พระราชวังพญาไท เราอยากเข้าชมนานมากแล้ว แต่ก็พลาดมาจนถึงตอนนี้ที่มีธุระต้องมาโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ เลยได้เข้าชมเป็นครั้งแรก

***ขออนุญาตใช้รูปที่ถ่ายมา อาจถ่ายติดทุกท่านที่ร่วมเข้าชมบ้าง ต้องขออภัยล่วงหน้า***

พระราชวังพญาไท มีประวัติอันยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ เคยเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มจากเป็นโรงนาหลวงอันเป็นที่ทดลองทำนาทำสวน เป็นพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง โฮเต็ลพญาไทจัดเป็นโรงแรมที่หรูหราและได้รับการยกย่องว่า ยอดเยี่ยมที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล มีวงดนตรีสากลชนิดออเคสตร้า 20 คน ใช้นักดนตรีจากกองดุริยางค์ทหารบก บรรเลงให้เต้นรำในวันสุดสัปดาห์ สลับกับคณะโชว์นักร้อง นักแสดงจากยุโรป ที่นี่ยังเป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ในบริเวณโฮเต็ลพญาไท และต่อมาได้เป็นที่ทำการของกองทัพบกด้านการรักษาพยาบาล จนเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 ปัจจุบันพระราชวังพญาไทได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้ผู้สนใจเข้าชม วันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.30 น. วันเสาร์ และวันอาทิตย์ มี 2 รอบ เวลา 09.30 และ 13.30 น. ไม่เสียค่าเข้าชม กรุณาแต่งกายสุภาพ


ระหว่างรอเวลาก็มาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกันก่อน เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในภายหลัง เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์หล่อสำริดทรงยืนตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารเทียบรถพระที่นั่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หล่อขึ้นขนาดเท่าองค์จริงทรงเครื่องยศจอมพลทหารบกประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี


แวะจิบกาแฟและเพิ่มความหวานที่ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านสวยมาก



พอถึงเวลาเข้าชมก็ไปรวมตัวกันที่จุดลงทะเบียน วิทยากรนำชมวังจะเริ่มต้นชมวังที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จมาประทับ ณ วังพญาไท เมื่อ พ.ศ. 2453 โดยยังปรากฏอักษรพระนามาภิไธย สผ (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ลักษณะท้องพระโรงได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซ็นไทน์มีโดมอยู่ตรงกลางรับด้วยหลังคาโค้งประทุน ๔ ด้านบนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา เคยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันธรรมดาใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ที่มาเข้าเฝ้า บางครั้งเป็นโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส



ออกมาฟังบรรยายต่อที่ด้านหน้าพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ วันธรรมดาที่มีผู้เข้าชมเยอะกว่าที่คิดไว้มาก


ต่อมาก็จะชมกันในส่วนของ พระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง เป็นอาคารอิฐ ฉาบปูน สูง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค มีลักษณะพิเศษคือ มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช เจ้าพนักงานจะอัญเชิญธงมหาราช (ธงครุฑ) สู่ยอดเสาขณะที่ประทับอยู่ที่พระราชวัง มีจิตรกรรมสีปูนแห้ง (fresco secco) บนเพดานและบริเวณด้านบนของผนังเขียนเป็นลายเชิงฝ้าเพดานรูปดอกไม้งดงาม บานประตูเป็นไม้สลักลายปิดทองลักษณะศิลปะวิคตอเรียน เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. ๖


ห้องชั้นล่าง เช่น ห้องเสวยร่วมกับฝ่ายใน ห้องรับแขก ห้องพักเครื่อง ฯลฯ มีจิตรกรรมสีปูนแห้งที่น่าชมเช่นกัน ห้องแรกที่วิทยากรนำชมคือ ห้องรับแขก


ห้องถัดมาเป็นห้องพักเครื่อง


และอีกห้องที่เข้ามาฟังวิทยากรไม่ทันว่าห้องอะไร แต่เพดานสวยมาก


ก่อนขึ้นชั้น 2 ด้านล่างของบันไดจะมีลวดลาย เป็นบันไดที่ใช้เสด็จฯ ลงมาห้องรับแขกที่รอเข้าเฝ้าฯ


