ทริปนี้เหมือนมา Slow life ที่ปัตตานี 3 วัน 2 คืน แต่เที่ยวนิดๆ หน่อยๆ เน้นกิน เน้นชิลล์กับน้องที่คุ้นเคยกัน

ออกเดินทางด้วยนกแอร์ ออกจากดอนเมือง 13:25 ด้านบนรอบนี้เราไม่ค่อยโอเคกับแม่-ลูกที่นั่งติดเรา นกแอร์เลือกที่นั่งได้ แต่ไม่เลือก มาร้องโวยวายอยากนั่งริมหน้าต่าง อยากดูวิว แต่พอได้นั่งสมใจกลับปิดม่านหน้าต่าง เราเลยเดินมาถ่ายรูปด้านหลังก็เลยเห็นว่าที่นั่งริมหน้าต่างว่างเยอะมาก

พอถึงหาดใหญ่เราใส่ตีนผีออกจากสนามบินเลย มานั่งรถบัสเข้าเมืองให้เขามาส่งที่สถานีขนส่งเพื่อต่อรถตู้ไปปัตตานี และด้วยความโชคดีมาถึงทันรถตู้คันสุดท้ายและที่นั่งสุดท้ายพอดี มาถึงปัตตานีก็มืดค่ำแล้ว เราขอลงรถที่หอนาฬิกาปัตตานี

รอบนี้น้องที่เราคุ้นเคยชวนนอนพักที่บ้านเลยจะได้ไม่ต้องกังวลว่าเราจะหายออกเดินเที่ยวเองคนเดียวอีก (เหมือนตอนมาปัตตานีครั้งแรก) พอมาถึงบ้านน้องต้อนรับเราด้วยชะนีจากลำพระยา หวานมาก ไม่ชม

เช้าวันรุ่งขึ้นน้องพาเรามากินมื้อเช้าที่ร้านบังหนูด ตรงวงเวียน มอ.ปัตตานี พอชิมเลยรู้ว่าทำไมถึงเป็นเจ้าดังที่นี่ ใครไปใครมาต้องพามากิน อร่อย ราคาไม่แพง

พออิ่มก็ต้องเติมกาแฟ เรามาซื้อแบบนำกลับที่ร้าน All Good Coffee & Bakery พอไม่ได้นั่งที่ร้านก็เลยมีแค่รูปร้าน ไม่มีรูปกาแฟ

จากนั้นเรามุ่งหน้าไปที่เบญจเมธา เซรามิก ตำบลควน อำเภอปะนาเระ พอไปถึงเราก็ได้เจอคุณเอ็มโซเฟียนและคุณแอนนา คุยกันสักพักคุณเอ็มก็ขอตัวเพราะติดธุระที่นัดไว้ในเมือง คุณแอนนาเป็นผู้พาชมโรงงานและเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเบญจเมธาเซรามิกให้ฟัง แล้วก็ปล่อยอิสระให้เราได้เดินชม ถ่ายรูป และเลือกซื้อเซรามิกชิ้นที่โดนใจ คุณแอนนาเล่าว่าดินปัตตานีจะออกเข้มๆ งานที่ออกมาก็จะสีเข้ม ส่วนชิ้นงานที่สีขาวนั้นใช้ดินจากเชียงใหม่ ชิ้นงานก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปัตตานี และสามจังหวัดชายแดนใต้



เราได้ชิ้นนี้กลับบ้าน เราชอบที่แก้วกับที่จับเก๋ดี


ออกมานั่งคุยกับคุณแอนนาด้านนอกก็จะมีฟาร์มเลี้ยงแพะ มีจุดนั่งกินลมชมทุ่งนาด้วย



ออกจากเบณจเมธาเซรามิกก็มาที่มัสยิดกรือเซะ

มารู้จักมัสยิดกรือเซะกันสักนิด

มัสยิดกรือเซะหรือมัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีในจังหวัดปัตตานี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง ช่วงเวลาที่มัสยิดกรือเซะถูกสร้างนั้นยังเป็นที่ถกเถียง บ้างว่าสร้างในรัชสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ บ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยรายาบีรู ส่วนกรณีที่มัสยิดสร้างไม่สำเร็จนั้น ก็มีการยึดโยงกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งมีสุสานอยู่ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ที่ถูกเล่าต่อเติมภายหลังว่าเจ้าแม่ได้สาปให้มัสยิดนี้สร้างไม่สำเร็จ จนกลายเป็นปัญหากินแหนงแคลงใจระหว่างชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ แต่จากการสำรวจและบูรณะของกรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงและขาดความสมดุลจึงทำให้พังทลาย ทั้งยังไม่พบร่องรอยถูกเผาหรือถูกฟ้าผ่าตามตำนานที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะหลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสา ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานาและจะบังติกอตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยราไป

