"นครปฐม" เป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ขับรถเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจมากมาย แม้ว่าวันนี้อากาศจะไม่เป็นใจเท่าไหร่นัก แต่ "ดินสอขอเขียน" กับเพื่อนๆ ก็ไม่หวั่นค่ะ ฝ่าฝนกันเพื่อจะไปเที่ยวชม "พระราชวังสนามจันทร์" สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

โดยส่วนตัวแล้วเรามาที่ "พระราชวังสนามจันทร์" แห่งนี้อยู่หลายครั้งเลยทีเดียว ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร นั่นคือ มารับน้องและรับปริญญาค่ะ หลังจากนั้นก็เคยแวะมาถ่ายรูปบ้างเป็นครั้งคราว แต่ครั้งนี้ ขอใช้เวลากับที่นี่อย่างจริงจัง

ใครที่จะมาเที่ยวชมพระราชวังแห่งนี้ ต้องแต่งกายให้สุภาพนะคะ ห้ามใส่กระโปรง กางเกงสั้น และเสื้อแขนกุด ไม่เช่นนั้นจะต้องเช่าผ้าถุง จึงจะเข้าไปข้างในได้ ราคาค่าเข้าชมที่นี่ก็ถูกมากๆ แค่ 30 บาทเท่านั้นเองค่ะ

ทันทีที่เข้าไปในบริเวณของพระราชวัง ก็สัมผัสได้ถึงความร่มรื่น เขียวขจี เพราะต้นไม้เยอะมากๆ อีกทั้งยังได้รับการดูแลให้เรียบร้อยอยู่เสมอ เราเดินเข้าไปชม "พระที่นั่งพิมานปฐม" เป็นที่แรก ก่อนเข้าไปต้องฝากกระเป๋า และของทั้งหมดไว้ในล็อกเกอร์นะคะ เราจึงได้เดินตัวปลิวเลยล่ะ เค้าจะมีวิทยากรนำชมเป็นรอบๆ ไปค่ะ ที่สำคัญคือ ห้ามถ่ายภาพภายในพระที่นั่งทุกหลังในพระราชวังแห่งนี้ ถ่ายได้แค่ด้านนอกเท่านั้นคร่า

"พระที่นั่งพิมานปฐม" เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่เราได้ชม พระที่นั่งองค์นี้สร้างแบบตะวันตก ตกแต่งชายคา ช่องลม กันสาด และลูกกรงระเบียงด้วยแผ่นไม้ฉลุลายแบบเรือนขนมปังขิงอย่างประณีตงดงาม ภายในพระที่นั่งองค์นี้มีห้องต่างๆ อาทิ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องพระภูษา ห้องเสวย เป็นต้น

จากนั้นเราเดินต่อไปยัง "พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี" เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น สร้างเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานปฐมไปทางทิศใต้ เดิมใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน แต่ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สุดท้ายคือ "พระที่นั่งวัชรีรมยา" ซึ่งมีสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม นำช่อฟ้ามาประดับ ไม่ว่าใครที่เห็นพระที่นั่งองค์นี้ล้วนคิดว่าคือ "วัด" กันทั้งนั้น เพราะเป็นอาคารไทยหลังคาซ้อนสองชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทิศใต้มีมุขเด็จ และมีชาลายื่นออกไปจรดชาลาพระที่นั่งพิมานปฐม ไฮไลท์ของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ทาสีแดงเข้มปิดทองฉลุเป็นลายดาว ยามค่ำคืน เมื่อเปิดไฟ จะเห็นแสงส่องลงมา ไม่ต่างอะไรจากดาวบนฟ้าเลยล่ะ ที่นี่ รัชกาลที่ 6 ใช้ออกงานสโมสรสันนิบาต เสด็จออกขุนนาง ใช้เป็นที่ฝึกอบรมเสือป่า รวมทั้งเป็นสถานที่แสดงโขนละคร จนใครๆ ต่างพากันเรียกว่า "โรงโขน" เป็นอันเสร็จสิ้นการนำชมของวิทยากร


เรามุ่งหน้าไปยัง "เทวาลัยคเณศร์" ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้สร้างเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ พระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ การประพันธ์ เป็นผู้ขจัดอุปสรรคและประทานความสำเร็จ เราในฐานะศิษย์เก่าศิลปากร จึงไม่รอช้าเพื่อเข้าไปสักการะและขอพรจากท่าน เพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของเด็กศิลปากร อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังนำองค์พระพิฆเนศมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เราเดินเรื่อยๆ ชมความเขียวขจีของต้นไม้มาจนถึง "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์" ซึ่งจัดว่าเป็นไฮไลท์ของพระราชวังสนามจันทร์เลยก็ว่าได้ เพราะมีลักษณะเป็นปราสาท มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรเนอซองส์ของฝรั่งเศส และแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง ยิ่งเวลาแดดส่องมายังอาคารหลังนี้ สีของตัวอาคารเวลาตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า เป็นภาพที่งดงามสุดๆ แต่น่าเสียดายที่วันนี้ฟ้าไม่ค่อยเป็นใจซักเท่าไหร่ ภาพที่ได้จึงออกมาเป็นอย่างนี้ล่ะค่ะ

บริเวณหน้าพระตำหนักแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ "อนุสาวรีย์ย่าเหล" สุนัขทรงเลี้ยงซึ่งเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 6 เป็นสุนัขพันธ์ทาง หางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก ย่าเหลถูกยิงเสียชีวิต นำความเศร้าโศกมาให้พระองค์ยิ่งนัก จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลไว้หน้าพระตำหนักแห่งนี้

บนชั้น 2 ของพระตำหนักแห่งนี้ทำสะพานไม้ทอดยาวไปยัง "พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์" เป็นอาคารไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค เป็นอาคารอีกหลังที่มีความงดงามไม่แพ้พระที่นั่งองค์อื่นๆ เลยล่ะค่ะ

หลังจากที่เที่ยวชมอาคารต่างๆ มาจนถึงตรงนี้แล้ว "ดินสอขอเขียน" กับเพื่อนๆ ก็ถ่ายรูปกันเพลินไปเลยล่ะค่ะ และทั้งหมดนี้ก็เป็นความสวยงาม และความประทับใจจากการที่ได้มาเยือน "พระราชวังสนามจันทร์" แห่งนี้

ฝากเพจเล็กๆ ของเราด้วยนะคะ https://www.facebook.com/EatAndTravelWithTT/

----------------------------------------------------------------------
ที่ตั้ง : ถ.ราชดำเนิน ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
โทร. : 0-3424-4236
เปิด-ปิด : ทุกวัน 09.00-16.00 น (ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น.)
ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท

ดินสอขอเขียน

 วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 22.04 น.

ความคิดเห็น