ความเป็นวิถี ที่ดูเรียบง่าย 
ให้ความรู้สึก ผ่อนคลาย
ไม่มีอะไรต้องซับซ้อน


กะเหรี่ยง (Karen) ชนเผ่าพื้นเมืองในไทยที่ยังคงมีวิถีและประเพณีแบบดั่งเดิมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

ที่นี่ บ้านแม่พุงหลวง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ท่ามกลางขุนเขาและสายน้ำ

ทริปนี้จะพาไปสัมผัสวิถีความเป็นอยู่แบบบ้านบ้าน ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ 2 วัน 1 คืน กับทริป เที่ยวชมวิถีกะเหรี่ยงวังชิ้น นั่งรถอีแต๊กเลาะทุ่งนา เดินป่าตามหาน้ำตก แล้วจบที่แช่น้ำพุร้อน ต้มไข่ออนเซน เที่ยวแพร่ เท่ระเบิด เพลิดเพลินแค่ไหนตามไปเที่ยวด้วยกันนะคะ เที่ยวแพร่แล้วยัง :)

โฮง ฮิม เฮือน เป็นศูนย์กลางของกลุ่มส่งเสริมสตรีในพื้นที่อำเภอวังชิ้น ที่เป็นศูนย์เรียนรู้และแสดงสินค้าของชุมชน ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากชุมชนนำมาวางขายที่นี่ให้พวกเราได้ช้อปปิ้งเลือกซื้อกันได้ ไม่ว่าจะ ผ้าทอมือ ผ้าถุงลายเฉพาะของชาวกะเหรี่ยง เสื้อผ้า กระเป๋า ย่าม ที่ดีไซน์เก๋ๆ  

เจอคำนี้ที่ถุงกระดาษ โพล่ง ซึ่งเป็นคำเรียกชาวกะเหรี่ยง ซึ่งที่วังชิ้นจะเป็น ชาวกะเหรี่ยงโพล่ง จะไม่เหมือนปะกากะยอ ภาษาพูดอาจจะคล้ายกัน 

ผ้าทอมือ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง แล้วยังนำผ้ามาตัดเป็นกระเป๋า เสื้อผ้าให้ทันตามยุคสมัย ที่ใส่ได้ทุกวัย งาน Hand made บางอย่างก็มีชิ้นเดียวในโลกเชียวนะ แรร์ไอเท็ม

แล้วยังมีพวกของกินที่จัดว่าเด็ดต้องซื้อกลับไปกินต่อแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น แยมหม่อน น้ำหม่อน ไซรัปกล้วยหอมทอง ข้าวเม่าคาราเมลคอร์นเฟลกส์ ตัวนี้ขายดีอร่อยด้วย มีประโยชน์ ทั้งหมดก็เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ที่รวมกลุ่มกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรบ้าน และสมุนไพรป่า ซึ่งที่บ้านแม่พุงหลวงนี้ถือได้ว่าชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ซึ่งตอนบ่ายเราจะมีกิจกรรมเดินป่าไปเที่ยวน้ำตกซึ่งระหว่างทางนั้นเราจะได้เห็นและรู้จักกับสนุนไพรป่ากันด้วย  

เริ่มต้นทริปเราก็ได้ทำสปาเท้า ที่ใส่ลูกประคบ ที่นำมาประยุกต์ทำเป็นแบบผงผสมกับน้ำแร่จากแหล่งน้ำพุร้อนแม่จอกมาให้เราได้แช่เท้าเพื่อผ่อนคลายแล้วก็ขัดผิว ซึ่งลูกประคบนี้ก็การนำสมุนไพรที่หาได้ภายในพื้นที่มาปรุง ผสม แล้วก็พัฒนาจนได้คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ เป็นการใช้สมุนไพรบำบัด

บรรยากาศของที่นี่นะคะ มีบ้านเก่าโบราณแล้วก็ยังมีร้านกาแฟให้นักท่องเที่ยวได้กินกาแฟและพักผ่อนได้

โฮง ฮิม เฮือน 
พิกัด https://goo.gl/maps/D4VejUFp3G...


