ทุ่งนาเขียวขจีที่กำลังเริ่มปักดำโอบล้อมไปด้วยขุนเขาเรียงรายลดหลั่น สายหมอกที่ลอยคลอเคลียขุนเขาค่อยๆ เคลื่อนไหวไปตามแรงลมฝน จากพื้นราบสู่ยอดดอยที่อาจมองเห็นได้แค่ระยะไม่กี่เมตรเพราะถูกปกคลุมไปด้วยมวลหมอก สิ่งเหล่านี้คือมนต์เสน่ห์ในฤดูฝนของเมืองเหนือที่ผมมักหาโอกาสและเวลามาสัมผัสอยู่เสมอๆ



บันทึกการเดินทางฉบับนี้เราเริ่มต้นกันที่เมืองรถม้า “ลำปาง” สิ่งแรกที่นึกถึงเมื่อมาลำปาง ก็คงต้องเป็นที่นี่ “วัดพระธาตุลำปางหลวง” บริเวณด้านหน้าของวัดเราจะเห็นรถม้าจอดรอรับนักท่องเที่ยวกันอย่างเรียงราย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นและไม่เหมือนจังหวัดอื่นจริงๆ



วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางราว 18 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณกาล เส้นทางมายังวัดที่จะวิ่งผ่านเมือง แม้จะดูเจริญในระดับหนึ่ง แต่ถนนหนทางก็ยังค่อนข้างโล่งทีเดียว



เมื่อเดินผ่านบันไดนาคเข้าสู่ซุ้มประตูวัด เราจะพบกับความยิ่งใหญ่ขององค์พระธาตุ รวมไปถึงมณฑปและวิหารที่ถอดแบบฉบับล้านนาโบราณได้อย่างงดงาม



แม้จะเป็นวันธรรมดาแต่พุทธสานิกชนก็ยังคงหลั่งไหลมานมัสการกันอย่างไม่ขาดสายด้วยพลังแห่งความศรัทธา ถ้ามีโอกาสมาเยี่ยมเยือนลำปางก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง



อีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาวัดพระธาตุลำปางหลวงคือการเข้ามาชมองค์พระธาตุกลับหัวด้านในหอพระพุทธที่เกิดจากการหักเหของแสงซึ่งเป็นเรื่องอัศจรรย์ แต่ผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมนะครับ



จากพระธาตุลำปางหลวงผมย้อนกลับเข้ามาในเมืองเพื่อเยี่ยมชมวัดต่างๆ และสถานที่ท่องเที่ยวภายในเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก ก่อนจะขึ้นเหนือเพื่อไปยังวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ และอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนตามลำดับในแผนที่



วัดศรีชุม เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงอีกวัดหนึ่งของจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ที่ถนนทิพย์วรรณ ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สัมผัสแรกก็สะดุดตาด้วยรูปทรงที่แตกต่างออกไปจากวัดอื่นๆ



จากการสอบถามและค้นคว้าทราบมาว่าวัดศรีชุมแห่งนี้เป็นวัดที่ออกแบบมาจากศิลปะของประเทศพม่า มีพระบรมธาตุซึ่งเป็นพระบรมธาตุสีทองศิลปะแบบพม่าและมอญ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อันเชิญจากพม่าเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองลำปางมาช้านาน



ตัวเมืองลำปางในวันนี้แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป ความเจริญคืบคลานเข้ามา แต่ก็ยังมีมุมสงบ มุมที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ทั้งบ้านเรือน สถาปัตยกรรมเก่าๆ ที่งดงามไว้ให้รุ่นต่อๆ ไปได้ศึกษาเยี่ยมชม



อย่างเช่นสะพานรัษฏาภิเศก หรือที่เรียกกันว่าสะพานขาวแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่5 และยังคงอนุรักษ์ ซ่อมแซมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หรือจะกล่าวได้ว่าสะพานขาวแห่งนี้เป็นเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปางก็คงจะไม่ผิดไปนัก



อีกวัดหนึ่งในตัวเมืองลำปางที่งดงามและชาวลำปางให้ความศรัทธาเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง



มีความรู้สึกว่าวัดทางเมืองเหนือจะมีพระบรมธาตุประจำอยู่ในแต่ละวัดซึ่งจะคล้ายคลึงกัน แตกต่างจากภาคกลาง และวัดทางเมืองเหนือจะค่อนข้างเก่าแก่และอยู่ไม่ห่างกันมากนัก เรียกได้ว่ามีจักรยานคันเดียวก็สามารถเที่ยวได้ทั่ว



