หลังจากวิกฤตโรคระบาดโควิท-19 ทุเลาลง ใครๆก็เริ่มออกไปเที่ยวกันหมดแล้ว ผมเองก็พอไปบ้าง แต่ก็ยังไม่เต็มที่ จริงๆ เป็นคนชอบเที่ยวธรรมชาติ ไปเที่ยวตาม อุทยานฯอะไรทำนองนี้  และการเที่ยวอุทยานแบบ New normal หลังยุคโควิดเนี่ย เราต้องจองคิวผ่านแอพ QueQ ก่อนเข้าด้วย โดย ทางอุทยานฯ เค้าจะปล่อยคิวจองล่วงหน้า 15 วัน ซึ่งตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม เนี่ย จองที่ไหนไม่ได้เลยสักกะที่ มาจองได้ก็ ภูสอยดาวช่วงปลายเดือนนี่แหละ ถือเป็นทริปแรกหลังโควิด และรีวิวแรกใน README เลย

จริงๆทริปนี้ เราอยู่บนภูสอยดาว 2 วัน 1 คืน คือ วันที่ 25-26 กรกฎาคม แต่เพื่อประหยัดเวลา เราเลยเดินทางกันช่วงค่ำของวันที่ 24 เพื่อจะได้ถึง อช.ภูสอยดาวในช่วงเช้า และครั้งนี้เราเดินทางมากับทีมเพจส่อวรูดูวิว ที่มีประสบการณ์ในเรื่องการเดินป่า กางเต็นท์ มาระดับหนึ่ง จึงแทบไม่ต้องทำอะไรเลย พกมาแต่ของใช้ส่วนตัว เดี๋ยวพวกเค้าช่วยเตรียมของส่วนกลางที่จำเป็นมาให้ ไม่ว่าจะอาหารที่จะไปกินกันบนยอดภูฯ จนกระทั่งของที่เราจะจ้างลูกหาบแบกขึ้นไปให้เค้าก็จัดการช่วยติดต่อให้ และก่อนเริ่มเดินก็แจกน้ำดื่มให้คนละ 2 ขวด เครื่องดื่มเกลือแร่ไว้จิบเล่นระหว่างเดินอีกคนละขวด

เราเริ่มเดินขึ้นช่วงเวลาประมาณ 8:30 น. ปกติ อ่านรีวิวภูสอยดาวจากบล็อกไหนๆ ก็เจอแต่บรรยากาศฝนตก เราเลยเก็บกล้องไว้ในกระเป๋าเลยจ้า ไม่ได้หยิบออกมาถ่ายเลยเพราะกลัวฝน แต่ขอเตือนคนที่กำลังคิดจะไปเที่ยวที่นี่ก่อนเลย ถ้าเดินๆ แล้วเจอป้ายบอกทางบอกตำแหน่ง ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เนิน" ซึ่งประกอบไปด้วย 
   1.เนินส่งญาติ
   2.เนินปราบเซียน
   3.เนินป่าก่อ
   4.เนินเสือโคร่ง
   5.เนินมรณะ  
เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดี มีความชันผสมอยู่แน่ๆ สำหรับผม ดอยแรกหลังโควิด . . .  ขาอ่อนตั้งแต่เนินส่งญาติเลยจ้า

แต่ก็เดินมาเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก กระหายก็จิบน้ำ บ้างก็จิบเกลือแร่ ค่อยๆเดิน ค่อยๆจิบ จนเวลาผ่านมา 4 ชม. เราเพิ่งหลุดออกมาจากเนินเสือโคร่ง กำลังขึ้นเนินมรณะ ซึ่งเป็นเนินที่มีหญ้าสูงท่วมหัวปกคลุมอยู่ระหว่างสองข้างทางเดิน  ค่อยๆเดิน ค่อยๆก้าว ก็เจอมุมเปิดให้ออกไปชมวิวนิดหน่อย 

เดิมที่บอกไว้ว่า ตอนเดินขึ้นผมเก็บกล้องไว้ เพราะกลัวกล้องจะเปียกเพราะเจอฝนตก ตอนนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแล้วครับ ผมเก็บกล้องไว้ในเป้ที่เดิม แต่ไม่เอาออกมาถ่ายเพราะเหนื่อยครับ T^T แรงหมดแล้วจริงๆ เมื่อพ้นเนินมรณาขึ้นมา น้ำก็หมด เหลือแค่เกลือแร่ ครั้นจะดื่มที่เดียวก็ไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ ก็ต้องค่อยๆเดิน 3 ก้าวพักนี่แหละ บางจังหวะก็แกล้งหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเล่นๆ

ขึ้นมาเจอป้าย "ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว" ก็ถือว่า ฟินไปเปราะหนึ่ง แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจไป ยังเหลืออีกประมาณ 500 เมตรให้เดินไปยังลานกางเต็นท์ อากาศยังร้อน ที่ดีกว่าเดิมหน่อยก็คือเริ่มมีเมฆเข้ามาบ้างแดดให้บ้าง 

