ไปภูฏาน ไปทำอะไรดีน้า

นั่งเครื่องบินชมหิมาลัย ชิมอาหารสไตล์ภูฏาน ชิม Ara ในฤดูเก็บเกี่ยว ชิมชาเนย (อันนี้แทบบ้วนทิ้ง)         พาชิมลูกอมแห่งความศรัทธา นั่งรถหัวสั่นหัวคลอนไปชีเรล่าพาส ดื่มน้ำมนต์หลวงพ่อที่เมืองฮา แช่บ่อน้ำร้อนแบบภูฏาน นั่งชมทุ่งนา สูดอากาศบริสุทธิ์ เปิดเพลงคลอเบาๆ มีความสุขง่ายๆนี้แหละความสุขที่แท้จริง

รายละเอียดทริป เรื่องตั๋วเครื่องบิน ฤดูกาล อาหาร ซิมโทรศัพท์ การแลกเงิน                                    รวบรวมไว้อยู่ด้านล่างสุดนะคะ

ภูฏานเป็นเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา และเป็นหนึ่งในประเทศที่มักนิยมแขวนธงมนต์ไว้ตามช่องลมเพราะมีความเชื่อว่าเมื่อลมพัดผ่าน สายลมจะนำพรจากธงมนต์สู่ผู้คน

ภูฏาน (พู-ตาน) เป็นหนึ่งในประเทศในฝันของเราค่ะ เป็นประเทศเล็กๆใช้ชีวิตในความเรียบง่าย ประชาชนมีความสุข การเดินทางไปภูฏานในครั้งนี้ เราตั้งใจจะไปหาความหมายของชีวิต อยากรู้ว่าประชาชนเขาอยู่ได้อย่างไรโดยไม่พึ่งเทคโนโลยี ไม่ยึดติดความเจริญ แต่คนกลับมีความสุข

และเพื่อที่จะได้สัมผัสภูฏานอย่างเต็มที่ เราเลยเลือกที่จะไปแบบ Private Tour ไปคนเดียวก็ได้ หรือถ้าจะไปกันเยอะ ราคาจะลดมาอีก ถามว่าแพงไหม เล่นใหญ่ใจต้องนิ่งค่ะถ้ามองว่าภูฏานเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียคือแพงมาก แพงตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน ค่าเหยียบแผ่นดิน ยิ่งอยู่นานราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามนั้น ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 250 USD/วัน และการจะไปภูฏานได้ ต้องไปกับทัวร์เท่านั้นนะ หรือถ้ามีคนรู้จักอยู่ภูฏานก็เป็นอีก 1 ในทางเลือกค่ะ

Private tour ที่เราซื้อมา รวมค่าอะไรแล้วบ้าง

  • ค่าเครื่องบิน
  • ค่าโรงแรม
  • ค่ารถ ค่าน้ำมัน
  • ค่าไกด์และคนขับรถ (ไม่รวมทิป)
  • ค่าอาหารทุกมื้อ
  • มีให้แต่งกายชุดประจำชาติ
  • ค่าวีซ่า
  • ค่าเหยียบแผ่นดิน
  • ค่าภาษี สนามบินและน้ำมัน
  • ค่าประกันการเดินทางและค่ารักษาพยาบาล

จ่ายทีเดียว จบ ครบ ปัง ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สถานที่ท่องเที่ยวในภูฏานเราเลือกได้นะคะ ว่าจะไปอะไรที่ไหน แต่จะได้ไหมคืออีกเรื่องนะ 5555555555

ตอนนั่งเครื่องบินไปภูฏาน จะเห็นเทือกเขาหิมาลัยด้วยนะ อยากเห็นหิมาลัย ขาไปให้จองฝั่งซ้ายติดหน้าต่าง ขากลับนั่งฝั่งขวา ขาไปทุกคนตื่นเต้นมาก ตอนหิมาลัยเริ่มโผล่ คนกรูมาฝั่งซ้ายเกือบหมด ผู้คนพูดคุยกันอย่างตื่นเต้น เรากำลังงัวเงียจากการนอน เปิดหน้าต่างเครื่องบินเห็นเทือกเขาหิมะสีขาว ขนาดใหญ่ โผล่ออกมาทักทาย จากที่เห็นไกลๆลิบๆเมื่อเครื่องบินผ่าน จะเห็นชัดขึ้น ชัดขึ้น จนกระทั่ง

โชคดีที่วันนี้แดดออก ทำให้เห็นหิมาลัยชัดและเป็นการเห็นครั้งแรกที่ประทับใจมาก รู้สึกว่ายิ่งใหญ่มากจริงๆนั่งมองเทือกเขายังไม่ทันลับสายตา กัปตันประกาศให้กลับไปนั่งที่เพราะกำลังจะนำเครื่องลง เครื่องบินเริ่มลดระดับ มองออกนอกหน้าต่างไปยังไม่เห็นพื้นราบ มีแต่ภูเขาล้อมรอบเต็มไปหมด

กัปตันนำเครื่องเลี้ยวโค้ง หลบภูเขา ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก หักซ้าย หักขวา เฉียดภูเขาอยู่ไม่กี่ที เครื่องบินก็ลงจอดอย่างปลอดภัย สนามบินแห่งชาติพาโรติดอันดับ 1 ใน 10 ในการนำเครื่องบินขึ้นและลงจอดยากที่สุดในโลก เนื่องจากอยู่ในหุบเขาและรันเวย์ค่อนข้างสั้น จึงต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ และมีนักบินเพียงไม่กี่คนที่มีใบอนุญาตในการนำเครื่องลงจอดสนามบินแห่งนี้ จะขึ้นลงได้ตอนที่มีแสงสว่างเท่านั้น ค่าชำนาญการนี้ เราเต็มใจจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเลยละ

ออกจากเครื่องบินปุบ สัมผัสได้ถึงอากาศเย็นและสดชื่น แดดดี ตาหยีไปหมด พอรับกระเป๋าเสร็จ เดินออกจากสนามบิน เห็นไกด์โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายใส่ชุดประจำชาติ ชูป้ายชื่อลูกค้า รอรับลูกค้าตัวเองอยู่ ทุกคนหาเจอไกด์ของตัวเอง แล้วก็ทยอยเดินออก ยกเว้นเรา ไม่มีป้าย เดินไปถาม 3-4 คน แต่เค้าก็บอกว่าไม่ใช่ ใจเริ่มแป้ว กลุ่มคนที่อยู่กันเมื่อกี้ เริ่มหายหมดแล้ว เรายังคงเคว้งคว้างอยู่ ไกด์คนอื่นๆคงเห็นว่ามีผู้หญิงทำหน้าเหว๋ออยู่ ไม่ไปไหนสักที เลยเข้ามาช่วย ถามว่าจองกับทัวร์ไหนแล้วเค้าก็ไปตามให้ และแล้วคนขับก็โผล่มา พาไปที่รถ รถก็หน้าตาใช้ได้ แต่ไกด์ยังไม่มา คนขับบอกไกด์ติดธุระ เดี๋ยวตามมา ผมจะพาคุณเข้าไปในเมืองก่อน แล้วก็น่าจะโทรหาไกด์ขับจนมาถึงในเมือง โทรตาม 2-3 รอบก็ยังไม่มา คนขับเลยจะพาไปจิบชาเพื่อรอไกด์ ถามเท่าไรก็บอกว่าติดธุระ จะเป็นไปได้ยังงัย ในเมื่อซื้อทัวร์มาแล้ว กำหนดคนไว้แล้ว พอถึงเวลาก็ไม่ไปรับ แถมยังต้องมานั่งจิบชารอ คืออะไร ดีที่ระหว่างทางที่เดินขึ้นตึก ไกด์ก็โผล่มา รอดไป กะนึกว่าจะโดนเล่นซะละ เค้าก็ขอโทษนะที่มาช้า เค้าบอกว่าติดธุระ ติดลูกค้ากลุ่มอื่น แต่ช่างเถอะ มาเที่ยว ไม่อยากหงุดหงิดเป็นการต้อนรับอย่างอบอุ่น แบบอุ่นจากร้อนนนนเลยละ 55555

