สโตนเฮนจ์แปลว่า หินที่แขวนอยู่ เป็นกลุ่มหินขนาดมหึมา หนักก้อนละประมาณ 26 ตัน เรียงเป็นวงกลมซ้อนกัน หินบางแท่งตั้งขึ้น นอนบนพื้น หรือพาดอยู่บนหินที่ตั้งอยู่ สโตนเฮนจ์มีความเก่าแก่กว่า 5 พันปี ยังคงเป็นปริศนาว่าสร้างได้อย่างไรและเพื่อวัตถุประสงค์ใด บ้างก็ว่าเป็นซากวิหารของชาวโรมันก่อนคริศตกาล หรือเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของลัทธิบูชาพระอาทิตย์ หรือเป็นปฏิทินโบราณบอกตำแหน่งของดวงดาว
ส่วนการก่อสร้างนั้น ต่างสงสัยกันว่า คนในสมัยนั้นนำแท่งหินขนาดใหญ่มาเรียงกันได้อย่างไร โดยไม่มีเครื่องทุ่นแรง และบริเวณโดยรอบก็ไม่มีหินขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า หินทั้งหมดถูกนำมาจากสถานที่ซึ่งอยู่ไกลออกไป 40 กิโลเมตร
ความมหัศจรรย์ของสโตนเฮนจ์ดึงดูดให้ผู้คนมาที่นี่ รวมทั้งผมด้วย แต่เพื่อน ๆ ที่เคยมา บอกไว้ว่า สโตนเฮนจ์อาจไม่อลังการมากนัก ความแปลกอยู่ที่การสร้างมาตั้งแต่ยุคโบราณมากกว่า เคยมีข่าวลือพร้อมรูปถ่ายเป็นหลักฐานว่ารัฐบาลอังกฤษเพิ่งสร้างสโตนเฮนจ์ขึ้นมาเมื่อราว 60 ปีนี้เอง แต่ที่จริงแล้ว ภาพเหล่านั้นถ่ายไว้ระหว่างการบูรณะสโตนเฮนจ์
ที่สโตนเฮนจ์ ไกด์ให้เวลาอย่างเพียงพอในการเดินชมโดยรอบ เสียดายที่วันนี้ท้องฟ้าไม่ใส แต่อย่างน้อยก็ได้มาชมสโตนเฮนจ์ ที่เคยเห็นแต่ภาพในหนังสือแล้ว
จากสโตนเฮนจ์ เราไปต่อกันที่เมืองบาธ เมืองเล็กที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1987 บาธตั้งอยู่ในหุบเขาของแม่น้ำเอวอน (Avon) และเป็นแหล่งที่มีน้ำพุร้อน มีการตั้งถิ่นฐานของชาวโรมัน และมีการสร้างโรงอาบน้ำโรมัน (Roman Bath) ใช้เป็นสปาแช่น้ำพุร้อน โรงอาบน้ำถูกทิ้งร้างไปนับร้อยปี ต่อมากษัตริย์อังกฤษได้บูรณะและพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อน โดยเฉพาะในสมัยจอร์เจียน (Georgion Era) ช่วงระหว่างที่พระเจ้าจอร์จที่ 1 – 4 ครองราชย์ หรือ ค.ศ. 1714 – 1830 บาธกลายเป็นเมืองที่ผู้คนนิยมมาอาบน้ำแร่ ตัวเมืองขยายอาณาเขตออกไป และมีการสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคจอร์เจียนอันโดดเด่นและสวยงามหลายแห่ง
เราเข้าไปเที่ยวกันที่โรงอาบน้ำโรมัน ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของเมืองบาธ มีแผนที่และออดิโอไกด์แจก ให้เดินตามจุดต่าง ๆ ในแผนที่พร้อมฟังบรรยายไปด้วย ผ่านจากทางเข้าไปด้านในจะเป็นระเบียงด้านบน มีรูปปูนปั้นประดับตามมุมต่าง ๆ มองไปด้านล่างเห็นบ่อน้ำใหญ่ บ่อแช่น้ำหลักของที่นี่
