:: เมื่อกลับมาใช้ชีวิตตัวคนเดียว ผมจึงกลับมาสนิทกับตัวเองอีกครั้ง ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้มีเวลาคุยกับตัวเอง ได้เดินทางกับตัวเองและเพื่อนอีกหนึ่งคน เมื่อมีเวลาเราจึงสร้างเงื่อนไขง่ายๆ กับเวลาที่พอจะเหลือ



โจทย์ง่ายๆสำหรับผมในปีนี้คือ

- เดินทางสองเดือนครั้ง (เที่ยวเฉพาะในประเทศ)

- ใช้เวลาสามวันในการเดินทาง

- และหนึ่งวันนั้นต้องนอนเต้นท์ (เว้นแต่ว่าไม่ได้ไปอุทยาน)

- งบต้องไม่เกิน 2500 บาท (จบทริปทีไรเกินตลอด)



: ทริปแรกของปีนี้ >> https://pantip.com/topic/36122720



:: วันนี้ผมมาทำงานและเลิกบ่ายสามโมงเย็นผมนั่งรถไปหน้ารามเพื่อไปต่อรถ 113ไปหัวลำโพง แต่ท้องดันเสียจึงแวะเข้าห้องน้ำที่มหาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นสถาบันเก่าของผมเอง วันนี้ผมเห็นนักศึกษามากมายพอๆกับดินสอ2B ถึงรู้ว่าวันนี้เค้ามีสอบกันช่วงเวลาเก่าๆผ่านเข้ามาอย่างอัตโนมัติ หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยต่างคนก็ต่างมีชีวิตในขั้นต่อไป นั่นก็คือการทำงาน ทำให้เราไม่ค่อยได้เจอกับเพื่อนๆ บางคนกลับไปอยู่ต่างจังหวัด บางคนหลังจากเรียนจบก็ไม่เคยเจอกันอีกเลย ตอนเรียนเราเดินเส้นทางเดียวกัน พอเรียนจบมีทางแยกและทางเลือกมากมาย มันเป็นทางที่เราต้องเลือกเองและส่วนมากจะเป็นทางใครทางมัน

:: หลังจากผ่านห้วงเวลาอันสงบในห้องน้ำและความวุ่นวายบนท้องถนนตัวผมเองก็มาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงราวหกโมงเย็น รถไฟตู้นอนแอร์ บนทป.36 คันที่12 ปลายทางคลองจันดี ค่อยๆเคลื่อนตัวอย่างเชื่องช้าราวกับเต่าสูงอายุก่อนจะเริ่มเร็วขึ้นเรื่อยๆดั่งกระต่ายหนุ่ม ผู้คนในตู้บางตาจากจุดเริ่มต้น และค่อยๆหนาตาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านแต่ละสถานี

:: ผมและไก่(เพื่อนร่วมทริปและเพื่อนสมัยมหาลัย)สั่งกระเพราไก่มาทานระหว่างรอเจ้าหน้าที่มากางเตียงนอน รถไฟเคลื่อนที่ เวลาเคลื่อนตัว สองนักเดินทางเป้หนัก กระเป๋าเบาไม่เคลื่อนไหวแต่เลือกที่จะหลับไหลเพื่อรอเช้าวันใหม่ ที่มาพร้อมไข่แดงใบโต สำหรับผมข้อดีของการเดินทางด้วยรถไฟมันเหมือนการมาทัศนศึกษา แม้สิ่งที่เห็นผ่านหน้าต่างกระจกจะเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วแต่เรากลับจำมันได้เป็นเวลานาน :: ส่วนไก่บอกว่ามันเป็นความประทับใจและการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่กับรถไฟไทยว่ามันไม่ได้แย่ขนาดนั้น



' แม้จะไม่ได้ความรู้อะไรมากมายจากการมองผ่านๆบนหน้าต่างรถไฟ
แต่ความสุขและความทรงจำไม่ใช่เรื่องที่จะมาไวไปไวอย่างแน่นอน '