เวลาประมาณ บ่ายโมงครึ่ง มาถึงจุดกางเต๊นท์ สิริรวมใช้เวลาเดินทั้งหมด ราวๆ 5 ชม. หนักเอาการเลย และเราก็ยังทำอะไรไม่ถูกเลย จะกางเต็นท์ ก็ยังไม่มีให้กาง เพราะลูกหาบยังมาไม่ถึง แต่ทีมเพจส่องรูดูวิว เขาอ่านสถานการณ์ขาด แบกฟลายชีทสำหรับแคมป์กลางขึ้นมาเอง ก็เลยได้กางฟลายชีททำแคมป์กองกลางไว้ ให้พอมีที่ร่มได้นอนพัก รอเวลาแดดเริ่มเบาลง เราก็ออกไปเดินทัวร์รอบบริเวณจุดกางเต็นท์ 

เดินเลยไปทางด้านหลังศูนย์บริกางนักท่องเที่ยว  ก็จะเจอลานสนอีก แถมมองเห็นยอด 2101 (ยอดสองพันหนึ่ง) ซึ่งทางอุทยานฯจะเปิดให้พิชิตเพิ่มเติมในช่วงปลายปี คือช่วงที่หมดหน้าฝนไปแล้วนั่นแหละ คงจะด้วยความชันของเส้นทางและความปลอดภัยเป็นเหตุผลหลักแหละ

ลานข้างบนค่อนข้างกว้าง เดินได้พอเหนื่อยอีกรอบ หลังจากพักจนหายเหนื่อยจากการเดินขึ้นมาถึงลานสนเมื่อช่วงเช้า และอีกหนึ่งไซไลท์ของที่นี่ก็คือ หลักเขตแบ่งพื้นที่ ไทย-ลาว คืแเขาลูกนี้ กินบริเวณสองประเทศคือประเทศไทย และประเทศลาว ซึ่งข้างบนไม่มีด่านศุลกากร หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแต่อย่างใดนะครับ สามารถเดินข้ามไปฝั่งลาวได้เลย ไม่มีการคัดกรองใดๆ กลับมาต้องกักตัว 14 วันหรือไม่นั้น ผมก็ไม่แน่ใจ 555 คงจะแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านเนอะ 

เดินเลยหลักเขตฯ มา ก็จะเป็นการเดินท่ามกลางลานสนเหมือนเดิม เส้นทางเดินก็จะเป็นการเดินวนรอบศูนย์บริการนักท่องเที่ยวนี่แหละครับ แต่แค่เป็นการวนที่มีรัศมีใหญ่หน่อย ใหญ่จนมองไปไม่เห็นอาคารศูนย์บริการเลยล่ะ  และเมื่อเราวนมาถึงหน้าศูนย์บริการฯ ก็จะมาถึงจุดชมพระอาทิตย์ตก 

เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้ว เราก็แยกย้ายกันกลับเต๊นท์ เพื่อเตรียมตัวทานมื้อค้ำพร้อมกัน ถือว่าหมดกิจกรรมหลักของการมาชมภูสอยดาวครั้งนี้ แต่สำหรับบางคนมันยังไม่จบ เพราะยังมีกิจกรรมกลางคืนสำหรับคนที่หลงรักในดาราศาสตร์ นั่นคือการดูดาว บางคนก็มานั่งดูดาว บางคนก็เอากล้องถ่ายรูปมาถ่ายดาว แถมครั้งนี้ ฟ้าเปิดมีทางช้างเผือกมาให้เรามองเห็นด้วยตาเปล่าด้วย ฟินๆกันไป แถมทีมของเพจส่องรูดูวิว เค้านิยมถ่ายทางช้างเผือกกันเป็นทุนเดิม ผมเองก็ได้ถือโอกาสฝึกวิชากับพวกเค้านี่แหะ ก็ถือโอกาสขอแปะรูปทางช้างเผือกที่เพิ่งหัดถ่าย หัดแต่งไว้เพื่อเป็นการปิดท้ายรีวิวครั้งนี้ก็แล้วกัน 

รายละเอียดที่ควรรู้ 
- ค่าเข้าอุทยานฯ คนละ 40 บาท
- ค่าจ้างลูกหาบ กิโลกรับละ 30 บาท ต่อเที่ยว (หาบขึ้น-ลง ก็กิโลกรัมละ 60 บาท)
- ค่าพื้นที่กางเต็นท์ คนละ 30 บาท
- ค่าเช่าเต็นท์ สำหรับ 2 คน 705 บาท* (หากเช่าเต็นท์ จะไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่กางเต็นท์)

*ราคาค่าเช่าเต็นท์ รวมค่าหาบเต็นท์ด้วย ถึงแม้ว่าเต็นท์จะรอเราอยู่บนลานสนแล้วก็ตาม 

SalaryPacker

 วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 21.49 น.

ความคิดเห็น