50 ที่เที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ...

ที่ๆพ่อเคยไป..โครงการที่พ่อเคยทำ มากกว่า 4000 โครงการ

เรายังไปตามรอยพ่อได้แค่ 50 ที่เอง เชื่อแล้วว่า "ไม่มีที่ใดในแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง"

เป็นการรวมสถานที่ที่ผมเคยไป ทั้งโครงการหลวง โครงการพระราชดำหริ สถานที่พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนิน

หากมีอะไรผิดผลาดไปขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ



สิรินาถราชชินี

วันที่ 9 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทอดพระเนตรความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี ที่กรมป่าไม้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และชาว ต.ปากน้ำปราณ ร่วมใจกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ปัจจุบันโครงการประสบผลสำเร็จดี เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนและการอนุรักษ์ อนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ เป็นแหล่งอาหารสำหรับการดำรงชีวิตอย่างพึ่งพากันและกันระหว่างมนุษย์-สัตว์-ป่าไม้ ที่สมดุล ในการนี้ทรงปล่อยพันธุ์ "ปลาจุมพรวด" หรือที่เรียกกันว่า "ปลาตีน" จำนวน 16 ตัว และปูทะเล 9 ตัว


ภูกระดึง

ปี พ.ศ.๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีหมายกำหนดการเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคแรก และในวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ได้ประทับเฮลิคอปเตอร์จากจังหวัดขอนแก่น มายังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ทั้งสองพระองค์ได้ประทับช้างทอดพระเนตรทัศนียภาพอันสวยงามของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงและได้ปลูกต้นสนสามใบไว้เป็นที่ระลึก


เมืองโบราณ

สมุทรปราการ พอเวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ และเจ้าชายฟิลิป เสด็จฯ ถึงเมืองโบราณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ออกรับรองหน้ากำแพงเมืองโบราณ กรรมการฝ่ายสตรีของเมืองโบราณ ถวายพวงมาลัยคล้องข้อพระหัตถ์ และถวายหนังสือเมืองโบราณ แด่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ ประธานกรรมการเมืองโบราณ ขอพระราชทานเบิกคณะกรรมการเมืองโบราณ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเชิญราชอาคันตุกะเสด็จผ่านประตูเมืองโบราณ ซึ่งปรากฏว่าพระราชอาคันตุกะทั้งคู่ทรงสนพระทัยเป็นอย่างมาก

อนึ่ง ในวันนี้นางประไพ วิริยะพันธุ์ เจ้าของเมืองโบราณ ได้ทูลเกล้าถวายพระแสงดาบโบราณ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อมีผู้ที่เฝ้าใกล้ชิดท้วงว่าเป็นพระแสง ต้องถือเคล็ด โดยแลกเปลี่ยนกับเศษสตางค์ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีเศษเหรียญเลย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงทูลเกล้าถวายไป ๑ บาท


พระปฐมเจดีย์

พระราชกรณียกิจในวันที่ ๑๑ แห่งการทรงพระผนวชวันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เสด็จสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้ว เสด็จฯ เข้าพระวิหารถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทำวัตรแล้ว เสด็จฯ กระทำประทักษิณพระเจดีย์รอบบน (รอบละ ๓๐๐ เมตร) ๑ รอบ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙


หาดสุรินทร์

จ.ภูเก็ต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ณ หาดสุรินทร์ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๑๐


วันที่ 25 มกราคม 2509 หลังจากประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสร็จแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านรับรองหน่วยศิลปากรที่ 3 เมืองศรีสัชนาลัย ทอดพระเนตรแบบจำลองเมืองศรีสัชนาลัย จากนั้นเสด็จชมโบราณสถาน วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดนางพญา หลักเมือง บริเวณพระราชวังและวัดสวนแก้วอุทยานน้อย ในครั้งนี้ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับรองอธิบดีกรมศิลปากร (นายกฤษณ์ อินทโกศัย)

โบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัยนี้ เมื่อได้บูรณะเสร็จแล้วให้จัดการดูแลรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี อย่าให้กลับชำรุดทรุดโทรมลงอีก โดยเฉพาะบริเวณพระราชวังที่ได้ขุดพบรากฐานนั้น ควรจะได้ขุดดูให้ทั่วถึง เพราะอาจพบจารึกหรือหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์


วันที่ 26 ธันวาคม 2515 ทั้งสองพระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ในคราวนี้ได้ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง และใช้เวลาแต่ละแห่งนานมาก เสด็จไปยังเขาพนมเพลิง โดยมี หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ ผู้ตามเสด็จโดยใกล้ชิด