วันแรกเริ่มเที่ยวในพาโรก่อนที่แรกที่ไปคือ

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน Ta Dzong

ป้อมตาซอง ข้างในพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมศิลปะ หน้ากาก ภาพถ่าย ของมีค่าของภูฏาน อาคารนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมปรับปรุง แต่มีอาคารอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้า ห้ามเอาประเป๋าเข้า ต้องฝากไว้ล๊อคเกอร์

Paro Dzong

ป้อมปราการในพาโร สวยงามตามสถาปัตยกรรมภูฏาน เป็นแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย เป็นเอกลักษณ์มาก สถาปัตยกรรมเก่าแก่ของภูฏานไม่ว่าจะเป็นสะพานไม้ ป้อมปราการใหญ่ๆ ถูกสร้างโดยใช่ตะปูเลย จะใช้วิธีประสานข้อต่อไม้ ถามไกด์แล้ว เค้าบอกว่าก่อนซ่อมน่ะใช่ แต่ตอนนี้ก็มีใช้บ้าง เวลาเข้าซอง คนภูฏานต้องแต่งชุดเรียบร้อย ขนาดชุดโคของผู้ชาย คลุมทั้งตัวอยู่แล้ว ยังต้องใส่ผ้าคลุม เอาเชือกมาคล้องตรงนิ้ว มาคล้อง 3 เส้น พับ พัน เป็นแบบที่ไกด์ใส่ สำหรับชาวต่างชาติ เค้าไม่ได้บังคับค่ะ แค่แต่งตัวให้รัดกุมก็เพียงพอแล้ว

เรามาวันหลังจัดระบำหน้ากากเซซูพึ่งเสร็จ นั่งร้านยังอยู่บางส่วน ส่วนคนก็ช่วยกันความสะอาด ถึงกับแคะพื้นเลย เค้ารักประเทศเค้ามากนะ


Chele la pass

ช่วงบ่ายไปต่อกันที่ Chele la pass ความสูงระดับน้ำทะเล 3988 อยู่ในเมืองฮา (Haa) เมืองฮาเป็นเมืองเล็กในหุบเขา อยู่ใกล้กับพาโร คำว่าฮา แปลว่า ลึกลับ ซ่อนเร้น จากพาโรบรรยากาศสบาย แสงแดดอ่อนๆ ลมเย็นตีหน้า (เปิดกระจกรถ) ชิลได้ไม่ถึง 20 นาที รถเริ่มโยก หัวสั่นหัวคลอน ถนนลูกรัง ฝุ่นเข้าหน้า ทั้งโค้งทั้งขรุขระ โค้งแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่หลบไป เส้นพาโร-ฮา โค้งปราบเซียน คนขับเป็นวัยรุ่น ขับได้เหวี่ยงมาก เราต้องเอาหัวล๊อคกับที่นั่ง เพื่อไม่ให้ขยับมาก เปิดหน้าต่างรถลงจนสุดแล้วสูดหายใจเข้าลึกๆ อยู่หลายที หลับก็แล้ว อะไรก็แล้ว ก็ยังไม่ถึง 

อันนี้เป็นเส้นทางนะ เส้นทางนี้แค่ 65 กม แต่ใช้เวลาจริงเกือบ 2 ชม. กว่าจะถึง Chele la pass ยังไม่ถึงเมือง Haa เลย นับถือใจคนทำถนน

เมื่อถึงจุดชมวิวชีเลล่าพาส ด้วยความสูง 3988 อากาศข้างบนหนาวมาก ลมก็แรงมากเช่นเดียวกัน ถ้าใครแพ้ความสูง อย่าทำอะไรเร็วนะคะ เดินช้าๆ ดื่มน้ำเยอะๆ ไม่อย่างนั้นจะมีผลกระทบกับร่างกาย ตามแนวเขามีธงมนต์ปักตามทางยาว ผ่านเขาลูกแล้วลูกเล่า จนสุดสายตา ถ้าเป็นวันที่ไม่มีเมฆบัง ในจุดนี้จะเห็นยอดเขาจูโมลฮารี (Jamolhari) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกด้วยความสูง 7135 อยู่ข้างหน้า จูโมลฮารีเป็นหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย และเป็นเทือกเขาแห่งพระเจ้าของภูฏาน แต่วันนี้ เมฆบังค่ะ ไม่บังนิดเดียวนะ บังมิดเลย เหลือยอดโผล่พ้นขอบเมฆมานิดเดียว

จงหายอดเขาจากรูปถ่ายใบนี้ เห็นยอดไหมคะ นั้นละคะ จูโมลฮารี เห็นแค่นี้เราก็อยากเดินไปดูจูโมลฮารีใกล้ๆซะแล้ว จริงๆแล้วเส้นทางเดินเขาในภูฏานหลายเส้นน่าสนใจนะ คนน่าจะน้อย (ใช่น่ะซิ แพงนิ) มีหลายเส้นทางให้เลือก ทั้งวัฒนธรรม หมุ่บ้าน สายน้ำ เดินชมเทือกเขาหิมาลัย 

ระดับความสูงอยู่ระหว่าง 2000-5000 เมตร

  • เส้น Dagala thousand lake เป็นเส้นที่สวยมากเส้นหนึ่ง มองเห็นทะเลสาป ใช้เวลาเดิน 5 วัน
  • เส้น Druk path เป็นเส้นที่มองเห็นกังคาพุนซุม หนึ่งในยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ใช้เวลาเดิน 6 วัน
  • เส้น Snowman เส้นนี้ลือกันว่าเป็นเส้นโหดเส้นหนึ่งในโลก ใช้เวลาเดิน 30 วัน

ภูฏานมีค่าเหยียบแผ่นดินอยู่ ดูราคาทัวร์มาแล้วราวๆ 220000 ไม่รวมตั๋วเครื่องบินกับค่าทิปค่าประกัน ถ้าจะไปจริง คงต้องเก็บเงินกันยาวๆเลยละ กับวันลาชนิดที่หัวหน้าไม่ให้อภัย ชื่นชม Chele la pass สักแปบนึง แล้วก็กลับไปนั่งรถต่อไปเมืองฮา เอาจริงๆ เห็นล้อรถก็มวนท้องละอดทน หลับตา เปิดหน้าต่าง ชั่วโมงกว่าๆก็นานแล้ว ถึงเมืองฮาตอนราวๆ 4 โมง แต่เมืองฮาเริ่มไม่มีแสงแดดแล้ว ภูเขาบังแสง บรรยากาศครึ้มๆ

Haa Dzong

                                                                                                               

