หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวใน จ.อยุธยาแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนมากมักจะนึกวัดวาอารามเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อของที่นี่เป็นอันดับแรกๆ อย่างวัดพนัญเชิง, วัดพระศรีศรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ, วัดไชยวัฒนาราม, วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น แต่จริงๆแล้วอยุธยายังมีวัดร้างเก่าๆ unseen อีกมากมายนับไม่ถ้วน อย่ากระนั้นเลย ทริปนี้ผมเลยอยากจะพาเพื่อนๆไปชมโบราณสถานต่างๆเหล่านี้ผ่านเรื่องเล่าจากบันทึกในพงศาวดาร โดยการตามรอยแผนที่ภูมิสถานวัดร้างในอยุธยา จากโครงการประวัติศาสตร์ไทยฉบับมติชน ซึ่งวัดต่างๆเหล่านี้หลายวัดมีความเกี่ยวพันกับบันทึกในพงศาวดารหลายฉบับของอยุธยา
ตามแผนที่เราจะเห็นว่าตัวเกาะเมืองอยุธยามีแม้น้ำล้อมรอบด้วยกัน 3 สายคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ผมจะเอา"วังหลวง"หรือบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ทุกคนรู้จักดีเป็นจุดศูนย์กลาง เริ่มที่ทิศเหนือของวังหลวงในบริเวณทุ่งแก้ว-ทุ่งขวัญหรือแถบ ต.ลุมพลี - ต.คลองสระบัวกันก่อนมีวัดสวยๆ และเรื่องเล่าที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ เรามาเริ่มกันที่ วัดเชิงท่า และอีกหลายวัดในละแวกใกล้เคียงกัน
1.วัดเชิงท่า
วัดเชิงท่า ตั้งอยู่ ต.ลุมพลี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสมัยอยุธยาตอนต้น และได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในบริเวณวัดมีงานศิลปกรรมไทยสมัยอยุธยาหลายสมัยในรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมหลายอย่างที่สวยงาม
- ตามตำนานคำบอกเล่า เหตุที่มาของชื่อวัดเชิงท่า มีเศรษฐีสร้างเรือนหอไว้ให้บุตรสาว แต่บุตรสาวได้หนีตามชายคนรักไปแล้วไม่ย้อนกลับ เศรษฐีคอยแล้วคอยเล่าบุตรสาวไม่กลับมาจึงถวายเรือนหอแก่วัดที่สร้างขึ้น ชื่อว่า "วัดคอยท่า"
พิกัด : https://goo.gl/maps/cyQjnKohKG...
- ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งส่ง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส พอกลับจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดคอยท่า ใหม่ทั้งอาราม บูรณะวัดเสร็จได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดโกษาวาสน์"
- ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ โปรดฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์ วัดโกษาวาสน์ อีกครั้ง (สันนิษฐานว่าน่าจะบูรณะ ในขณะ พระภิกษุสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) บวชเป็นพระ จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้) ครั้นทำการบูรณะเสร็จแล้ว โปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดเชิงท่า"
- เมื่อคราวพระภิกษุสินได้บวชอยู่วัดแห่งนี้ ได้รู้จักพระภิกษุทองด้วงซึ่งบวชอยู่วัดใกล้กัน เช้าวันหนึ่งขณะ พระภิกษุสิน เดินบิณฑบาตร ผ่านบ้านเรือนไทยจีน ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกนั้น ได้พบกับพระภิกษุทองด้วง ขณะภิกษุสหายทั้ง ๒ รอรับบาตรข้าว ได้มีซินแสชาวจีนผู้หนึ่ง เดินผ่านมาพบพระภิกษุทั้ง ๒ ซินแสผู้นั้นพินิจดู พระภิกษุสิน และ พระภิกษุทองด้วง ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาได้สักครู่ จึงกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อเลยที่ได้เห็นกษัตริย์ไทยสององค์มาเดินบิณฑบาตด้วยกันอย่างนี้ และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า พระคุณเจ้าทั้งสองจะต้องได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อย่างแน่นอน ขอให้คำทำนายนี้จงเป็นมงคลสืบไปเถิดพระคุณเจ้า ซินแสถวายคำทำนายแล้ว ได้อำลาจากไป ปล่อยให้ พระภิกษุสิน และ พระภิกษุทองด้วง มองตากันด้วยความรู้สึกขบขัน แล้วเดินบิณฑบาตต่อไป โดยไม่ได้ซักอะไรอีก (พระภิกษุสินคือพระเจ้ากรุงธนบุรี พระภิกษุทองด้วงคือรัชกาลที่ 1)
2.วัดโคกพระยา
วัดโคกพระยา ตั้งอยู่ ต.ลุมพลี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและร้างไปหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เป็นวัดที่มีบันทึกในพงศาวดารไว้หลายช่วงว่าเป็น สถานที่ที่ใช้สำเร็จโทษกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงเวลามีการรัฐประหารผลัดแผ่นดิน หรือทำผิดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งวิธีการสำเร็จโทษของเจ้านายชั้นสูงนั้นจะใช้วิธีการทุบด้วยท่อนจันทร์ แล้วนำพระศพฝังในหลุมซึ่งจัดเตรียมไว้ที่ วัดโคกพญา ซึ่งมีกษัตริย์ถึง 7 พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์อีกจำนวนมากที่ถูกสำเร็จโทษยังสถานที่แห่งนี้
พิกัด : https://goo.gl/maps/u99Jrxtnsw...
ปัจจุบันนักโบราณคดียังไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานที่ชี้ชัดถึงจุดซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้น มีแต่หลักฐานจากจดหมายเหตุ วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดา ระบุถึงสถานที่ที่ใช้สำเร็จโทษว่าตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังหลวง ระหว่างวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส เยื้องไปทางด้านหลังซึ่งก็คือตำแหน่งที่ตั้งของวัดโคกพระยานั่นเอง
3.วัดจงกรม
วัดจงกลม ตั้งอยู่ ต.ลุมพลีเป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น มีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมเป็นองค์ประธาน มีโบสถ์วิหาร มีกำแพงแก้วและคูน้ำล้อมรอบ วัดจงกลม ไม่ปรากฏหลักฐานประวัติความเป็นมาว่าก่อสร้างช่วงไหนแต่พบเรื่องราวเกี่ยวกับวัดจงกรม ในเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยสมเด็จพระเพทราชา” โดยเนื้อความนั้นระบุไว้ว่า
"พระธรรมสารเถร อธิการวัดจงกรม ได้เข้าร่วมถวายพระพรสมเด็จพระเพทราชา ณ พระที่นั่งบรรยงต์รัตนาสน์ ในพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. 2242" ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า “วัดจงกลม” ที่เป็นโบราณสถานในปัจจุบันนี้ น่าจะเป็นวัดเดียวกับวัดจงกรมในเอกสารประวัติศาสตร์ดังกล่าว
พิกัด : https://goo.gl/maps/rBcjby1X8a...
4.วัดพระยาแมน
วัดพระยาแมน ตั้งอยู่ ต.ลุมพลี เป็นวัดขนาดใหญ่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฎหลักฐาน แต่ชื่อวัดพระยาแมนมีปรากฎในแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อคราวที่พระองค์ได้บวชอยู่ที่วัดแห่งนี้พระอธิการได้ทำนายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ และเมื่อคำทำนายเป็นจริงพระเพทราชาจึงได้มีรับสั่งให้สร้างพระอาราม และบูรณะถาวรวัตถุให้มั่นคงแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า แล้วเสร็จทรงพระกรุณาให้มีการสมโภชณ์ 3 วัน และทรงตั้งพระอาจารย์อธิการวัดพระยาแมน ขึ้นเป็น พระยาศรีสัจจญาณมุนี ราชาคณะ ฝ่ายคามวาสี พร้อมถวายเครื่องสมณบริขารพร้อมตามศักดิ์พระราชาคณะทุกประการ
พิกัด : https://goo.gl/maps/fN5sUVApsW...
ภายในวัดพระยาแมนมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญได้แก่พระอุโบสถ เจดีย์ และหอระฆัง
5.วัดพระงามคลองสระบัว
ถัดมาอีกตำบลหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับตำบลลุมพลี ทางทิศเหนือของวังหลวงเหมือนกัน เป็นกลุ่มโบราณสถานแถบตำบลคลองสระบัว ซึ่งมีวัดเก่าแก่ด้วยกันหลายวัด วัดแรกที่จะพาไปคือ วัดพระงาม ซึ่งวัดพระงามในอยุธยาจะมีชื่อซ้ำกันหลายวัด หากจะเดินทางไปชมประตูแห่งกาลเวลาให้ไปที่ต.คลองสระบัวเท่านั้น
วัดพระงาม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และถูกทิ้งร้างหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 มีร่องรอยการบูรณะในช่วงอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดคือ "ประตูแห่งกาลเวลา" ที่มีรากโพธิ์ขึ้นปกคลุม เมื่อเดินผ่านประตูเสมือนว่าหลุดไปอีกมิติ มีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด ด้านหน้าเป็นอุโบสถ มีกำแพงแก้วและคูน้ำล้อมรอบวัด สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง
พิกัด : https://goo.gl/maps/2wwPaTRKAv...