ขึ้นมาชั้น 2 จะเจอโถง


จากนั้นเข้ามาที่ท้องพระโรงกลาง เป็นห้องเสด็จออกให้เฝ้าส่วนพระองค์ หรือเสวยแบบง่ายๆ ภายในตกแต่งแบบยุโรป มีเตาผิงซึ่งตอนบนประดิษฐาน พระบรมสาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปรานของห้อง ในกรอบที่ประดับด้วยตราจักรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ภายในรูปวงรี และภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎล้อมรอบด้วยพระรัศมี


ห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมห้องสรง ภายในตกแต่งลายเพดานงดงามด้วยจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง เป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธเขียนบนใบลาน และภาพพญามังกร หมายถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา และปีพระราชสมภพ


ห้องทรงพระอักษร เป็นห้องใต้โดมบนชั้นสอง ยังปรากฏตู้หนังสือแบบติดผนัง เป็นตู้สีขาวลายทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. ๖ อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทุกตู้ อยู่ติดกับบันไดเวียน ซึ่งสามารถขึ้นไปยังห้องใต้หลังคาโดมที่ปัจจุบันใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรม รูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


บริเวณโถงทางเดินชั้น 2


เดินต่อขึ้นมาชั้น 3 โถงบันไดก็งดงามอีกเช่นเคย


พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี อาคารมีลักษณะแบบโรมาเนสก์ เดิมเป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐ ฉาบปูน ได้มีการต่อเติมชั้น 3 ขึ้นภายหลัง เพื่อจัดเป็นห้องพระบรรทม

สำหรับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานนี้ เคยเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์ พิธีเปิดสถานีได้กระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าในพระราชพิธีนั้น จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง มีไมโครโฟนตั้งรับกระแสพระราชดำรัสถ่ายทอดไปตามสายเข้าเครื่องส่งที่พญาไท แล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกรที่มีเครื่องรับวิทยุในสมัยนั้นได้รับฟัง


ห้องทรงพระอักษร ที่นี่มีช่องลับสำหรับซ่อนอาวุธด้วย


ด้านนอกจะมีระเบียงสามารถชมโดมได้ใกล้ๆ

ระเบียงนี้ไปด้านบนร้านกาแฟนรสิงห์


ระเบียงทางเดินเชื่อมไปพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เดิมมีนามว่า พระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐ ฉาบปูน มีโดมขนาดเล็ก ลักษณะอาคารเป็นแบบอิงลิช โกธิค มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานจักรีในระดับชั้น 2 ใช้เป็นที่รับรองของเจ้านายฝ่ายใน ที่ฝาผนังตอนใกล้เพดานและเพดาน มีจิตรกรรมลักษณะแบบ อาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้ และที่ห้องสำคัญเป็นภาพชายหญิง และแกะซึ่งเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก


พระตำหนักนี้ไม่ได้เข้าชมที่ห้องไหนเลย อยู่ที่โถง และเปิดห้องนิรภัยเท่านั้น


ลงมาด้านล่างเพื่อจะไปที่พระตำหนักเมขลารูจี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักองค์น้อยขึ้นหนึ่งองค์ที่ริมคลองพญาไทตอนกลาง พระราชทานนามว่า พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในมีภาพเขียนสีลายนก สวยงาม และมีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) แล้ว และได้เสด็จมาประทับอยู่ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2463 เป็นต้นมา


ระหว่างทางไปสวนโรมันจะเจอจุดนี้


สวนโรมัน สันนิษฐานว่าเป็น 1 ใน 3 พระราชอุทยานของพระราชวังพญาไท จัดแต่งสวนแบบเรขาคณิตประกอบด้วยศาลาในสวนซึ่งเป็นศาลาแบบโรมันศาลาทรงกลมต่าง ๆ มีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเทียนขนาบด้วยศาลาแบบโปร่งโล่งไม่มีหลังคาซึ่งกำหนดขอบเขตด้วยเสาแบบเดียวกันกับโดม รองรับคานที่พาดด้านบน ประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมันบริเวณบันไดทางขึ้นซึ่งต่อเนื่องกับด้านหน้าที่มีสระน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับโดม ช่วงนี้กำลังปรับปรุงภูมิทัศน์อยู่ก็เลยถ่ายได้แค่บางจุด


ตลอด 2 ชั่วโมงกับการชมพระราชวังพญาไท สนุกสนาน ได้ความรู้ อยากเชิญชวนทุกคนไปเยี่ยมชมพระราชวังพญาไทกัน


ติดตามทริปเดินทางอื่นๆ ได้ที่ :

เพจ : ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

IG : prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว



ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 04.11 น.

ความคิดเห็น