หลังเสร็จสิ้นการเที่ยวที่เกาะไหง ผมและเพื่อน ๆ มีเวลาในช่วงบ่าย ก่อนที่จะต้องขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ ในช่วงเย็น เลยได้ใช้บริการตุ๊กตุ๊กหัวกบที่จอดรออยู่หน้าสถานีรถไฟไปเที่ยวกันตัง
ตุ๊กตุ๊กหัวกบเป็นรถกระบะสามล้อขนาดเล็ก ใช้ขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจขนาดย่อมในญี่ปุ่น เริ่มนำเข้ามาใช้ในเมืองตรัง ปี พ.ศ. 2509 เนื่องจากมีความเหมาะสมในพื้นที่เมืองตรังซึ่งเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ และซอกแซกไปตามตรอกซอยที่คับแคบได้สะดวก โดยนำมาต่อเติมหลังคาแล้วใช้เป็นรถโดยสาร ปัจจุบันยังมีตุ๊กตุ๊กหัวกบให้บริการอยู่ในเมืองตรัง และมีความพยายามในการอนุรักษ์ไว้ เพราะตุ๊กตุ๊กหัวกบกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองตรังไปแล้ว
เมื่อตกลงราคากันได้ เราเริ่มออกเดินทางทันที มีคำสองคำที่มีอยู่ทั้งในคำขวัญประจำจังหวัดตรัง (เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา) และอำเภอกันตัง (กันตังเมืองสะอาด ธรรมชาติริมฝั่งน้ำ สง่างามตำหนักจันทน์ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฏา ท่าเทียบเรือต่างประเทศ เขตกำเนิดยางพารา) คือ พระยารัษฎาและยางพารา เรากำลังจะไปทำความรู้จักกับสองคำนี้ให้มากขึ้น
กบติดเครื่องยนต์สีเขียวตัวใหญ่คืบคลานพาเราออกจากเมืองตรังไปตามระยะทาง 24 กิโลเมตรสู่อำเภอกันตัง สันนิษฐานว่า กันตังมาจากคำในภาษามาเลย์ หมายถึง มาตราตวงโบราณ โดย 4 ลิตร เท่ากับ 1 กันตัง และ 4 กันตัง เท่ากับ 5 ทะนาน แต่หากดูในพจนานุกรมไทย กันตังจะเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง
กันตังเป็นเมืองท่าสำคัญมาแต่อดีต เป็นศูนย์กลางความเจริญของเมืองตรังเดิม กันตังมีการพัฒนาเมืองและเติบโตมากขึ้นเมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีมารับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ในปี พ.ศ. 2433 ทั้งด้านการเกษตร การก่อสร้างถนนหนทางและสะพาน การค้าขายกับต่างชาติ และการแก้ปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสถานที่แห่งแรกในกันตังที่เราไปชม
ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านไม้โบราณสีฟ้าสองชั้น รายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ร่มรื่น ที่นี่เคยเป็นบ้านพักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เมื่อครั้งรับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองตรังอยู่ถึง 11 ปี พระยารัษฎานุประดิษฐ์เกิดที่จังหวัดระนอง มีชื่อเดิมว่าคอซิมบี้ เริ่มเข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีอายุได้ 25 ปี ด้วยความสามารถ ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อยมา จนได้เป็นเจ้าเมืองตรัง และหลังจากนั้น ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติชีวิตและผลงานของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่าน รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งท่านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าที่หาชมได้ยาก และกล้องถ่ายรูปรุ่นแรก ๆ ที่นำเข้ามาในประเทศไทย
เราใช้เวลากับพิพิธภัณฑ์กันไปพอสมควร ทำให้มีเวลาเหลือไม่มากนัก เกรงว่าจะกลับไปไม่ทันเวลารถไฟออก แต่เราก็ไม่พลาดที่จะแวะชมอีกหนึ่งผลงานของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ในช่วงขากลับเข้าเมืองตรัง นั่นคือ ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ที่หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง
พระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เมื่อท่านได้เดินทางไปดูงานที่มาเลเซีย ซึ่งมีการปลูกยางกันมากและให้ผลผลิตที่ดี ท่านมีความคิดที่จะนำยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทยบ้าง แต่ในขณะนั้น รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมาเลเซียอยู่ ไม่อนุญาตให้นำพันธุ์ยางออกมา จนในปี พ.ศ. 2444 ที่พระสถลสถานพิทักษ์ (คออยู่เกียด ณ ระนอง) หลานชายของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ นำกล้ายางกลับมาจากอินโดนีเซียได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกยางพาราในประเทศไทย และหนึ่งในต้นกล้ารุ่นแรกที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบันเพียงหนึ่งเดียว คือต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทยที่เราได้แวะมาชม
พระสถลสถานพิทักษ์ได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางออกไป และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ส่งคนไปศึกษาการปลูกยาง นำมาเผยแพร่ และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยาง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งยางพาราไทย
เรากลับมาทันก่อนรถไฟออกจากชานชาลา พอมีเวลาซื้อหาของฝากก่อนกลับกรุงเทพ ฯ เวลาไม่นานที่ได้นั่งตุ๊กตุ๊กหัวกบเที่ยวกันตัง ทำให้เราได้เรียนรู้และสัมผัสกับประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกันตัง เมืองท่าเก่าที่ยังเปี่ยมคุณค่าจากอดีตและสงบงาม
eakpawintravel
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 14.11 น.