เราจำเมืองฮาได้ไม่มากเท่าไร เดินลงรถมา อาการเหมือนน้ำในหูไม่เท่ากัน เดินเอียงเข้า ฮาซอง                      ป้อมปราการและวัดในภูฏาน ข้างในห้ามถ่ายรูป ในฮาซอง เหมือนจะมีน้ำเป็นขันๆ วางอยู่หลายขันอยู่หน้าพระ เราก็กราบเหมือนที่ไกด์สอน เป็นการกราบแบบคล้ายๆอัษฎางคประดิษฐ์แต่ไม่ได้นอน คือยืนไหว้       แล้วกราบ ตอนกราบคือ เข่า ศอก หน้าผาก ติดพื้น 3 ครั้ง หลังจากที่กราบเสร็จ ก็ดูโน่นนี่ไปเรื่อย ก็เห็นไกด์คุยกับพระ ซักพักไกด์เรียก ให้รับน้ำมนต์จากหลวงพ่อ เราก็คิดว่าน่าจะเหมือนบ้านเราคือได้แล้วก็ให้เอามาพรมตามหัวและหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ไกด์บอกให้ห่อมือ พอหลวงพ่อเท น้ำเต็มกำมือเลย ไกด์บอกดื่ม เฮื๊อก ตกใจ จะเททิ้งก็ไม่ได้ ทั้งพระทั้งไกด์ก็ดูอยู่กลัวเราทำไม่ถูก ก็ซดจนหมดนะล่ะ วันนี้มือไปจับอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ ยังไม่ได้ล้าง บังคับกันกินเฉย พยายามปลอบใจว่าน้ำบ้านเค้าสะอาด คงไม่เป็นไร (แต่ก็ไม่เป็นไรจริงๆแหละ จนจบทริป) รสชาติหรอ? คล้ายน้ำผสมน้ำมันมวยเลยค่ะ

คืนนี้ต้องนอนที่ทิมพูเมืองหลวง ตอนแรกบอกไกด์จะไปอีกทางเพื่อเข้าทิมพู แต่ขับรถออกไปยังไม่พ้นเมืองฮา ไกด์บอกว่าถนนเส้นนั้นไปไม่ได้ ถ้าไปจะใช้เวลาเยอะมากกว่าเส้นเดิม ร้องไห้ได้ไหม ฮือออออ เส้นทางที่มาเหมือนขับรถขึ้นยอดแล้วขับจากยอดลงจะถึงเมืองฮา ขากลับก็ขับรถขึ้นเขาแล้ววนลงเขาที่พาโร ขากลับทรมาณกว่า เพราะมืดแล้ว เหมือนคนขับรีบ คงกลัวไม่ทันกินข้าวที่โรงแรม ขับเหวี่ยงมาก แล้วทางเขา กว่าจะถึง โอวโหววว ลำไส้บิด เวียนหัว คลื่นไส้ เสียศูนย์ มวนท้อง แบบกินข้าวเย็นไม่ลง ถึงโรงแรมคือทำได้แค่ อาบน้ำแล้วนอน


วันที่ 2 เริ่มต้นกันที่ทิมพู

ตอนเช้าไกด์มารับที่โรงแรม ทักทายทั่วไป ถามว่าหลับสบายไหม หึหึ หมาหอนตลอดคืน สะดุ้งทั้งคืนเลยจ๊ะ เหมือนพอหอนแล้วจะขานรับกันไปเรื่อยๆ ธรรมชาติมากค่ะ ทั้งไก่ทั้งหมา แข่งกันขัน แข่งกันหอน

ป้อมจราจรหนึ่งเดียวในภูฏาน

เมืองทิมพูเป็นเมืองหลวงปัจจุบันของภูฏาน และมีป้อมจราจรเพียงหนึ่งเดียวของภูฏาน เมื่อก่อนป้อมนี้มี ชื่อเสียงนะ รายการทีวีชอบถ่ายมาลง มีตำรวจจราจรทำงาน วันนี้ไม่เจอตำรวจ เจอแต่ผู้พิทักษ์ ตรงบริเวณป้อมไม่ค่อยมีรถผ่าน น้องหมานอนเต็มถนน สงสัยไม่คุ้นหน้า ขู่กันใหญ่ กว่าจะถึงป้อมต้องผ่านเจ้าถิ่นไปก่อนนะจ๊ะ 

Thimphu Dzong

ระหว่างทางมีแวะ Thimphu Dzong ทิมพู ซอง ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำงานของรัฐบาล ใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลหน้ากากของทิมพู ประชาชนจะเข้าได้เฉพาะตอนมีเทศกาลหน้ากาก ปกติไม่ได้เปิดให้คนเข้า เราไม่ได้ไปใกล้ๆกับอาคารนะ มองจากไกลๆ ลิบๆ

ไกด์บอกมาว่ากษัตริย์จิ๊กมี อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เป็นเหมือนบ้านธรรมดา ไม่ได้ดูหรูหรา เรียบง่ายมากจริงคะ ถ้าไม่สังเกตจะไม่สะดุดตาเลย

อนุสรณ์สถานแห่งชาติ National Memorial chorten

วัดนี้เราเจอคนภูฏานเยอะที่สุดละคะ ในสถานที่เที่ยวที่ผ่านมา ใส่ชุดประจำชาติกัน มานั่งสวดมนต์บ้าง หมุนกงล้อมนตรา เวลาไปตามสถานที่ต่างๆของภูฎาน โดยส่วนใหญ่ เห็นคนจะนิยมใส่ชุดประจำชาติกัน พอเห็นแล้ว ก็รู้สึกว่าน่ารักดี เห็นนักเรียนเดินไปโรงเรียนก็ใส่ชุดประจำชาติเหมือนกัน                                             

กงล้อมนตรา คนเฒ่าคนแก่พากันมาหมุน ข้างในกงล้อมนตราจะมีบทสวดมนต์อยู่เป็นร้อยเป็นพัน เมื่อหมุนกงล้อมนตราเหมือนกับเราสวดมนต์ จะได้รับพรจากบทสวด

เราเจอคุณยายหน้าวัด ยายยิ้มให้ตลอด เดินแยกกันไปแล้ว กลับมาเจออีกยายก็ยิ้มอีก ตอนแรกไม่กล้าถ่ายรูปนะเพราะตามกฎที่ระบุไว้ คือการถ่ายรูปต้องขออนุญาตถึงจะถ่ายได้ แต่ไกด์บอกว่าถ่ายเถอะ ไม่เป็นไรไม่ต้องกลัว ตอนที่ขอถ่ายรูปคุณยายไม่พูดอะไร ยิ้มเหมือนเดิม แต่พอเอารูปให้ยายดู คุณยายดูดีใจมาก หัวเราะชอบใจ แล้วยิ้มให้ตลอด น่ารักมาก เราชอบริ้วรอยบนใบหน้าคุณยายมากเลย เป็นริ้วรอยแห่งวัยที่สวยงาม 

คนแก่เหล่านี้เป็นเป็นคนแก่จากสถานที่อยู่ในสถานที่รับเลี้ยง พอตอนสายๆ สถานที่รับเลี้ยงจะพามาวัด พอตอนเย็นก็จะมารับ เค้าดูมีความสุขดีนะ (เรื่องนี้เราฟังมาจากคนฮ่องกงที่นั่งด้วยกันบนเครื่องอีกที 5555)

สถานที่จุดเทียนไข สาเหตุที่ต้องแยกออกมาจากตัวอาราม เมื่อก่อนจุดข้างใน แต่เกิดเพลิงไหม้เยอะแล้ว

