ด้วยความโชคดีได้คนในพื้นที่พาเที่ยวด้วยการซ้อนมอเตอร์ไซค์ ทริปเมืองเก่าตะกั่วป่า เรามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมงก่อนต้องเดินทางต่อ น้องที่พาเที่ยวพาแว้นซ์มาในเขตเมืองเก่าท่ามกลางแดดดีๆ

จุดแรกเป็นสะพานเหล็กบุญสูง สะพานเหล็กโคกขนุน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นสะพานข้ามแม่น้ำตะกั่วป่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2511 โดยใช้เหล็กจากเรือขุดแร่ที่หยุดกิจการเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งของเมืองแห่งแร่ที่ตะกั่วป่า สะพานเหล็กแห่งนี้มีความเป็นมาเก่าแก่มากตั้งแต่ในยุคสมัยที่อำเภอตะกั่วป่าเคยรุ่งเรืองในเรื่องการทำเหมืองแร่ดีบุก มีความยาวประมาณ 200 เมตร กว้างพอที่รถมอเตอร์ไซด์สวนกันได้ ฝั่งตรงข้ามของสะพานจะมีเหมืองแร่เก่า ของบริษัทจุติ บุญสูง อาคารที่พักคนงาน อาคารโรงเหล็กและโรงซ่อมบำรุงต่างๆยังคงอยู่มากมาย เสียดายแต่ว่ายุครุ่งเรืองของการทำเหมืองได้ผ่านไปหมดแล้วพร้อมกับราคาแร่ดีบุกที่ตกลง


คีบแตะมา จะกระโดดก็กลัวแตะกระจาย เลยถอดรองเท้าเดินบนพื้นสะพานเหล็กที่ตากแดดมาหลายชั่วโมงแล้ว กระโดดเสร็จก็รีบเดินกลับมาคีบแตะ


ออกจากสะพานเหล็กบุญสูงก็มาต่อกันที่โรงเรียนเต้าหมิง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2465 โดยการเรี่ยไรเงินทุนจากเศรษฐีเหมืองแร่และพ่อค้าชาวจีนในตลาดเก่า ตลาดย่านยาว จังหวัดระนองและภูเก็ตเพื่อให้บุตรหลานของคนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองตะกั่วป่าได้เล่าเรียนหนังสือ โดยจัดให้มีการสอนภาษาจีน ใช้เงินทุนในการปลูกสร้างอาคารประมาณ 20,000 บาท สร้างโดยช่างฝีมือชาวจีน เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม อาคารรูปทรงชิโนโปรตุกีสประยุกต์ หลังคามุงสังกะสี น้องที่พาเที่ยวเรียกที่นี่ว่าตึกเหลือง





ออกจากโรงเรียนเต้าหมิงก็มาที่จวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าและกำแพงค่าย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างขึ้นโดยพระยาเสนานุชิต (นุช) เจ้าเมืองตะกั่วป่า เพื่อล้อมรอบจวนที่พักและเป็นที่อยู่ของครอบครัวเจ้าเมืองและบริวาร มีคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมและโบราณคดีกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน



แว้นซ์มอเตอร์ไซค์กันต่อมาที่ชุมชนที่เป็นถนนคนเดินในวันสุดสัปดาห์




ย่านเก่าเมืองตะกั่วป่า เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ เมืองนี้ที่น่าหลงใหลได้อย่างคาดไม่ถึง สร้างขึ้นมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 500 แรกเริ่มเดิมที่มีชื่อว่าเมืองตกโกล (แปลว่ากระวาน) ต่อมาคำว่า ตกโกล ได้เพี้ยนเป็นตะโกลา และกลายเป็นตะกั่วป่า ในที่สุด เมืองตะกั่วป่านั้นรุ่งเรืองที่สุดในยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู สมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องจากบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ ด้วยแร่ดีบุก จึงทำให้มีคนจีนอพยพเข้ามาทำงานในเหมืองกันเป็นจำนวนมาก และนั่นเองคือจุดกำเนิดของสถาปัตยกรรมผสมผสานกัน ระหว่างตะวันตกและตะวันออกที่เรียกกันว่า “ชิโน-โปรตุกีส” แม้อาจไม่ได้หนาแน่นเท่ากับเมืองภูเก็ต แต่บ้านเรือนของตะกั่วป่าก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยบรรยากาศสงบงามและเรียบง่ายของบ้านเรือนร้านค้า บริเวณถนนอุดมธารา และบริเวณถนนศรีตะกั่วป่า (ตลาดใหญ่) ตึกเหล่านี้มีลักษณะเป็นตึกแถวสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีลวดลายบริเวณช่องลมและระเบียงและมีซุ้มประตูโค้งตามทางเดินด้านหน้า ปัจจุบันธุรกิจเหมืองแร่เลิกร้างไปนานแล้ว แต่ตึกเหล่านี้ก็ยังคงมีผู้คนใช้ชีวิตตามประสา มีรอยยิ้มต้อนรับนักท่องเที่ยว และยังมีลมหายใจที่อบอวล กลิ่นอายวิถีท้องถิ่น เสน่ห์ของที่นี่คือความลงตัวของเมืองเก่าที่อยู่กับวิถีชีวิตปกติในปัจจุบัน วันธรรมดาก็ยังคงมีของขาย Street art เก๋ๆ มึหลายมุมที่ดีมากๆ คงต้องกลับไปนอนค้างที่นี่สักคืน









ก่อนไปกันต่อก็พยายามจะน่ารักแบบใน Street art


จุดต่อมาคือวัดเสนานุชรังสรรค์ ใส่เสื้อไม่เรียบร้อยก็เอาผ้าคลุมแทนแล้วกัน




วัดหน้าเมือง (วัดปทุมธารา) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรม ได้แก่ อุโบสถ และบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นลำน้ำใหญ่ที่ใช้ขนส่งสินค้าและแร่ พบหลักฐานคือหม้อสตีมไอน้ำจมอยู่บริเวณนี้ แสดงให้เห็นความเจริญด้านพาณิชย์ของเมืองตะกั่วป่าในอดีต


วัดพระธาตุคีรีเขต พระอุโบสถทรงสีเหลี่ยมผืนผ้า ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฉาบด้วยปูนขาว เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตอกย้ำความเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ของตะกั่วป่า


เดินเลาะมาเจอบ่อน้ำเก่าของทางวัดด้วย


หมดเวลาที่เมืองเก่าตะกั่วป่าแล้ว น้องพาเรามาส่งที่สถานีขนส่งตะกั่วป่า เราจับรถหวานเย็นไปต่อที่ตรัง



ติดตามทริปเดินทางอื่น ๆ ได้ที่ :

เพจ : ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

IG : prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว




ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันพฤหัสที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 00.09 น.

ความคิดเห็น