แค่อยากออกไป : 12 พิกัดเด็ดเกาะสีชัง ชลบุรี
“...ถิ่นสุขกายสุขด้วย ถิ่นดี
จิตรโปร่งปราศราคี ชุ่มชื้น
สองสุขแห่งชาวสี- ชังเกาะ นี้แฮ
อายุย่อมยืนพื้น แต่ร้อยเรือนริม...”
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
กาะสีชังอำเภอที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีทั้งภูเขาและทะเลในที่เดียวกัน บนเกาะมีพระจุฑาธุชราชฐาน เป็นพระราชวังแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่บนเกาะ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์เป็นสถานที่ตากอากาศที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศดี เงียบสงบ อากาศดี ใกล้กรุงเทพเดินทางง่าย สามารถเที่ยวได้ในวันเดียวหรือพักค้างคืน มีพิกัดท่องเที่ยวหลากหลาย มีมุมถ่ายรูปเยอะมาก ที่สำคัญอาหารอร่อยด้วยนะ
ใช้งบน้อย เดินทางง่าย ใกล้กทม. ไปเช้ากลับเย็นได้ อาหารอร่อย บรรยากาศดี ครบจบแบบนี้ไม่ไปได้ยังไงกัน
1.ท่าเรือเกาะสีชัง (ท่าล่าง)
การเดินทางไปเกาะสีชัง เราจะต้องมาขึ้นเรือที่ 'เกาะลอย' จะมีบรืการเรือโดยสาร ข้ามฝากไปเกาะสีชัง เรือเที่ยวแรกเวลา 8.00 น. เรือจะออกทุก 1 ชั่วโมง เรือเที่ยวสุดท้ายไปยังเกาะสีชังเวลา 20.00 น. ค่าโดยสารคนละ 40 บาท ใช้เวลาเดินทางราว 45 นาที ก็จะถึงเกาะสีชัง
บริเวณท่าเรือเกาะสีชัง (ท่าล่าง) เป็นท่าเรือหลักสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นจุดที่เราต้องวางแผน การเดินทางภายในเกาะ จะมีให้บริการหลากหลาย
1.รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สกายแลป รับจ้าง
2.บริการรถสกายแลป นำเที่ยวรอบเกาะ นั่งได้ 4 คน
ราคาราวๆ 250-300 บาท
3.บริการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ ราคาราวๆ 300 บาท ต่อวัน
เส้นทางภายในเกาะสีชัง มีทั้งพื้นราบปกติ มีทางชัน
และทางจุดก็ชันมาก ถ้าเช่ารถขับเองอาศัยความชำนาญ
ในการขับขี่ขึ้นลงทางชันมากหน่อย ถ้าไม่ชำนาญเราว่าใช้บริการนำเที่ยว จะปลอดภัยกว่านา
2.สะพานอัษฎางค์
พิกัดยอดฮิตของเหล่านักท่องเที่ยว พูดถึงเกาะสีชังภาพแรกที่นึกถึง ก็จะเป็นสะพานอัษฎางค์แห่งนี้เสมอ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างสะพานอัษฎางค์ ช่วง รศ.110 เป็นท่าเทียบเรือให้ประชาชนได้ใช้ ต่อมาได้มีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐาน สะพานอัษฎางค์ถูกใช้เป็นท่าเทียบเรือพระที่นั่ง และมีการสร้างท่าเทียบเรือใหม่ สำหรับให้ประชาชนใช้งานแทน
3.พระจุฑาธุชราชฐาน