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการและทรงประกอบพิธีสมโภชพระบรมธาตุดอยสุเทพ

ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานบนพระบรมธาตุดอยสุเทพ "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๘

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าโอลาฟที่ ๕ แห่งประเทศนอร์เวย์

ไปทอดพระเนตรการใช้ช้างทำงานในกิจการป่าไม้ ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดถวาย

ณ อุทยานน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร เมื่อ วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔

" ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง

จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแส

พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแสดงออกถึงความพอพระราชหฤทัย

ในเครื่องมือสูบน้ำที่ใช้พลังน้ำหรือตะบันน้ำ ซึ่งกรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสูบน้ำขึ้นไปใช้สำหรับ

อุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรกรรมในเขตพื้นที่เพาะปลูก

ที่มีความสูงกว่าระดับเก็บกักของบ่อพักน้ำ บ่อพักน้ำดังกล่าวเป็น

แหล่งเก็บน้ำที่นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำดอยอ่างขาง "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระสถูปเจดีย์ พระมหาธาตุนภเมทนีดล

และทอดพระเนตรภายในพระสถูปเจดีย์ "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากสนามบินจังหวัดเชียงใหม่

ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล ณ จังหวัดตาก"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับแรม ไปยังวัดพระบาทมิ่งเมืองและวัดพระธาตุช่อแฮ

จากนั้นเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร ณ ที่ว่าการอำเภอร้องกวางและอำเภอสา ต่อไป เมื่อถึงประตูซุ้ม

เขตจังหวัดแพร่-น่าน ณ ห้วยน้ำอุ่น หลวงอนุมัติราชกิจ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน พร้อมด้วยประชาชนได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

แล้วเสด็จไป ณ ที่ว่าการอำเภอสาและเสด็จฯ ไปยังศาลากลางจังหวัดน่าน แล้วเสด็จฯ

ขึ้นที่ประทับศาลากลางจังหวัดน่าน เสวยพระกระยาหารกลางวัน "

" เวลา ๑๕.๓๐ น. เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากศาลากลางจังหวัดน่าน

ไปหยุดทรงนมัสการพระพุทธรูปพระเจ้าทองทิพย์ ณ วัดสวนตาล เสร็จแล้วเสด็จฯ

ไปห้วยน้ำอุ่น เสวยพระสุธารส จากนั้นเสด็จฯ กลับสู่ที่ประทับ ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จพระราชดำเนิน

จังหวัดพิจิตร โดยเฮลิคอปเตอร์ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเก่า) เพื่อทรงเยี่ยมเยียน

ราษฎร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร (นายอรุณ นาถะเดชะ) และประชาชนทุกหมู่เหล่า

เฝ้ารับเสด็จ และได้ทรงประกอบพิธีเวียนเทียน ณ อุโบสถวัดท่าหลวง พระอารามหลวง "



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และเสด็จฯ

ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จอยู่เป็นจำนวนมาก

ณ วัดอนาลโย ตำบลต๋อม อำเภอเมืองพะเยา "



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๑๕ - ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรที่สวนป่าห้วยเป๊าะ ที่ว่าการอำเภอสอง ศาลากลางจังหวัดแพร่

สนามหลวง วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร


ในวันที่ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๑ เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดแรกของภาคเหนือ "

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากสถานีรถไฟ จังหวัดพิษณุโลก ถึง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตร

พื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำปางตอง ณ บ้านปางอุ๋ง และเสด็จฯ เป็นองค์ประธาน

ในพิธีสวนสนามรวมพลัง ทสปช. ณ สนามกีฬาจังหวัด

ประทับแรม ณ เรือนประทับแรมปางตอง "



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

เมื่อ วันที่ ๑๓ - ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากกว๊านพะเยา เสด็จประทับ ณ ค่ายทหารสุรศักดิ์มนตรี

เสด็จฯ โรงเรียน บุญวาทย์วิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ


เมื่อ วันที่ ๑๓ - ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

เสด็จไปทรงนมัสการพระแก้วลำปางหลวง

ซึ่งอันเชิญมาประดิษฐานชั่วคราว ณ วัดพระแก้วดอนเต้า เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร

กิจการเหมืองลิกไนท์ แม่เมาะ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปอำเภองาว "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

เมื่อ วันที่ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามพระบรมราชกุมารี

และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ทอดพระเนตรวิหารหลวง วิหารน้ำแต้ม

และทรงสรงน้ำองค์พระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ทรงนมัสการและทรงประกอบพิธีสมโภชพระธาตุหริภุญชัย "