ที่ชั้นล่างระดับเดียวกับบ่อน้ำหลัก นอกจากการชมบ่อน้ำในระยะใกล้แล้ว ยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโรงอาบน้ำโรมัน โครงกระดูก วัตถุโบราณที่ขุดพบ เช่น รูปปั้น หินมีค่าต่าง ๆ หนึ่งในน้ำพุร้อนในบริเวณโรงอาบน้ำเป็นน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการบูชาเทพธิดาแห่งน้ำ จะไม่มีใครลงอาบน้ำในบ่อน้ำร้อนศักดิ์สิทธิ์ แต่น้ำจากบ่อจะถูกนำไปใช้ในเมืองบาธ
ในโรงอาบน้ำโรมันมีน้ำแร่บริการให้นักท่องเที่ยวชิมรสชาติว่าเป็นเช่นไร แน่นอนว่ารสคงแปลกไม่คุ้นลิ้น และไม่มีใครดื่มทั้งแก้ว แค่จิบให้รู้รสก็พอ แต่ถ้าอยากซื้อหาน้ำแร่กลับไป มีใส่ขวดขาย รวมทั้งของที่ระลึกอื่น ๆ ที่มุมขายของที่ระลึกภายในโรงอาบน้ำ
ออกจากโรงอาบน้ำมา ด้านข้างเป็นที่ตั้งของวิหารบาธแอบบีย์ (Bath Abbey) ซึ่งตอนอยู่บนระเบียงของโรงอาบน้ำ เราก็มองเห็นยอดสวย ๆ ของวิหารนี้ออกจากโรงอาบน้ำมา ด้านข้างเป็นที่ตั้งของวิหารบาธแอบบีย์ (Bath Abbey) ซึ่งตอนอยู่บนระเบียงของโรงอาบน้ำ เราก็มองเห็นยอดสวย ๆ ของวิหารนี้
บาธแอบบีย์ที่เห็นอยู่นี้เป็นโบสถ์กอทิกหลังสุดท้ายของอังกฤษ สร้างบนซากวิหารเก่า ว่ากันว่าด้านในสร้างสันเพดานแยกออกไปคล้ายพัด เป็นสถาปัตยกรรมแบบกอทิกที่สวยงาม ผนังประดับด้วยภาพกระจกสีและใช้เป็นสุสานด้วย ผมไม่ได้เข้าไปด้านใน ได้แต่ชื่นชมสถาปัตยกรรมของวิหารอยู่เพียงด้านนอก เพราะใกล้เวลานัดหมายกับคณะทัวร์
แต่ปรากฏว่า เมื่อไปถึงที่นัดหมาย ไกด์แจ้งให้ทราบว่ารถเสีย ต้องใช้เวลาซ่อมอีกราวชั่วโมงจึงจะมารับคณะทัวร์ ผมเลยมีเวลาเดินเล่นอยู่ในเมืองบาธต่อ
ผมเดินเลียบแม่น้ำเอวอนไปทางสะพานพัลต์นีย์ (Pulteney Bridge) ซึ่งเป็นสะพานเก่าแก่และสวยงาม มีหลังคาคลุมตลอดตัวสะพาน ด้านในแบ่งเป็นห้องเปิดเป็นร้านค้า ทางเดินริมฝั่งน้ำเป็นสวนสาธารณะร่มรื่น ต้นหญ้าเขียวห่มคลุมพื้นไปตลอดทาง ต้นไม้บางต้นเริ่มเปลี่ยนสี การเดินเที่ยวในสวนที่สงบงามริมแม่น้ำในเมืองบาธช่วยให้ผ่อนคลาย ผมกลับรู้สึกดีที่รถเสีย ทำให้ผมได้ใช้เวลาอยู่ในเมืองบาธได้นานกว่ากำหนด
คณะทัวร์กลับมาถึงลอนดอนเมื่อฟ้ามืดแล้ว รถจอดส่งนักท่องเที่ยวตามสถานีรถไฟใต้ดินใหญ่ 2 – 3 แห่ง เมื่อผมและเพื่อนเดินลงจากรถ ก็เป็นการสิ้นสุดทัวร์หนึ่งนอกลอนดอน ซอลส์บรี-สโตนเฮนจ์-บาธ อย่างเป็นทางการ
eakpawintravel
วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 11.11 น.