เที่ยวพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สัมผัสวัฒนธรรมชวาผ่านนิทรรศการผ้าบาติกที่รัชกาลที่ 5 ทรงสะสม

นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา สัมผัสวัฒนธรรมชวาผ่านผ้าบาติก งานหัตถ์ศิลป์อันเลื่องชื่อ พร้อมชมผ้าบาติกทรงสะสมที่หาชมได้ยาก 

  • พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  • Google map: https://goo.gl/maps/yWrKstAFgg... หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ
  • วันที่ 24 มกราคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2563
  • เวลา 9.00 - 16.30 น.
  • ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 150 บาท, ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 80 บาท, นักเรียน นักศึกษา เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท, เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี 
  • Website: www.qsmtthailand.org

วันนี้ Pira Story ขอพาทุกคนไปชมผ้าบาติกสวยๆ ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงสะสม จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวา ซึ่งแต่ละผืนบ่งบอกถึงวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ของชวาในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทรงคุณค่า ถ้าพร้อมกันแล้ว ตามพิระไปชมเรื่องราวของผ้าแต่ละผืนกันค่ะ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ เยือนชวา 3 ครั้ง และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกและเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งสิ้นกว่า 300 ผืน

นิทรรศการนี้จึงรวบรวมผ้าบาติกหายากเหล่านั้นมาแบ่งจัดเป็นนิทรรศการทั้งหมด 3 รอบ โดยนิทรรศการที่ Pira Story พาไปชมในครั้งนี้คือนิทรรศการรอบที่ 2 ค่ะ ส่วนนิทรรศการรอบที่ 3 จะจัดในเดือนกันยายน 2563 นี้ค่ะ

ในปี พ.ศ.2563 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่นิทรรศการนี้เกิดขึ้นค่ะ

เริ่มกันที่ห้องแรก เป็นห้องที่รวบรวมผ้าบาติกจากชงาตะวันตก และชวากลาง
ตู้ตรงกลางห้อง จัดแสดงผ้าบาติกจากลาเซ็ม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแร่ธาตุในน้ำตามธรรมชาติแตกต่างจากพื้นที่อื่นของชวา จึงทำให้ผ้าบาติกของพื้นที่นี้มีสีแดงเข้ม สวยแตกต่างจากผ้าบาติกที่ย้อมในพื้นที่อื่น

ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้ ที่อยากแนะนำให้แวะมาชมกัน คือ ผ้าบาติกลายมิกาโด จากเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบญี่ปุ่นโดยนำเอาพัดญี่ปุ่นรูปแบบต่าง ๆ มาเขียนลงบนผ้าบาติกได้อย่างสวยงาม

ซูมดูลายพัดญี่ปุ่นบนผ้าบาติกลายมิกาโดกันแบบใกล้ๆ จะเห็นว่ามีพัดหลากหลายรูปแบบ ไม่ซ้ำกันค่ะ

ผ้าผืนพิเศษอีกผืนที่นำมาจัดแสดงในงานนี้ คือ ผ้าโพกศีรษะเขียนทอง (ปราดา) สันนิษฐานว่า มาจากเมืองจิเรบอน ชวาตะวันตก ใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า

ที่สำคัญคือ พบผ้าปราดาแบบนี้เพียงผืนเดียว จากผ้าทรงสะสมทั้งหมด 307 ผืนค่ะ หายากมากๆ อย่าลืมแวะมาชมกันนะคะ

ซูมดูลายบนผ้าโพกศีรษะเขียนทอง (ปราดา) กันแบบชัดๆ ลายเส้นคมกริบ ละเอียดมากค่ะ

ที่ชายผ้าโพกศีรษะเขียนทอง (ปราดา) จะมีแถบข้อความแบบนี้ติดอยู่ ซึ่งเป็นแถบดั้งเดิมที่ทางพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์เอาไว้

ด้านล่างนี้คือ ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) ลายสิริกิติ์ ลายผ้าแบบนี้เป็นลายผ้าที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่เสด็จไปเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นลายพิเศษที่ออกแบบให้โดยเฉพาะ โดยจะเน้นลวดลายดอกไม้ที่สื่อถึงความงดงามค่ะ