ครั้งนี้เราโชคดีที่เราได้เข้ามาชมด้านในของมัสยิดกรือเซะ เราขออนุญาตก่อนเข้าทุกครั้ง และทุกรอบก็จะแต่งกายเรียบร้อยให้เกียรติสถานที่ ยิ่งต่างความเชื่อ เราต้องยิ่งให้เกียรติกันมากขึ้น เข้ามาด้านในเราไม่ได้เดินไปไหนไกลจากประตูทางเข้านัก เกรงว่าจะไม่เหมาะสม รูปที่ถ่ายก็ขออนุญาตก่อนแล้ว




ออกจากมัสยิดกรือเซะก็มาต่อที่ สะพานไม้บานา “บานา” เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน คำว่า บานา เป็นภาษาเปอร์เซีย ซึ่งมีความหมายว่า เมืองท่าเรือ มีบันทึกไว้ว่า บานา ในอดีตนั้นเป็นเมืองท่าของอาณาจักรมลายูลังกาสุกะฝั่งทะเลตะวันออก และเดดาห์ โดยมีเรือสินค้ามาจอดนับร้อยลำ ความเป็นมาของสะพานไม้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งครอบคลุม 5 พื้นที่คือ บานา ตันหยงลูโล๊ะ แหลมโพธิ์ บาราโหม และบางปู ที่เป็นพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี

วันที่ไปน้ำลดมาก ไม่สามารถออกเรือชมป่าชายเลนได้ ก็เลยกลับเข้าเมืองมากินมื้อเย็นที่ร้านข้าวยำราชา อร่อยทุกอย่างเลย

พออิ่มจากร้านข้าวยำราชาก็มาเดินตลาดเย็น ที่นี่สนุกมาก ขนาดอิ่มๆ ยังได้เนื้อย่างไป 4 ไม้กับไข่นกกระทาทรงเครื่องอีก 1 ไม้

เช้าวันสุดท้ายที่ปัตตานี เจ้าถิ่นพามากินเกาเหลาน้ำข้น อร่อยอีกแล้ว

พออิ่มก็พามาชมมุมที่เจ้าถิ่นชอบ



จากนั้นก็ไปตรงไปที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ มีอาณาเขตอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง คือปัตตานี ยะลา และสงขลา มีเนื้อที่รวม 69.5712 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาใหญ่ และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 110 ของประเทศไทย

พอไปถึงก็ขึ้นจุดชมวิวพระใหญ่ก่อนเลย โทรหารถขึ้นจุดชมวิวที่ติดไว้บริเวณอุทยานฯ แต่ไม่ติด ก็เลยตัดสินใจเดินขึ้นกันเอง ระหว่างทางสนุกมาก คิดถูกที่เดินขึ้น



เดินมาไม่ไกลก็เจอผาพญางู


ไม่นานก็ถึงด้านบนของจุดชมวิวพระใหญ่




เดินย้อนกลับลงมาที่ถ้ำวิปัสสนาเขารังเกียบ



จากนั้นก็เดินลงมาด้านล่างและเข้าชมน้ำตกทรายขาว แต่น้ำน้อยมากๆ


ลงมาเจอพี่คนนี้ไปเก็บสะตอมา อยากกินมาก แต่จะกลับวันนี้แล้วคงอดแน่ๆ


ถึงเวลาต้องออกจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวแล้ว เจ้าถิ่นมายิ้มส่งด้วย น่ารักมาก



ออกมาแวะซื้อหมอนทองทรายขาว พร้อมให้คุณลุงแกะให้เลย ระหว่างรอก็อุดหนุนข้าวซอยคุณป้าด้วย


กลับเข้าเมืองมาก็แวะร้านกาแฟ กาลครั้งหนึ่ง Cafe ร้านนี้ตกแต่งดี มีพรอพให้ถ่ายรูปเยอะมาก กาแฟดี ลาเต้อาร์ทสวย


ทริปนี้เน้นกินของแท้ แวะกินซุปเนื้อร้านริมแม่น้ำปัตตานี


ปิดท้ายทริปนี้ที่ร้าน R.I.P. เราชอบร้านนี้มาก กาแฟดี เป็นแหล่งรวมฮิปสเตอร์และคนเท่ห์ๆ เก่งๆ ของที่นี่


จบทริปนี้ด้วยความประทับใจอีกเช่นเคย มาสามจังหวัดชายแดนใต้ทุกครั้งก็ได้ความประทับใจกลับมาทุกครั้งจริง ๆ


ติดตามทริปเดินทางอื่นๆ ได้ที่ :

เพจ : ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

IG : prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว


ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 02.23 น.

ความคิดเห็น