ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ผมทราบว่า น้องที่คุ้นเคยกัน ซึ่งเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยจันทรเกษม
จะลงพื้นที่สำรวจเพื่อทำวิจัย เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทางน้ำ คลองบางเขน
โดยร่วมกับ ชมรมอนุรักษ์คลองบางเขน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนเก่าแก่ ชุมชนคนคลองบางเขน
ผมเลยขอติดตามไปเที่ยวด้วยคนครับ
เรานัดกัน ที่วัดเทวสุนทร ใกล้ ๆ กับสถานีบางเขน รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ที่จะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
โปรดสังเกตนะครับว่า เมื่อเวลาเปลี่ยน ชีวิตเราก็เปลี่ยน
ทุกวันนี้ ชีวิตเราจะผูกพันกับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้ามากขึ้น
เวลาไปไหนมาไหน เราจะอ้างอิงเส้นทางรถไฟฟ้า
แต่ทริปวันนี้ เราจะมองย้อนกลับไปว่า ในช่วงหนึ่งของกาลเวลา
ชีวิตของ ปู่ย่าตายาย ของเรา ท่านดำรงอยู่ได้อย่างไร
ร่องรอยแห่งวิถี ได้บอกอะไรกับคนรุ่นเราบ้าง .. ไม้ใหญ่ ถ้าไม่มีรากที่แข็งแรง จะยืนต้นอยู่ได้อย่างไรละครับ
บ้าน วัด คลอง สวน คือ ความผูกพันที่ยากจะแยกออกจากกัน
คลอง ในวันนั้น ไม่ได้หมายถึง เครื่องมือป้องกันน้ำท่วม อย่างในวันนี้
คลอง คือทุกอย่างของชีวิต เป็นน้ำสำหรับกิน น้ำสำหรับอาบ น้ำสำหรับทำสวน
เป็นเส้นทาง เชื่อมชีวิต ระหว่างบ้านกับบ้าน บ้านกับวัด บ้านกับตลาด
คลองบางเขน หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อนี้ โดยเฉพาะเวลามีข่าวฝนตกหนักในกรุงเทพ
หน่วยงานของราชการ จะพานักข่าวไปดูอุโมงค์ยักษ์ ที่ฝังตัวอยู่ใต้คลองนี้
แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า คลองบางเขน เป็นคลองธรรมชาติ ที่เก่าแก่ของกรุงเทพ
มีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยตอนกลางโน่นเลยครับ
งานนี้ ไม่ใช่เรื่อง มโน เอาเองนะครับ
หากคนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ จะมีเครื่องมือตรวจที่แม่นยำ
เครื่องมือหนึ่งที่เขาใช้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง คนกับวัด เมื่อมีคนก็มีวัด
เมื่อมีวัด ก็จะดึงดูด ให้คนมาตั้งชุมชนกันหนาแน่นมากขึ้น
และวัดปากน้ำ ซึ่งเป็นวัดที่ปากคลองบางเขน เป็นวัดแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองบางเขน
ประมาณว่า ตั้งขึ้นช่วงหลังเสียกรุงครั้งแรกครับ
และถ้าถามว่า ในอดีต ชุมชนคลองบางเขน มีความหนาแน่นเพียงไร
ก็ให้สังเกต จากจำนวนวัด ซึ่งมีเป็นจำนวนมากทีเดียว เช่น วัดฝาง วัดกำแพง
วัดเลียบราษฎร์บำรุง วัดทองสุทธาราม วัดโพธิ์ทองล่าง วัดทางหลวง วัดกล้วย วัดน้อย และวัดเทวสุนทร หรือวัดสี่แยก
เส้นทางท่องเที่ยวคลองบางเขน เราสามารถเริ่มต้น และลงท้ายได้หลายแบบ
แบบแรก เราเริ่มต้น ที่วัดเทวสุนทร
ในอนาคต เดินทางได้สะดวก ลงรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีบางเขน ซึ่งอยู่หน้าวัดเลยครับ
หรือจะมารถโดยสาร ก็ง่าย มาตามถนนวิภาวดี จากแยกลาดพร้าว เลยแยกเกษตร นิดเดียวก็ถึงแล้ว
วัดเทวสุนทร หรือที่ชาวบ้านรุ่นปู่ย่าตายาย เรียกว่า วัดสี่แยก
ไม่ใช่เพราะมีสี่แยกไฟแดงถนนตัดกันหรอกครับ หากเป็นคลองที่ตัดกัน
คลองแนวเหนือใต้ คือ คลองเปรมประชากร
คลองด้านตะวันออก ไปทะลุคลองลาดพร้าว ที่สะพานบางบัว