ระบบสาธารณะสุขในภูฏานค่อนข้างดี คนภูฏานเรียนฟรี เข้าโรงพยาบาลฟรี ในแต่ละจังหวัดจะมีโรงพยาบาลเล็กๆอยู่ แต่ถ้าเป็นการรักษาเคสหนักหรือผ่าตัดต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลทิมพู เราคิดไปเรื่อยว่า ถ้าเกิดรถชนที่ไหนสักที่ในภูฏานแล้วเป็นอุบัติเหตุ อยู่ไกลจากทิมพู กว่าจะมาถึงเลือดคงหมดตัวไปแล้วละ จากทำเลที่มีแต่ภูเขา ถนนหนทางยังไม่สะดวกมากนัก แต่เท่าที่อยู่ภูฏาน 5 วัน ไม่ค่อยเห็นรถเท่าไร ถ้าดูตามอันดับ Raod traffic accident ทั้งหมด 183 ประเทศ ภูฏานอยู่อันดับที่ 100 ก็ยังถือว่าสูงอยู่ ตอนที่ไปภูฏานเรายังไม่เห็นเลยว่ามีรถประจำทางไหม แต่เค้าบอกว่ามีบัสข้ามเมืองนะ

Dochula pass

ระหว่างที่เดินทางจากทิมพูไปพูนาคา มีอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวคือโดชูล่า พาส Dochula pass ยิ่งรถไต่ระดับขึ้นสูงมากเท่าไร จะสัมผัสได้ว่าอากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ ข้างบนนี้ต้องใส่เสื้อกันหนาวเลยละ โดชูล่า พาสจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ชัดเจน ถ้าฟ้าเปิด แล้วก็ ใช่ค่ะ ฟ้าเปิดแต่เมฆบัง เห็นแบบเซ็กซี่ วับๆแวมๆ ข้างบนนี้มีคาเฟ่ไว้ให้จิบชา เห็นโม้ๆว่าเป็นคาเฟ่ที่อยู่สูงอีกแห่งของโลก นอกจากนั้นแล้วยังมีจุดนั่งสมาธิอยู้ด้านหลัง ปลูกต้นไม้ไว้เต็มเลย

แต่วันนี้ชาวอินเดียเยอะมาก เลยเสียงดังเป็นพิเศษ ด้วยความอินเดียเค้าจะมีลักษณะเฉพาะตัวอยู่แล้ว ใครจะว่าอะไรพี่เค้าได้ แต่พอชาวอินเดียเยอะ การทิ้งขยะ ความเป็นระเบียบก็จะหายไป ในภูฏานห้ามนำเข้าบุหรี่ ตอนอยู่โรงแรมก็เจอชาวอินเดียสูบกันแล้วทิ้งก้นบุหรี่บ้าง ซองขนม น้ำดื่ม กินที่ไหนทิ้งที่นั้นเลย ถามไกด์ว่าทำไมชาวอินเดียถึงเยอะ

ด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของอินเดียและภูฏาน ชาวอินเดียได้รับการยกเว้นค่าเหยียบแผ่นดิน สามารถขับรถเข้ามาได้ด้วยนะ แล้วไม่ต้องจ้างไกด์ก็ได้ ช่วงนี้ช่วงพีคด้วย นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเยอะเป็นพิเศษเลย

สรุป โดชูล่า พาส วันนี้ไม่เห็นเทือกเขาอย่างที่ตั้งใจ ไกด์บอกว่าเดี๋ยวพามาใหม่วันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้กลับพาโร ยังไงก็ต้องผ่านเส้นทางนี้อยู่แล้ว

นู๋หมาภูฏานก๊ะ จ๋วยไหมก๊ะ                                                                                                                    เราเจอน้องหมาบนโดชูล่า นางช่างอึดและทึกทน เดินขึ้นมาได้งัย สูงขนาดนี้ ไม่มีบ้านคนด้วย มีข้อสังเกต อย่างหนึ่งนะ ที่ภูฏาน หมาจรจัดเยอะมาก ดุบ้างไม่ดุบ้าง

นี้คือหน้าโรงแรม มีหลายก้อนเลย ว่าจะออกไปเดินเล่นซักหน่อย เจอองครักษ์พิทักษ์โรงแรม 7 ตัว ถอยละกันไม่กล้า

ออกเดินทางต่อมายังเมืองพูนาคา และไปต่อที่ชิมิลาคัง วัดนี้ต้องเดินตัดข้ามทุ่งแล้วเดินขึ้นอีกเล็กน้อยก็จะถึงวัด โดยส่วนใหญ่ ทัวร์จะพามากินข้าวที่นี่กันก่อน ตรงจุดนี้เหมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีรูปศิวลึงค์เต็มไปหมด ดูที่กำแพงซิคะ

ศิวลึงค์สำหรับชาวภูฏาน เป็นเครื่องลางไว้ไล่ภูติผีปีศาจ พอเดินผ่านไปก็จะเห็นศิวลึงค์ทำเป็นรูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องบินบ้าง ชาวบ้านแกะสลัก ทาสีกันอย่างขมักเขม่น ขายตามทางเดินไปวัด วัดนี้เป็นวัดที่ใช้ขอลูกนะ เด็กที่ได้จากวัดนี้จะชื่อ Kinley วิธีการขอลูกคือ จะมีศิวลึงค์ขนาดใหญ่ขนาด 1 คนอุ้มให้เวียนรอบวัด 3 รอบ สำหรับคนที่ได้ลูก ก็จะส่งรูปลูกมาที่วัด เป็นคอลเลกชั่น น่ารักเชียยว

Punakha Dzong

ออกจากวัดตอนเย็นๆ ไกด์พาไปต่อที่ พูนาคา ซอง Punakha dzong                                                    ป้อมปราการแห่งเมืองพูนาคา พูนาคาเคยเป็นเมืองหลวงเก่า ความสูงระดับน้ำทะเลต่ำกว่าเมืองอื่น 1242 เมตร ทำให้เป็นเมืองที่ค่อนข้างอบอุ่น ป้อมปราการแห่งนี้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงานของกษัตริย์จิ๊กมีด้วย
ในพูนาคามีสะพานแขวนที่ยาวที่สุดของภูฏาน ดูจากรูปแล้วสวยมากเลยนะคะ แต่ไกด์ไม่ได้แนะนำ หลุดออกจากแผนเมื่อไรไม่รู้ เสียดายมากเลย

บรรยากาศแถวพูนาคา บรรยากาศดีมากเลยนะ จริงๆแล้ว ทั้ง 4 เมืองเท่าที่สัมผัสมาบรรยากาศดีหมดอากาศเย็นสบาย ไม่มีเสียงรถหรือมลพิษรบกวน อากาศเย็น สูดหายใจแล้วสดชื่น ยกเว้นตอนเดินทาง ตอนนี้เหมือนภูฏานเองก็กำลังพัฒนาหลายๆที่ และมีการก่อสร้าง การก่อสร้างทำให้มีการตัดไม้ มีฝุ่น ควันรถดำมาก ระหว่างการเดินทาง จะเห็นว่ามีรถขนไม้พอสมควร ในภูฏานเข้มเรื่องการตัดไม้ ก่อนตัดต้องปลูกคืน 2-3 เท่า

เสน่ห์บ้านเรือนแบบภูฏานคือ ตรงไหนมีเมือง มีคนอยู่อาศัย มักจะมีแม่น้ำตัดผ่าน เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ใสแจ๋ว เป็นแบบบ้านในฝันที่ชอบวาดสมัยเด็ก บ้าน ต้นไม้และแม่น้ำตัดผ่าน ดูเรียบง่ายและอบอุ่น น่าอยู่

ก่อนจากกันไกด์ยื่นลูกอมมาให้ สมกับเป็นประเทศแห่งความศรัทธา นี้มันลูกอมกลิ่นธูป ไม่ละลายในมือ ในปากก็ไม่ละลาย ไม่ถึง 5 นาที คายแล้ว ไม่ไหว เหมือนอมธูป