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑

เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปวัดพระแท่นศิลาอาสน ์

เสด็จเข้าสู่ที่ประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงพระสุหร่ายสรงพระแท่นศิลาอาสน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุทิศผ้าเหลือง พระราชทานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์

ห่มพระแท่นศิลาอาสน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมชินีนาถ

ถวายดอกไม้ธูปเทียน ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน เป็นพุทธบูชา

และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการและได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมวัด


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘

" ความก็มีอยู่ว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ปีนั้นหล่อรูปหลวงพ่อปาน ที่วัดท่าซุง

อ.เมือง จ.อุทัยธานี ท่านหญิงภาวดี คือ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี ท่านได้ทูลเชิญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราขินีนาถ

ให้ทรงมาเททอง และตามธรรมดาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถ้าเสด็จไปไหน

สิ่งมหัศจรรย์ ที่เราไม่คิดจะปรากฏขึ้นเสมอ นั่นคือฝนตก อากาศปกติธรรมดาๆ

ก็ไม่น่าจะมีฝนตก ก็มีฝนตกลงมาแต่เวลาที่ฝนตก ฝนไม่ทำความเสียหายให้แก่งานเลย

ทุกคนกลับมีความชุ่มชื่น เพราะเวลานั้นเป็นฤดูร้อนมาก คือ เดือนเมษายน

แต่ว่าพอเวลาใกล้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาถึงจริงๆ

ฝนก็หายหมด ปรากฏว่าคนทุกคนได้รับความชื่นใจเป็นพิเศษ "


นครพนม

ครั้งที่1 เสด็จพระราชดำเนินเี่ยี่ยมค่ายทหาร กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ที่บ้านภูเขาทอง

และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สักการะพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และทรงเยี่ยมเยียนราษฏร

เมื่อวันที่ 12-14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 (การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ ทรงเยี่ยมราษฏร

15 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498)


วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2498

เสด็จฯ อำเภอพิบูลมังสาหาร ทอดพระเนตรแก่งสะพือ และเยี่ยมราษฎร


ครั้งที่ 11 วันที่ 16 มกราคม 2536 เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพ พระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา สุภัทโท) ณ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี


พระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ) เป็นประธานเปิดค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑


อ่าวพังงา วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือรบหลวงถึงอ่าวพังงา มีนายมนัส เจริญประสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกและคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดเฝ้าฯ รับเสด็จฯ


เขาช่องกระจก จ.ประจวบ เป็นภูเขาขนาดย่อมสูง ๒๔๕ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ริมอ่าวประจวบฯ ในบริเวณ วัดธรรมิการามวรวิหาร ยอดเขามีช่องทะลุโปร่งคล้ายกรอบกระจก ทางขึ้นเป็นบันไดคอนกรีต จำนวน ๓๖๙ ขั้น ในปี ๒๔๙๗ พระเทพสุทธิโมลี(หลวงพ่อปิ่น) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร ได้รับมอบเขาช่องกระจกจากจังหวัดให้อยู่ในความดูและรักษาของวัด บนยอดเขาประดิษฐานรอยพระพุทธบาท จำลองและพระเจดีย์ ภายในมีพระสถูปบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานและเสด็จพระราชดำเนินขึ้น บันไดไปยังพระเจดีย์บนยอดเขา ทรงประกอบพิธีบรรจุ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๐๑ พร้อมทั้ง ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไว้ ณ บริเวณนั้น จากลานยอดเขานี้เอง ทำให้เห็นทิวทัศน์เขาตะนาวศรี อ่าวประจวบฯ เขาตาม่องล่าย เขาล้อมหมวก และตัวเมืองประจวบฯ ได้โดยรอบ จากยอดเขาลงไปทางทิศตะวันออก มีถ้ำลิง ถ้ำค้างคาว เชิงเขาเบื้องล่างด้านทะเลมี"ถ้ำพระ" และด้านทิศใต้มีถ้ำใหญ่ เรียกว่า "ถ้ำสุขสันต์-เจริญธรรม


น้ำตกพรหมโลก จ.นครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ณ น้ำตกพรหมโลก ตำบลพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๐๒


ภูทอก จ.บึงกาฬ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงนมัสการพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ต.นาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ โดยมีพระราชดำรัสจัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อพระราชทานแก่ประชาชน และทรงมีพระราชดำรัสทางธรรมะ


อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี รัฐพิธีพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อถึงวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนาอุทิศแด่พระมหาราชเจ้าพระองค์นั้น รวมทั้งบรรพชนชาวไทยที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อเอกราชของชาติ และโปรดให้มีการสังเวยบวงสรวงตามโบราณราชประเพณี มีพระราชครูพราหมณ์พิธีอ่านประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ นอกจากนั้นบางปียังได้ทรงพระกรุณาให้มี การบำเพ็ญพระราชกุศลและบวงสรวง ณ สถานที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเคยประทับ หรือเคยทรงประกอบวีรกรรม หรือเคยยาตราทัพผ่าน โดยมีผู้แทนพระองค์ไปประกอบรัฐพิธีที่ดอนเจดีย์แทน


อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในภูมิภาค โดยนครราชสีมาเป็นจังหวัดแรกที่เสด็จพระราชดำเนิน ในระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2498 นับเป็นปิติกาลของชาวจังหวัดนครราชสีมา มีเรื่องราวที่ประทับตรึงแน่แน่นอยู่ในความทรงจำ เล่าขานสืบต่อกันจนถึงทุกวันนี้ โดยทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี


วัดบ้านไร่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน มาที่วัดบ้านไร่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2538 เพื่อทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่บุษบกเหนือพระอุโบสถวัดบ้านไร่ ในครั้งนั้นหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินปัจจัย 72 ล้านบาท โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย


เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2498 เวลา 8.00 น.เสด็จฯ ถึงวัดป่าเลไลยก์ ทรงมีพระราชปฎิสันถารกับเจ้าคุณธรรมดิลก (***สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช .. ปุ่น ปุณฺณสิริ) และทรงนมัสการพระพุทธปฎิมากรวัดป่าเลไลยก์


อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะชุมพร


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ


โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งอดีต ทำให้วันนี้โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กลายมาเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เผยความงดงามทั้งทัศนียภาพ และวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบสาน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนแวะเวียนมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ชมนานาพรรณไม้ที่งอกงาม และสัมผัสทัศนียภาพอันร่มรื่นสบายตาอย่างไม่ขาดสาย

โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จย่าแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย ที่ประกอบไปด้วย ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ มากกว่า 11,000 ชีวิต ภายหลังสมเด็จย่าทรงได้แรงบันดาลใจ จากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขามาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้สมเด็จย่า มีพระราชประสงค์ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน บนดอยตุง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

พร้อมทั้งอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยภูเขาและชาวไทยภาคเหนือให้คงอยู่ตลอดไป วันนี้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ คือแหล่งเรียนรู้งานฝีมือและการแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานความทันสมัยและรากเหง้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลงตัว


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จ.เชียงราย

การพัฒนาการเกษตรอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่ม ความยั่งยืนและสร้างรากฐานอาชีพภายในชุมชนอย่าง มั่นคง วันนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ไม่เพียงเป็น แหล่งผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ตลอดจนมีระบบ อนุรักษ์ดินและน้ำที่ดีเพียงเท่านั้น บ้านผาตั้งยังกลาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในบทบาทชุมชนอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งสำคัญของจังหวัดเชียงราย

จากเดิมที่เคยเป็นหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนา โครงการหลวงห้วยแล้ง ภายหลังได้รับถวายฎีกาการ พฒั นาปรับปรุงพื้นที่จากชาวบ้านหมู่บ้านผาตั้ง บ้านร่มฟ้า ผาหม่น และบ้านศิลาแดง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประทานมูลนิธิโครงการหลวง โปรดให้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งขึ้น ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2550 เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่ชาวบ้าน

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง มีการปรับพื้นที่ ภายในศูนย์ฯ สำหรับวางแผนทดสอบและสาธิตวิธีการ ปลูกผักและไม้เมืองหนาว รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ได้แก่ กระต่าย แพะ ไก่กระดูกดำ และหมู เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชน ประกอบด้วย คนจีนคณะชาติ ม้ง เย้า มูเซอ อีก้อ ไทลื้อ และคนพื้นเมืองมากกว่า 600 ครัวเรือนอย่างทั่วถึง


โครงการพัฒนาป่าไม้ ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้าจ.พิษณุโลก

ใครแวะเวียนมาสูดอากาศสดชื่นท่ามกลางภูเขาเขียวขจีสัมผัสอากาศเย็นสบายกันที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ที่นี่ยังมีแหล่งเรียนรู้การพัฒนาป่าไม้และเพาะชำกล้าไม้หายาก อันเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้าจัดตั้งขึ้นเพื่อการฟื้นฟูสภาพป่า เพาะชำกล้าไม้ และ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎร ที่โครงการฯยังมีแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า แปลงสาธิต การปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน ปลอดสารพิษ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้อย่างใกล้ชิด