เมื่อเราเดินเข้ามาด้านในของวัดพระแก้วดอนเต้า จะเป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุดอนเต้า ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปจะเป็นศิลปะแบบพม่างดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่และในวิหารจะประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่นับพันปีไม่ต่างจากอายุของวัดนี้เลยทีเดียว



ห่างจากวัดพระแก้วดอนเต้าออกมาไม่ไกลนักจะเป็นที่ตั้งของสุสานไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญกับผู้คนชาวลำปางเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงเราจะเห็นรูปปั้นของหลวงพ่อเกษม เขมโก ขนาดใหญ่ยืนตระหง่านอย่างโดดเด่นอยู่ด้านหน้า



หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวลำปางและผู้คนทั่วไปให้ความเคารพเลื่อมใส ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานที่เคร่งครัด ตั้งอยู่ในความสมถะ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์แห่งนี้ตลอดชนชีพ



ครั้นเมื่อท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 สร้างความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่สานุศิษย์ทั่วประเทศ ปัจจุบันได้เก็บสรีระของท่านที่ไม่เน่าเปื่อยไว้ในโลงแก้วด้านในห้องกระจก ณ สุสานไตรลักษณ์แห่งนี้ เพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะเพิ่มความเป็นศิริมงคลเมื่อมาเยี่ยมเยือนลำปาง



จากตัวเมืองผมเดินทางขึ้นไปทางเหนือสู่ อ.แจ้ห่ม เพื่อไปยังวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ ยามนี้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว ผืนนาที่กำลังปักดำโอบล้อมด้วยขุนเขา มีสายหมอกลอยไปมา สร้างความรู้สึกสดชื่นได้ดีทีเดียว



รอยยิ้มและคำทักทายตามแบบฉบับไทยๆ หาได้ไม่ยากในวิถีชีวิตชนบท นี่แหละคือมนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการเดินทาง



เรามาถึงบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ในตอนพลบค่ำ จึงต้องหาที่พักใกล้ๆ กับวัดเพื่อขึ้นมาด้านบนในเช้าอีกวัน ที่พักก็มีอยู่หลายแห่งแถบนี้ เป็นรีสอร์ทเล็กๆ ในราคาหลักร้อยเท่านั้น อาหารการกินก็สะดวกสบายเพราะอยู่ในย่านชุมชน มีร้านค้าให้บริการอย่างมากมาย



การจะขึ้นไปยังด้านบนของวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดงนั้น จะต้องมานั่งรถโฟรวีลของชาวบ้านที่คอยให้บริการตรงบริเวณด้านล่างของวัด ในราคาคนละ 100 บาท ห้ามนำรถส่วนตัวขึ้นไปเพราะเส้นทางค่อนข้างชันและลื่น รถเที่ยวแรกถ้าเป็นวันธรรมดาก็ราว 7.30 น. ถ้าเป็นวันหยุดเที่ยวแรกก็เวลา 7.00 น.



เมื่อนั่งรถของชาวบ้านขึ้นไปด้านบนที่มีระยะทางราว 3 กิโลเมตรแล้วนั้น รถจะมาจอดบริเวณลานจอดรถด้านบนของวัด จากนั้นก็จะต้องเดินเท้าไปอีกราว 800 เมตรเพื่อไปยังจุดชมวิว เส้นทางการเดินเท้าก็จะต้องเดินไปตามบันไดเหล็กไต่ระดับความสูงคดเคี้ยวขึ้นไป ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะทางค่อนข้างลื่นและชันมากและควรเตรียมน้ำดื่มขึ้นไปด้วย



เมื่อเดินขึ้นมาด้านบนเราจะพบกับศาลาสวดมนต์ซึ่งเป็นจุดชมวิวหลัก ด้านบนนี้ไม่มีพระจำวัด แต่จะมีพระขึ้นมาสวดมนต์เนื่องในโอกาสวันสำคัญๆ ทางศาสนาเท่านั้น ยามเช้าก็จะมีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาทำความสะอาดและคอยดูแลนักท่องเที่ยว



จากศาลาสวดมนต์ เมื่อมองลงไปเราจะเห็นตัวเมือง อ.แจ้ห่ม ไร่นา และหมู่บ้าน แต่วันนี้ฟ้าปิด มีแต่หมอกขาวมาปกคลุมทำให้มองไม่เห็นอะไรเลย



จากศาลาสวดมนต์ถ้าเราหันหน้าออกไปข้างนอก ด้านขวามือส่วนล่างจะเป็นแบบในภาพ มองเห็นเจดีย์ที่สร้างอยู่บนยอดเขาสวยงามแปลกตาทีเดียว



