที่นั่งพิมานปฐมเปิดให้เข้าชมถึง 15:00 เท่านั้น) เรารีบเดินมาหน้าพระที่นั่งพิมานปฐม ด้านนอกเจ้าหน้าที่แจ้งว่าถ่ายรูปได้ ส่วนด้านในไม่อนุญาต

พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกในพระราชวังสนามจันทร์ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก ประดับลวดลายไม้ฉลุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ประทับโดยเฉพาะช่วงก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และที่ออกให้ราษฎรเข้าเฝ้ามากกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ภายในพระที่นั่งมีห้องต่างๆ อาทิ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย ห้องภูษา ฯลฯ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) และที่พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์บนแท่นไม้สักมีขนาด 2 เมตร ชื่อว่า “พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย์” ปัจจุบันได้รื้อนำไปตั้งไว้หน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ความพิเศษของพระที่นั่งพิมานปฐม คือ หอพระเจ้า ศาลพระพิฆเนศ และพระปฐมเจดีย์จะอยู่ตรงกัน ตอนยืนมองที่หน้าหอพระก็เห็นตรงกันจริงๆ



ด้านขวาของพระที่นั่งพิมานปฐมจะเป็นพระที่นั่งวัชรีรมยา

พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นตึก 2 ชั้น สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาซ้อน มียอดปราสาทมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีงดงาม มีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ครบถ้วน พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดนครปฐม


เดินต่อมาอีกไม่ไกลจะเป็น เรือนพระธเนศวร เดิมเป็นบ้านพักของ พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) ในสมัยรัชกาลที่ 6 และใช้เป็นบ้านพักของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีผู้พิพากษาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง ตั้งอยู่บนเกาะในลำคูพระราชวังสนามจันทร์ด้านทิศเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 250 ตารางเมตร จัดเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ปานกลาง มีศาลาริมน้ำซึ่งมีสะพานเชื่อมกับตัวเรือน มีลวดลายฉลุตกแต่งแบบเรือนขนมปังขิงที่งดงาม



ตรงข้ามเรือนพระธเนศวร จะเป็นคลังแสง


เดินวนตามถนนภานในพระราชวังสนามจันทร์มาที่ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า เป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ส่วนราชการจังหวัดฯ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้กลางพระราชวังสนามจันทร์ หลังเทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525


เดินวนมาจนถึง พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2451 โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้านของตัวพระตำหนักทั้ง 2 ชั้น จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอแนซ็องส์ของประเทศฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของประเทศอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมมาตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องบันได อีกด้านหนึ่งเป็นห้องเสวยและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนประกอบด้วยทางเดินกลางแบ่งอาคารเป็น 2 ข้าง แต่ละข้างมีห้องใหญ่เป็นห้องบรรทม และห้องเล็กเป็นห้องทรงพระอักษร ล้อมด้วยระเบียงสามด้านยกเว้นด้านหลัง ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง จุดเด่นของพระตำหนักอยู่ที่ป้อมหรือหอคอยที่มุมอาคาร ยอดหลังคาเป็นกรวยแหลม นอกจากนี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบท ลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรป ด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไปพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

ใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์" และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460



เดินทะลุฉนวนทางเดินข้ามคลองภายในพระราชวังสนามจันทร์มาที่พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นเรือนไม้สักทอง 2 ชั้น แบบตะวันตก ทาสีแดง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค พระตำหนักองค์นี้อยู่ด้านหลังพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ สองพระตำหนักเชื่อมต่อถึงกันด้วยสะพานทางเดินทอดยาว หลังคามุงกระเบื้อง ติดหน้าต่างกระจกตลอดความยาวสองด้าน จากชั้นบนด้านหลังพระตำหนักชาลีฯ ข้ามคูน้ำมาเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ราว พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ พระตำหนักทั้งสองหลังสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า “มิตรแท้” โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก ปัจจุบันพระตำหนักนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




เราชอบฉนวนทางเดินระหว่างพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์กับพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์มากๆ เก็บภาพหลายมุมมาก