พื้นที่ในโครงการฯ มีแนวหินผาเป็นจุดชมวิวถึง 6 จุดสำคัญ ได้แก่ ผาไททานิค ผาพบรัก ผาบอกรัก ผาคู่รัก ผารักยืนยง และผาสลัดรัก สามารถยืนชมทิวทัศน์ผืนป่าเขียวชอุ่ม ไม่เพียงแค่ทุ่งดอกกระดาษและหน้าผาแห่งรักเท่านั้น ในช่วงฤดูหนาว ที่นี่ยังเป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทยผลิบานอีกหนึ่งจุดด้วย


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานชื่อ“โรงนมผงหนองโพ" โดยให้บริหารงานในรูปบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า"บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัด" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้นใหญ่ของบริษัทและได้รับพระราชทานเงื่อนไขไว้ด้วยว่าบรรดาเงินกำไรสุทธิที่คณะกรรมการบริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตรธิดาสมาชิกของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงานเป็นประจำ


เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2499 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และมีพระราชโอรส ราชธิดา ตามเสด็จด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลิขิตจารึก พระปรมาภิไธยย่อ ภ ป ร 1 มิ.ย.99 ไว้ที่หินหน้าถ้ำจอมพล ด้วยพระองค์เองแล้วพระองค์พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ สมเด็จพระราชชนนี ฯ และทั้งราชโอรส ราชธิดา ทรงพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรภายในถ้ำจอมพล


วันที่ 29 ต.ค. 2504 ทรงเสด็จพระราชดำเนินที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เสด็จที่ค่ายพักแรมลำตะคอง


"โครงการหลวงหนองหอย" ม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระแท่นดงรัง ๒ ครั้งคือ

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๒ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นโพธิ์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นรัง

เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถและเททองหล่อพระประธานและพระพุทธบาทจำลอง


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินน้ำตกธารโบกขรณี ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก เมื่อวันที่12 มี.ค.2502 โดยทั้งสองพระองค์ได้สลักพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.และสก.บนหินปากถ้ำน้ำลอดน้ำตกธารโบกขรณี ซึ่งมีความสูงจากพื้นน้ำประมาณ 10 เมตร...


พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ-วัดทางสาย หรือวัดเขาธงชัย เป็นมหาธาตุเจดีย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานชื่อให้ เป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ โดยไม่ใช้เงินของทางราชการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระองค์ ครองราชย์ครบ 50 ปี


"โครงการพระราชดำริ แหลมผักเบี้ย" จ.เพชรบุรี

เดินชมธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ตามพระราชดำริ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บนสะพานไม้ที่ทอดยาว ประมาณ 850 เมตร ลัดเลาะเข้าไปยังป่าชายเลน


ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เป็นจุดหมายปลายทางที่ นำเสนอสารพันงานหัตถศิลป์ ที่ใส่ใจในการผลิต แม้จะทำโดยชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ แต่ทุกคนล้วนได้รับการฝึกอบรมจากช่างฝีมือแบบศิลปะไทยโบราณจาก ในวัง ทุกชิ้นงานผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี กลายเป็นงานหัตถกรรมทำมืออันทรงคุณค่าก่อนที่จะออกจำหน่าย

ที่ตั้งของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบรรยากาศจึงร่มรื่นเหมาะกับการแวะมาผ่อนคลายในช่วงวันหยุด มีการสาธิตวิธีการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ให้เราได้เก็บเกี่ยวความรู้ในงานหัตถกรรมฝีมือดีเหล่านี้นอกจากนี้ยังมีการแสดงนาฏศิลป์ และการละเล่นพื้นบ้าน4 ภาค ให้ชมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์อีกด้วย

และนี่ก็คือทั้งหมดที่ผมได้ตามรอยของพระองค์ท่านมา เมื่อได้มาค้นหาข้อมูลแล้วยิ่งรู้ว่า

ยังมีอีกหลายๆที่ หลายๆโครงการมากมายที่พระองค์ท่านได้สร้าง

หากจะตามรอยท่านจริงๆก็ไม่รู้ว่า ใช้เวลาทั้งชาติจะครบหรือเปล่า

ขอบคุณทุกๆท่านที่เข้ามาอ่าน เข้ามาชมนะครับ

หากมีข้อมูลใดในที่นี้ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ผมต้องขออภัยและยินดีที่จะปรับปรุงในทันทีครับ

Wefoto

 วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 15.17 น.

ความคิดเห็น