งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งที่ 33 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ พระรายณ์ราชนิเวศน์และโบราณสถานโดยรอบ เป็นอีกปีที่ได้มา เราเลือกเดินทางด้วยรถไฟที่สถานีรถไฟกรุงเทพ

เดินทางด้วยรถธรรมดา ขบวน 201 ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 9:25 ค่าโดยสาร 28 บาท ระหว่างทางก็จะสนุกสนานไปด้วยวิวข้างทางและเสน่ห์จากการขายของบนรถไฟ

ออกจากสถานีกรุงเทพล่าช้าก็เลยมาถึงสถานีลพบุรีล่าช้ากว่ากำหนดพอสมควร ลงรถไฟมาเราก็ข้ามถนนมาที่วัดพระศรีมหาธาตุก่อนเลย แดดดีๆ แบบนี้ไม่มีคนเลย

วัดแห่งนี้สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจคือศาลาเปลื้องเครื่อง เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนา นอกจากนั้นยังมีวิหารหลวงซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่ ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิค ด้านทิศใต้ของวิหารหลวง เป็นพระอุโบสถขนาดย่อมประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด และพระปรางค์องค์ใหญ่ ที่สร้างเป็นพุทธเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน ซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่ เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่งดงามมาก เดิมคาดว่าสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมเรื่อยมา ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย

ออกจากวัดพระศรีมหาธาตุเดินต่อมาที่สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี เราชอบตัวอาคารมาก ก่อนจะถ่ายรูปเราขออนุญาตเจ้าหน้าที่แล้ว

เดินต่อมาเจอร้านผัดไทยนายยอด เห็นน้องๆ นักเรียนกินกันเยอะก็เลยกินตาม จานละ 20 บาท

พออิ่มก็ออกมาซื้อเสื้อเปลี่ยนและตรงมาที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมแสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่งของเมืองลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พื้นที่ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น ๓ เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี โดยช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาลี ใช้สำหรับเป็นที่ประทับพักพระอิริยาบถ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง

รอบก่อนที่มาเราได้เข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ครบถ้วนแล้ว ตามไปอ่านที่รีวิวเก่าได้ https://th.readme.me/p/15227 รอบนี้เวลามีน้อย (ไม่ได้ค้างคืน) เราก็เลยเลือกไปจุดอื่นที่ยังไม่ได้ไปรอบก่อน เดินอ้อมวังมาที่วัดเชิงท่า เป็นวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีฝั่งตะวันออก วัดเชิงท่าจึงมีอายุนานไม่น้อยกว่าสามร้อยปี กล่าวกันว่าเดิมชื่อวัดท่าเกวียนด้วยเป็นท่าของเกวียนลำเลียงสินค้าขนลงมาที่ท่าน้ำในบริเวณวัดแห่งนี้ ก่อนที่จะลำเลียงลงเรือส่งไปยังที่อื่นๆพื้นที่ของวัดเชิงท่าตั้งขวางหน้าพระราชวังคือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ด้านที่หันหน้าสู่แม่น้ำ ลพบุรีเกือบครึ่งด้าน จึงชวนให้สันนิษฐานว่า วัดเชิงท่าน่าจะสร้างก่อนพระราชวัง และนับได้ว่าวัดเชิงท่า จึงเป็นวัดที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมแห่งหนึ่งที่เชิดหน้าชูตา สร้างความงามสง่าทางศิลปวัฒนธรรมให้กับจังหวัดลพบุรีมาโดยตลอด

ออกจากวัดก็ตรงมาที่บันได 51 ขั้น เส้นทางเสด็จ "ขุนหลวงนารายณ์" จากอโยธยาสู่กรุงละโว้ เป็นบันไดโบราณที่สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมระหว่างท่าน้ำกับพระราชวัง