:: พวกเราถึงสถานีคลองจันดีประมาณเก้าโมงเช้า หันหลังให้สถานีรถไฟและเดินไปฝั่งตลาด สำหรับคนที่ไปคีรีวงยังไม่ต้องรีบขึ้นรถที่เขียนว่า นคร-จันดี ให้เดินไปฝั่งตรงข้ามท่ารถก่อนจะมีร้านโจ๊กอยู่ร้านหนึ่ง ให้เดินไปสั่งโจ๊กกิน ใส่ทุกอย่าง 25 บาท ราคาเป็นมิตรรสชาติถูกปากจนผมและเพื่อนต้องร้องขอชีวิต ทานเสร็จยังไม่ต้องรีบลุก นั่งซึมซับกับบรรยากาศ ผู้คน รถยนต์ รถเครื่อง ท้องฟ้า สายลม แสงแดดและเสียงอันไพเราะของภาษาใต้ ปลายทางไม่หนีไปไหน เมื่อซึมซับจนสัมผัสทั้งห้าพอใจเราก็เดินอุ้ยอ้ายไปขึ้นรถฝั่งตรงข้ามได้เลย บอกคนขับไว้ด้วยว่าลงสามแยกศาลาสังกะสี เพราะก่อนหน้านั้นเราลงผิดแล้วผิดอีก


:: แต่ทริปนี้โชคดีพี่เหน่งพี่ที่ออฟฟิศเขยนครศรีฯ โทรบอกแม่ยายให้แต่เนิ่นๆว่าเราจะไปรบกวนรถเครื่องซัก1วัน ก่อนจะถึงคีรีวงอย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าเราลงรถผิดแล้วผิดอีกพูดเหมือนเยอะแต่จริงๆแค่สองครั้ง ด้วยความเป็นห่วงแขกต่างถิ่นอย่างเราสองคนครูบวบ(แม่ยายของพี่เหน่ง)จึงออกมารับ แต่ก่อนหน้านั้นสิ่งที่ผมจะลืมเขียนไม่ได้เลยคือน้ำใจ ผมขอเน้นคำว่า 'น้ำใจ' ตัวใหญ่ๆ ถึงแม้พยัญชนะจะเท่าตัวอื่นแต่คำๆนี้ใหญ่มากจริงๆ ถ้าคุณได้เจอกับตัวเอง เพราะไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหนก็มีแต่คนตะโกนถามอย่างห่วงใยว่าไปไหน ((ไปไหนเป็นภาษาใต้)) ไปไหนสำหรับผมในทีนี้แปลว่าเป็นห่วง ด้วยความที่แบกเป้ดูเป็นนักท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงเกรงว่าจะหลงหรือเดินไกลแล้วจะเป็นลมแดด ด้วยความแรงราว39-40องศาเห็นจะได้ พี่ป้าน้าอาจึงคอยถามไถ่ด้วยความเป็นห่วงทั้งชวนคุย บ้างก็แนะนำการเดินทางแม้กระทั้งอยู่บนรถก็ถามไถ่ ไม่แปลกถ้าคุณมาที่นี่คุณจะพบคำๆนี้บ่อยๆ “ไปไหน" “ลงไหน" ซึ่งผมไม่เคยเจอจากการเที่ยวในที่อื่นๆ ทันทีที่ถึงบ้านครูบวบก็อย่างที่เห็นกับข้าวมากมาย ขนมจีนน้ำยาต่างๆ ถูกทยอยนำมาวางให้จนพื้นที่ของโต๊ะตัวใหญ่ดูเล็กลงทันที นักเดินทางหิวโซสองคนตอบแทนด้วยการกินไม่เหลือ ความรู้สึกตอนนี้ไม่รู้สึกว่ามาเที่ยวเสียแล้วเหมือนผมกลับมาเยี่ยมญาติมากกว่า ไม่รู้จะขอบคุณอย่างไร อิ่มท้องก็อิ่มความสุขนี่ไม่ต้องพูดถึงอิ่มจนเอ่อล้นออกมา