จากจุดเดียวกัน ถ้ามองออกไปด้านขวามือส่วนบนจะเห็นองค์พระพุทธบาทอยู่ไกลๆ ในวันที่หมอกลงจัดเราก็จะได้บรรยากาศแบบนี้ ฤดูฝนทำหน้าที่ให้ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี เพิ่มความสบายตาสบายใจและความสดชื่น



ซูมเข้าไปใกล้ๆ องค์พระพุทธบาท จะมีทางเดินบันไดเล็กๆ ขึ้นไป เป็นอีกจุดชมวิวที่สามารถขึ้นไปได้และมองเห็นทิวทัศน์ในแบบ 360 องศา แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการขึ้นไปเพราะชันมากและค่อนข้างลื่น



จากศาลาถ้าเรามองออกไปทางด้านซ้ายมือบ้างจะเห็นเป็นเจดีย์สีขาวตั้งอยู่เรียงรายบนยอดเขา ซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการมาเยือนวัดเฉลิมระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์



พวกเราลงมาจากวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ในตอนสายๆ เพื่อเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ซึ่งห่างออกไปเพียง 20 กว่ากิโลเมตร กับบรรยากาศสองข้างทางที่ร่มรื่นเขียวขจีและเดินทางสะดวกสบาย



จุดเด่นสำหรับอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนคงเป็นบริเวณโดยรอบที่ร่มรื่น สวยงาม เต็มไปด้วยหมู่มวลแมกไม้ มีทางเดินศึกษาธรรมชาติบ่อน้ำพุร้อน รวมไปถึงน้ำตกแจ้ซ้อน และจุดบริการอาบน้ำแร่



บริเวณภายในอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนเราจะพบเห็นบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกือบทั่วบริเวณและมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงจนสามารถนำไข่มาต้มให้สุกได้ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ทีเดียว



เช้านี้เรามาเริ่มต้นท่องเที่ยวกันที่จังวัดลำพูนกันบ้าง ทำไมไปลำปางแล้วต้องไปลำพูน อาจเป็นคำถามก่อนหน้านี้ที่ผมยังไม่ได้ไปสัมผัส แต่พอไปแล้วก็มีความรู้สึกว่าเที่ยวลำปางแล้วก็ต้องไปต่อที่ลำพูนจริงๆ เพราะใกล้กันมาก บางสถานที่ท่องเที่ยวยังครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด เรามาเริ่มกันที่ตัวเมืองลำพูนกันก่อนตามแผนที่ครับ



มาลำปางสิ่งแรกที่นึกถึงคือพระธาตุลำปางหลวง แล้วถ้ามาเที่ยวลำพูนหล่ะ สิ่งแรกที่นึกถึงขึ้นมาทันทีก็คงต้องเป็นที่นี่ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ก้าวย่างแรกก็สัมผัสได้ถึงคลื่นพุทธศาสนิกชนที่มีจำนวนมากจริงๆ จนดูแออัด อาจเป็นเพราะวันนี้เป็นช่วงวันหยุดยาวเข้าพรรษาก็เป็นได้



องค์พระบรมธาตุเหลืองทองตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นเมื่อเราเดินเข้ามาด้านใน รูปทรงจะคล้ายคลึงกับพระธาตุช่อแฮของเมืองแพร่ ทั้งขนาดและความงดงาม อากาศในวันนี้ค่อนข้างร้อน แดดแรง แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนเดินเวียนเทียนรอบๆ องค์พระบรมธาตุเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสและความศรัทธาที่มีต่อวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร



ถัดจากวัดพระธาตุหริภุญชัยออกมาไม่ไกลก็เป็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี”



อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม มีความสามารถและความกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน



บริเวณโดยรอบของอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีจะเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม เต็มไปด้วยดอกไม้มีร่มเงาของต้นไม้ที่ร่มรื่นให้ประชาชนทั่วไปได้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ



จากตัวเมืองลำพูนผมเดินทางมาที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า ซึ่งห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร ในภาพเป็นเส้นทางก่อนถึงวัด สองข้างทางร่มรื่นเขียวขจีทีเดียว



วัดพระพุทธบาทตากผ้า ตั้งอยู่เชิงดอยเล็กๆ ใน ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีประวัติอันยาวนาน และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวลำพูนและผู้คนทางภาคเหนือ



ด้านหลังของวัดพระพุทธบาทตากผ้า จะมีบันไดทางเดินขึ้นไปยังพระธาตุสี่ครูบา ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา แต่ก็สามารถขับรถขึ้นไปด้านบนได้เช่นกัน บริเวณโดยรอบเมื่อมองออกไปเราจะเห็นความเขียวขจี หมู่บ้าน ไร่นาและวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม



จากวัดพระพุทธบาทตากผ้าผมใช้เส้นทางสาย 106 วิ่งตรงยาวไปที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่ตั้งอยู่ อ.ลี้ รวมระยะทางจากตัวเมืองลำพูนถึงอุทยานแห่งชาติแม่ปิงราว 130 กว่ากิโลเมตร คืนนี้พวกเราจะค้างแรมกันที่นี่ “แก่งก้อ” ซึ่งเป็นจุดชมวิวภายในอุทยานฯ สอบถามที่พักของทางอุทยานฯ ก็จะเป็นห้องพักบนแพ สามารถนอนได้หลายคน แต่พวกเราไปกันแค่ 2 คน ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็จะคิดราคาที่ 500 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกมาก มีไฟฟ้าใช้แต่จะดับราว 4 ทุ่มเท่านั้น



บรรยากาศยามเย็นก่อนตะวันลาลับขอบภูผา พี่เจ้าหน้าที่ใจดีให้ยืมเรือมาพายไปซื้ออาหาร แพที่อยู่ด้านหน้าในภาพคือแพร้านอาหารของเอกชน รสชาติใช้ได้ โดยเฉพาะเมนูปลาที่สดเพราะจับมาจากบริเวณนี้ และราคาไม่แพงมากนัก



ค่ำคืนนั้นหลับสบายเพราะฝนตกเกือบทั้งคืน บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบเป็นส่วนตัวเพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก ตื่นเช้าขึ้นมาก็เจอกับบรรยากาศแบบนี้ อากาศเย็นสบาย มีหมอกลอยไปมา เมืองไทยไม่ไปไม่รู้จริงๆ ว่ายังมีที่น่าเที่ยวอีกมากมาย



สายวันนี้ผมเดินทางออกจากแก่งก้อเพื่อไปยังน้ำตกก้อหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เช่นเดียวกัน และอยู่ห่างจากแก่งก้อที่พวกเราค้างคืนเมื่อคืนนี้ราว 12 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อมาถึงจุดจอดรถบริเวณน้ำตก เราจะต้องเดินเท้าเข้าไปอีกนิดหน่อย ราว 500 เมตร ทางไม่ชันเดินสบาย จุดเด่นของน้ำตกก้อหลวงคงเป็นน้ำที่ใสเขียวเป็นสีมรกต แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่น้ำก็ยังไม่เยอะมากเท่าไหร่นัก



จากอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เราออกเดินทางกันต่อเพื่อมาที่ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” ซึ่งห่างกันเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น เรียกได้ว่าถ้ามาอำเภอลี้แล้วไม่ได้มาดินแดนแห่งนี้ เสมือนว่ามาไม่ถึงเมืองลี้ ด้วยประการทั้งปวง



พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ตั้งอยู่ที่ตำบลนาทราย อำเภอลี้ มีรูปทรงคล้ายชเวดากองของประเทศพม่า เป็นสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาศิลปะล้านนาที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย



ผู้ที่ริเริ่มให้มีการออกแบบและการสร้างขึ้นคือหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์คือเพื่อให้เป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ให้ลูกหลานคนไทยได้กราบไหว้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นแห่งที่สองของโลก



ใกล้กันกับพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย จะเป็นที่ตั้งของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ก่อนเดินทางมาเยือนดินแดนแห่งนี้ได้ยินคำบอกเล่าว่าหมู่บ้านห้วยต้มแห่งนี้ไม่ทานเนื้อสัตว์ เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวกระเหรี่ยง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทอผ้า เป็นหลัก ไม่มีแม้แต่จะเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารทั้งสิ้น นอกจากสุนัขหรือแมว และก็เห็นจะเป็นจริงตามคำบอกเล่านั้นๆ เมื่อย่างก้าวเข้ามาสัมผัสดินแดนแห่งนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกแต่ก็เป็นสิ่งที่ดี โดยมีวัดพระพุทธบาทห้วยต้มแห่งนี้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ



จากลำพูนผมย้อนขึ้นสู่ลำปางอีกครั้ง ตามแผนที่ จุดหมายหลักก็คือ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ดินแดนสองจังหวัด ลำปาง-ลำพูน



ผมใช้เส้นทางเดิมคือ 106 ก่อนตัดเข้าเส้น 1274 สู่อำเภอเสริมงาม จ.ลำปาง เพื่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ระยะทางราว 40 กิโลเมตร ใกล้ๆ กันกับศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำจะเป็นที่ตั้งของฟาร์มแม่ต๋ำ ซึ่งเป็นฟาร์มตัวอย่างเพื่อให้ชาวบ้านชาวเขาได้มีอาชีพทำกินและเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชม ภายในฟาร์มจะมีการปลูกดอกไม้นานาชนิด ปลูกสตรอเบอรี่ เลี้ยงแกะ ปลูกพืชไร่เศรษฐกิจ แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นต้น



