เมื่อปีก่อน บันทึกท่องเที่ยวในความทรงจำ ได้มีโอกาศไปเที่ยวสะหวันนะเขต สปป.ลาว และได้ไปกราบพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองลาวอีกแห่ง นั้นคือวัดเจติยาราม หรือพระธาตุโพน ตั้งอยู่เมืองไชพูทอง เป็นอีกพระธาตุที่ชาวลาว ให้ความเคารพนับถือกันมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระธาตุอิงฮัง แต่อย่างใด
ในการเดินทางมาในครั้งนี้ ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.มุกดาหาร ซึ่งเมื่อเราขับข้ามเข้ามาสู่ฝั่งลาวแล้ว จะเจอวงเวียนกะปอมยักย์ หรือไดโนเสาร์ ใช้ทางออกด้านขวามือ เพื่อมุ่งสู่พระธาตุโพน เราขับรถผ่านเลี่ยงตัวตลาดสะหวันนะเขตมา ใช้เส้นทาง สาย 9 B จากตัวเมืองมาถึงบ้านหลัก 35 ระยะทางกว่า 35 กม.
จากนั้นเลี้ยวขวามาตามทางอีกประมาณ 15 กม. ถนนตัดผ่านท้องนาไร่ขับมาเรื่อย ๆ ขนถึงเมืองไชพูทอง แล้วขับรถต่อมาอีกเกือบ 20 กม. ก็จะมองเห็นพระธาตุโพนอยู่กลางท้องนา สลับกับต้นตาลตะโนดสูงลิบลิ่ว มองเห็นได้แต่ไกลเลยทีเดียว
พระธาตุโพน ตามที่มีการเขียน ก็มีหลายชื่อเช่น โพน ,โฟน, โผ่น ทราบมาว่า พระธาตุแห่งนี้ เดิมเป็นปราสาท สร้างมาแต่สมัยที่ขอมยังเรืองอำนาจ แผ่อาณาจักรมาถึงแถบนี้ด้วย
มีศิลาจารึกเป็นภาษาลาว ไว้ว่า " พะทาดโผ่น หลือ เจ้าแท่นคำเหลือง เมืองไชพูทอง แขวงสะหวันนะเขต ตั้งอยู่ห่างจากเทสะบานเมืองไชพูทอง 22 กิโลแม็ค ตามเส้นทางเลกที่ 13 ใต้ มุ่งหน้าสู่แขวงจำปาสัก ตามตำนานได้ก่าวไว่ว่า " พะทาด อง นี้ส้างขึ้นในตอนค่ำ ของวันพุด เดือน 12 พส.236
ส้างด้วยหินเข่าจี่หลือ เอิ้นว่า หินหนามหน่อ ก่อเป็นทาดอุโมง (ฮูปโอขว้ำ ) กว้างด้านละ 12 วา สร้างมื้อหนึ่ง กับคืนหนึ่ง ก็สำเล็ดมาถึงปัจจุบันนี้ มีอายุ 2,500 ปี สะนั้นสะถานที่นี่จึงถือเป็นมอละดกตกทอด เป็นสมบัติมิ่งเมืองที่มีค่าสูง โดดเด่นทางด้านวัดทะนะทำอันล่ำค่า และเป็นปะหวัดสาด ซึ่งติดพันกับแบบแผนดำลงชีวิตของปะชาชนลาว บันดาเผ่ามาแต่ดึกดำบัน และยังเป็นสะถานที่ท่องเที่ยว ทางด้านวัดทะนะทำที่สำคัน และมีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของสะหวันนะเขต.