:: หลังจากทานข้าวอาบน้ำเรียบร้อย เรานั่งเล่นพูดคุยกับครูบวบอยู่พักใหญ่ก่อนถามทางและเตรียมตัวไปน้ำตกกะโรมซึ่งอยู่ไม่ไกลด้วยรถเครื่องของหลานครูบวบ :: เสียงล้อบดไปตามทางราดยางที่ดูสะอาดสะอ้าน กับสองข้างทางที่เป็นป่าและเบื้องหน้าเป็นภูเขา ลมร้อนคมๆที่เราปะทะมาราวๆยี่สิบนาทีทำเอาเพลียเล็กน้อย ขับบ้างหยุดถ่ายรูปบ้าง มองหาป้ายข้างทางบ้างจนในที่สุดก็มาถึงหน้าทางเข้าอุทยาน ขับเข้าไปอีก1กิโลเมตรก็ถึงจุดชำระค่าเข้าชม คนละ40บาท และอีก20บาทสำหรับรถเครื่อง



:: สิ่งที่เห็นมันไม่ง่ายเหมือนหยิบกระดาษกับดินสอมาเขียนเพียงไม่กี่บรรทัดนี่เลย :: แม้จะไม่สามารถอธิบายถึงความงดงามที่เห็นอยู่เบื้องหน้าให้เห็นเด่นชัดขึ้น ผมจึงได้แต่นั่งเงียบๆ กับความงามและบันทึกภาพบ้างเป็นครั้งคราว



:: ผมพยายามละสายตาจากกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของช่องมองภาพเพื่อใช้สายตาจริงๆ สัมผัสกับความงามที่ธรรมชาติหยิบยื่นมาให้ ผมวางกล้องไว้ข้างตัว เหยียดขาจุ่มน้ำเย็นๆ ผมไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อยู่ตรงนี้ ในน้ำยังมีปลา รอบข้างยังมีผู้คน และถึงจะไม่มีสิ่งที่ผมกล่าวมานี้ ก็ยังมีต้นไม้ : )



:: สูดหายใจเข้าแรงๆ เอาอากาศดีๆ เข้าปอดตอบแทนที่เค้าอยู่กับผมมาตลอดยี่สิบเก้าปี :: อยากสูดอากาศเก็บเอาไว้ใช้ที่กรุงเทพฯด้วย



:: เสียงน้ำไหล ลมแผ่วเบา กิ่งก้านใบโอนเอนเชื่องช้า ลมคมๆกรีดตามใบ้ไม้ บ้างก็ตัดใบมันขาดจากต้นอย่างอ่อนโยน เสียงหัวเราะสนุกสนานของเด็กๆ กับการกระโดดน้ำ ใครจะรู้ลุงต้นไม้อาจจะมีความสุขอยู่ก็ได้ เพราะเด็กเหล่านี้ไม่เคยทำลายธรรมชาติ :: ความสงบก่อเกิดอยู่ภายในกับวงล้อมของความไม่คุ้นเคยของธรรมชาติ



:: ท้องฟ้าสีเทาหม่นเป็นบางช่วงระหว่างขากลับ ฝนทำท่าจะตก แต่เรายังขับกันอย่างเอ้อระเหยความแปลกที่ทำให้ทุกอย่างดูเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไปหมด กว่าจะถึงบ้านครูบวบก็เกือบเย็น พวกเราใช้เวลาเก็บของไม่ถึงสิบนาที ก่อนหน้านั้นครูบวบให้เราค้างที่นี่หลายรอบแล้ว แต่ด้วยหลายๆอย่างในวันนี้ทำให้ผมรู้สึกเกรงใจเอามากๆ เราจึงได้แต่ขอบคุณซ้ำๆหลายๆ ครั้ง ครูบวบให้หลานขับนำเราไปยังที่พักเพราะกลัวเราจะหลง หลานครูบวบสองคนขับมาส่งเราจนถึงหน้าที่พักเพรชคีรี โฮมสเตย์และรอจนเราติดต่อเรียบร้อยถึงกลับ พร้อมทิ้งรถเครื่องไว้ให้เราใช้อีก 1 วัน เราได้แต่ขอบคุณกับน้ำใจในครั้งนี้ ขอบคุณครับ : )



