หนีกรุง ไปนุ่งผ้าย้อนยุค ณ เมืองมัลลิกา ร.ศ.124
ทริปนี้เริ่มจากที่เราและเพื่อนอยากหาที่เที่ยวแบบใกล้ๆกรุงเทพ ขับรถแค่ 2-3 ชั่วโมงถึง เลยมาลงตัวที่กาญจนบุรี และโปรแกรมของทริปกาญนี้ ก็มี เมืองมัลลิกา รวมอยู่ในลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวของเราในครั้งนี้ด้วย เมืองมัลลิกา เริ่มเปิดให้บริการกับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่ ปลายปีที่แล้ว หลังจากที่เราเล็งๆที่นี่ไว้อยู่นาน ก็ได้มาซักที
เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ก่อตั้งบนพื้นที่ 60 ไร่ ของ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่นี่จำลองสิ่งต่างๆที่อยู่ในปลายยุคสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) ทรงประกาศให้มีการเลิกทาส ทรงออก "พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124 " ให้ลูกทาสเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2448
การเดินทาง
เมืองมัลลิกา ตั้งอยู่ที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ถ้าขับรถส่วนตัวมาก็ไม่ยาก ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค ขับตรงมาเรื่อยๆจะเจอกับที่ตั้งเมืองมัลลิกา จุดสังเกตุคืออยู่ติดกับปั้มน้ำมันบางจากเลย ใกล้กับทางเข้าประสาทเมืองสิงห์แผนที่
เมื่อมาถึงเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 จะพบกับกำแพงเมืองสีขาวสูงเด่นเป็นตระหง่าน คู่กับประตูบานใหญ่สีแดง มองลอดเข้าไปจะเหมือนหลุดไปอีกยุคนึงเลย
ชมบรรยากาศในเมืองแบบคลิปวีดีโอกันก่อน
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
ค่าเข้าชม+ สำรับเย็น+ชมการแสดง 700 บาท (โปรโมชั่นลด 10%)
แต่ก่อนจะเข้าชมสถานที่ เราก็ต้องแต่งกายให้กลมกลืนกับสถานที่กันซะก่อน โดยการใส่ชุดไทย ซึ่งที่นี่จะมีบริการให้เช่าเตรียมไว้ให้พร้อม หรือใครที่มีชุดไทยก็สามารถนำมาเองก็ได้ค่ะ
อัตราค่าเช่าชุด
ผู้หญิง
แบบที่ 1 : ผ้าสไบ โจงกระเบน เครื่องประดับ และร่ม ราคา 200 บาท
แบบที่ 2 : เสื้อลูกไม้หรือเสื้อแขนหมูแฮม แบบสมัย ร.5 พร้อมผ้าแพรสะพาย โจงกระเบน เครื่องประดับและร่ม ราคา 300 บาท
ผู้ชาย
แบบที่ 1 : เสื้อกุยเฮง โจงกระเบน ผ้าคาดเอว ราคา 100 บาท
แบบที่ 2 : เสื้อราชปะแตน โจงกระเบน ราคา 300 บาท
เด็ก
เสื้อคอกระเช้าสำหรับเด็กผู้หญิง และ เสื้อกุยเฮงสำหรับเด็กผู้ชาย ราคา 50 บาท