นั้นก็เป็นคำจากรึก ที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของพะทาดโพ่น แห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ชาวบ้านทั้งชาวลาว จะนับถือกันมาก ตลอดจนชาวไทย ที่ได้เข้ามากราบไหว้ขอพร มักได้รับพรสมมุ่งมาดปรารถนาทุกคน
ในพื้นที่ของวัด ตลอดจนรอบบริเวณ โดยทั่วไป จะเห็นต้นตาลขนาดใหญ่ อยู่ทั่วไป และภายในบริเวณวัด ก็จะมีชาวบ้านนำ น้ำตาลก้อน ที่ทำจากตาลตะโนดมาเคี่ยวจนเป็นก้อน นำมาขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวกราบขอพรกันยัง บริเวณวัดนั้นเอง
ทางด้านขวามือ ของวัดพระทาดโพน ยังมีสระน้ำ ที่เชื่อว่าเป็นสระน้ำอะโนดาด ที่กว้างใหญ่ กินพื้นที่อาณาบริเวณของวัดหลายสิบกว่าไร่ มีต้นมะพร้าวปลูกไว้โดยรอบ และมีความสงบร่มเย็นพอสมควร
ที่พระธาตุโพน ในแต่ละวันจะมีชาวบ้าน ทั่วทุกแห่งหน ที่นับถือและมีความเชื่อมั่นในพุทธานุภาพของ องค์พระธาตุ โพ่น ว่าเมื่อมาบนบานศาลกล่าว ขอให้ทั้งงานการในหน้าที่สำเร็จ ตลอดสิ่งติดขัดในชีวิตให้หมดไป ให้ชีวิตมีความสะดวก คล่องตัวทั้งในการงาน การเงิน เมื่อมาขอแล้วมักได้ดังที่ขอ และเมื่อสำเร็จจากพร ที่ขอแล้ว เมื่อมีเวลาและโอกาศ ก็จะพากันมาแก้บน กับพระธาตุโผ่น อีกทีหนึ่ง
ซึ่งที่นี้ มักนิยมบูชาพระธาตุโพน ด้วยขันหมากเบง ซึ่งทำมาจากใบตองกล้วย ทำเป็นรูปกรวยเล็ก ๆ หลาย ๆ อันเสียบติดกันเป็นกรวยกลม แล้วแซมด้วยดอกไม้หลากสี และธูปเทียนขันห้า ใส่มาในพานบ้าง หรือ ทำเป็นกรวยคู่ มีดอกไม้ธูปเทียนเสียบไว้โดยรอบ นำมาบูชา จะเป็นการบนบาน หรือ การแก้บนก็จะใช้ขันหมากเบ็ง ในการบูชา ที่พระธาตุโพนแห่งนี้ทุกครั้ง
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุโพนนี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวลาวเอง หรือว่าชาวไทย ตลอดจน ชาวลาวผู้อพยพไปอยู่ต่างแดนทำมาหากิน เมื่อทำมาค้าขึ้นกิจการเจริญรุ่งเรือง ตามที่ได้เคยมาขอพร ก็จะไ้ด้เห็นผู้คน ที่พากันมาไหว้กราบขอพรแก้บน ในแต่ละวันอยู่เป็นอันมากแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน
ความงดงาม ของวัดวา และความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรอบ และประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ยังสืบทอดรักษา มาได้อย่างโบร่ำโบราณ ในทุกวันนี้ ทางวัดของที่นี่ ก็ยังสืบสานอนุรักษ์ วัฒนธรรมอันดีงามของชาวลาวไว้ได้อย่างเหนียวแน่น การไหว้พระสวดมนต์ การทำพิธีกรรมของที่นี่ ก็ยังมีมนต์ขลัง อย่างในอดีต
บันทึกเที่ยวในความทรงจำ มีความประทับใจ ในการได้มาเที่ยวชม และดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทางฝั่งนี้ และกราบไหว้ ขอพรพระทาดโพน ในครั้งนี้ จึงขอบันทึกเรื่องราวและความเป็นมาต่าง ๆ ไว้ให้อยู่ในความทรงจำของผู้เขียน ตลอดไป ..
โดย.ณ วงเดือน
วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 21.47 น.