:: ทันทีที่โยนของเข้าที่พักและพักเหนื่อยกันครู่หนึ่ง เราก็หยิบกล้องและออกสำรวจหมู่บ้านที่เค้าว่ากันว่าอากาศดีที่สุดในประเทศ เมื่อมาถึงสะพานจุดยอดฮิตของที่นี่ ผมใช้สายตาสัมผัสรอบๆ ผมรู้สึกตกใจกับความเปลี่ยนแปลงของที่นี่ ผมรับรู้เรื่องราวของหมู่บ้านนี้ผ่านหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเทอร์เน็ต เฟสบุ๊ค รายการทีวี – นั่นเป็นการมองผ่านสายตาคนอื่น จนถึงสายของผม ณ เวลานี้



:: เมื่อการเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น การท่องเที่ยวบูมขึ้น ความเป็นส่วนตัวของคนในพื้นที่น้อยลง ผมไม่รู้ว่าอีกสิบปีข้างหน้าหมู่บ้านแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ครั้งหนึ่งผมก็เคยมา ณ หมู่บ้านนี้อย่างนักเดินทางตัวเล็กๆ และเคารพต่อธรรมชาติผู้ที่สร้างตัวเอง ไม่ใช่มนุษย์สร้าง :: เมื่อพระอาทิตย์ค่อยๆ ทิ้งตัวลง รถราก็ค่อยๆ เริ่มหนาแน่นขึ้น ผู้คนขวักไขว่เดินไปมาและหยุดถ่ายรูปในมุมของตนเอง (รวมถึงพวกเราด้วย) ผมนึกถึงคำพูดของคนในพื้นที่ท่านหนึ่งที่ได้คุยด้วยว่า บางบ้านก็อยากทำบางบ้านก็ไม่อยากทำ ในทีนี้หมายถึงทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว :: ถ้าหากมาด้วยใจรักธรรมชาติก็คงจะวิน-วินทั้งคู่



:: เมื่อคืนอากาศหนาวและที่พักผ้าห่มหมดพวกเราอดทนนอนกันจนรู้สึกว่าเริ่มไม่ไหว ผมหยิบเสื้อที่ใช้เป็นผ้าเช็ดตัวมาสวมขาส่วนไก่เอาหมอนห่มขา สำหรับผมมันเป็นภาพที่ออกจะฮาเอามากๆ เราเพลียกันมากจากเมื่อวานแต่ก็ไม่คิดว่าจะตื่นเช้าขาดนี้ [06.00 น.] หลังจากที่เราสลับกันลงไปล้างหน้าแปลงฟันเราก็พร้อมที่จะออกไปสำรวจหมู่บ้านแห่งนี้กันต่อ อากาศยามเช้าเย็นสบายปลอดโปร่งและสะอาด ตลาดเช้าคึกคักไปด้วยผู้คนและร้านอาหารต่างๆ ที่เห็นจะเยอะก็เป็นร้านกาแฟ-ปาท่องโก๋ ในความคิดผมแหล่งท่องเที่ยวมักมีร้านกาแฟสวยๆ ทั้งที่คนรู้จักทั้งที่หลบซ่อนผู้คน ร้านไก่ทอดส่งกลิ่นเย้ายวนเราตลอดเส้นทางที่ขับผ่าน แต่ก็ต้องอดทนเอาไว้ก่อนเพราะถ้าช้ากว่านี้เกรงว่าที่ๆ เราอยากไปถ่ายรูปคนจะเยอะ



:: ก้อนหินและสายน้ำของที่นี่คงสนิทกันมากเพราะดูจากตะไคร่เขียวที่ขึ้นอยู่ไปทั่วคงจะเป็นพยานให้เราได้ ละอองแสงสาดไปทั่วผืนป่าเขารวมถึงโขดหินน้อยใหญ่และสายน้ำ ลมอ่อนแผ่วเบาไหลเอื่อยไม่ต่างจากสายน้ำเบื้องหน้า พาให้เกียจคร้านชวนให้อยากนั่งจมเจ่าอยู่กับร้านกาแฟซักที่ เมื่อเก็บความทรงจำลงเมมโมรี่การ์ดและสมองเรียบร้อยเราวนกลับมายังตลาด ผู้คนเริ่มหนาตาขึ้นเสียงพูดคุยดังโอบล้อมตัวเรา บรรยากาศของตลาดคึกคักและมีเสน่ห์ในแบบของมัน ส่วนตัวผมคิดว่าเสน่ห์ของตลาดคือ “ผู้คน"