ส่วนคลองด้านตะวันตก คือ คลองบางเขน ที่เราจะไปล่องเรือกันวันนี้ครับ
ก่อนจะล่องเรือ เราเดินชมรอบ ๆ วัด แม้จะเป็นวัดเก่าวัดหนึ่งของกรุงเทพ
แต่ดูเหมือน ปัจจุบัน จะมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ มาทดแทนของเก่า ที่เสื่อมโทรมลงไปตามกาลเวลา
หลังจากนั้น เราก็ไปเดินชุมชนตลาดบางเขน ซึ่งแม้จะเป็นตลาดเก่าแก่ ไม่แพ้ตลาดร้อยปีในต่างจังหวัด
แต่ด้วยมูลค่าที่ดินที่พุ่งราวกับจรวด
ตลาดเก่า ก็ต้องหลีกทางให้กับตึกสูงที่กำลังผุดราวกับเห็ดต้นฤดูฝน
สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในวันนี้ คือ ศาลเจ้าแม่ทับทิม และโรงเจซินซุ่นตั๊ว
ซึ่งเป็นที่พึ่งทางจิตใจของผู้คน คู่กับชุมชนมายาวนาน
แม้ในวันนี้ อาจจะเงียบเหงาลงไปบ้าง
เพราะสมาชิกชุมชนที่ลดลงนั่นเองครับ
ที่เห็นเป็นวง ๆ คือ ชิ้นส่วนในการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางเขน
เราทำได้หลายเรื่องเกี่ยวกับน้ำ แต่เรื่องเดียว ที่เรายังไม่ได้ทำ คือ ทำน้ำในคลองให้ใส
สิ่งที่ผมสังเกตเห็น ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า คือ ถ้าหากเป็นบ้านของคนคลองบางเขน
บ้านด้านติดคลองจะไม่ก่อกำแพงทึบ และมีคูที่เชื่อมคลอง เพื่อดึงน้ำเข้าร่องสวน
แต่ถ้าเป็นคนต่างถิ่น กำแพงบ้านมักจะตั้งตะหง่าน แถมมีท่อน้ำทิ้งลงคลองอีกต่างหากครับ
แวะรับกรรมการชมรมรายทางไปด้วยครับ
ชมพู่ริมคลองออกลูกดกมาก แต่ไม่มีไม้สอย ก็เลยได้แต่มอง
กรรมการชมรมอนุรักษ์คลองบางเขน พร้อมหน้าพร้อมตากัน
มีเรื่องให้คุยกันมากมาย
จุดที่เราจะแวะต่อไป คือ สวนลุงพุ้ย สวนเกษตรผสมผสาน ปลอดสารเคมี
ใครจะคิดว่า ใจกลางกรุงเทพวันนี้ จะมีสวนริมคลอง ซ่อนตัวอยู่
แล้วเราก็มาถึงหน้าสวนลุงพุ้ยแล้วครับ
หลังจากชิมผลไม้ กันพอหอมปากหอมคอแล้ว ลุงพุ้ยก็พาพวกเราเดินชมสวน
เรื่องจับจอบ จับเสียม ผมไม่ถนัด เพราะวัน ๆ ก็จับแต่เมาท์ กับคีย์บอร์ด
แต่ก็พอซึมซับได้ ถึงความตั้งใจของลุงพุ้ย ที่จะทำสวนแปลงนี้
ให้เป็นแหล่ง พืช ผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัยของ คนคลองบางเขน และผู้มาเยือนครับ
ระหว่างนั่งเรือล่องคลองบางเขน สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึก ว่า เป็นสิ่งแปลกแยกจากวิถีคนคลอง
ก็คือ เขื่อนคอนกรีต ที่ดูแข็งแรง มั่นคง ยิ่งนัก
ผมไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม
ไม่มีความรู้ เรื่องระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำ
อีกทั้งก็ไม่ได้เป็นคนคลอง
แต่ด้วยสายตา และความนึกคิดแบบพื้น ๆ อย่างเช่นที่บ้านลุงพุ้ย
จะมีร่องน้ำ เข้ามาถึงหน้าบันไดบ้าน มีอู่เรือ มีที่กลับเรือ
เปรียบเทียบเหมือนกับ ที่บ้านผม มีถนนเข้าบ้าน มีที่กลับรถ แล้วก็มีโรงรถ
ถ้าวันดีคืนดี มีแบบริเออร์มาปิดหน้าบ้าน ผมจะทำอย่างไรกับชีวิตดีครับ
แล้วคณะเรา ก็ลงเรือ เดินทางต่อ
เพื่อจะไปกินข้าวกลางวัน ที่บ้านกรรมการชมรมอีกท่านหนึ่ง
ผมลืมเก็บภาพ ขนมจีนแกงไก่ อร่อยมาก มาฝาก
เพราะมัวแต่โม้ ชักชวนให้พี่เขาทำโฮมสเตย์
โดยชูจุดเด่น บ้านสวนริมคลองกลางกรุง
ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มมากนัก ใช้สิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
น่าพักไหมครับ โฮมสเตย์บ้านสวนริมคลองกลางกรุง ในฝันของผม