วันที่ 3 วันนี้เป็นบรรยากาศแบบชิลๆ ไม่รีบ ไกด์ก็เกริ่นตั้งแต่แรกว่าไม่มีอะไรให้ทำมากมาย ออกจากพูนาคาสายๆแล้วก็กลับทิมพู ระหว่างทางแวะโดชูล่า พาสอีกครั้ง ทายซิคะ ว่าจะเห็นหิมาลัยไหม และก็ใช่ค่ะ ไม่เห็นเหมือนเดิม ครึ้มๆ เมฆบังเหมือนเดิม TT.TT  ไม่เป็นไรค่ะ ไปดูที่อื่นก็ได้                                                        ไปไหว้พระใหญ่ดีกว่า

Big Buddha

Sangay Gang viewpoint

จุดชมวิว Sangay Gang viewpoint  จากจุดนี้จะเห็นวิวทั้งเมืองของทิมพู
ในเมืองทิมพูมีวัดอีกวัดหนึ่งนะ ชื่อ Changangkha lhakang วัดนี้จะเป็นวัดที่ชาวภูฏานจะมาขอชื่อลูก สำหรับเด็กที่เกิดใหม่ จะมีโถไว้ให้จับฉลาก ชื่อเด็ก บางครอบครัวที่ขอชื่อลูกจากที่นี้ ก็จะพาลูกมาไหว้พระที่นี้ด้วย เราเห็นครอบครัวหนึ่งที่เหมือนเด็กน่าจะแรกเกิดจริงๆ แม่เค้ายังเดินไม่คล่องเลยค่ะ เหมือนพึ่งคลอด  นอกจากนั้นไกด์พาเราแวะห้องสมุดซึ่งปิด ในวันนี้

นั่งรถกลับพาโร ระหว่างทางจะมีจุดที่แม่น้ำจากแต่ละเมืองไหลบรรจบกัน ถึงแม้ภูฏานจะเป็นประเทศเล็กๆแต่ก็มีสายนน้ำหล่อเลี้ยง รุ้สึกสงบ


วันที่ 4 เป็นวันสุดท้ายของการอยู่ภูฏาน

เผลอแปบเดียวต้องกลับซะล๊าว วันนี้ต้องขึ้นทักซัง และต้องรีบไปกันแต่เช้า เพราะเดี๋ยวคนจะเยอะ ไกด์แวะซื้อน้ำและช็อคโกแลตให้ระหว่างทาง ทักซังเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ของชาวภูฏาน ด้วยความสูง 3120 เมตร เวลาเดินขึ้นต้องระมัดระวังอาการแพ้ความสูงด้วย ถ้าไม่อยากเดินก็ขี่ม้าได้ ทางเขาไม่ได้ติดผาขนาดที่จะเป็นอันตราย  เดินขึ้นก็ดีนะคะ มีคนเดินขึ้นเยอะแยะเลย อายุเยอะแล้วก็ยังเดินขึ้นกันไหว อาจใช้เวลาหน่อย สำหรับทักซังให้ใส่รองเท้าผ้าใบเดินนะ เพราะว่าบางจุดมันเป็นดินร่วนๆลื่นง่ายมาก สำหรับเราแล้วทักซังเหมือนเป็นเขาขี้ม้า เส้นทางตั้งแต่ข่างล่างจนถึงจุดที่ม้าขึ้นไม่ได้ ขี้ม้าเต็มไปหมดเลยกลิ่นแรงมาก แต่พอถึงมากกว่าครึ่งทาง จุดที่ม้าขึ้นไม่ถึง อากาศค่อยบริสุทธิ์หน่อย

ถ้าแพ้ความสูง ค่อยๆเดินนะคะ ไม่ต้องรีบ ดื่มน้ำเยอะๆ อากาศร้อนมาก ถ้าแดดส่อง ยิ่งเดินยิ่งร้อน      เตรียมอุปกรณ์กันแดดดีๆ ใส่เสื้อแขนสั้นไว้ข้างใน เวลาร้อนจะได้ถอดได้ วันนั้นเราไปเราใส่เสื้อแขนยาวไปถอดไม่ได้ค่ะ มีตัวเดียว ร้อนมาก แดดแรง เอาหมวก เอาแว่นไปด้วยจะดีค่ะ ถ้าขึ้นเขาเช่น ชีเลล่า พาส ,โดชูล่า พาส แดงแรงมาก

เกินครึ่งทางไปแล้วจะมีร้านคล้ายๆคาเฟ่อยู่ เลือกกินข้าวได้นะว่าจะกินที่คาเฟ่หรือจะลงไปกิน ในเมืองก็ได้ เราเลือกจะไปกินในเมืองนะให้มันเหนื่อยแบบจบๆไปก่อน ตัววัดทักซังค่อนข้างหนาว ควรมีถุงเท้า เพราะเป็นพื้นหินเย็นเท้ามาก ในวัดทักซังจะมีจุดที่คุรุรินโปเช ซึ่งชาวภูฏานนับถือเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 เข้ามาบำเพ็ญเพียร (ข้างในไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป) ในตัววัดจะมีช่องเล็กๆ แคบๆให้ลงไป กล่าวกันว่าในจุดนั้นเป็นจุดที่ทางคุรุรินโปเช นั่งสมาธิ และต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งมั่นและมีแรงศรัทธาอย่างแรงกล้า ถึงสามารถเข้าไปในสมาธิในนั้นได้ ตอนที่เราลงไป มองไม่เห็นอะไรเลย มืดสนิทและปลายทางเป็นทางตัน ระหว่างทางเดิน แคบมาก ผ่านไปได้ทีละคนเท่านั้น มีบันไดพาดผ่านขึ้นลง เล็กๆ

ตอนเดินลงคนเริ่มเยอะ ขี้ม้าเริ่มแห้ง กลิ่นไม่ค่อยแรงหรือว่าเราเหนื่อยไม่รู้ ลงมาผ่านฉลุย ไปกลับราวๆ 4 ชม ขึ้น 2 ลง 2 ชั่วโมง ไกด์ชี้ให้ดูอีกด้านหนึ่งของวัดทักซัง ว่าด้านนี้เป็นหน้าอสูร ขาวๆคือฟันและที่ลึกโบ๋คือดวงตา

จริงๆวันนี้มีโอกาสใส่ชุดประจำชาติภูฏานเดินเล่นนะ แต่เราไม่ได้ใส่ มาถึง Paro street ซื้อของฝากไปให้ที่บ้านกันค่ะ เราเลือกซื้อ ข้าว หน้ากาก แยม น้ำผึ้ง ค่ะ

ของฝากซื้ออะไรดี

  • ข้าวภูฏาน ข้าวสีแดง ได้ยินมาเป็นข้าวออแกนิคด้วย
  • แยมผลไม้ อันนี้ก็ออแกนิค เช่นเดียวกันค่ะ ภูฏานเป็นเมืองเกษตรกรรมมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร    ค่อนข้างเยอะ
  • หน้ากากไม้แกะสลัก อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว คือเราชอบซื้อหน้ากากตามประเทศต่างๆที่มีขายของภูฏานดังเรื่องหน้ากากไม้มีสารพัดสัตว์ที่รับใช้พระพุทธ เราเลือกการุด้า Garuda ค่ะ เป็นครุฑ           ราคาไม่ได้แพงมากนะ
  • กงล้อมนตรา คนภูฏานมีความเชื่อว่าเมื่อหมุนก็เท่ากับสวดมนต์ มีหลายขนาดและเกรดให้เลือกนะ เราเลือกอันเล็กมา 1 อัน
  • รูปปั้นพระพุทธเจ้าก็สวยดีนะ งานประณีต ราคาไม่แพงด้วยค่ะ ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย
  • ศิวลึงค์ ตามบ้านคนภูฏาน จะแขวนศิวลึงค์อยู่ เราเคยถามไกด์ เขาบอกว่าบ้านเขาก็มีอันเบ้อเร่อ      แขวนอยู่เอาไว้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย
  • ตัง ถั่ง เช่า เป็นเห็ดหนอนค่ะ เกิดจากหนอนกินเห็ดชนิดนี้แล้ว เห็ดเข้าไปอยู่ในตัวหนอน ดูดสารอาหารจากตัวหนอน ไกด์บอกว่า ตังถังเช่าอยู่บนเขาสูง และขายได้ราคา คนเลยนิยมไปเก็บกันและเสียชีวิตกันมานักต่อนัก พบในจีน ทิเบต เนปาล ภูฏาน เราซื้อแบบ Cordyceps in Ara เป็นตัง ถัง เช่า เล็กๆ      อันหนึ่งแช่ในเหล้าของภูฏาน เอาไปให้ที่บ้านชิม