[ข้อมูลที่พักเพรชคีรี โฮมสเตย์]


:: เพรชคีรี โฮมสเตย์มี 8 ห้อง และมีบ้านอีก 1 หลัง มี 2 ห้องสำหรับ 12-15 คน :: ค่าที่พักต่อหัว 400 บาท มีอาหารเย็นเป็นเมนูอาหารพื้นบ้าน 4-5 อย่าง :: สำหรับคนที่ไม่เอาอาหารคิด 250 บาท :: กาแฟ โอวันติน wifi ฟรี :: ห้องน้ำมี 3 ห้อง สะอาด ไม่มีตุ๊กแกเช็คแล้ว(ถ้าใครเจอถ่ายรูปมาให้ดูด้วย) :: เบอร์ติดต่อพี่เพน 089-6496386



:: ข้าวของที่กระจักกระจายภายในห้องถูกยัดลงเป้ที่ความรู้สึกบอกว่าเป้หนักขึ้นแต่กระเป๋าเบาลง นักเดินทางหนุ่มเหลือน้อยสองคนกับชีวิตปลิวๆ ซึ่งปลายทางต่อไปคือ 'ปากพนัง' ขอบคุณครูบวบและน้องเบลสำหรับกับข้าวหนึ่งมื้อใหญ่และรถเครื่องหนึ่งวันเต็ม พร้อมทั้งน้ำใจที่เอื้อเฟื้อต่อเราทั้งสองคนอย่างสุดซึ้ง


:: เรานั่งรถจากสามแยกศาลาสังกะสีไปลงสถานีรถไฟในเมืองนคร ก่อนต่อรถเครื่องไปลงที่วัดวังฝั่งตะวันตกเพื่อต่อรถไปปากพนัง ป้ารีย์เจ้าของโฮมสเตย์ธรรมชาติโทรถามเป็นระยะด้วยความเป็นห่วงก่อนจะพบว่าแกมารอรับเราที่คิวรถได้สักพักแล้ว ก่อนจะนั่งวินเข้าไปที่พัก ป้ารีย์จ่ายค่ารถให้เราด้วย และปฏิเสธทุกครั้งที่เรายื่นเงินค่ารถให้ นั่นเป็นความประทับใจแรกที่เราได้รับ ทันทีที่ถึงที่พักน้ำเย็นๆ ถูกวางตรงหน้าและการถามไถ่ก็เริ่มต้นขึ้นหัวข้อพูดคุยแรกเริ่มเป็นคำถามง่ายๆว่ามากจากที่ไหน เป็นคนที่ไหนกัน เพราะความแตกต่างของสถานที่ทำให้เราต่างอยากรู้จักกันและกันให้มากขึ้น สะพานมิตรภาพถูกเชื่อมขึ้นอย่างอัตโนมัติ คุยกันอยู่พักใหญ่ป้ารีย์ก็ไล่เราไปเก็บของ อาบน้ำอาบท่าและเตรียมตัวมาทานข้าว

:: ในเมื่ออยู่ติดทะเลผมจึงชวนไก่ปิ้งย่างของทะเลกินกันซักหน่อย วันนี้ปารีย์อาสาเป็นไกด์ฟรีพาทัวร์เมืองปากพนังด้วยตนเอง เรานั่งเรือข้ามฝากหนึ่งบาทก็มาถึงฝั่งตลาด ไม่ว่าเราจะมองอะไรหรือสนใจอะไรป้ารีย์จะเดินไปถามแล้วต่อราคาทันทีพร้อมกับทักทายแม่ค้าไปในตัว คนที่นี่ยิ้มง่ายราวกับของฟรีที่ไม่มีวันหมดอายุ บ้างขายของบ้างขายยิ้มบ้างก็ขายทั้งสองอย่าง จากที่เก้ๆ กังๆ ในการยกกล้อง กลับกลายเป็นว่าแม่ค้าบางคนก็โพสต์ท่ารอให้เรากดชัตเตอร์อย่างไม่เขินอายดูเป็นมิตรและเป็นกันเอง :: เราใช้เวลาเดินตลาดไม่นานก็นั่งวินมาต่อที่ตลาดย้อนยุคปากพนังเดินทอดน่องกันราวหนึ่งชั่วโมง ทอดแล้วทอดอีกจนป้ารีย์บ่นปวดขาและหนีกลับก่อน คนหนุ่มปลายๆอย่างเราจึงเดินเล่นกันต่ออีกสักพักใหญ่ก่อนจะหาที่นั่งเล่นริมน้ำพักขาแต่ยังคงให้สายตาทำงานอยู่ นั่งมองวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำทั้งงดงามและมีเสน่ห์สำหรับผมนี่คือรางวัลของแขกผู้แปลกหน้า