เจ้าหน้าที่พาพวกเราเดินเยี่ยมชมภายในฟาร์มแม่ต๋ำ พร้อมทั้งอธิบายที่มาที่ไป ขั้นตอนต่างๆ แม้จะใช้เวลาอยู่ที่นี่เพียงน้อยนิด แต่กลับได้ความรู้อย่างมากมายจริงๆ



ถัดจากฟาร์มแม่ต๋ำออกมาไม่ไกลจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ในวันนี้แม้ว่าพวกเราจะไม่ได้นัดหมายเอาไว้และเป็นวันหยุดทำให้ไม่มีชาวบ้านมาทำงาน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์มาคอยต้อนรับและพาเดินชม พร้อมทั้งอธิบายที่มาที่ไปอย่างเป็นกันเอง จนทำให้รู้สึกประทับใจ



พี่เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนตอนยังไม่มีศูนย์แห่งนี้ ชาวเขาชาวบ้านแถบนี้ก็จะทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นบ้าง ตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์บ้าง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เสื่อมถอย ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นถึงปัญหา ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อให้ชาวเขาชาวบ้านได้มีอาชีพและวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ภายในศูนย์จะประกอบไปด้วยโรงเรือนทำงานของชาวบ้าน ทั้งโรงทอผ้า จักสาน แกะสลักและโรงเครื่องปั้นดินเผาเซรามิก



ด้านนี้จะเป็นส่วนของการจัดแสดงผลงานให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของชาวบ้านทั้งสิ้น



ด้านหน้าของศูนย์จะเป็นเรือนที่เอาไว้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป ในราคาย่อมเยา



จากศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ อ.เสริมงาม ผมเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน ระยะทางราว 90 กว่ากิโลเมตร เส้นทางก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ ทางค่อนข้างชันพอสมควร แต่ก็ร่มรื่นปกคลุมไปด้วยต้นไม้และขุนเขา ดินแดนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในอดีต



ด้านในของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลจะมีจุดชมวิวที่มองออกไปได้ไกลจนเห็นตัวเมืองลำปาง มีบ้านพักไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว ผมรู้สึกชอบบ้านพักที่นี่มากเพราะดูเป็นระเบียบและสะอาดสะอ้าน แสดงถึงการดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทางหลายกิโลเมตรอีกด้วย



ใกล้ๆ กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลจะเป็นที่ตั้งของอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2450 และเสร็จในปี พ.ศ.2461 ใช้เวลายาวนานถึง 11 ปี เนื่องด้วยสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน การจะขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะเส้นทางเป็นป่าทึบและภูเขาสูงชัน



จากอุโมงค์ขุนตาลห่างออกไปราว 5 กิโลเมตรจะเป็นที่ตั้งของสะพานทาชมภูหรือที่ชาวบ้านเรียกชื่อกันว่าสะพานขาว นั่นเอง สะพานทาชมภูสร้างขึ้นหลังจากอุโมงค์ขุนตานแล้วเสร็จเพียงปีเดียว ในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกพอดี วัสดุที่ใช้สร้างจะเป็นคอนกรีตซึ่งไม่ยืดหยุ่นเท่าเหล็ก แต่ในสภาวะที่เกิดสงครามทำให้ไม่สามารถสั่งเหล็กจากต่างประเทศได้ จึงจำเป็นต้องใช้คอนกรีตและคาดกันว่าสะพานแห่งนี้อาจพังตัวลงไม่นาน แต่ด้วยการออกแบบโครงสร้างที่ดีทำให้สะพานทาชมภูแห่งนี้อยู่ได้ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน



บริเวณโดยรอบตกแต่งเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมได้น่ารัก จุดนี้ไม่มีสถานีรถไฟให้จอด แต่ในฤดูหนาวจะจอดเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลงมาเดินเที่ยวได้ สะพานนี้นอกจากจะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแล้ว ยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็นของชาวบ้านทาชมภูและยังเป็นจุดถ่ายภาพของนักถ่ายภาพโดยทั่วไปอีกด้วย



สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส ขอบคุณ AVIS ขอบคุณสายการบินนกแอร์ และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเรื่องราวของจังหวัดลำปาง-ลำพูน จนจบ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ



อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางในแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL https://www.facebook.com/PEESAT.PANTIP

ม่วงมหากาฬ

 วันพฤหัสที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เวลา 10.11 น.

ความคิดเห็น