อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (Phu Hin Rong Kla) ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 307 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล ภูหินร่องกล้า โดยมีภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีความสูงประมาณ 1,820 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง รองลงมาคือ ภูลมโล มีความสูงประมาณ 1,664 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา มีสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกัน เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย และพบกล้วยไม้ดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท อุทยานฯ มีบริการบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร. 08 1596 5977 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยาน ได้แก่

-กังหันน้ำ  -น้ำตกหมันแดง  -สำนักอำนาจรัฐ  -ผาชูธง  

-น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร  -ลานหินแตก  -ลานหินปุ่ม  

-ภูแผงม้า  -น้ำตกห้วยขมิ้นน้อย  -สะพานมรณะ

-ที่หลบภัยทางอากาศ และ 4จุดแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเก็บภาพสวยๆนั่นก็คือ 

1.ทุ่งดอกกระดาษ 2.โรงเรียนการเมืองการทหาร 3.ภูลมโล 4.หมู่บ้านร่องกล้า

-ทุ่งดอกกระดาษ ที่โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า บรรยากาศและภาพความสวยงามของดอกกระดาษ หรือ ดอก Everlasting ดอกไม้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดอกไม้นิรันดร์” เพราะดอกกระดาษเป็นดอกไม้ที่อยู่ได้นานวัน ไม่รู้จักโรย ดอกจะบานในเวลากลางวัน และหุบในเวลากลางคืน เดือนมกราคมเป็นเดือนที่ดอกกระดาษจะเบ่งบานสะพรั่ง 100% บริเวณใต้หน้าผาจุดชมวิวจนเป็นทุ่งดอกกระดาษหลากสีสันสดใสที่สวยงาม มองไกลสุดลูกหูลูกตา และคาดว่าจะบานสะพรั่งอวดดอกสีฉูดฉาดสวยงามเช่นนี้ไปจนสิ้นสุดฤดูหนาว หรือประมาณต้นเดือนมีนาคมกันเลยทีเดียว

-โรงเรียนการเมืองการทหาร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 6 กิโลเมตร มีสภาพเป็นป่ารกทึบหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในบริเวณโรงเรียนการเมืองการทหาร จะประกอบไปด้วยบ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล ส่วนเหล่านี้มีทั้งหมด 31 หลัง เป็นบ้านหลังเล็กๆกระจายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ภายในบ้านแต่ละหลังจะมีแคร่สำหรับนอน และโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือทำด้วยไม้กระดานอย่างหยาบๆ หากมาเที่ยวในช่วงฤดูหนาวจะได้พบกับบรรยากาศของใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสี และร่วงหล่นลงบนบ้านไม้เก่างดงามคล้ายกับต่างประเทศ

-ภูลมโล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่เยอะที่สุดในประเทศไทย พื้นที่กว่า 1,200 ไร่ มีต้นนางพญาเสือโคร่งนับหมื่นต้น จุดที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งเยอะที่สุดคือ ภูขี้เถา ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวภูลมโลอยู่ในช่วงฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้ในแต่ละปีดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานไม่ตรงกัน ก่อนเดินทางต้องเช็คข้อมูลกับทางอุทยานฯก่อนทุกครั้ง เราไปช่วงต้นเดือนกุมภาคือดอกร่วงเกือบหมดแล้ว 90% เพราะฝนตกด้วยเลยไม่ได้ขึ้นไปถ่ายภาพ ถ้ามีโอกาสจะมาเที่ยวใหม่ค่ะ

-หมู่บ้านร่องกล้า หรือ บ้านใหม่ร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก หมู่บ้านสีชมพูที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งออกดอกเบ่งบานเต็มหมู่บ้าน ดูงดงามชวนฝัน และมีทิวทัศน์คล้ายกับหมู่บ้านในประเทศญี่ปุ่นที่มีต้นซากุระบาน เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ท่ามกลางหุบเขา มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปีและหนาวเย็นในฤดูหนาว หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับความสนใจและเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อ “ภูลมโล” จุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเขต อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว และบ้านร่องกล้าได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ภูลมโลทางฝั่งพิษณุโลก เพราะเป็นจุดแวะพักและจุดต่อรถเพื่อขึ้นไปยังภูลมโลทางฝั่งภูหินร่องกล้า เราไปต้นเดือนกุมภา ไปไม่ทันดอกร่วงเกือบหมดแล้วค่ะ ส่วนอากาศด้านบนภูหนาวเย็นมาก ลมก็แรง อุณหภูมิประมาณ 16องศา เราขึ้นไปกางเต็นท์คือต้องต้มน้ำอาบทุกวันเลย น้ำเย็นยิ่งกว่าน้ำแข็ง 55555

*ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากกรมอุทยานฯ

-รีวิวนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้รีวิวเอง เจ้าของรีวิวนี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทางสถานที่แต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม

สุดท้ายนี้... ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามชมรีวิวนี้ด้วยนะคะ ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

อีกหนึ่งช่องทางสำหรับการพูดคุย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม https://www.facebook.com/bell.diiz.39

Tara

 วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เวลา 16.31 น.

ความคิดเห็น