[ตลาดย้อนยุคปากพนัง]

:: เปิดทุกวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่14.00-20.00 น. จากตัวเมืองนครศรีฯ ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที ไปตามป้ายบอกทางสู้เรือนจำปากพนัง



:: ขากลับเราเลือกที่จะเดินลัดเลาะไปตามชุมชนเพื่อถ่ายรูปเล่น ความเพลิดเพลินของสองข้างทางทำให้ลืมความเหนื่อยล้าทั้งช่วยย่นระยะทางไปโดยไม่รู้ตัว แต่ไม่ช่วงย่นระยะความหิว ป้ารีย์ไม่รอช้าเมื่อเห็นสภาพอิดโรยของสองหนุ่มบอกพี่ลี้ตั้งเตาก่อไฟทันที ไม่ว่าเราจะขอมีส่วนร่วมกี่ครั้งในการช่วยก็โดนปฏิเสธทุกครั้งไป ขอบคุณพี่ลี้ที่ช่วยดูแลเราสองคนด้วยนะครับ :: ระหว่างรอกุ้งและหอยสุกผมจะเล่าประวัติที่นี่คร่าวๆ ให้ฟังนะครับ เป็นข้อมูลที่ได้มาจากคนในพื้นที่ / กลุ่มท่องเที่ยววิถีปากพนัง / วิสาหกิจชุมชน



:: ชุมชนบ้านล่างและชุมชนสระแก้ว ซึ่งเป็นชุมชนในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง ตั้งอยู่ริมคลองบางทวดมีการทำมันกุ้ง กุ้งแก้ว กุ้งแห้ง ปลากระบอกผ่า เคยผัด เป็นสินค้าโอทอปของชุมชน มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีธรรมชาติริมคลองที่มีความงดงามของความเป็นชนบท สมัยนั้นวิถีชีวิตของชาวบ้านมีการดักอวน ดักแร้วปู ดักโพงพาง และมีการหุงข้าวด้วยไม้ฟืน ส่วนการเดินทางในสมัยนั้นมีการใช้เรือหางยาวในการออกมาทำมาหากิน เดิมอาชีของคนในแถบนี้คืออาชีพประมงพื้นบ้าน ทำซัง ไซมาน เรือเสียด หากุ้งปูปลา โดยการทำประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่จะทำนอกทะเล แถบนี้ซึ่งเป็นคลองบางทวดจะดักซัง



:: ในปี พ.ศ.2505 เริ่มมีเรือลุนซึ่งมาจากปากนครลากเข้ามาในพื้นที่ เรือไซมานเปลี่ยนเป็นเรืออวนลาก ซึ่งเรืออวนลากจะทำลายธรรมชาติมากกว่าเรืออวนรุน และเนื่องจากเรืออวนเป็นการทำลายธรรมชาติทำให้ปลาเล็ก ปลาน้อยลดน้อยลงไป คลองตื้นเขินทำให้เรือวิ่งไม่ได้อีกต่อไป ต่อมาอาชีพประมงก็ลดน้อยลงไปและแปรเปลี่ยนมาเป็นอาชีพทำมันกุ้ง และกุ้งแก้วขาย จากภูมิปัญญาโดยเริ่มจากการทำกุ้งแก้ว นำกุ้งเหลืองซึ่งเป็นกุ้งที่หาได้จากพื้นที่นี้ ตัวจะเป็นสีเหลือง คือกุ้งที่จะนำมาทำกุ้งแก้ว โดยหักหัวออกแล้วนำตากแดดตัวกุ้งจะมีสีทอง หัวกุ้งที่เหลือนั้นก็เกิดความเสียดายหากจะทิ้งไปเปล่าๆ จึงนำมาทำเป็นมันกุ้ง ปัจจุบันอาชีพทำกุ้งแก้วและมันกุ้งได้เป็นสินค้าโอทอปของชุมชน