แล้วก่อนจะถึงมื้อเที่ยง ก็มาถึงการทำอาหารเมนูเด็ดให้พวกเราได้ชมและได้ชิมกันด้วย หลามปลากระบอกไม้ไผ่ ประมาณทำต้มยำปลาในกระบอกไม้ไผ่เลยค่ะ ปรุงรส ใส่ผักกูด บีบมะนาว รสชาติก็เหมือนต้มยำอยู่นะ

ได้เวลาอาหารกลางวันที่รอคอยแล้วค่ะ มาเที่ยวทางเหนือเที่ยวแพร่ก็ต้องมีน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง ข้าวเหนียว ผัก วัตถุดิบในการปรุงอาหารก็จะเน้นออแกนิก ปลอดสารพิษ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 

อาหารหน้าตาดีและอร่อย ล่ำขนาดนักเจ้า



อิ่มท้องแล้ว ไปต่อกับกิจกรรมบันเทิงบ้านทุ่งกันค่ะ นั่งรถอีแต๊กไปสัมผัสและเที่ยวชมวิถีชาวบ้านลัดเลาะผ่านทุ่งนา บ้านแม่พุงหลวง เป็นหมู่บ้านท่ามกลางขุนเขาและสายน้ำ ชนเผ่าพื้นเมืองดั่งเดิมเป็นชาวกะเหรี่ยง ที่อพยพมาหาที่ทำกินที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มีน้ำทั้งปี 

การทำนาที่เรียกว่า ลงแขก ก็ยังมีอยู่ให้เห็น เป็นการร่วมมือช่วยกันลงแขกดำนา สามัคคีกันแบบนี้เสร็จเร็วแน่นอนค่ะ แล้วเจอกันอีกทีตอนลงแขกเกี่ยวข้าว

 



จากนั้นเราไปเดินป่า ตามหาน้ำตกแม่พุงหลวง ก็เดินป่าเบาเบา ศึกษาธรรมชาติ พืชพันธุ์ต่างๆ 

ถ้าเจอพวกสมุนไพรลุงที่เป็นไกด์ท้องถิ่นก็แนะนำไปด้วย บางต้นชาวบ้านก็นำมาปลูกเพื่อขยายพันธุ์ที่บ้านตัวเอง

ระหว่างทางเดินก็ได้เจอลำธาร น้ำตกเล็กๆ

ถึงแล้ว น้ำตกแม่พุงหลวง ที่เป็นต้นน้ำสำคัญใช้หล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง น้ำใสไหลเย็นชื่นใจ

เที่ยวธรรมชาติก็ต้องช่วยกันดูแล ไม่หยิบ ไม่จับ ไม่นำอะไรกลับมานอกจากภาพถ่าย ความทรงจำ และขยะที่พบเจอ ช่วยกันดูแลความสะอาดนะคะ 


กลับมาที่พักของพวกเราในคืนนี้ เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ลมโกรกลมโชย ติดลำธาร นอนกางมุ้ง ใครชอบนอนเต็นท์ก็จัด หรือจะผูกแปลนอนก็ชิลได้ พกสเปรย์กันยุงมาด้วยนะคะ

กับบรรยากาศมื้อค่ำ ฟินฟิ้นฟิน กับสิ่งที่เลี้ยงและปลูกกันเองในบ้าน


ตัดภาพมาตอนเช้า จิบกาแฟกันหน่อย กับมื้อเช้าเบาเบา ก่อนจะเดินเที่ยวเล่นในหมู่บ้าน

เดินเล่นชิลๆ ตอนเช้าที่อากาศเย็นสบาย ชมบ้านเรือน และวิถีชีวิตของชุมชน

ปั้มน้ำมัน แบบปั้มหลอดสไตล์บ้านบ้าน 

บ้านที่รวมทุกสิ่งอย่าง ผักสวนครัว รั่วกินได้ มี วัว ไก่ หมู ที่อยู่ใกล้ชิดกันอบอุ่นในบริเวณบ้าน

เจอแล้ว ต้นมะแขว่น ที่ลื่อชื่อของที่นี่ ต้นจะมีหนามๆ เต็มไปหมดเลย


ได้ไปเจอกับคุณยายที่เป็นชาวกะเหรี่ยงคนเดียวที่ยังมีรอยสักดั่งเดิมอยู่ ที่สักตั้งแต่สมัยยังสาว อายุก็จะ 80 ปีแล้ว คุณยายยังดูแข็งแรงอยู่เลยค่ะ 

ก็น่ารักสดใสไปด้วยกันเลยซิค่ะ ^_^


โปรแกรมเที่ยวถัดไป เที่ยวชมศูนย์ศึกษาวิถีกะเหรี่ยงบ้านค้างใจ ที่นี่จะเป็นการจำลองวิถีชีวิตกะเหรี่ยงแบบดั่งเดิม  