ถ้าไม่แต่งชุดไทยจะสามารถเข้าชมที่นี่ได้ไม๊ จริงๆไม่ใส่ก็เข้าได้ค่ะ แต่เราว่าไหนๆก็มาถึงที่นี่แล้ว ใส่ให้กลมกลืนกันหมดจะดูสวยงามและรู้สึกเหมือนเราหลุดย้อนยุคเข้าไปในสมัยนั้นจริงๆค่ะ เพราะที่นี่ทุกคนในเมืองจะแต่งชุดไทยกันหมด และพูด ขอรับ, เจ้าค่ะ ใช้วาจาแบบสมัยก่อนกันจริงๆ
เรากับเพื่อนเลือกเป็นชุด เสื้อลูกไม้ แบบสมัย ร.5 ดูให้อารมณ์เหมือนเป็นท่านหญิงดี
หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เค้าจะมีล็อคเกอร์จัดเตรียมไว้ให้สำหรับเก็บเสื้อผ้าของใช้
ก่อนจะเข้าภายในเมืองเราก็ต้องแลกเงินกันก่อน เพราะในเมืองจะไม่ใช้เงินบาท จะเป็นเงินสตางค์หรือ "เงินรู" ที่เหรียญจะเป็นรูๆค่ะ อัตราแลกเปลี่ยน 1 สตางค์ = 5 บาท โดยจุดแลกเงินจะมีทั้งด้านนอกตรงข้างที่จำหน่ายตั๋ว และด้านในเมืองที่แบงก์สยามกัมมาจล
หลังจากแลกเงินเรียบร้อยแล้ว เราจะพาเข้าไปชมในเมืองกันค่ะ
การเข้าชมเมืองสามารถเดินเท้าเข้าไป หรือถ้าใครอยากนั่งรถลาก(รถเจ๊ก)รอบเมืองเค้าก็มีให้บริการ ในราคา 50 บาท หรือจะแค่นั่งถ่ายรูปเฉยๆก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายนะคะ
จุดแรกหลังจากที่เดินผ่านเข้าประตูไปจะพบกับ"สะพานหัน" ซึ่งจำลองมาแบบในอดีต ชื่อเรียกสะพานหันเพราะในสมัยก่อน ตัวสะพานจะเป็นไม้แผ่นเดียวพาดข้ามคลอง ปลายข้างนึงตรึงแน่นกับที่ ส่วนอีกข้างไม่ตอกติด จับหันไปหันมาเพื่อสะดวกในการให้เรือแล่นผ่าน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนเป็นสะพานไม้โค้งกว้าง สองฝั่งสะพานมีห้องแถวเล็กๆให้เช่าขายของ ตรงกลางเป็นทางเดิน
สองฟากของสะพานจะมีร้านค้าเป็นห้องแถวเล็กๆ ให้ขายของ ตรงกลางเป็นทางเดิน
สะพานนี้รัชกาลที่ 5 ชอบเสด็จประพาสเพื่อซื้อผลไม้แห้ง ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นลูกพลับแห้ง และผลไม้ต่างๆ เราถือโอกาส ลองเป็นแม่ค้าดูซักหน่อย แถมได้ลองชิมผลไม้แห้ง คือเปลือกส้มโอ ด้วย
ข้ามจากสะพานหันถัดไปก็จะเจอกับ ตึกสีสันสดใส หรือเรียกว่า "ย่านการค้า" ซึ่งจำลองมาจากย่านถนนแพร่งนรา ในสมัย ร.ศ.124 ซึ่งจะรวมย่านการค้าสำคัญๆในอดีตไว้ ทั้งย่านถนนแพร่งภูธร ย่านถนนแพร่งสรรพศาตร์ ย่านเยาวราช ย่านบางรัก