6.วัดเจ้าย่า
วัดเจ้าย่าตั้งอยู่ ต.คลองสระบัว ห่างจากหน้าวัดพระเมรุไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑ กิโลเมตรเศษ ตามเส้นทางที่จะไปเพนียดคล้องช้าง เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงตอนปลายแล้วถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุง
พิกัด : https://goo.gl/maps/xd5VqwNc71...
วัดนี้มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวในอดีตมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ถึงการทำรัฐประหารของขุนพิเรนทรเทพอันเกิดจากแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์แต่งตั้งขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ และสังหารพระยอดฟ้าซึ่งเป็นลูกของตัวเองกับพระไชยราชา
ทางขุนพิเรนทรเทพเห็นว่าแผ่นดินเป็นทุรยศจึงได้ร่วมกับพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก ขุนอินทรเทพ,หลวงศรียศ และหมื่นราชเสน่หาในราชการ วางแผนให้ขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ออกจากพระนครมาคล้องช้างเผือก โดยเสด็จมาทางคลองสระบัวตัดตรงไปออกคลองบางขวดสู่เพนียดคล้องช้าง หลังจากนั้นทางขุนพิเรนได้ซ่องสุมกำลังดักจับขบวนเรือไว้ตรงจุดที่คลองสระบัวและคลองปลาหมอบรรจบกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าคือวัดเจ้าย่า
พอเช้าตรู่ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และราชบุตรที่เกิดด้วยกันนั้น ทั้งพระศรีศิลป์ก็ลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันตรงมาทางคลองสระบัว ทางขุนพิเรนทรเทพและพรรคพวกจึงได้ช่วยกันเข้ากลุ้มรุมจับขุนวรวงศาธิราชกับแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์และบุตรซึ่งเกิดด้วยกันนั้นฆ่าเสีย เว้นชีวิตไว้แต่พระศรีสิน แล้วให้เอาศพไปเสียบประจาน ณ วัดแร้ง แล้วจึงทูลอัญเชิญ พระเทียรราชา ให้ทรงลาผนวช ประกอบพิธีปราบดาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ
7.วัดแร้ง
วัดแร้ง ตั้งอยู่ ต.คลองสระบัว อยู่ห่างจากวัดเจ้าย่าลงมาทางใต้ไม่เกิน 200 เมตรหลังแคมป์คนงานก่อสร้าง วัดแร้งไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างมาสมัยใด แต่มีบันทึกในพงศาวดารว่าเป็นสถานที่นำศพ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงษาธิราชเสียบประจานไว้ยังที่แห่งนี้ ชื่อวัดแร้งมาจากสมัยโบราณมีคนตายจากโรคห่าจำนวนมาก และมีฝูงแร้งลงกินซากศพที่ชาวบ้านเอามากองทิ้งไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดที่ชาวบ้านเรียกกันมาตลอด
พิกัด : https://goo.gl/maps/BF8zvEN2WT...