สาธิตการทอผ้ากี่เอว ปักลายเสื้อด้วยลูกเดือย งาน Hand made ที่ต้องทำอย่างปราณีต ละเอียดอ่อน แล้วอาจจะปวดหลังอีกด้วย ^^ กว่าจะได้มาแต่ชิ้นใช้เวลานานอยู่พอสมควร คุณค่ามันอยู่ตรงนั้นละ ไม่กล้าขอต่อราคาเลยอะ

ในการเที่ยวชมครั้งนี้ พ่อหลวงก็ดีดซึงบรรเลงเพลงให้เราฟังไปด้วย เพลินเลย

บรรยากาศโดยรอบของ ศูนย์การเรียนรู้บ้านค้างใจ
พิกัด https://goo.gl/maps/aczuEmL3o7...


ไปต่อกับกิจกรรมท้ายสุดของทริปนี้ คือ การไปแช่น้ำพุร้อน ต้มไข่ออนเซน ที่บ่อน้ำพุร้อนแม่จอ Meajok Hot Springs ที่แพร่ก็มีน้ำพุร้อน นะคะ เผื่อใครยังไม่รู้ แช่เท้า แช่ทั้งตัว แช่แบบออนเซนได้หมดถ้าสดชื่น  

ทำเป็นลำธารให้แช่เท้า

หรือจะแช่ทั้งตัวแบบห้อง VIP ก็มีให้บริการ

หากปวดเมื่อยก็นวดเท้า นวดตัวได้นะคะ มีหมอนวดแผนโบราณ หากจะนวดก็แจ้งหรือโทรจองล่วงหน้านะคะ

ได้ลองต้มไข่ออนเซนกับบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งลักษณะไข่สุกที่ออกมาจะได้ไข่แดงสุกแต่ไข่ขาวจะนิ่มไม่สุก 

ที่นี่ยังมีห้องพัก 2 หลังด้วยนะคะ หากต้องการพักก็ติดต่อจองได้เลย

บ่อน้ำพุร้อนแม่จอก พิกัด https://goo.gl/maps/iZCsQALJug...

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ชอบของทริปนี้ เนื่องจากมาเที่ยวในช่วงเดือนกรกฏาคม ซึ่งจะมีผลไม้สุกออกผลให้ได้กินกันอร่อย ทั้ง เงาะโรงเรียน ก็กรอบล่อน ทุเรียนพื้นบ้านลูกเล็กเนื้อนิ่ม ทุเรียนหมอนทองคือสวรรค์ ฟินมากกกก ตามด้วย มังคุดและลองกอง ผลไม้ที่นี่อร่อยและดี ไม่แพ้ทางภาคตะวันออกเลยนะคะ


การเดินทางมาที่แพร่

  • รถไฟ จาก กรุงเทพฯ - เด่นชัย แล้วต่อรถสองแถวมาแพร่
  • รถทัวร์โดยสาร กรุงเทพฯ - แพร่ ก็จะมีหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น ขสมก99 , นครชัยแอร์, สมบัติทัวร์ 
  • รถทัวร์ ที่ไปน่าน พะเยา เชียงราย ผ่านแพร่ทุกคัน
  • เครื่องบิน ลงน่านแล้วต่อรถมาที่แพร่



จบทริปเที่ยวชมวิถีกะเหรี่ยงวังชิ้น ชิมไข่น้ำพุร้อน ที่ อ.วังชิ้น แพร่ อย่างมีความสุข สนุกสนาน ทั้งคนเที่ยวและเจ้าบ้าน ได้กระจายรายได้สู่ชุมชน อยากให้ได้มาสัมผัสด้วยตัวเองนะคะ

เที่ยวชุมชน เรียนรู้วิถี มี Story ดี๊ดีนะคะ : )

ทริปนี้ต้องขอบคุณ วิทยาลัยชุมชนแพร่ ทีมงานโครงการ PhraeRich ที่ร่วมมือกันจัดทริปนี้ให้เกิดขึ้น ช่วยกันนำเสนอมุมมองในการท่องเที่ยวของอำเภอวังชิ้นให้เป็นที่รู้จักกับนักท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง


ติดตามการเดินทาง เพจ เที่ยวแล้วยัง
IG : https://www.instagram.com/lingple


เที่ยวแล้วยัง

 วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18.44 น.

ความคิดเห็น