วัดนางพญา (Wat Nang Phaya) 

ป้ายหน้าวัด อยู่ตรงข้ามกับประตูทางออกด้านข้างวัดใหญ่ ณ เวลา 13.17 น.

   ทู๊กคน...เรามาตามสัญญา วันนี้เราจะพาไปเที่ยวชม "วัดนางพญา" กันค่ะ แบบว่าเดินออกจากประตูด้านข้างวัดใหญ่ เดินออกมาแล้วเลี้ยวไปทางขวา แล้วเดินต่อไปอีกไม่กี่ก้าว ไม่ถึงนาที ก็ถึงวัดแล้วค่ะ 

พระวิหาร ณ เวลา 13.18 น.

   นี่!!! เป็นอีกวัดดังของจังหวัดพิษณุโลก สร้างในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดใหญ่ และวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่พระวิหาร

หน้าพระวิหาร

   เป็นวัดสำคัญที่บรรดาเกจิพระเครื่องรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีสุดยอดพระเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคี ที่เรียกกันว่า "พระนางพญา" ที่มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกในปี พ.ศ. 2444 และในปี พ.ศ. 2497 

   พระนางพญา นั้น จะเป็นพระดินเผาผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยและอยุธยา โดยองค์พระพิมพ์เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม มีบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับสตรี จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก "นางพญา" และได้รับสมญา ราชินีแห่งพระเครื่อง ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีมูลค่าสูงมากๆ และเป็นหนึ่งใน พระชุดเบญจภาคี ปัจจุบันจัดว่าเป็นพระเครื่องที่หายากมากๆๆๆๆๆ

   รูปแบบของพิมพ์ มีอยู่ 6 พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์ใหญ่เข่าตรง, พิมพ์ใหญ่เข่าโค้ง, พิมพ์ใหญ่อกนูน, พิมพ์เล็กอกนูน, พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์เทวดา

   เชื่อกันว่า...พระพิพม์นางพญานั้นเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ มีชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะสำหรับสุภาพสตรีที่เป็นนักปกครองและหัวหน้างานที่ต้องดูแลลูกน้องจำนวนมาก ให้ลาภยศ แคล้วคลาดจากอันตราย และภัยพิบัติทั้งปวง อยู่ยงคงกระพันไม่ว่าอาวุธใด ๆ ไม่อาจทำอันตรายได้

   สันนิษฐานว่า ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090–2100 ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง 

สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว

   วัดนางพญาได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 เฉพาะวิหาร ปัจจุบันเป็นอุโบสถ กว้าง 10.50 เมตร ยาว 20 เมตร พระประธานในพระวิหารเรียก พระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบ 2 องค์ มีมาคู่กับวิหารวัดนางพญา สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2120

   ส่วนด้านหน้าของ วัดนางพญา ได้มีการจำลองพระนางพญาองค์ใหญ่เอาไว้ ให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาได้มากราบไหว้บูชากัน และกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของวัด และแลนด์มาร์คใหม่ของจังหวัดพิษณุโลกด้วยค่ะ 

ด้านหลังพระวิหาร

   ในส่วนด้านหลังพระวิหาร จะมีเจดีย์โบราณอยู่ด้วยกัน 2 เจดีย์ อยู่คู่กับวิหารวัดนางพญา สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2120 และนอกจากนี้ภายในวัดยังมีจุดที่น่าสนใจอื่นๆ อีก 2 จุด คือ 

พลับพลาหทัยนเรศวร์ 5 พระองค์

พลับพลาหทัยนเรศวร์ 5 พระองค์

   พลับพลาหทัยนเรศวร์ 5 พระองค์ ที่ประดิษฐานรูปปั้นพระวิสุทธิกษัตริย์ ผู้บูรณะวัดนางพญาขึ้นมาใหม่ และครอบครัวของท่าน ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา 


พระมหาเถรคันฉ่อง

   พระมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระภิกษุชาวมอญในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรงแห่งกรุงหงสาวดี ได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอพยพมากรุงศรีอยุธยา โปรดอยู่วัดมหาธาตุ


   สำหรับสายบุญ สายพระเครื่อง ที่อยากมีโชคเรื่องการงาน ปรารถนาให้มีคนเมตตารักใคร่เอ็นดู พลาดไม่ได้เลยกับวัดแห่งนี้ เพราะที่นี่!!! เค้ามีพระเครื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และยอดนิยมมากๆ เป็นอีกวัดดังจังหวัดพิษณุโลก ที่ไม่ควรพลาดเลยจริงๆ 

🎯 : ถนน จ่าการบุญ อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก

⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.30-18.00 น.

☎️ : 055-258972

🌏 : https://maps.app.goo.gl/1Z3xzh...


🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต

ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄

❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️

https://www.facebook.com/TIEWD...

#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว

#เที่ยวพิษณุโลก #พิษณุโลก #วัดพิษณุโลก

#วัดนางพญา #นางพญา #ราชินีแห่งพระเครื่อง

#พระชุดเบญจภาคี #พระเครื่อง 

#พลับพลาหทัยนเรศวร์5พระองค์

#พระมหาเถรคันฉ่อง

เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว

 วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 09.36 น.

ความคิดเห็น