วิหารหอคำ

 เที่ยวชมวิหารไม้สัก วัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ "วัดพันเตา" 

ถ้ามีโอกาสได้ไปแถวนั้น อย่าพลาด!!! ที่จะเข้าไปไหว้พระทำบุญที่วัดกันค่ะ 🙏

ตัวอาคารเป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง

    🛕 วัดพันเตา สร้างเมื่อ พ.ศ. 1934 เป็นวัดร่วมสมัยเดียวกับวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 ตามตำนานประวัติศาสตร์ว่ากันว่าวัดพันเตาสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับวัดเจดีย์หลวงคือเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว เป็นวัดเก่าแก่ใจกลางเมือง เดิมคนเชียงใหม่เรียกว่า "วัดปันเต้า" (พันเท่า)

   ภายในวัดมีพระวิหารที่มีความงดงามและสมบูรณ์ที่สุดของเชียงใหม่ ตัวอาคารของวิหารหลวงสร้างมาจากไม้สักทองทั้งหลังตามศิลปะแบบเชียงแสน มีการแกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างงดงาม ที่ว่ากันว่าเป็นวิหารที่สร้างจากหอคำหรือคุ้มเจ้าหลวงที่เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์เพียงหลังเดียวและสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา

   ในอดีตวิหารวัดพันเตาหลังนี้เคยเป็น “หอคำ” ที่ประทับของเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 (พ.ศ. 2390 – 2397) อยู่ที่พระตำหนักเวียงแก้วปัจจุบันคือบริเวณเยื้องด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือศาลากลางหลังเก่าไปจนถึงวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ตามตำนานมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอคำหลังนี้ว่า พระยาอุปราชมหาวงศ์ ได้สร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชาเมื่อจุลศักราช 1209 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2390 เนื่องจากท่านได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่จากพระยาอุปราชขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่ ท่านได้สร้างหอคำขึ้นไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันเป็นปูชนียวัตถุลํ้าค่าภายในที่อยู่ของท่าน พระยาอุปราชมหาวงศ์ได้มีการเฉลิมฉลองหลังจากที่สร้างหอคำแล้ว

   ในการสร้างหอคำหลังนี้ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ใช้ช่างพื้นเมืองและช่างพม่าผสมกัน ต่อมาพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ได้รับพระราชทานเลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้ามีพระนามในสุพรรณบัฏเป็น พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดินทร์นพีสิทรมหานคราธิษฐาน เมื่อปี พ.ศ. 2396 หลังจากที่ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ไม่กี่เดือน พระองค์ก็ถึงแก่พิราลัย

   เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯถึงแก่พิราลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้นายสุริยวงศ์ บุตรของพระเจ้าบรมราชาธิบดี (กาวิละ) ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ชื่อว่าพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาได้ 16 ปีเศษก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อปี พ.ศ. 2413 เจ้าอุปราชอินทนนท์ รักษาการในตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่มาร่วม 3 ปี จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าอินทวิชยานนท์พหลเทพภักดีฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2416

   พ.ศ. 2419 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีพระดำริว่า หอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศฯนั้นสมควรจะอยู่ในวัดมากกว่าอยู่ในวัง จึงทรงให้ช่างช่วยกันรื้อหอคำแล้วย้ายมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่วัดพันเตา เมื่อวันเสาร์เดือน 10 ขึ้น 8 คํ่า เพราะในขณะนั้นพระเจ้าอินทวิชยานนท์กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดหอธรรม วัดเจดีย์หลวงและวัดสุขมิ้น การก่อสร้างวิหารของพระอารามทั้งสามแห่งกับหอคำของวัดพันเตา จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2429 โดยมีการเฉลิมฉลองงานปอยหลวงอย่างเอิกเกริกยิ่งใหญ่และถือเป็นงานปอยหลวงที่สนุกสนานที่สุดครั้งหนึ่งของนครเชียงใหม่ และหากจะนับรวมอายุของหอคำที่ย้ายมาสร้างใหม่ที่วัดพันเตาแล้วประมาณได้ 132 ปี (พ.ศ. 2419 – 2551)

