นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ เต็มไปด้วยวัดวาอารามสวยงามมากมายเกินบรรยายค่ะ วันนี้พาชม 5 วัดงามกันนะคะ^^

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) วัดเก่าแก่ที่มีลักษณะงดงามมาก สร้างขึ้นประมาณพ.ศ 2399-2412 เป็นวัดที่ถือว่าเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดค่ะ ตั้งอยู่ที่ ซอย 3 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์) ในอดีตวัดนี้เป็นที่พักของขบวนช้าง ขบวนม้า จากขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทอง จาก อ.จอมทอง มาที่เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระธาตุ วัดนี้จากความสวยงามจึงถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครเรื่อง รากนคราที่โด่งดังด้วยค่ะ ^^

ศาลาจัตุรมุข พบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ เป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาแบบดั่งเดิมที่สมบูรณ์ และทรงคุณค่ามาก สมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2532 วัดต้นเกว๋น เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบหอคำหลวงซึ่งตั้งอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ค่ะ หลายครั้งที่วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็น สถานที่ถ่ายทำละครย้อนยุคที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดั้งเดิมของล้านนา ล่าสุดในละครเรื่อง เพลิงพระนางค่ะ

บันได 'มกรคายนาค' ซ้ายขวา

โครงสร้างและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของวัดจะใช้ไม้แกะสลัก

นายช่างผู้สร้างวิหารมีความสามารถและชำนาญการแกะสลัก เช่น ลวดลายดอก ลายรูปสัตว์ที่หน้าจั่ว และช่อฟ้า ฐานชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด


พระประธานในวิหารไม้

ลวดลายปูนปั้นเงือกกลืนกินพญานาค ที่เป็นปริศนาธรรม

ต้นมะเก๋วน เป็นที่มาของชื่อเดิมของวัดต้นเกว๋นค่ะ อยู่บริเวณกำแพงวัด

ที่คล้องโซ่ไว้เป็นราหูอมจันทร์ประจำประตูวิหาร คนล้านนามีความเชื่อว่า มีหน้าที่ปกปักรักษาและป้องกันภยันตรายให้กับวิหารและผู้อยู่ภายใน


วัดศรีสุพรรณ เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นใน พ.ศ.2043 ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ย่านทำเครื่องเงินเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ และในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนานวัดศรีสุพรรณ" เพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของชุมชนให้อยู่สืบไป

อุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณร้างโดยชาวบ้าน เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมเครื่องเงิน ประดับตกแต่งศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน ทั้งภายในและภายนอกสร้างด้วยโลหะเงินและดีบุก ถือเป็นอุโบสถเงินหลังแรกของโลก เป็นสุดยอดงานพุทธศิลป์อันวิจิตร และถือได้ว่าเป็น Unseen แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่


พระพุทธปาฏิหาริย์ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) พระประธานในพระอุโบสถเงิน

พระพิฆเนศ อยู่บริเวณด้านหน้าหอไตร ขนาดหน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.50 เมตร ทรงเครื่องศิลปกรรมล้านนา สร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญของช่างสิบหมู่


วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก สร้างขึ้นในปีพ.ศ 1888 ตั้งอยู่บนถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดสำคัญที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง วัดพระสิงห์ มีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามเป็นที่รู้จักและคุ้นชื่อกันอย่างดีของนักท่องเที่ยว

วิหารลายคำ มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสิหิงค์" ที่ชาวล้านนาเคารพศรัทธา



ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมืองในทุกปี จะมีการอัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" เป็นพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริดหุ้มทองศิลปะแบบลังกา ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธา ประชาชนได้พากันมาสรงน้ำเนื่องในเทศกาลปีใหม่ตามคติล้านนา


วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (อยู่หลังที่ว่าการอำเภอ) ประกาศเป็นตั้งเป็นวัดเมื่อพ.ศ 2481 ได้รับพระบรมราชานุญาตยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นับได้ว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งที่ 7 ในจังหวัดเชียงใหม่ นามของวัดนี้ถูกตั้งขึ้นตามพระนามของเจ้าดารารัสมี พระราชชายาค่ะ วัดนี้มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมแบบศิลปะทางล้านนา