ย่านนี้จะขายทั้งน้ำดื่ม อาหารทั้งคาว หวาน ขนมแบบไทยๆซึ่งบางอย่างหากินยากแล้วในสมัยนี้ เพราะต้องใช้เวลาในการทำยาวนาน ที่นี่ใช้เตาถ่านในการประกอบอาหารทุกชนิด เราสามารถเดินเข้าไปขอเก็บภาพและบรรยากาศการปรุงอาหารได้เลย หรือจะซื้อมาลองชิมก็ได้ ซึ่งเราชิมไปหลายอย่าง รสชาติอร่อยถูกปากทีเดียว ขนมบางชนิดเราก็เพิ่งเคยกินที่นี่เป็นที่แรก
ตามมาเลยค่ะ เดี๋ยวเราจะพาไปชิม อาหารและ ขนมชาววังที่หาทานยากกัน
หมูสะเต๊ะสูตรชาววัง เนื้อหมูนุ่มหมักมาได้อย่างอร่อยลงตัวทีเดียว
ข้าวเหนียวมูน มีให้เลือก ทั้งหน้าปลาแห้ง หน้ากุ้ง หน้ากระฉีก
ขนมทองเอกและขนมเสน่ห์จันทร์ ซึ่งเป็นขนมไทยที่หาทานยากแล้วในสมัยนี้ เนื่องจากขั้นตอนการทำที่ปราณีตใช้เวลาค่อนข้างนาน เดี๋ยวนี้ส่วนมากจะเจอได้ตามงานมงคล หรืองานสำคัญต่างๆเท่านั้น ใครอยากมาชิมรสชาติ สามารถมาทานได้ที่นี่ เค้ามีขายตลอดทุกวันค่ะ หรือจะมาทดลองทำดูก็ได้น๊า
ขนมชั้น เป็นอีกหนึ่งขนมไทยที่นิยมกันมาก สมัยนี้ก็ยังหาทานได้ทั่วไป แต่จะมีไม่กี่เจ้าที่ใช้สีจากธรรมชาติมาทำ เช่น สีเขียวจากใบเตย และสีม่วงของดอกอัญชัน เราลองซื้อมาชิมดูถือว่าที่นี่ทำได้อร่อยและหอมมากๆ
ถัดมาที่ขนมหายากอีกอย่างนึงคือ"บุหลันดั้นเมฆ" ซึ่งสารภาพตามตรงว่าเราก็เพิ่งรู้จักจากที่นี่
ลักษณะของตัวขนมจะใช้แป้งน้ำดอกอัญชันเทลงในถ้วยตะไลรูปทรงคล้ายขนมน้ำดอกไม้และหยอดไข่แดงลงไปตรงกลาง
ร้านนี้จะขายขนมช่อม่วงและลูกชุบ สีสันสดใสซึ่งจะทำมาจากสีธรรมชาติทั้งหมด
ขนมช่อม่วง ขนมไทยที่มีทั้งไส้หมูและกุ้ง เดี๋ยวนี้ก็หากินยากเหมือนกัน ถ้ามีขายก็ค่อนข้างราคาแพง
ลักษณะของขนมทำจากแป้ง ใส่ไส้แล้วปั้นแป้งจับจีบเป็นรูปทรง
ลูกชุบ ทำมาจากถั่วเขียวกวนปั้นเป็นรูปทรงผลไม้ต่างๆ ซึ่งคนไทยนิยมและคุ้นเคยกันอย่างดี
เราลองชิมขนมช่อม่วงดู สำหรับเราคิดว่ารสชาติคล้ายๆสาคูไส้หมูแต่ช่อม่วงไส้จะหวานกว่านิดหน่อย
"ขนมลืมกลืน" อีกหนึ่งขนมไทยที่หาทานยากอีกอย่างนึง
ข้าวเหนียวปิ้งสูตรโบราณ ไส้ของข้าวเหนียวด้านในจะนิยมเป็นไส้เผือก หรือไส้ถั่วเหลือง
ทดลองขูดมะพร้าวกันซักหน่อย ให้ความรู้สึกเหมือนย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะสมัยก่อนเราก็เคยช่วยคุณยายขูดมะพร้าวแบบนี้
ขนมถ้วยตะไล หอมหวานใบเตย
และอย่างที่บอกทุกร้านในเมืองจะรับแต่เงินรู เท่านั้นนะคะ
ฉะนั้นถ้ากินเพลินและแลกเงินจากด้านนอกมาไม่พอ ด้านในเมืองยังมี แบงก์สยามกัมมาจล ถึง 2 สาขา ให้แลกเงินเพิ่มกันได้อีกค่ะ
ตึกรามสีสันสดใส