อิ่มข้าวกันแล้ว เราก็ล่องเรือไปทางปากคลองบางเขน ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ผมเพลิดเพลินไปกับวิถีคนริมคลอง บ้านติดน้ำ ศาลาท่าน้ำ เรือต่าง ๆ ที่ยังลอยอยู่ในคลอง
ทำให้นึกไปถึงหมื่นสุนทร พายเรือพาแม่การะเกด ไปเที่ยวตลาด
บุปเพ มักจะอาระวาดได้เสมอ แม้เวลาจะห่างกันนับร้อยปี
ไม่แน่นะ ผมอาจจะเป็นหมื่นสุนทร รูปหล่อ คนนั้นก็ได้
แล้วออเจ้าการะเกด เธออยู่ไหนละ
ศาลาท่าน้ำหน้าวัด คนรุ่นใหม่อาจจะนึกไม่ออก ว่ามีไว้ทำไม
ตัวผมเอง เคยไปงานบวช เมื่อหลายสิบปีก่อน ต้องตื่นตาตื่นใจ
กับความคึกคักที่ท่าน้ำเป็นอย่างยิ่งครับ
สารพัดเรือจากไหนไม่รู้ เต็มไปหมด
ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงลานจอดรถ ที่มีสารพัดรถอย่างทุกวันนี้ ก็ได้ครับ
เมื่อเราล่องเรือ ใกล้ปากคลอง ชุมชนก็หนาแน่นมากขึ้น
จากบ้านสวนริมคลองกว้าง ๆ มาเป็นบ้านที่ติด ๆ กัน
ยุคโน้น ก็เหมือนกับยุคนี้ ปากคลอง ก็เหมือนปากซอย
การคมนาคมสะดวก คนก็หนาแน่น
ระแวกนี้ เราจะเห็นเรือนดั้งเดิมแทรกอยู่กับบ้านที่ปลูกใหม่
แม้ว่า ทริปนี้เราจะไม่ได้ขึ้นจากเรือ ไปเยี่ยมเยียนเรือนเหล่านั้น
แต่ก็มีหลายเรือน ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ให้เราได้กลับมาอีก
เช่น บ้านหมอเริญ คุณหมอเจริญ พูนทอง ซึ่งเป็นเรือนอายุนับร้อยปี
ที่ป้ามล วัย 78 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า
เรือนหลังนี้ คุณพ่อจ้างช่างจากแถววัดสระเกศมาสร้าง เป็นเรือน 2 ชั้นหลังคาปั้นหยา
ป้ามล ยังเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อก่อนช่วงเย็น ๆ จะมีคนไข้มารักษากับคุณพ่อ
รักษาในเรือกันเลย เรือจะมาจอดรอที่ท่าน้ำ หน้าบ้านเต็มไปหมด
ตรงนี้ เป็นสามแยก ระหว่างคลองบางเขนใหม่ และคลองบางเขนดั้งเดิม
ใหม่นี่ ไม่ได้หมายความว่า เพิ่งขุดเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานะครับ
หากขุดใหม่ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ผมพยายามค้นว่า ทำไมต้องขุดด้วย แต่หาไม่เจอครับ
จุดหมายปลายทางของเราในวันนี้ คือ วัดน้อย ครับ
วัดน้อย หรือ วัดมัชฌันติการาม (วัด มัด ชัน ติ กา ราม)
ไม่น่าเชื่อเลยครับ ว่าครั้งหนึ่ง เคยเป็นวัดป่ามาก่อน
เพราะในสมัยโน้น เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางสวนทุเรียน สวนกล้วย สวนหมาก
เวลาพระธุดงค์ผ่านมา ก็ใช้เป็นสถานที่ ปฏิบัติ วิปัสสนา กรรมฐาน
จนกระทั้งปีพุทธศักราช 2417 หรือ 140 กว่าปีที่ผ่าน
เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ทรงเข้ามาเป็นองค์อุปถัมภ์วัดแห่งนี้
นับแต่นั้น ก็มีการก่อสร้างศาสนวัตถุต่าง ๆ ตามหลักพระวินัยและกฎหมายบ้านเมือง
จนเป็นวัดที่งดงาม เช่นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
หลังจากเดินชมวัดอีกสักพัก เราก็ลงเรือ เดินทางกลับตามเส้นทางเดิมครับ
หนึ่งวันเต็ม กับการได้ไปสัมผัส ชีวิตคนคลองบางเขน
อดีตที่ยากจะหวนคืน หากเรายังคงถวิลหา
น้ำใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา คงไม่ใช่เป็นเพียงบทกลอนที่เขียนไว้สวย ๆ ไว้อ่านกันเล่น ๆ
หากเป็นความมุ่งมั่น ของคนคลองบางเขน
ที่จะทำ คลอง ให้มีชีวิต เช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ
และเพื่อน ๆ ละ จะร่วมด้วย ช่วยกัน กับชาวคลองบางเขนด้วยไหมครับ
A man called Too
วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 13.09 น.