จังหวัดที่เป็นรอยต่อระหว่างภาคต่างๆ ของประเทศไทย ผมว่ามีเสน่ห์นะครับ เหมือนครั้งนี้ที่ผมเดินทางมาแพร่ นับเป็นประตูแห่งดินแดนล้านนาตะวันออก ก่อนจะไปเจอกับจังหวัดน่าน พะเยา ต่อเนื่องไปถึงเชียงราย

ความคดเคี้ยวของเบาๆ ของเขาพลึงประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร จากอุตรดิตถ์ก่อนถึงแพร่ ทำให้ถนนหมายเลข 11 นี้สวยงามไม่แพ้ที่ไหน และเมื่อถึงอำเภอเด่นชัยก็หมายความว่า ถึงเมืองแป้โดยสมบูรณ์ (ทำเสียงสำเนียงคนเหนือเจ้า)

ทริปนี้ผมมีนัดกับพี่เอ - เอกชัย วงศ์วรกุล คนแพร่คนพื้นที่ตัวจริง “...ถ้าช่วงพีคๆ ของการเที่ยวเมืองแพร่ ก็จะเป็นเดือนตุลาคมถึงต้นปีครับ แต่จริงๆ แล้วเมืองแพร่ก็มีที่แอ่วเพียบนะ...” สิ้นเสียงอธิบายของพี่เอ ผมไม่รอช้าที่จะบิดกุญแจสตาร์ทรถทันที แต่ออกมาเพียงไม่กี่อึดใจ สายตาผมก็มองไปเห็นวัดแปลกตาขนาดใหญ่ “…วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรมครับ สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เจ้าอาวาสนำพุทธศิลป์จากพม่า จีน ลาว มาตกแต่งแบบศิลปะล้านนาประยุกต์ และมีพระประธานกลางแจ้งที่สวยงามและใหญ่สุดในแพร่ครับ…” พี่เอเล่าจนผมต้องขอเดินเที่ยวสักพัก ด้านในยังมีอนุสาวรีย์ทหารอยู่ใกล้กับรูปปั้นพระองค์ใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานทหารที่ได้เข้ามาทำนุบำรุงวัดแห่งนี้มาโดยตลอด ถือเป็นประติมากรรมแปลกตาและไม่เห็นอยู่บ่อยนัก

“…เดี๋ยวเราจะวิ่งเข้าเมืองแพร่ตามเส้นทางลาดยางนี้ที่ชาวบ้านใช้กัน…” พี่เอพูดถึงหมู่บ้านแม่ปาน และถนน 2015 ที่วิ่งสวนกันได้สบายๆ แต่รายล้อมไปด้วยหมู่บ้านและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ในแบบคนแพร่ บางช่วงก็ลัดเลาะเนินเขาเตี้ยๆ (เหมาะปั่นจักรยานชมวิว) ผ่ากลางแม่น้ำยมที่อุดมสมบูรณ์ ทุกอย่างดูเพลินตาทำให้ระยะทาง 10 กม. ที่ผ่านมาดูไม่ไกลเลย

เรามาหยุดพักที่อำเภอลอง แวะเข้าไปเติมคาเฟอีนที่ “กาแฟแห่ระเบิด” แลนมาร์คเท่ๆ ของที่นี่ โดยมี “พี่เชษฐา สุวรรณสา” เป็นเจ้าของร้านนี้ งานศิลปะอาร์ตๆ ทั้งหมด รวมถึงการดัดแปลงลูกระเบิดมาใช้ตกแต่งได้อย่างลงตัวมากๆ ซึ่งเมืองนี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย ตั้งแต่คำว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ในความเป็นจริงคือการนำของมาดัดแปลงมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือลูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ตกลงมาแต่ไม่ระเบิด ชาวบ้านนำดินปืนออกมาทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย และเห็นว่าลูกระเบิดที่ทำจากเหล็กนี้เสียงก้องกังวานดีมาก จึงช่วยกันขนและแห่กันไปถวายวัด เพื่อทำเป็นระฆังให้พระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์ โดยตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีดอนคำจนถึงปัจจุบัน และยังมีอีก 2 ลูกอยู่ที่วัดแม่ลานเหนือและวัดนาตุ้ม ตามลำดับ

“...เดี่ยวเราขับรถไปดูสถานีรถไฟบ้านปินกันต่อดีกว่า...” พี่เอชวนผมไปดูงานมาสเตอร์พีชอีกชิ้นของเมืองแพร่ กับสถานีรถไฟสไตล์เฟรมเฮ้าส์แบบบาวาเรียนของเยอรมัน สร้างโดยช่างชาวเยอรมันนามว่า เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2458 เป็นสัญลักษณ์แห่งการคานมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ป้องกันการรุกรานดินแดนจาก 2 ประเทศนี้ เพื่อแสดงออกว่าเรามีเยอรมนีหนุนหลัง ไม่ให้ใครมารุกรานดินแดนไทยง่ายๆ ถือเป็นกุศลโลบายชั้นเลิศของรัชกาลที่ 5 ในการรักษาดินแดนไทยให้คงอยู่ และได้กลายเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในไทยที่เป็นแบบ ​Made in Germany