เดินไปเรื่อยๆถ้าเมื่อย เค้าก็มีเก้าอี้ตามจุดต่างๆให้นั่งพักกันนะคะ
หอชมเมือง จำลองมาจากหอคอยคุก เป็นหอคอยสำหรับคอยตรวจตราไม่ให้นักโทษหลบหนี สามารถเดินขึ้นไปชมเมืองกันได้แบบ 360 องศา
มองจากมุมสูงจะสังเกตุเห็นว่าเมืองจะล้อมรอบไปด้วยน้ำ ตามแบบเมืองในสมัยนั้น
ถัดมาที่ย่าน "เรือนแพ" สมัยนั้นผู้คนมักใช้แม่น้ำในการสัญจร ดังนั้นร้านค้าส่วนใหญ่จะตั้งริมน้ำ เรือนแพยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารและร้านกาแฟตงฮู ขายกาแฟสด โบราณ และมีตลาดน้ำมีเรือพายขายอาหาร เครื่องดื่ม โดยจะเริ่มค้าขายตั้งแต่ช่วงเช้าๆไปจนถึงบ่าย ตลาดก็จะเริ่มวาย เสียดายเรามาช้าไปนิดเลยไม่ทันได้ชิมอาหารที่ชาวบ้านพายเรือมาขาย เพราะตลาดวายหมดแล้ว ถ้าใครสนใจแนะนำให้มาช่วงเช้าๆหน่อย
ช่วงที่เรามาถึงพวกแม่ค้าที่พายเรือขายของก็เริ่มเก็บของกันแล้ว แนะนำถ้าอยากเห็นเรือพายเยอะๆให้มาช่วงก่อนบ่าย 3
บนเรือนแพ จะมีอาหารขาย ทั้งข้าวราดแกงทรงโปรด กะเพาะปลา และอื่นๆอีกมากมาย แต่เราไม่ได้ลองชิม เนื่องจากอิ่มจากชิมขนมจากย่านการค้ามาแล้ว และยังต้องเก็บท้องไว้สำหรับมื้อเย็นที่นี่ด้วย
ร้านกาแฟตงฮู ถือเป็นร้านที่ทันสมัยในยุคนั้น โดยนำเข้าเมล็ดกาแฟสดเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ร้านกาแฟตงฮู ก็ยังมีอยู่ ซึ่งสืบทอดกิจการมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยตั้งอยู่ที่ ซอย สีลม 17
ศาลาท่าน้ำระหว่างทางเดินไปเรือนเดี่ยว ซึ่งบ้านไทยสมัยโบราณ มักมีท่าน้ำไว้เป็นท่าลงเรือ เนื่องจากการเดินทางในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นทางน้ำ
"เรือนเดี่ยว"
เป็นเรือนที่จำลองวิถีชาวบ้าน ที่มีชนชั้นกรรมาชีพ ยังชีพโดยการ ทำนา ทำไร่ เลี้ยงควาย สีข้าว ซึ่งที่นี่เค้าจะปลูกข้าวกันแบบจริงจัง และข้าวที่ได้ก็นำมาหุง เลี้ยงชีพแก่ชาวเมืองอีกด้วย
มีคอกเลี้ยงควายอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ บริเวณบ้าน
มีกองฟาง และแคร่ที่นั่งพัก ของชาวนาหลังจากทำนาเสร็จก็จะมาพักกินข้าวเที่ยงกัน
บันไดทางขึ้นเรือนเดี่ยว จะเห็นภาพแบบนี้ได้จากฉากละครไทยๆหลายเรื่อง
เดินต่อมาก็จะเจอกับ "เรือนคหบดี" เป็นเรือนของคนที่มีฐานะ บนเรือนจะแสดงวิถีความเป็นอยู่ของชนชั้นปกครอง กิจกรรมบนเรือน เช่น งานใบตอง งานดอกไม้ แกะสลักผลไม้ ซึ่งงานเหล่านี้นำมาใช้จริงในเมืองมัลลิกา