สภาพวัดเป็นป่าละเมาะ แทบจะไม่เหลือซากวัดอะไรให้เห็น บรรยากาศค่อนข้างวังเวง เหลือเพียงร่องรอยของซากอิฐโบราณกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ บนโคกมีศาลเพียงตาเก่าๆพร้อมด้วยเครื่องสักการะ ซึ่งศาลนี้เป็นศาลของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ตรงโคนต้นไม้มีพระพุทธรูปติดป้ายชื่อว่า "วัดแร้ง"บนโคกมีร่องรอยของอิฐเก่ากระจัดกระจายอยู่พอให้รู้ว่าในอดีตเคยมีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนนั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่าเมื่อก่อนเคยมีชาวบ้านมาปลูกบ้านบนโคกนี้ แต่อยู่ไม่ได้และย้ายออกไป
8.วัดลายสอ
วัดลายสอ ตั้งอยู่ ต.คลองสระบัว เป็นวัดร้างกลางป่าอยู่ลึกถัดจากวัดแร้งเข้าไปไม่เกิน 100 เมตร ไม่พบหลักฐานการสร้างว่าสร้างมาสมัยใด ภายในบริเวณวัดพบซากฐานและผนังของพระอุโบสถที่ถูกรากโพธิ์ยึดไว้ไม่ให้พังทลายลงมา ด้านหลังเป็นพระเจดีย์ประธานทรงลังกาที่มีร่องรอยการขุดกรุจนเป็นโพรงขนาดใหญ่เสี่ยงต่อการพังครืนลงมาไม่ช้าก็เร็ว บรรยากาศทั่วไปดูรกครึ้มวังเวงเห็นเศษซากอิฐใบเสมาและกระเบื้องหลังคาโบสถ์แตกหัก กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ มีพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์ที่หลงเหลืออยู่แค่เพียงหน้าตัก แต่ทุกองค์ที่พบล้วนไม่มีพระเศียร
พิกัด : https://goo.gl/maps/w8EC31VAXL...
วัดลายสอนอกจากจะถูกปกคลุมด้วยป่าจนรกทึบจนมองออกไปแทบไม่เห็นบ้านผู้คนที่อยู่ล้อมรอบวัด ยังมีลำกระโดงและหนองน้ำขนาบอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านตะวันตกสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นร่องรอยของคลองโบราณที่ใช้สัญจรกันในอดีตที่ชื่อคลองปลาหมอ หรือคลองผ้าลาย ปัจจุบันลำน้ำตื้นเขินในช่วงหน้าแล้ง แต่ถ้าช่วงหน้าฝนน้ำจะหลากมาท่วมรอบๆวัดจนเข้าไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่ unseen มากๆ ตัวเจดีย์และผนังโบสถ์ถือว่าเป็นกิมมิคที่ทรงคุณค่าของวัดที่ยังคงรูปมาจนถึงปัจจุบัน
สถานที่แห่งนี้ตรงบริเวณกำแพงโบสถ์เคยใช้เป็นฉากถ่ายทำจริงของภาพยนตร์ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เมื่อ 20 กว่าปีก่อนในฉากที่ ขุนอินทรเทพ (อำพล ลำพูน) กำลังใช้ปืนยิงแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ (ใหม่ เจริญปุระ)
9.วัดแค
วัดท่าแค หรือวัดแค เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในเขตตำบลหัวรอ เยื้องมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวังหลวง ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้าง ภายในวัดแห่งนี้มีรูปทรงเจดีย์แปลกแตกต่างกันถึง 3 แบบ คือแบบอยุธยา แบบล้านนา แบบลังกา วัดแคนี้มีการบูรณะมาหลายสมัย เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 และมีการบูรณะมาเรื่อยๆ และบูรณะใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ในคราวที่พระนเรศวรได้กวาดต้อนผู้คนมาจากหลายๆที่ ผู้คนเหล่านั้นก็อาจมาตั้งชุมชนและก็สร้างเจดีย์ในรูปแบบที่ตัวเองมีศรัทธา องค์เจดีย์ตรงกลางระหว่างเจดีย์แบบลังกา กับเจดีย์แบบอยุธยา เจดีย์องนี้มีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมในศิลปะล้านนา แบบพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน สันนิษฐานว่าชุมชนรอบๆบริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนชาวล้านนา
พิกัด : https://goo.gl/maps/B3Y3wmVUH6vKkhh77
10.วัดช้าง
วัดช้างเป็นวัดร้างตั้งอยู่ ต.หันตรา ด้านทิศตะวันออกของวังหลวง หลังตลาดน้ำอโยธยาใกล้กับวัดมเหยงคณ์ ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัด จากการขุดแต่งพบว่าแผนผังของวัดช้างนั้นเหมือนกับแผนผังของวัดช้างรอบเมืองกำแพงเพชร ที่มีการประดับบริเวณบันไดทางขึ้นด้วยประติมากรรมรูปสิงห์และยักษ์ในฐานะทวารบาลผู้พิทักษ์รักษาศาสนสถาน จากหลักฐานที่พบจากการขุดแต่งข้างต้นจึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าวัดช้างน่าจะมีความสำคัญควบคู่กับวัดมเหยงคณ์มาแต่สมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และอาจเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 นั้น โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่เจ้าอ้าย และเจ้ายี่ พระเชษฐาของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ในการรบแย่งชิงราชสมบัติก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ก็อาจเป็นได้
พิกัด : https://goo.gl/maps/GkHRE2u6ZS...