[สำหรับคนที่สนใจร่องเรือสอบถามข้อมูลได้ที่พี่นก 091-8217812]



:: แสงแดดเริ่มอ่อนแรงลงเย็นนี้ไม่ค่อยมีอะไรเหลือให้ทำนักนอกจากการพูดคุย เรื่องราวที่ผ่านมาทั้งวันนี้และที่กำลังจะเกิดในอนาคตถูกโยนเข้าวงสนทนาอย่างต่อเนื่อง หนังท้องตึงหนังตาทำท่าว่าจะหย่อนไม่หย่อนผมเอนกายมองเส้นแสงสุดท้ายที่กำลังเข้มขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะถึงเวลาเปลี่ยนกะการทำงานของพระอาทิตย์และดวงจันทร์



:: ความสงบและบรรยากาศของที่นี่ทำให้ผมอยากอยู่ต่อ คงไม่มีใครไม่มีความสุขเมื่อได้อยู่ในสถานที่ที่ทำให้รู้สึกสมองปลอดโปร่ง เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเก็บของความสุขสะอึกไปชั่วขณะ ผมอิจฉานกตรงหน้าเล็กน้อยที่มันสยายปีกอยู่บนต่อไม้ผุๆ :: เช้านี้เราทานอาหารง่ายๆ อย่างโจ๊ก ตบด้วยกาแฟและปาท่องโก๋ พลางยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพสลับพูดคุยกับป้ารีย์ถึงโปรแกรมวันนี้ของพวกเรา :: ข้าวของทั้งหมดถูกนำมาไว้ด้านล่าง อาบน้ำแต่งตัวเตรียมพร้อมสำหรับ4-5 ชั่วโมงสุดท้ายของการเที่ยววันนี้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับหนึ่งวันเต็มๆ ที่ผ่านมาคือคำ 'ขอบคุณ' ป้ารีย์และพี่ลี้ที่ดูแลกันเป็นอย่างดี คงต้องก็อปปี้คำเดิมเหมือนตอนที่เจอครูบวบ



“ ความรู้สึกตอนนี้ไม่รู้สึกว่ามาเที่ยวเสียแล้ว เหมือนผมกลับมาเยี่ยมญาติมากกว่า "



[ข้อมูลที่พัก โฮมสเตย์ ธรรมชาติ]


:: โฮมสเตย์ ธรรมชาติ มี 4 ห้อง :: ค่าที่พักต่อหัว 450 บาท กับข้าว 2 มื้อเป็นอาหารท้องถิ่น 3-4 อย่าง :: เบอร์ติดต่อป้ารีย์ 082-4266788



:: นั่งรถมาลงตัวเมืองนครศรีฯ และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเยี่ยมชมโบราณสถานสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างวัดพระธาตุ



:: แดดแรงจนเหงื่อท่วมตัวทั้งร้อนทั้งแสบผมหยิบเสื้อมาพันที่คอและเอาไว้คอยซับเม็ดเหงื่อที่หน้าผาก ถ้าซับไม่ทันมันจะจับกลุ่มรวมตัวกันไหลผ่านตา นอกจากจะแสบตาแล้วยังทำให้เสียวิสัยทัศน์ในการถ่ายภาพ :: เมื่อผมได้กราบพระพุทธรูปและพระเจ้าตากสินรวมถึงเก็บภาพจนพอใจ จึงนั่งพักเหนื่อยกันหน่อยก่อนจะไปพักกันเต็มๆ ที่ร้านโกปี๊ สั่งกาแฟผสมชารวมถึงเมนูเด็ดที่เค้าพูดถึงกันบ่อยๆ อย่างเช่นบักกุ๊ตเต๋นอกเหนือจากนั้นยังมีข้าวไก่ไหหลำและคั่วกลิ้งเอ็นไก่ราดข้าว หลังจากทานเสร็จก็เป็นไปตามคาด หนังท้องตึงพาดึงหนังตาให้หย่อนตามไปด้วยประกอบกับแอร์เย็นๆ ในหัวตอนนี้ไม่คิดอะไรนอกจากอยากนอนแต่ไม่อยากหลับ เราสองคนจึงเลือกที่จะเช็คภาพทั้งหมดที่ถ่ายมาถือว่ารอเวลาย่อยของสิ่งที่พึ่งเอาเข้าไป