เดินมาเจอน้องตุ๊ดตู่ (แถวนี้เรียกแบบนี้ เราก็เรียกตาม) กำลังกินอาหารอยู่


ด้านข้างพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์จะเป็น พระตำหนักทับขวัญ

พระตำหนักทับขวัญ เป็นพระตำหนักแบบเรือนไทยภาคกลางหมู่ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมเรือนไทยชั้นครู สร้างด้วยไม้สักทอง ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับบ้านไทยโบราณ นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลป์) พระตำหนักฯ ประกอบด้วยกลุ่มเรือน 8 หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศบนชานรูปสี่เหลี่ยม เรือนหลังใหญ่ 2 หลัง เป็นหอนอน อีก 2 หลัง เป็นเรือนโถงและเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็กอีก 4 หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุมสี่มุม ๆ ละ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้และเรือนเก็บของ เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันทน์แผ่กิ่งก้านไว้ให้ร่มเงา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์


เดินวนมาที่ศาลพระพิฆเนศ

เทวาลัยคเณศร์ หรือเรียกว่า ศาลพระพิฆเนศวร อยู่กลางสนามหญ้าใหญ่ของพระราชวังสนามจันทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเทพารักษ์ขึ้นสำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ประดิษฐานพระพิฆเนศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเมื่อมองจากพระที่นั่งพิมานปฐมจะเห็นพระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์ และพระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ศาลนี้เป็นศูนย์กลางของพระราชวังฯ มีผู้ศรัทธานับถือกันมาก จนถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังสนามจันทร์


เราปิดท้ายที่ พระตำหนักทับแก้ว

พระตำหนักทับแก้ว เป็นตึกหลังเล็ก 2 ชั้น แบบตะวันตก เคยใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว ภายในมีเตาผิงและหลังคามีปล่องไฟตามแบบบ้านตะวันตก ที่ห้องโถงกลางชั้นบน มีหินอ่อนสีขาวบนผนังเหนือเตาผิง มีภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คล้ายเขียนด้วยเส้นดินสอดำ สันนิษฐานว่าเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระตำหนักนี้ยังเคยใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่ากองเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์

ปัจจุบันทางสำนักพระราชวังได้อนุญาตให้สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดแสดงเป็น “พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม” ณ พระตำหนักทับแก้ว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชกรณียกิจด้านกีฬาฟุตบอลในสยาม ที่พระตำหนักทับแก้วสามารถถ่ายภาพด้านในได้




เสื้อเปเล่พร้อมลายเซ็นตอนมาประเทศไทย


ชุดนักฟุตบอลในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นผ้าดิบ ทีมชนะจะได้รับหมวก


ออกจากพระราชวังสนามจันทร์ เดินมาที่พระปฐมเจดีย์ ระยะทางไม่ไกล ไม่มีแดด เดินสบาย


เดินรอบองค์พระปฐมเจดีย์ 1 รอบ







ตอนแรกจะกลับรถไฟ ระหว่างทางเดินไปสถานีก็โดนนกอึใส่ ก้าวขึ้นสถานีปุ๊บรถออกปั๊บเลย สุดท้ายก็ตกรถ


เดินย้อนกลับมาเจอร้านก๋วยเตี๋ยว แวะกินเย็นตาโฟ ชามนี้ 30 บาท เยอะทั้งเส้นและเครื่อง


สุดท้ายเราเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถมินิบัสวิน NK นครปฐมถึง bts บางหว้า ค่าโดยสาร 45 บาท ขอชมรถมินิบัสของวิน NK บนรถแอร์เย็นมากๆ มีจอทีวี มีช่องชาร์จแบบ usb และเข็มขัดนิรภัยที่ใช้ได้จริง





ขอบคุณข้อมูลต่างๆ จากอาจารย์ วิทยากร เจ้าหน้าที่พระราชวังสนามจันทร์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


ติดตามทริปเดินทางอื่นๆ ได้ที่ :

เพจ : ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

IG : prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว



ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 14.33 น.

ความคิดเห็น