ภาพมุมสูงของ เรือนคหบดี จะสามารถมองเห็นลานมะลิซึ่งจะปลูกต้นมะลิไว้สำหรับนำมาร้อยมาลัย งานฝีมือดอกไม้ ของคนบนเรือน
"ลานมะลิ" เนื่องจากมัลลิกา ตามพจนานุกรมไทยแปลว่า มะลิ ที่นี่จึงสร้างลานมะลิไว้เพื่อรวบรวมมะลิหลากหลายสายพันธุ์ไว้ให้คนได้มาชมกัน
โรงครัว
ประกอบไปด้วย โรงสีข้าว ตำข้าว หุงข้าวบนเตากระทะใบบัว แม่ครัวจะทำอาหารเพื่อรับรองแขกเหรื่อ และเลี้ยงบ่าวไพร่ โดยใช้เตาถ่านเป็นการประกอบอาหารแทบทั้งสิ้น
ที่นี่เป็นครัวหลักสำหรับประกอบอาหารภายในเมืองมัลลิกา
ข้าวเปลือกที่ปลูกเองในเมืองมัลลิกา
เราได้ทดลองสีข้าวแบบโบราณกันด้วย
คุณลุงกำลังตำข้าวอยู่ ก็ได้ชักชวนให้เราทดลองตำข้าวดูบ้าง เห็นแบบนี้ก็เรียกเหงื่อได้พอสมควรทีเดียว คนโบราณกว่าจะได้ข้าวมาหุงแต่ละครั้งต้องผ่านหลายขั้นตอนเลยทีเดียว
โรงหุงข้าว สมัยโบราณจะใช้เตากระทะใบบัวขนาดใหญ่สำหรับหุงข้าว ข้าวที่เหลือติดก้นกระทะจะ ใช้มาทำเป็นข้าวตังหน้าตั้ง เป็นของทานเล่นได้อีกด้วย เสียดายที่เราไปถึงช่วงบ่ายแก่ๆแล้ว เค้าหุงข้าวกันไปแล้วเลยไม่มีโอกาสได้ทดลองเรียนรู้วิธี ได้แต่ฟังจากคำบอกเล่าของคุณลุงพ่อครัว
กะลามะพร้าวที่เหลือจากการใช้งาน สามารถนำมาใช้ทำอุปกรณ์นวดฝ่าเท้าได้ดีทีเดียว นี่แหละภูมิปัญญาของชาวบ้าน
เดินกะลา เป็นการละเล่นของไทย โดยผู้ใหญ่จะใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปจากท้องถิ่น ซึ่งก็คือกะลามะพร้าวนั่นเอง มักทำให้เด็กๆเล่น เผื่อฝึกการทรงตัว เราได้ทดลองเดินดูยอมรับเลยว่าทรงตัวค่อนข้างยากทีเดียว
"เรือนหมู่" เป็นเรือนไทยสีดำขนาดใหญ่ ไว้สำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมือง ช่วงกลางวันบนเรือนนี้จะมีการสาธิตการแสดงนาฏศิลป์ไทย โดยจะมีนางรำมาฝึกซ้อมสำหรับการแสดงในช่วงเย็น และมื้ออาหารเย็นที่เรือนนี้จะมีการจัดสำรับอาหารเย็นไว้ต้อนรับพร้อมกับโชว์การแสดงนาฏศิลป์ไทย
เรือนหมู่ ที่เมืองมัลลิกา ยังถือว่าเป็นเรือนหมู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย มองจากมุมสูงมีพื้นที่ ที่กว้างขวาง และสวยงามมาก
บรรยากาศบนเรือน ช่วงเย็นจะมีการจัดสำรับอาหารไว้ต้อนรับแขก โดยจะเสริฟอาหารไทยโบราณซึ่งบางอย่างหาทานได้ยากแล้วในสมัยนี้
การรับประมานอาหารในสมัยโบราณ ครอบครัวไทยจะนั่งพื้น จัดวางสำรับไว้ตรงกลางโต๊ะ
ภายในสำรับเย็นประกอบไปด้วย