พระเจ้าปันเตา (พันเท่า)
พระเจ้าปันเตา (พันเท่า)

   ✨️ เสนาสนะที่สำคัญ คือ วิหารหอคำ สร้างด้วยไม้สัก ภายในพระวิหารหอคำหลวง ประดิษฐานพระเจ้าปันเตา (พันเท่า) ซึ่งมีความหมายอันเป็นมงคลว่า "มีความสำเร็จเพิ่มพูนเป็นร้อยเท่าพันเท่า" พระพุทธรูปศิลปะล้านนา ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร 

   ภายในพระวิหารหอคำ สร้างจากไม้เป็นวัสดุหลักมีโครงสร้างแบบกรอบยึดมุม เสาและฝาทุกส่วนเป็นไม้โดยเฉพาะฝามีแบบวิธีการสร้างพิเศษคล้ายกับฝาปะกนของศิลปะสมัยอยุธยา แต่มีขนาดตัวไม้ที่แน่นหนาแข็งแรงกว่า มีประตูเข้าออกทั้งหมด 3 ทาง คือ ประตูใหญ่ทางด้านหน้า ประตูด้านข้างทางทิศเหนืออยู่ค่อนมาทางประตูหน้า 

ส่วนประตูทางทิศใต้อยู่ค่อนไปทางด้านหลัง 

ประตูหน้าพระวิหาร

   ประตูที่สำคัญ คือ ประตูหน้า ซึ่งประกอบด้วยซุ้มประตูไม้แกะสลักประดับกระจกเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้แก่ นกยูง นาค ลิง หงส์ ประกอบลวดลายที่กรอบประตูส่วนบนเป็นโก่งคิ้วไม้แกะสลักลายดอกไม้ใบไม้ บานประตูเป็นไม้แผ่นเรียบ

   ด้านหลังวิหารหอคำ คือ เจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม 

   เจดีย์ถูกรายล้อมด้วยเหล่าเจดีย์ราย และยังมีโบราณวัตถุ คือ ธรรมาสน์โบราณ ล้วนแต่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

   ด้านหลังเจดีย์ เป็นโรงเรียนธรรมเมธีศึกษา

ฝั่งตรงข้ามเจดีย์ จะมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ 1 ต้น จุดนี้จะสวยงามมากๆ ตอนที่จัดงานลอยกระทงค่ะ

   วัดแห่งนี้ยัง 🤔 มีตำนานเล่าว่า สมัยลัวะปกครองมีเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่กลางเวียงมีชื่อว่า "เศรษฐีพันเท้า" จึงสันนิษฐานว่าวัดพันเตาในอดีตเป็นบริเวณบ้านของเศรษฐี ต่อมาจึงได้ตั้งวัดพันเตาขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมือง ส่วนอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เดิมเป็นสถานที่ตั้งเส้าจำนวนพันเตาหลอมทองหล่อพระพุทธรูปอัฎฐารส ซึ่งประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง เมื่อทำการหล่อพระเสร็จแล้ว ชาวเมืองจึงสร้างวัดนี้ขึ้นในบริเวณนั้นเลย เรียกว่า "วัดพันเตา"

🎯 : 105 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200

⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.

📱 : 053-814689

🌏 : https://maps.app.goo.gl/AQp17S...

-----------------------🌻
🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต
ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄

❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️
https://www.facebook.com/TIEWD...

#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว

#วัดพันเตา #วัดปันเต้า #วิหารหอคำ 

#วิหารไม้สัก #พระเจ้าปันเตา 

#วัดดังเชียงใหม่ #วัดเชียงใหม่ 

#วัดสวยเชียงใหม่ #เที่ยวเชียงใหม่ 

#เที่ยววัดเชียงใหม่ #วัดรอบคูเมือง

เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว

 วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.32 น.

ความคิดเห็น