พระราชวังแห่งเดียว ที่ตั้งอยู่บนเกาะ อดีตเคยเป็นพระราชวังฤดูร้อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ภายในเขตพระราชวัง มีตึกหนึ่งถึงสองชั้นก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก ปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน เป็นสถานที่จัดนิทรรศการ เล่าถึงเหตุการณสำคัญในเกาะสีชัง ประวัติบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในเกาะสีชัง รวมไปถึงพัฒนาการของสิ่งปลูกสร้างในเกาะสีชัง ส่วนอาคารไม้ริมทะเล ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็น ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และร้านกาแฟ
ปัจจุบันมีอาคารเหลืออยู่จำนวน 5 หลัง เรือนไม้ริมทะเล ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ ตึกวัฒนา และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร พระจุฑาธุชราชฐานตั้งในเขตภูเขาลาดชัน มีการปลูกต้นไม้ในสวน มีความร่มรื่นเป็นอย่างมาก ภายในสวนมีสระน้ำ บ่อน้ำ ลำธาร น้ำตก น้ำพุ บันได ทางเดิน และถ้ำ ทั้งหมดเป็นชื่อพระราชธาน ไพเราะคล้องจองกัน
4.วัดอัษฎางคนิมิตร
พระเจดีย์อุโบสถ วัดอัษฎางคนิมิตร ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตพระจุฑาธุชราชฐาน สร้างขึ้นใน รศ.107 สร้างขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเพื่อแทนที่ วัดเกาะสีชัง ที่มีพื้นที่คับแคบและไม่เหมาะ และไม่เป็นที่สงบสำหรับพระสงฆ์
ลักษณะเด่นของวัดอัษฎางคนิมิตร เป็นการรวมกันของพระอุโบสถและพระเจดีย์ เข้าด้วยกันเป็นอาคารเดียว ถือเป็นพุทธศิลป์แบบใหม่ ไม่เคยสร้างในลักษณะนี้ที่ใดมาก่อน
5.แหลมงู
พิกัดนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาะสีชัง บริเวณนั้นเป็นร่องน้ำลึก ทำให้มีปลาใหญ่ชุกชุม จนกลายเป็นที่สุดฮิตของนักตกปลา และกางเต็นท์ เหมาะแก่การนั่งรับลมชมวิว เป็นจุดถ่ายภาพที่ดี มีซุ้มต้นไม้และโขดหิน ให้เดินลัดเลาะเข้ามาได้
จากแหลมงูที่ยื่นออกไป เราจะเห็นเกาะเล็กๆ อีกฝั่ง ถ้าหากเรามาถึงจุดนี้ในช่วงน้ำลง จะสามารถมีสันแนวหิน ให้เดินข้ามไปยังเกาะนี้ได้ด้วยนะ
6.ผาท่ายายทิม
พิกัดนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ ใกล้กับท่ายายทิมเดิมเป็นโรงโม่หิน ปัจจุบันเหลือเป็นลานกว้างมีหน้าผาหิน ที่เกิดจากการระเบิดหินในอดีตเป็นฉากหลัง จุดนี้ควรค่าแก่การถ่ายภาพบุคคลเป็นอย่างมาก
7.แหลมเขาขาด
พิกัดนี้เป็น จุดชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่ต้องห้ามพลาด อยู่ทางด้านตะวันตกที่สุดของเกาะสีชัง มีสะพานวชิราวุธเป็นทางเดินคอนกรีต จากช่องอิศริยาภรณ์ (ช่องเขาขาด) ลัดเลาะลงไปสู่แหลมเขาขาด เป็นจุดชมวิวแบบ 360 องศา มีลักษณะเป็นภูเขาหิน นิยมมานั่งชมแสงสุดท้ายกัน
8.มณฑปรอยพระพุทธบา
รอยพระพุทธบาทบนเกาะสีชัง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเชิญศิลารอยพระพุทธบาทโบราณมาจากพุทธคยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้เชิญรอยพระพุทธบาท ขึ้นประดิษฐาน ณ ไหล่เขายอดพระจุลจอมเกล้า เพื่อเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาเกาะสีชัง
พิกัดนี้ยังเป็นพิกัดชมพระอาทิตย์จากมุมสูง มองเห็นวิวชุมชนบนเกาะสีชังได้แทบทั้งเกาะ ในวันที่ฟ้าเปิดอากาศดี สามารถมองออกไปไกล จนถึงแผ่นดินใหญ่ได้เลยนะ พิกัดนี้ถ้าขับรถขึ้นไปเอง เส้นทางโหดมาก ชันมากขาขึ้นก็จะรู้สึกแค่มันชันมาก แต่ขาลงนี่สิหวิวมากมันชันจนไม่รู้ว่าจะเบรคยังไง พิกัดนี้รถต้องพร้อมคนต้องพร้อมมาก โหดจริง
9.ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเกาะสีชัง จากจารึกจีนโบราณที่จารึกไว้ในไม้สักเก่าแก่ แปลว่า ขณะที่มาจอดเรือทอดสมอ อยู่หน้าเกาะสีชัง ได้เห็นแสงไฟอยู่บนเขาจึงได้ปีนขึ้นไปดู บนรูปหินย้อยลักษณะเหมือนศีรษะคนตรงตามตำราจีน เป็นรูปเจ้าพ่อที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ อยู่ในถ้ำในเขากลางทะเล และหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีน้ำอยู่ข้างหน้า ตามที่ชาวจีนโบราณเชื่อถือกัน
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มหัศจรรย์
ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ร่ำลือ เชื่อกันว่า ถ้าได้มาสักการะติดต่อกัน 3 ปี จะสมปรารถนาในสิ่งที่ขอ
10.แหลมถ้ำพัง
ตั้งอยู่ตอนกลางฝั่งตะวันตกของเกาะสีชัง เป็นภูเขาหินสลับทุ่งหญ้า มีพื้นหลังเป็นท้องฟ้าและทะเล ควรค่าแก่การ F ชุดเดรสขาวมายืนหมุนๆ ตัว ในทุ่งหญ้ามาก พิกัดนี้จะมีคนมาตกปลาเยอะแยะเลย เส้นทางคดเคี้ยวประมาณนึง ขับขี่ระวังด้วยนา
11.จุดชมวิวเขาถ้ำพัง
พิกัดที่เราไปเจอมาโดยบังเอิญ เป็นอีกจุดที่นักตกปลานิยมมากัน จุดนี้เป็นโขดหินขนาดใหญ่ ยื่นออกไปในทะเล มองออกไปเป็นวิว 360 องศา มองออกไปทางขวาจะเห็นหาดถ้ำพัง หนึ่งในไม่กี่หาดบนเกาะสีชัง มองไล่ยาวไปจะเห็นถึงแหลมถ้ำพัง เป็นพิกัดลับๆ ที่วิวดีมาก เดินลงไปตรงโขดหินต้องระวังหน่อย แอบอันตรายอยู่ แนะนำให้มากันหลายๆ คนจะได้อุ่นใจ
12.ป้าหน่อย ริมทางทะเลเผา
พิกัดนี้ต้องห้ามพลาดเลย อิ่มเอมกับวิวทิวทัศน์แล้ว อย่าลืมดูแลปากท้องนา กดลิ้งพิกัดแล้วตรงมาเลย จุดสังเกตุ คือโต๊ะสีฟ้าๆ แบบในภาพ คือรสชาติเยี่ยม ราคาน่าคบหา คนขายใจดี คนกินน่ารัก 10/10
เส้นทางสัญจรบนเกาะสีชัง มีทั้งพิกัดที่เดินทางได้ไม่ยาก แล้วก็มีพิกัดที่เส้นทางชันมากโหดมากอยากให้ประเมินดีๆ ถ้าไม่ชำนาญหรือไม่มันใจใช้บริการรถนำเที่ยวดีกว่า แล้วถ้ามันใจ ก็ขับขี่กันดีดีนาไปไปไป
สามารถแวะไปเยี่ยมเยือน แลพูดคุยกันกับเราได้ที่
อย่าหาเหตุผลที่จะเริ่มออกเดินทาง มันก็แค่นั้นแหละ...แค่อยากออกไป
#แค่อยากออกไป#เกาะสีชัง #สีชัง #ชลบุรี #morefunตะวันออก
แค่อยากออกไป
วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 23.25 น.