ไม่ทันไรเวลาเย็นย่ำก็มาเยือน แต่โปรแกรมเที่ยวของเรายังไม่หมดเท่านี้ (พี่เอบอกมา…ฮา) เพราะช่วงเย็นๆ แบบนี้ “อ่างเก็บน้ำแม่สาย” อยู่ท่ามกลางหุบเขาน้อยใหญ่ ถือว่าเป็นวิวชั้นดี แถมด้วยลมเย็นๆ ช่วงต้นฝน ทำให้สดชื่นได้เป็นอย่างดี ก่อนจะออกไปตะลุยกาดคนเดิน 2 แห่งกลางเมืองแพร่

พี่เอแนะนำว่า หากจะหาที่พักใกล้กาดจะไม่ค่อยสะดวก เพราะถนนปิดทำให้เข้าออกไม่สะดวก ควรจะพักห่างออกมาหน่อย อาจะเป็น “แพร่นครา” โรงแรมที่มี Facility ครบอันดับต้นๆ ของเมือง แล้วขับรถไปจอดใกล้ๆ กาดจะสะดวกที่สุด…เจ้าถิ่นแนะนำมาขนาดนี้ ผมจะไม่ทำตามได้อย่างไร

โดยทั้ง 2 กาดนี้คือ “กาดกองเก่าและกาดพระนอน” เป็นตลาดถนนคนเดินในอำเภอเมืองแพร่ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนแพร่ได้เป็นอย่างดี กับการแสดงดนตรีสดแบบล้านนา ประกอบการช้อปปิ้งของแบบบ้านๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งงานไม้ งานทำมือ งานถักร้อย ที่เห็นมีขายมากที่สุดก็คือเสื้อม่อฮ่อมและผ้ามัดย้อมครามของขึ้นชื่อของที่นี่ ตลอดความยาวประมาณเกือบ 2 กิโลเมตรกับ 2 กาดนี้ ยังคงกลิ่นอายของคำว่ากาดแบบภาคเหนือได้เป็นอย่างดี ยังไม่ถูกกลืนกินจากวัฒนธรรมภายนอกมากนัก รับรองได้ว่าจะทำให้ค่ำคืนวันเสาร์มีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครแน่นอน

อย่างที่บอกว่าแพร่เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา หากอย่างมองเห็นวิวสวยๆ อย่างชัดเจนต้องขึ้นไปที่ “พระธาตุดอยเล็ง” ที่มองเห็นวิวได้ถึง 3 อำเภอคือ เมือง ร้องกวาง และสูงเม่น และตอนลงมาก็อย่าลืมไปไหว้ “พระธาตุช่อแฮ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นพระธาตุประจำปีขาล (เสือ) ด้วย ระหว่างทางผมเห็นคนปั่นจักรยานขึ้นไปมาระหว่าง 2 พระธาตุนี้ พี่เอเหมือนรู้ใจจึงบอกว่า “…พี่ก็สายปั่น คราวหน้ามาปั่นขึ้นพระธาตุด้วยกันได้นะ (หัวเราะ)…” โดนชวนแบบนี้ ผมต้องรีบกลับมาแล้วล่ะ

แต่ตอนกลับผมแอบถามพี่เออีกนิดว่า “...ของฝากไส้อั่วมีให้เลือกหลายร้าน คนแพร่อย่างพี่เอจะเลือกร้านไหนครับ?” พี่เอตอบไม่ต้องนึก “...ไส้อั่วเผาเตาหลวง..ของขึ้นชื่อของอำเภอเด่นชัย รับรองน้องหนุ่มไม่ผิดหวังแน่นอน...” เหมือนไม่ต้องบอกตอนจบ ผมจัดไส้อั่วเผาเตาหลวงไปเป็นของฝาก และไว้กินระหว่างทางตอนขากลับอีกเพียบ

การเดินทางในหลากหลายรูปแบบของผม เสน่ห์ไม่ได้อยุ๋เพียงสถานที่สวยงาม แต่เป็นมิตรภาพและน้ำใจจากพี่ๆ น้องๆ เจ้าถิ่น ที่คอยแนะนำ และดูแลให้ทุกทริปเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความประทับใจ พร้อมมีแรงบันดาลใจไปในเส้นทางใหม่ๆ ตลอดเวลา

How to :

จาก กทม. มุ่งหน้าสู่ทางหลวงสายเอเชีย ผ่านอยุธยาจนถึงนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 มุ่งหน้าพิษณุโลก และใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านอุตรดิตถ์ จนถึงแพร่ และมีรัศมีท่องเที่ยวโดยรอบประมาณ 80 กม.

...

สามารถติดตามเส้นทางการเดินทางของ#GetRoute เพิ่มเติมได้ที่

https://linktr.ee/getroute292022

...

#GetRoute

#TravelRouteSetter

#GetRouteClub

#การรับรู้เป็นประสบการณ์จริงด้วยการเดินทาง

#Thailand

GetRoute Official

 วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 11.06 น.

ความคิดเห็น