ท้ายทริป

สำหรับทัวร์ที่เราซื้อ วันสุดท้ายเค้าของทัวร์ เค้าจะพามาที่บ้านของคนภูฏาน คล้ายๆ Homestay              ชื่อ Farm house เพื่อให้ได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบภูฏาน เราก็จะมากินดื่มกันกับไกด์และลูกทัวร์และไกด์คนอื่นๆ เค้าจะจัดอาหารไว้โต๊ะหนึ่งกลางห้อง แล้วให้แต่ละคนตักกินตามความต้องการ

เราก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่อาหารหลักๆก็น่าจะเป็นอาหารขึ้นชื่อ มีไก่อบ น้ำพริกภูฏาน แกงฟักชีส อร่อยดีค่ะ แล้วก็มีเหล้าให้กินด้วย คนภูฏานจะหมักเหล้าเองและไม่รู้ด้วยข้าวออแกนิคหรืออะไร เหล้าที่หมักออกมา กลิ่นดีมากค่ะ หอมข้าว รสชาติดี ขนาดไม่ชอบกินเหล้ายังว่าอร่อยเลยค่ะ ช่วงเดือน 10 ฤดูเก็บเกี่ยวพอดี Ara แบบ Homemade อร่อยมากเลยค่ะ

นอกจากเหล้าแล้วจะมีชาเนย ถ้ามีโอกาสไปภูฏานลองชิมกันดูนะ รสชาติจะแปลกๆ เค็มๆหวานๆมันๆ ไปกันคนละทาง -.-  กลุ่มคนที่ไปรวมตัวที่ Farm house ไม่มีใครรู้จักใครเลย เกิดความเหนียมอาย ไม่กล้าคุย  ไกด์บอกว่าบางทีเค้าก็มีการเต้นรำกันด้วยนะ แต่ละคนที่มากรุ๊ปนี้เงียบงอย แบบกินเสร็จจะกลับที่พักกัน    ท่าเดียว

รูปอาจจะเบลอ ถ้าเจอเธออาจจะใช่ แฮ่ รูปเบลอค่ะ ตอนนั้นมีแค่มือถือ 5555

ที่ Farm house มีกิจกรรมอีกอย่างให้ทำคือ Hot Stone Bath เป็นการแช่น้ำร้อนคล้ายๆออนเซนค่ะ    อันนี้แนะนำอยากให้ลอง อ่างจะเป็นอ่างไม้ ใส่น้ำไว้มีกลิ่นสมุนไพรอ่อนๆ สมุนไพรหลายชนิดต้มด้วย          เตาถ่านและเค้าจะทำน้ำร้อนโดยใช้หิน ซึ่งเป็นหินที่เก็บมาจากลำธารย่างด้วยถ่านเช่นเดียวกัน                 ห้องแช่เป็นห้องส่วนตัว ในห้องจะมีอ่าง 2 อ่าง เป็นอ่างสำหรับแช่น้ำร้อนและน้ำเย็น บ่อเป็นแบบสั้นให้พอยืดขาได้ แล้วเศษ 1 ส่วน 4 ของอ่างจะเป็นที่ใส่หิน เวลาที่ให้เข้าแช่ 45 นาที ค่าแช่อยู่ที่ 30 USD เมื่อเราบอกว่าเราจะแช่ทางเค้าจะเตรียมผ้าขนหนูให้ค่ะ

ส่วความร้อนของน้ำ เบื้องต้นเค้าจะใส่หิน 5 ก้อน ถ้าถามว่าร้อนไหม ก็ตอบเลยว่า มากกกกกกกกกกก   ขนาดเราชินกับการแช่ออนเซ็นแบบญี่ปุ่นยังทนไม่ได้เลยค่ะ เท้าจุ่มก็ไม่ไหว นิ้วก็ไม่ได้ ก่อนเข้ามาเค้าบอกว่าถ้าน้ำร้อนไม่พอให้ตะโกนบอก ไม่กล้าตะโกนอะ เขิน 55555555 สุดท้าย ฮึบบบ แช่ทั้งตัว ระหว่างที่เราเปลี่ยนบ่อสลับร้อนบ้าง เย็นบ้าง ผ่านไปไม่นานจะมีคนมาไล่เคาะแต่ละห้องถาม อุณหภูมิน้ำเป็นงัย ฝรั่งห้องข้างๆยังบอกว่าร้อนเลยค่ะ เราก็ทนมาได้ตั้งนาน

ตอนแรกก็บอกเค้าว่าน้ำร้อนไป เค้าก้อเลยเทน้ำเย็นเข้ามาหนึ่งถัง คราวนี้หนาวเลย เย็นไปไม่มีอะไรพอดี    แต่เหมือนคนคุมบ่อเค้าก้อมาจับๆน้ำดูเค้าบอกว่าน้ำมันเย็นไป ขอเติมหินนะแล้วเค้าก็เอาหินมาใส่ 1 ก้อน    ค่อยพอดีหน่อย เราแช่ไป 45 นาทีตามที่เค้าบอก เกือบละ เกือบม่องคาอ่าง เราว่า 45 นาที แช่นานไปหน่อย ตัวหน่วงมากเลย เหมือนเบลอตลอดเวลา เจ้าของบอกว่าคุณกำลัง Relax แต่เราว่าไม่ใช่ละ ความ Relax นี้กำลังจะเป็นลมละคะ ทำอะไรไม่ได้เลย มันเหนื่อย ได้แต่นั่งเอ๋อ  ออกมาตัวขาวมาก โดนลวก!!!!

หลังกินข้าวเสร็จ ไกด์ก็พาไปส่งโรงแรม ภูฏานเป็นที่ราบสูง พาโรอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 2200     กิจกรรมที่ห้ามทำสำหรับคนแพ้ความสูงคือ กินเหล้าและแช่น้ำร้อนเพราะมันจะทำให้เลือดสูบฉีดเร็ว

การมาภูฏาน ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่ลุยเดี่ยว ชอบอิสระมากๆ จะรู้สึกอึดอัดนิดหน่อย เพราะว่า เราจะคลาดสายตาไกด์ไม่ได้เลย อยู่ในการควบคุมตลอดเวลา รถที่ใช้เป็นรถของนักท่องเที่ยว ที่ภูฏาน เค้าเก็บค่าเหยียบแผ่นดินแพงเพราะว่าเค้าจะได้จ่ายเป็นสวัสดิการให้กับคนของเค้าเอง ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อดีนะ รายได้เข้ารัฐแล้วประชาชนได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และเค้าเองก็พยายามที่จะคัดเลือกนักท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง ขนาดที่ว่าคัดแล้วยังเจอนักท่องเที่ยวที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม   เช่น สถานที่ปิดแล้วยังจะดึงดังเข้า หรือเจ้าหน้าที่ไล่ออกจากสถานที่เพราะปิด เค้าก็ไม่ไป แถมแลบลิ้นปลิ้นตาใส่เจ้าหน้าที่ เจอแบบที่คิดว่าแย่เลย คือทางเดินไปชิมิลาคัง