11.วัดสีกาสมุด
เป็นวัดร้างตั้งอยู่ ต.หันตรา ใกล้กับวัดมเหยงคณ์ วัดสีกาสมุด น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ระยะเดียวกับการสร้างวัดมเหยงคณ์ ราวพุทธศตวรรษที่ 20 มีเจดีย์ทรงระฆังบนฐานประทักษิณเตี้ยๆ อยู่กึ่งกลาง ที่ฐานของเจดีย์มีซุ้มปูนปั้นลักษณะเดียวกันกับวัดช้างล้อม,วัดมเหยงคณ์ มีวิหารขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ส่วนโบสถ์มีความสำคัญน้อยตั้งอยู่ตำแหน่งด้านหลังของเจดีย์ประธาน ในสมัยอยุธยาตอนปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยนี้มีการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานหลายแห่งในเขตเดียวกัน ดังนั้น วัดสีกาสมุดจึงน่าจะได้รับการบูรณะในช่วงอยุธยาตอนปลาย
พิกัด : https://goo.gl/maps/V7pGMvsJcs...
12.วัดนางคำ
วัดนางคำเป็นวัดร้างตั้งอยู่ ต.ไผ่ลิง เป็นวัดที่มีขนาดเล็กไม่ทราบประวัติการสร้าง สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรรม น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เคยมีกล่าวถึงในพงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จฉลองสมโภชน์วัดนางคำด้วยพระองค์เอง สิ่งที่น่าสนใจมีเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาเป็นองค์ประธาน พบพระพุทธรูปหินทราย และใบเสมาที่แตกหัก วางอยู่เกลื่อนกลาด ตัวโบสถ์เหลือแต่ส่วนพื้น
พิกัด : https://goo.gl/maps/FsTco5eYDM...
13.วัดสาริกา
วัดสาริกาเป็นวัดร้างตั้งอยู่ ต.ไผ่ลิง ตั้งอยู่ด้านหลังวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นวัดที่อยู่นอกแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ แต่บางแผนที่โบราณจะเรียกวัดนี้ว่า วัดเจดีย์ยอดหัก ปัจจุบันวัดนี้จะเหลือแค่เพียงซากเจดีย์ทรงลังกา ตัวองค์เจดีย์ถูกขุดเจาะจนพรุนตั้งแต่ด้านบนลงมาจนถึงด้านล่าง ช่องกรุถูกเจาะเป็นโพรง และบริเวณใต้ฐานเจดีย์ก็ถูกเจาะเหมือนกัน บริเวณห้องกรุมีแผ่นศิลาแลงกั้นเป็นห้องเล็กๆ ในสมัยโบราณมักจะไว้สำหรับเก็บของมีค่าพวกแก้วแหวนเงินทองและพระพุทธรูป ด้านล่างของเจดีย์จะเป็นที่เก็บพระธาตุตามสมัยนิยม ด้านฝั่งตะวันออกของเจดีย์ พบซากอิฐบนเนินดิน ลักษณะเหมือนเป็นวิหาร หรือโบสถ์ แต่ไม่พบใบเสมา และกระเบื้องเชิงชาย
พิกัด : https://goo.gl/maps/SAhE76wycf...
14.วัดบันไดนาค
วัดบันไดนาค เป็นวัดร้างตั้งอยู่ ต.สำเภาล่ม ทางทิศใต้ของวังหลวง ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด ซึ่งบริเวณนี้ในสมัยโบราณเป็นชุมชนเมืองปท่าคูจาม มีกลุ่มวัดร้างอยู่หลายแห่งใกล้ๆกันอย่างวัดเตว็ด วัดพระยากง วัดพระยาพาน วัดตะมะ ซึ่งบางแห่งก็แทบไม่เหลือซาก หรือถูกทิ้งร้างอยู่ในป่ามีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกับวัดโคกขมิ้นหรืออีกหลายวัด วัดนี้ผมเคยเข้ามาสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อนแต่หาทางเข้าไม่เจอเพราะเต็มไปด้วยป่าหญ้าจนมองไม่เห็นทาง แต่ปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้เข้าไปแผ้วถางวัชพืชออกจนเกือบหมดเผยให้เห็นความงามของโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ รูปทรงของเจดีย์เป็นทรง 8 เหลี่ยม ซึ่งอาจารย์ ดร.ฉันทัส เพียรธรรมได้ให้ความเห็นไว้ว่าเป็นลักษณะเดียวกับเมรุรายวัดไชยวัฒนาราม ตัวเจดีย์ถูกขุดเจาะจนพรุนจากนักล่าสมบัติ จนกลายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ภายในพื้นที่ของวัดมีเศษอิฐ กระเบื้องหลังคาโบสถ์ กระจายเกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณ มีเศษชิ้นส่วนของผนังกำแพงของวิหาร หรืออุโบสถไม่ทราบได้ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ หากมีการขุดแต่งคงจะทราบผังที่ชัดเจนของวัดนี้
พิกัด : https://goo.gl/maps/uWQX5pGnmz...
