ต้องขอบคุณ คุณป๊อปมากๆในการถ่ายภาพเเละเก็บรายละเอียดงานครั้งนี้อย่างสวยงาม 
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ ดังนี้ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิ์ธาตุพิมาน หอราชพงศานุสรณ์ หอราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์

เจ้าเห็นยักษ์ไหม ยักษ์ที่พร้อมจะเขมือบเจ้าเเล้วฮ่า ๆ ๆ ๆ 
รูปยักษ์ 6 คู่ หรือ 12 ตน อยู่ภายในวงพระระเบียง โดยตั้งอยู่สองข้างประตูทางเข้าประตูละ 1 คู่ ประตูด้านทิศตะวันออก 2 คู่ คือ รูปสุริยาภพและอินทรชิต อยู่ริมประตูพระระเบียงตรงบันไดขึ้นฐานไพที รูปมังกรกัณฐ์และวิรุฬหก อยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถ ประตูด้านทิศตะวันตก 3 คู่ เรียงจากเหนือไปใต้ คือ รูปวิรุณจำบังและไมยราพ อยู่ริมประตูที่เข้ามาจากสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม รูปทศกัณฐ์และสหัสเดชะ อยู่ริมประตูที่เข้ามาจากพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างศาลาสหทัยสมาคม รูปจักรวรรดิและอัศกรรณมาลาสูร อยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ ประตูด้านทิศใต้ ใกล้มุมพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นประตูผ่านเข้าไปสู่บริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง มี 1 คู่ คือ ทศคีรีธรและทศคีรีวัน

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการสถาปนาขึ้นภายในเขตพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชกุศลต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ พิธีการต่าง ๆ ของพระบรมมหาราชวังรวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ ตำแหน่งของวัดจึงต้องอยู่ส่วนพระราชฐานชั้นนอกที่สามารถให้ราษฎรเข้ามานมัสการพระแก้วมรกตได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงส่วนประทับของพระมหากษัตริย์ได้

ปราสาทพระเทพบิดร 

ปราสาทพระเทพบิดรตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระพุทธปรางค์ปราสาท เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2425 พร้อมกับงานฉลองพระนครครบ 100 ปี แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วทรงเห็นว่ามีขนาดไม่เพียงพอกับพระราชพิธีต่าง ๆ จึงมิได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐาน แต่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองที่เคยตั้งเป็นประธานในพระพุทธมณเฑียรมาประดิษฐานแทน ต่อมาเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 ทำให้ครื่องบนหลังคารวมทั้งพระเจดีย์กาไหล่ทองถูกเพลิงไหม้และหลอมไปด้วย ขณะเพลิงไหม้ได้ถอดบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกออกทั้งหมด ต่อมาได้มีการซ่อมแซมหลังคาและส่วนที่เสียหาย ส่วนบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุก โปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดับที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์จนสำเร็จบริบูรณ์แล้วได้ตกแต่งภายใน และแก้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 5 พระองค์ และให้แปลงนามเรียกว่า "ปราสาทพระเทพบิดร"

ปราสาทพระเทพบิดรเป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ยกยอดปราสาทเป็นทรงปรางค์ ประดับนพศูลรูปพระมหามงกุฎอยู่บนยอดปรางค์ หน้าบันมุขด้านทิศตะวันออกและมุขลด ประดิษฐานพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4 หน้าบันมุขด้านทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 มุขด้านทิศใต้เป็นรูปครุฑยุดนาค พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 2 มุขด้านทิศตะวันตกเป็นรูปพระวิมาน พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 3

ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก บานแผละทั้ง 2 ข้างปั้นปูนปิดทองเป็นลายพระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1–5 เพดานของซุ้มเป็นลายดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวงมี ดารานพรัตน์เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยดาราจักรี ดาราจุลจอมเกล้า ดาราช้างเผือก และดารามงกุฎไทยบนพื้นกระจกสีขาว ภายในปราสาทพระเทพบิดรเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระราชวงศ์จักรี เพดานเหนือพระบรมรูปแขวนพระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น

พระอัษฎามหาเจดีย์

พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือ พระปรางค์ 8 องค์ ตั้งเรียงกันอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายนอกพระระเบียง พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่นอน ภายนอกพระระเบียง 6 องค์ ภายในพระระเบียง 2 องค์ พระอัษฎามหาเจดีย์เป็นชื่อที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อฉลองพระนครครบ 200 ปี มีมติให้เรียกชื่อรวมเป็นทางการตามชื่อที่ปรากฏในการบูรณปฏิสังขรณ์สมัย รัชกาลที่ 3 ของพระศรีภูริปรีชาวัตถุประสงค์ในการสร้างพระมหาเจดีย์เหล่านี้ก็เพื่ออุทิศ เป็นพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง พระปัจเจกเจดีย์องค์หนึ่ง พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระภิกขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง และพระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประดับกระเบื้องเคลือบสีที่พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 เป็นการซ่อมส่วนที่ชำรุดเสียหายแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างแต่ประการใด

Arthitaya Dokmai

 วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 12.51 น.

ความคิดเห็น