ชาวบ้านเค้าก็มาทำนา เกี่ยวข้าว ทุบข้าว ตากข้าว แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเหยียบข้าวที่ชาวบ้านตากไว้ เพียงเพราะอยากถ่ายรูปใกล้ๆ เราเข้าใจนะว่าทำไมต้องมีการควบคุมนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาจากหลายที่ พฤติกรรมไม่เหมือนกัน ไม่ได้มีมารยาทกันทุกคน 

ภูฏานรับนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันเค้าก็พยายามให้นักท่องเที่ยวไปทำลายวิถีชีวิตเของชาวภูฏาน บางสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เกียวโตหรือหมู่บ้านที่เป็นบ้านเก่าแก่ของอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากการ ท่องเที่ยว ชาวบ้านได้รับผลกระทบ บางคนก็ประกาศขาย เป็นเรื่องน่าเศร้านะ คนท้องถิ่นใช้ชีวิตไม่ได้เพราะนักท่องเที่ยว ความเคารพซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราไปต่างบ้านต่างเมืองก็เคารพกฎ กติกาที่เป็นของเค้าด้วย                                                                         

ปกติถ้าจะไปเที่ยวที่ไหน เราก็ชอบออกมาเดินดู สำรวจสถานที่ ไปเดินตลาด ดูความเป็นเมือง แต่ที่ภูฏาน เราจะได้กลับโรงแรมเร็วค่ะ บางวัน 4 โมงอยู่โรงแรมแล้วอะ เหมือนไกด์ไม่รู้จะพาไปไหนด้วยมั้ง จริงๆแล้วมี นักท่องเที่ยวหลายคนนะที่เหมือนไปปาร์ตี้ กินเหล้า ทำอาหารกับไกด์ ที่ภูฏานมีบาร์ด้วยละคะ ถ้าอยากเห็น ลองถามไกด์ดูนะ เค้าจะพาไปหรือเปล่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง เรายังไม่เคยลองเลยค่ะ เพราะหลายอย่างพึ่งรู้หลังจากที่กลับมา เดี๋ยวว่าจะหาโอกาสไปอีกแล้วลองดู 55555

แผนการท่องเที่ยว เป็นอะไรที่พลาดมาก ด้วยชื่อสถานที่ที่ไม่คุ้นตา ไม่คุ้นชื่อ ไกด์พาไปหรือไม่ ก็ไม่รู้ พึ่งมารู้ตอนที่นั่งเขียนกระทู้นี้แหละคะ อีกอย่าง บริษัทที่เราเลือก เลือกจากบริษัทในไทยก็จริงอยู่ แต่ว่าจะเป็นการจ้าง Local tour ในภูฏานอีกที กว่าจะได้วีซ่า กว่าจะคอนเฟริ์ม กว่าจะได้แผนเที่ยวจากภูฏาน คือวันสุดท้ายก่อนเดินทาง ซึ่งแทบแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แล้วการตรวจเช็คที่ผิดพลาด ทำให้เราพลาดบางสถานที่เที่ยวอย่างน่าเสียดาย

อาหารการกิน                                                                                                                                        อันนี้ถ้าไปแบบไพรเวท บางอย่างเราเลือกได้นะ ถ้าแจ้งชื่ออาหารกับไกด์ เราจำชื่ออาหารได้ไม่ทั้งหมดหรอกค่ะ แต่บอกไกด์ว่าขอ Local food เค้าก้จัดมาให้ โดยหลักๆแล้ว จะได้กินร้านที่มาเป็นอย่างๆไม่กี่มื้อ ถ้าเป็นมื้อเย็น ยังงัยก็จะเป็นบุฟเฟ่ต์ที่โรงแรม มื้อเช้าก็โรงแรม และโดยส่วนใหญ่ก็จะจัดอาหารที่คิดว่านักท่องเที่ยวกินได้ คือ ผัดผัก ผัดกะหล่ำและไก่ผัด เรามานั่งคุยกับชาวฮ่องกงบนเครื่องบินขากลับ ก็ค้นพบว่า กินเหมือนกันเลยค่ะ  ผัดผัก ผัดไก่ 555555

2 รูปนี้คนละวันนะ หน้าตาเหมือนกันเลยใช่ไหมคะ 55555 รูปบนมีไก่ผัดด้วยนะ คนภูฏานชอบใช้เนบและชีสในการประกอบอาหาร ที่เห็นเป็นมะเขือผัดก็เป็นมะเขือผัดเนยนะ

ถามไกด์ว่า สปาเกตตี้นี้อาหารภูฏานหรอ เค้าก็บอกว่าเปล่า อ๋อจ๊ะ ขอแล้วเค้าคงกลัวเรากินไม่ได้ สปาเกตตี้ รสชาติอร่อยนะ แต่เส้นอัลดันเต้มากๆ จนกลัวจะไม่ย่อย                   

ผัดกะหล่ำ อาหารหน้าตาคล้ายบ้านเราเลย 

นี่คืออาหารประจำชาติภูฏาน เรียกว่า Ema datchi ภาษาอังกฤษเรียก Chili Cheese ถ้ามาภูฏานต้องลองเลยค่ะ รสชาติอร่อย เรารู้สึกว่ามันคล้ายกับน้ำพริก คนภูฏานเค้าจะกินพริกเข้าไปด้วยเลยนะ ภูฏานอากาศหนาว คนเค้าเลยชอบกินอาหารที่ใก้ความอบอุ่น เช่น เนย ชีส พริก แค่ซดน้ำก็อร่อยละ

ระหว่างเดินทาง เราได้ลองชิมขนมที่เค้าขายตามเพิงข้างทาง คนขับรถลงไปซื้อขนม ข้าวโพดนี้คือถือมาเลย กำมา บีบมาซะแน่นเลย แล้วเอามาให้เรากิน เราบอกไม่เอาๆ เค้าก็บอกเอาเถอะๆ ไม่ต้องเกรงใจ สุดท้ายก็รับมา อันนี้เหมือนขนมข้าว ที่เอาไปปิ้งแล้วมันจะพอง แต่มันทั้งแข็งทั้งหืน เค้าซื้อป๊อบคอร์นมาด้วยนะ แต่หืนมากและเหนียวมากด้วย สุดท้ายไกด์บอกว่า เดี๋ยวเอาไปให้หมา เดี๋ยวนะ กะนึกว่ารู้จักป้าเค้าดี ขนมเค้าอร่อย เปล่าเลย ครั้งแรกเหมือนกัน


ที่พัก

เราพักโรงแรม 3 ดาว ทุกคืน                                                                                                            โรงแรมคืนแรก ไม่ได้ถ่ายค่ะ เสียสติ เมารถอย่างแรง 55555 แผนวันแรกเราเพิ่มเมืองฮา เข้าไปด้วย เพราะเห็นว่าอยู่ใกล้พาโร แล้วคิดว่าจะเห็นซองสวยๆ แต่ด้วยถนน หนทาง เวลาที่จำกัด แนะนำว่า อย่าไปเลยค่ะ    มันไกล แล้วกว่าจะกลับมาได้ 4 ชม ไปเส้นทางยอดนิยมเถอะ เมารถชนิดกินข้าวไม่ลง