15.วัดโคกขมิ้น
วัดโคกขมิ้นเป็นวัดร้างตั้งอยู่ ต.สำเภาล่ม แถบทุ่งปากกราน ปทาคูจาม อยุธยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ภายในโบราณสถานวัดโคกขมิ้นหลงเหลือแค่ฐานชุกชีของพระประธานขนาดใหญ่สูงท่วมหัว ตัวองค์พระถูกทำลายหลงเหลือแค่พระชานุลงมาถึงนิ้วพระบาทข้างซ้าย และเศษซากขององค์เจดีย์ทรงปรางค์ 2 องค์ มีร่องรอยการขุดกรุหาสมบัติทั้งใต้ฐานชุกชีและองค์เจดีย์จนพรุนไปหมด แต่ยังคงมีความงามของลวดลายปูนปั้น และเศษภาชนะเครื่องเคลือบดินเผาโบราณแตกหัก หลงเหลืออยู่บ้าง ปัจจุบันเข้าช่วงหน้าฝนแล้ว เส้นทางการเดินเข้าไปชมภายในโบราณสถานค่อนข้างรกชัฎ อาจเจอสัตว์เลื้อยคลานบ้างควรแต่งกายให้รัดกุมและสวมรองเท้าผ้าใบเพื่อเป็นการป้องกันจะดีที่สุด
พิกัด : https://goo.gl/maps/NnokqcZT3Y...
16.วัดกระซ้าย
วัดกระซ้าย หรือวัดกระชาย หรือวัดเจ้าชาย เป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางทุ่งปากกรานหรือบ้านกลางคลองตะเคียน ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวังหลวง วัดนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงเรื่องประวัติการสร้างว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นผู้สร้าง หรืออาจเก่ากว่านั้นในสมัยอโยธยา ด้วยศิลปะขององค์เจดีย์ที่อยู่ร่วมสมัยนั้น และมีการบูรณะทับซ้อนกันจนถึงอยุธยาตอนปลาย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัด วัดนี้น่าจะถูกบูรณะโดยสมเด็จพระเอกาทศรถ เพื่ออุทิศให้ใครสักคน
วัดนี้ยังปรากฏใน"คำให้การขุนหลวงหาวัด”เกี่ยวกับการประหารชีวิตพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้สถานที่แห่งนี้สังหารพระศรีศิลป์ ที่คิดลอบปลงพระชนม์พระองค์ถึง 2 ครั้ง 2 ครา
ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 แถบวัดเจ้าชาย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ ยังเป็นที่ตั้งทัพของพม่า ในการโจมตีพระนครอีกด้วย
พิกัด : https://goo.gl/maps/8oZGbE58dd...
วัดกระซ้ายเป็นที่ร่ำลือกันถึงเรื่องอาถรรพณ์และความเฮี้ยน ใครมายิงนก ตกปลา ทำบาปแถวนั้นจะยิงไม่ออก ไม่ได้ปลาสักตัว ชาวบ้านบางคนที่เข้ามาท้าทายสิ่งลี้ลับในเวลากลางคืนแอบเข้ามาขุดพระเครื่องของโบราณแล้วเจอดีไปหลายคน และเป็นที่น่าแปลกที่วัดแห่งนี้มักมีคนมาผูกคอตายตามต้นไม้รอบๆวัด จนเมื่อต้นปี 63 ก็เป็นรายที่ 12 แล้ว
-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ
-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง Fanpage : สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว
-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด
สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว
วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.06 น.