พระวิหารหลวง สร้างในวโรกาสที่วัดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2542 และถวายพระราชกุศลเชิดชูบารมีพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศิลปล้านนาจำลองมาจากหอคำของเจ้าหลวงเชียงใหม่ในสมัยโบราณค่ะ

พระพุทธมหาธรรมมิกราชเจ้า พระเจ้าธรรมจักรพรรดิ์ พระประธานบนพระวิหารหลวงหอคำ

ทางขึ้นวิหารหลวงด้านข้าง

บรรยากาสโดยรอบ ร่มรื่นสวยงามค่ะ

ต้นสาละ

มณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว) ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุเจ้า เป็นมณฑปสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ 21 เมตร สูง 4 ชั้น มีหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น ยอดมณฑปเป็นรูปทรงปราสาทเจดีย์ปิดทองคำหุ้มจังโก มีขนาดสูงจากฐานถึงยอดฉัตร 39 เมตร เป็นศิลปะล้านนาไทยผสมสกุลไตค่ะ

งานออกแบบสถาปัตยกรรมวางผังยึดเอาอคติความเชื่อในจักรวาลทางพระพุทธศาสนา โดยสมมุติเอามณฑปเป็นเขาพระสุเมรุ อันหลักของจักรวาล โดยแต่ละชั้นของมณฑปเปรียบเหมือนสวรรค์วิมานต่างๆ โดยชั้นที่ 2 เปรียบเหมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


ซุ้มประตูมณฑป เป็นลวดลายปูนปู้นสวยงามมากค่ะ

บริเวณรอบๆมณฑป ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์หลายชนิดสวยงาม

ภายในมณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว) ประดิษฐานพระเจ้าทันใจและพระพุทธรูปที่งดงามอีกหลายองค์

ภาพจิตกรรมฝาผนัง

บริเวณชั้นสองของมณฑป

บุษบกประดิษฐานพระทันตธาตุ บริเวณชั้นสอง


เจดีย์ฐานจตุรมุข มีนามว่า "พระธาตุเจดีย์พระพุทธบาทสี่รอย"








ภายใน บนยอดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระราชทาน และพระบรมสารีริกธาตุที่ประทานจากสมเด็จพระสังฆราช

รอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง

อบฐานเจดีย์มีสัตว์ในจินตคติล้านนา เช่น สิงห์ คชสีห์

อุโบสถสร้างเป็นศิลปล้านนา พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปสุโขทัย ลงรักปิดทอง พระนามว่า "พระสยัมภูโลกนาถ"


ตัวมอม ด้านหน้าพระอุโบสถ


วัดถ้ำตับเต่า ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ วัดนี้ไปมาหลายครั้งชอบความร่มรื่นของวัดที่แทรกตัวอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร สงบร่มรื่นค่ะ วิ่งรถทางเชียงใหม่ – ฝาง ระหว่างหลักกิโลเมตร ที่ 120-121 เลี้ยวแยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตรค่ะ หรือจะเข้าทางแยกซ้ายถนนทางหลวงชนบทชม3001 บริเวณด่านตรวจผาหงษ์ สภ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ก้ได้ค่ะ

วัดถ้ำตับเต่า เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "ดับเต้า" ซึ่งหมายถึงการดับขี้เถ้า ที่เกิดจากการเผาไหม้ของป่า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532

บริเวณโดยรอบวัดร่มรื่นสวยงาม

ทางขึ้นถ้ำแจ้ง

เดินขึ้นบันไดไปด้านบนจะมีถ้ำ และมีพระพุทธรูปไสยาสน์องค์ใหญ่

ภายในถ้ำมีแสงส่องลงมาสวยงาม


เชียงใหม่ยังมีวัดสวยงามอีกหลายแห่งนับไม่ถ้วนเลยค่ะ ไว้มีโอกาสจะนำมาลงให้ชมกันอีกนะคะ ท่องเที่ยวชมความงามวัดในหน้าฝนนี้ก็สวยงามค่ะ บุญรักษาทุกท่านนะคะ ^^

ฝากติดตามเพจท่องเที่ยวเล็กๆในเฟสด้วยนะคะ รวบรวมแหล่งท่องเที่ยวเคยไปมา^^ เพจ: ไปแอ่วกัน Fun Trips ค่ะ กด ไปแอ่วกัน Fun Trip


ไปแอ่วกัน Fun Trip

 วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เวลา 09.15 น.

ความคิดเห็น