-ยำทวาย
-มัสมั่นไก่
-น้ำพริกขี้กา
-หมี่กรอบ
-ไก่ห่อใบเตย
-ข้าวตังหน้าตั้ง
-แกงกะทิสายบัวปลาทู
-น้ำอัญชันมะพร้าวอ่อน
-ผลไม้ตามฤดูกาล
ข้าวและกับข้าวในชุดสามารถเรียกเติมได้ตลอดไม่อั้นค่ะ
ระหว่างมื้ออาหารค่ำก็จะมีการแสดงนาฏศิลป์ไทยมาให้ชมกันเพลินๆ
การแสดงจะเริ่มประมาณ 1 ทุ่ม มีหลายชุดสลับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน
ชุดแรก คือการแสดงระบำกฤดาภินิหาร
ชุดที่สอง คือการแสดงรำมโนราบูชายัญ
ชุดที่สาม คือการแสดงรำหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา
ชุดที่สี่ คือการแสดงระบำต้นวรเชษฐ์
ชุดที่ห้า คือการแสดงระบำศรีชัยสิงห์
นั่งรับประทานอาหารพร้อมชมการแสดงไปเพลินๆจนถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่มการแสดงก็สิ้นสุด นักแสดงทั้งหมดจะขึ้นมารวมตัวกันขอบคุณ และใครอยากถ่ายรูปร่วมกับนักแสดงก็ได้ค่ะ
หลังจบมื้อค่ำ เราก็ถึงเวลาไปเปลี่ยนเสื้อผ้าคืนชุดที่เช่า ซึ่งจะมีพนักงานอยู่คอยดูแลความเรียบร้อยอยู่ที่ห้องแต่งตัวค่ะ
สรุปโดยรวม
เราและเพื่อนที่ร่วมทริปในครั้งนี้ ประทับใจที่นี่มาก ในเรื่องไอเดียแนวคิดการสร้างเมืองที่ทำกันแบบจริงจัง ช่วยให้ชาวบ้านแถบนั้นได้มีรายได้ และยังส่งเสริมและช่วยดำรงวัฒนธรรมไทยไว้ให้เราได้เรียนรู้ รวมทั้งชาวบ้านในเมืองมัลลิกา ที่คอยต้อนรับก็สวมบทบาทคนสมัยก่อนได้อย่างกลมกลืน พูดขอรับ ,เจ้าค่ะ เรียกท่านหญิงกันแบบไม่มีหลุดกันเลย และบางท่านยังสามารถให้ความรู้ในรายละเอียดต่างๆได้ดีทีเดียว ร้านค้าต่างๆที่นี่ก็มีความสมจริง ขนมที่ทำเอง ทั้งยังมีการสาธิตวิธีทำให้ดูได้อย่างละเอียด การใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอยในเมืองก็เป็นเงินรูแบบสมัยก่อน และนี่ยังเป็นครั้งแรกของเราและเพื่อนที่ได้แต่งกายชุดไทยแบบ ร.5 รู้สึกเหมือนได้เป็นแม่หญิงโบราณจริงๆ
สามารถหาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซด์ของเมืองมัลลิกา www.mallika124.com
โทร: 034 540884-86
Facebook https://www.facebook.com/MallikaR.E.124
ติดตามรีวิวอื่นๆของเพจเราได้ที่ https://www.facebook.com/somewheresomeone
หากรีวิวถูกใจเพื่อนๆอย่าลืมแวะเข้าไปกด Like&Share เพจเป็นกำลังใจให้เรากันบ้างนะคะ
Somewhere Someone
วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เวลา 07.27 น.