เดินขึ้นเดินลงนับขั้นไปด้วยจะพอใจก็ลงมาที่ศาลาท่าน้ำ และสะพานนารายณ์ ศาลาท่าน้ำ
ศาลาท่าน้ำ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ผนังเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้ทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว หลังคาด้านหน้าเป็นทรงจั่ว หน้าบันเป็นไม้แผ่นตีชนตามแนวนอน ประดับด้วยไม้แกะสลักรูปโล่และลูกศร หน้าจั่วและชายคารอบอาคารประดับด้วยไม้กลึงและไม้แผ่นฉลุลายเครือเถา ฝ้เพดานทั้หมดเป็นไม้แผ่นตีตามความยาวของอาคาร ประดับด้วยไม้แผ่นฉลุลายเต็มทุกช่องเสา พื้นอาคารเป็นไม้เนื้อแข็งตีชนแน่นสนิท ส่วนด้านข้างและด้านหน้าระหว่างช่องเสาทำราวลูกกรงไม้ ด้านที่หันสู่แม่น้ำมีระเบียงทางเดินและบันไดไม้ทอดลงสู่แม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันศาลาท่าน้ำแห่งนี้เป็นศาลาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมหลังจากที่ศลาหลังเดิมถูกเพลิงไหม้จนตัวอาคารเสียหายทั้งหมดเหลือเพียงเสา ราวระเบียงทางเดินและบันไดไม้ที่ลงสู่ท่าน้ำเท่านั้น

เดินอ้อมมาอีกฝั่งของวังมาที่ ศาลลูกศร หรือ ลูกศรพระราม เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองลพบุรี และสถานที่แห่งนี้อาจจะเป็นศาลหลักเมืองลพบุรีก็ได้ ซึ่งภายในศาลแห่งนี้ จะมีหินสีดำ ที่แช่ในน้ำไว้ตลอด ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นศรของพระรามที่ตกลงมา ซึ่งก้อนหินนี้ เมื่อน้ำที่อยู่รอบก้อนหินนี้แห้งไป ก็จะเกิดไฟไหม้ในลพบุรี

ใกล้ๆ กันจะเป็น บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต ตั้งอยู่ทางเหนือของวังนารายณ์ราชนิเวศน์ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2228 เพื่อใช้รับรองราชทูตชาวตะวันตกที่มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานที่พักอาศัยนี้ให้แก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายกชาวตะวันตกในราชสำนักสยาม ณ เวลานั้น บ้านหลวงรับราชทูตแบ่งได้ 3 ส่วน ด้านตะวันออกเป็นบ้านพักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส ส่วนด้านตะวันตกเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ขุนนางชาวกรีก และท้าวทองกีบม้า ภรรยา ส่วนกลางเป็นที่ตั้งของโบสถ์ของคริสต์ศาสนา ที่สถาปัตยกรรมเป็นแบบเรอเนสซองส์ ผสมสถาปัตยกรรมไทย แห่งแรกของไทย และของโลก

เดินต่อมาที่ เทวสถานปรางค์แขก หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปรางค์แขก” ตั้งอยู่บริเวณแยกถนนวิชาเยนทร์กับถนนสุระสงคราม เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ปรางค์แขก เป็นปรางค์ที่ก่อด้วยอิฐ มีจำนวน 3 องค์ แต่ไม่มีฉนวนเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด ปรางค์ทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นๆ ปรางค์แต่ละองค์มีประตูทางเข้าเพียงประตูเดียว มีลักษณะโค้งแหลม ส่วนที่เหลืออีก 3 ประตูนั้นเป็นประตูหลอกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อความสวยงามแต่เดิมนั้นตัวเทวสถานสร้างขึ้นด้วยอิฐไม่สอปูนและคาดว่าคงพังทลายลง กระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงได้มีการปฏิสังขรณ์ปรางค์ทั้ง 3 องค์ขึ้นใหม่ในรูปแบบถืออิฐสอปูน และได้สร้างอาคารขึ้นอีก 2 หลัง คือ วิหารที่อยู่ด้านหน้าเทวสถาน และถังเก็บน้ำประปาที่อยู่ทางทิศใต้ ซึ่งอาคารทั้งสองมีลักษณะศิลปะแบบไทยผสมยุโรป 

เดินย้อนเข้ามาที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เก็บภาพอีกครั้ง

ยังเหลือเวลาอีก 1 ชั่วโมงจะถึงเวลารถไฟกลับกรุงเทพฯ ก็เลยเดินต่อมาที่ พระปรางค์สามยอด เป็นโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทขอมในศิลปะบายน (พ.ศ. 1720 - 1773) โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรขะแมร์ แต่เดิมภายในปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปพระโลเกศวร (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สี่กร และปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกร

ข้ามถนนฝ่ารถและฝูงลิงมาที่ศาลพระกาฬ

ได้เวลาไปรอรถไฟกลับกรุงเทพฯ แล้ว ขากลับเป็นรถธรรมดา ขบวน 210 ออกมาจากสถานีรถไฟลพบุรี เวลา 17:32 ขากลับก่อนแสงหมดและหมดแรง

 

ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 04.08 น.

ความคิดเห็น