:: เมื่อได้เวลาที่จะต้องไปขึ้นเครื่องกลับเราสองคนจึงอยากไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่ก่อนนั่นก็คือศาลหลักเมือง แม้กระทั่งวันสุดท้ายก็ยังพบผู้คนที่มีน้ำใจที่เราบังเอิญไปถามทางก่อนไปศาลหลักเมืองที่ก่อนหน้านั้นได้คุยกันถึงสถานที่เที่ยวของเมืองนคร แต่เหมือนมีอะไรดลใจก่อนที่พี่บาวจะเดินไปขึ้นรถเขาหันกลับมาบอกเราว่า “ไปไอ้น้องเดี๋ยวพี่ไปส่งพี่ผ่านทางนั้นพอดี" ถึงแม้จะไม่ได้ถามชื่อแต่ผมก็จำได้ว่าพี่เป็นผู้จัดการสาขากระบี่ ธนาคารกรุงไทย แต่สิ่งที่ผมอยากจำมากไปกว่านั้นคือน้ำใจของพี่ ขอบคุณครับพี่บ่าว



:: หลังจากไหว้ศาลหลักเมืองเสร็จฝนตั้งเค้าทำท่าจะตก เราลังเลว่าจะกลับเลยหรือไปกำแพงเมืองเก่าดี แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจง่ายที่สุดก็คือ 'ฝน' ฝนตกกระหน่ำลงมาในวันสุดท้ายของการเที่ยวซึ่งเป็นเรื่องดีมากๆ ที่ก่อนหน้านั้นเราโชคดีที่ไม่เจอฝน เราเข้าไปหลบฝนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากศาลหลักเมืองถามพี่ รปภ.ถึงรถแท็กซี่ก่อนจะมีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าแท็กซี่ที่นี่ต้องโทร ซึ่งเราไม่มีเบอร์ และเราได้รับน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ อีกครั้งเป็นเบอร์โทรแท็กซี่ ถ้าจะอ่านเจอคำว่าน้ำใจบ่อยๆ ก็คงจะไม่มีใครรังเกียจคำๆ นี้แน่นอนเพราะคำว่าน้ำใจที่เมืองคอนมีเยอะจริงๆ และถ้าคุณมาอาจจะไม่ได้รับเป็นคำ แต่จะได้รับเป็นการกระทำและความรู้สึก : )



เขาบอกว่าคนเรามีเวลาอยู่บนโลก
ประมาณสองหมื่นกว่าวัน
เราหมดไปกับความรักแล้วกี่พันวัน
เราเศร้าไปกับมันกี่หมื่นวัน
เราขี้เกียจกี่วัน
ดิ้นรนกี่วัน
ประสบความสำเร็จกี่วัน
มีคนมาชื่นชมกี่วัน
ออกเดินทางกี่วัน
หลังจากที่ทำงานไปวัน ๆ
หอมแม่กี่ครั้ง
กอดพ่อเท่าไหร่
เสื้อผ้าในตู้มีกี่ชุด
รองเท้าที่ไม่เคยใส่กี่คู่
ตัวเลขมากมาย
ความคิดมากล้น
ความฝันกี่อย่าง
ทำมันกี่ครั้ง
สุดท้ายเราลงมือทำอะไรไปในวันนี้
อนาคตเราจะจบที่เลข
ศูนย์
' ซึ่งเป็นเลขที่ไม่ได้ไร้ค่าเลย '



รวมค่าใช้จ่ายต่อคน



รถไฟ (เตียงบน) 708 บาท

ที่พัก 2 คืน 250/500 บาท

ค่ารถต่างๆ 286 บาท

ค่ากิน 407 บาท

อื่นๆ 110 บาท

ตั๋วบินขากลับ 850

รวม 3111 บาท



เดินทางโดย
ธนกฤต รวมตะคุ
สุพจน์ เที่ยงวงษ์

ความคิดเห็น