ไทยและชวามีความเชื่อทางศาสนาบางประการที่คล้ายคลึงกัน อย่างในภาพด้านล่างนี้คือผ้าที่ทำลวดลายเป็นรูปเขาพระสุเมรุตามสไตล์แบบชวา

ด้านล่างนี้คือลายสับปะรด น่ารักจังค่ะ

นายพรานที่กำลังซุ่มยิงสิงโต โดยรอบๆ มีทั้งช้างที่ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ และนกเกาะอยู่บนกิ่งไม้

ลายผ้าบาติกที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมจีนให้เข้ากันอย่างลงตัว

อย่างภาพนี้ คือ ภาพคนที่ผ่านการสอบจอหงวน (สอบราชการ) กำลังขี่ม้ากลับบ้าน พร้อมกับโบกมือแสดงความยินดีที่สอบผ่าน

ผ้าผืนนี้จึงหมายถึง การอวยพรให้ลูกชายประสบความสำเร็จ

ผ้าบาติกโทนสีน้ำเงินขาว ใช้สำหรับไว้ทุกข์ในโอกาสต่าง ๆ
ผ้าผืนนี้สันนิษฐานว่าเป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้าสาว ในคืนสุดท้ายก่อนที่จะย้ายไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวค่ะ

ผืนนี้เป็นผ้าบาติกที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมแบบตะวันตก โดยเลือกใช้งานศิลปะในช่วงปลายยุควิคตอเรียกับศิลปะแบบอาร์ตนูโว ออกมาเป็นลายช่อดอกไม้ กามเทพ และนก ที่อ่อนหวานน่ารัก เป็นเอกลักษณ์ของโรงเขียนผ้า เจ. เอ. เอฟ. ยานส์

โดยคุณยานส์เป็นเจ้าของโรงเขียนผ้าแห่งแรกๆ ที่มีการเซ็นชื่อตัวเองลงบนผ้า เพื่อเป็นการระบุชื่อผูผลิตค่ะ ^_^

ลายหวานๆ เป็นเอกลักษณ์จากโรงเขียนผ้าของคุณ เจ. เอ. เอฟ. ยานส์

ซูมดูลายกันค่ะ สวยหวาน น่ารักมาก

ผ้าย้อมด้วยสีแดงเพียงสีเดียวจากลาเซ็ม ที่ตกแต่งด้วยลายสัตว์ทะเลต่างๆ เช่น ปลามังกร กุ้ง และปู รายล้อมด้วยสาหร่ายทะเลที่มีลักษณะคล้ายตะขาบ

ความพิเศษของผ้าผืนนี้ คือ จุดสีแดงเล็กๆ ละเอียดที่กระจายอยู่ทั่วผืนผ้า เกิดจากการใช้อุปกรณ์คล้ายเข็มค่อยๆ จุดลงบนผ้าบาติกที่ลงขี้ผึ้งเอาไว้แล้ว เพื่อให้สีย้อมสามารถแทรกลงไปตามรูเล็กๆ เหล่านี้ได้ จนเกิดเป็นลายจุดละเอียดทั่วทั้งผืน

วิดีโออธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติกแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย

สำหรับใครที่ชื่นชอบความสวยงาม และเรื่องราวที่น่าสนใจของผ้าแต่ละผืน พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวบรวมลายผ้าทั้ง 307 ผืน พร้อมข้อมูลอย่างละเอียดเอาไว้ในหนังสือ "ผ้าบาติก ในพระปิยมหาราช สายสัมพันธ์สยามและชวา"
สามารถเลือกชมได้ที่ร้านพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างค่ะ มีทั้งปกกระดาษและปกผ้า ขอบอกว่าสวยงาม ทรงคุณค่า น่าสะสมทั้งสองเวอร์ชั่นเลยค่ะ

ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบค่ะ หวังว่าทุกคนจะรักผ้าบาติกอันทรงคุณค่าเหล่านี้เหมือนที่Pira Story ประทับใจนะคะ ขอบคุณค่ะ

------------------------------------
ติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PiraPiraStory/
Twitter: https://twitter.com/PiraPira_Story
Instagram: https://www.instagram.com/pirapirastory/
Blog: https://pirastory.com/

Pira Story

 วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 10.44 น.

ความคิดเห็น