มาดูโรงแรมวันที่ 2 กว่าค่ะ

VARA Hotel เป็นสไตล์แบบโคซี่มากเลยค่ะ รู้สึกอบอุ่น มีกลิ่นอาย Hygge อยู่ ให้ความรู้สึกอบอุ่นอยู่สบายมากเลยค่ะ เหมาะกับการพักผ่อน

ห้องนอน 

มุมที่นั่ง

 ข้างนอกโรงแรม

Mandala hotel

ห้องนอน

มุมอบอุ่น ชอบบรรยากาศแบบนี้มากเลยค่ะ

 ห้องอาบน้ำ ก้อเห็นวิว แต่เครื่องทำน้ำอุ่น ทำน้ำได้แบบจำกัดเวลา น้ำเย็นไปหน่อย ชาเลย 5555

วันกลับ

เรานั่งข้างชาวฮ่องกงตอนขากลับ เค้าชวนคุย คุยเก่งมาก คุยกันแล้วก็เริ่มซุบซิบจนสามีเค้าสงสัยว่าเราคุยอะไร และก็รู้ว่าคุณป้ากับคุณลุงเป็นชาวฮ่องกงงที่มา Trekking ในภูฏาน น่าจะราวๆ 8-9 วัน ซึ่งขากลับเค้าจะแวะกรุงเทพก่อนที่จะกลับฮ่องกง หลายๆเรื่องฟังที่คุณป้าเอารูปมาโชว์ มาอธิบาย ฟังง่ายกว่าที่ไกด์อธิบายเยอะเลยค่ะ 55555 ทำไมไกด์ป้าอธิบายละเอียดไม่รู้ หรือเราไม่ค่อยได้ถาม

ภาษาอังกฤษเราง่อยเปลี้ยเสียขามาก สำหรับเราแล้ว สำเนียงอังกฤษของชาวภูฏานฟังยาก อาจจะไม่คุ้นชิน ถ้าเป็นอินเดีย แม้จะยากก็คุ้นเคย (ใช่หรอ โม้เฉยๆ 555)

เราคุยกันหลายเรื่องมาก คุยไปมาโผล่เรื่องการเมืองเฉยเลยค่ะ ฮ่องกงก็กำลังเข้มข้น ตอนนั้นก็มีม๊อบอยู่ แต่เค้าก็ยังไปทำงานกันนะ ตอนแรกเห็นม๊อบนึกว่าหยุดกันทั้งประเทศแล้ว คุณป้าเค้าบอกว่า เค้าจำเป็นต้องสู้ เพราะเค้าไม่อยากตกในกำมือของ คอมมิวนิสต์เหมือนเกาหลีเหนือหรือจีน คุยกันจนปวดคอ การคุยกับคนแปลกหน้าจะคุยอะไรก็ได้ ไม่ต้องกังวลว่าเค้าจะเอาเราไปนินทาทีหลัง เพราะเราจะไม่รู้ 555555 แล้วเค้าก็จะเอาเราไปนินทาที่ไหนไม่ได้ด้วย จำได้แค่สตอรี่ ไม่รู้ชื่อด้วยซ้ำ แต่ก็ได้มุมมอง แนวคิดหลายอย่างนะ ว่าเค้ารู้สึกอะไร มุมมองเป็นอย่างไร

ข้อมูลภูฏานเบื้องต้น

ภูฎานมี 4 ฤดู

  • ฤดูใบไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วงเหมาะกับการเที่ยวมากที่สุด ถ้าอยากไปดูระบำหน้ากากจะอยู่ช่วงตุลา ถึงแม้ว่าเป็นช่วงพีค ก็ไม่ได้รู้สึกว่าหนาแน่น แต่คนอินเดียเยอะนะ ในช่วงที่เราไป เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ระหว่างทางไปชิมิลาคังจะเห็นนาข้าวสีทองด้วย 
  • ถ้าเป็นหน้าร้อน ฝนจะตกชุก แทบออกไปไหนไม่ได้ แต่ก็จะได้บรรยากาศเขียวๆ
  • ส่วนหน้าหนาว ถ้าหิมะตกหนัก บางสถานที่จะเข้าไม่ได้ค่ะ     

สายการบิน

สายการบินที่บินเข้าภูฏานหลักๆจะมี 2 สายการบิน คือ Bhutan Airlines กับ Druk Air ทั้ง 2 สายการบินจะจอดแวะรับผู้โดยสารจากอินเดีย 45 นาที โดยที่ไม่ต้องลงจากเครื่องบิน เราบินกับ Bhutan Airlines ใช้เวลาบิน 4 ชม.เวลาภูฏานช้ากว่าไทย 1 ชม.

ซิม

ซื้อได้ก่อนจะออกสนามบิน มีเค้าเตอร์ ราคาซิมหลักร้อยค่ะ ไม่แพง

การแลกเงิน

แลกได้ที่สนามบิน หรือไม่ก็บอกไกด์ เค้าจะพาไปแลกแถว Paro street ค่ะ เราพก Pocket money ไป 10000 บาทค่ะ ไว้ซื้อของฝาก ของกระจุกระจิก แลกเป็น USD ไป

การจ่ายทิป

คนขับวันละ 2 USD ไกด์วันละ 3 USD อันนี้เราจ่ายแบบงงๆ ไปกับเพื่อน 2 คน ไม่ได้หารแต่จ่ายแยกไปเลย  วันสุดท้ายที่แยกกันที่สนามบิน ทั้งไกด์และคนขับก็รอรับทิป ทำเป็นขัดรถ ปัดเบาะ เหมือนรออะไรซักอย่าง    แต่พอเค้าได้เค้าดีใจมากเลยนะ

รายละเอียดทริป

  • Day 1:Paro dzong, National Museum, Chele la pass, Haa dzong
  • Day 2: Tashisho dzong,Memorial chorten,Dochula pass,Chimi lakhang,                                Punakha dzong
  • Day 3:Big buddha,Changangkha,National Libraly
  • Day 4 Taksan Mt.,Paro street

ในปีนี้เราได้เดินทางไปประเทศแห่งความศรัทธา 2 ประเทศ คือศรีลังกากับภูฏาน เราได้เรียนรู้หลายสิ่ง หลายอย่าง ในชีวิตเรามีเงิน เราซื้อได้ทุกอย่าง มีหลายสิ่งหลายอย่างครบ ไม่ได้ขาดอะไร ทำไมบางทีถึงรู้สึกว่าเครียด ไม่มีความสุข ไม่รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร ทั้งศรีลังกาและภูฏาน ชาวบ้านยังอยู่กับความศรัทธา เวลาว่างคือไปวัด ไปนั่งสมาธิ คนแก่จับกลุ่มกันสวดมนต์ ไปวัดคุยกัน แล้วมีคนยิ้มให้เราตลอด เมื่อสบตา สำหรับในชีวิตเรา จุดสูงสุดแล้วเราอยากมีความสุขในทุกๆวัน แต่เราอาจจะเกิดความทุกข์ได้จากความอยากได้อยากมีของเรา หรือคนรอบข้างที่ชอบมาข่มว่าต้องมีนั้นมีนี่ การครอบครองทางวัตถุ ทำให้เรามีความสุขเพียงชั่วครู่ ถ้าเราพอใจในตัวเรา ก็ไม่ทำให้เกิดทุกข์ เรายังอยากไปประเทศแห่งศรัทธานะ การที่ได้ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น ได้เห็น ทำให้เราได้รับมุมมองดีๆกลับมา เราเองก็อยากมีความสุขที่เรียบง่ายเหมือนกัน

แล้วเจอกันค่ะ

ALIS X Wonder world

 วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16.48 น.

ความคิดเห็น