บันทึกการเดินทางฉบับนี้ ลุงม่วงจะพาไปทำความรู้จักกับ 3 ชุมชนของจังหวัดเลย คือ ชุมชนภูป่าเปาะ ชุมชนปวนพุ และชุมชนภูหอ

++++++++++

1 ชุมชนภูป่าเปาะ

พาเที่ยวชม ภูป่าเปาะ (ฟูจิเมืองเลย)

++++++++++

2 ชุมชนปวนพุ

พาเที่ยวชม ถ้ำโพธิสัตว์ หรือกุ๊ยหลินเมืองเลย สวนสวรรค์และถ้ำตุ๊กตา สวนหินผางาม หรือคุนหมิงเมืองไทย

++++++++++

3 ชุมชนภูหอ เรียนรู้และท่องเที่ยวในแบบ Eco-Tourism ท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ โดยรอบภูหอ

- Banana Family

- ทำขันหมากเบ็ง บ้านยายช่วย

- ศาลพญาช้างและนางผมหอมวัดโนนสว่าง

- ดำนา นาหนองกอก บ้านยายทอง

- โฮมเสตย์สวนพืชไทย บ้านป้าเพริศ

- บ้านโบราณ จักสานตาควรยายบัว

- กลุ่มทอฝ้า

- จุดชมวิวภูเลยหง่า

- จุดชมวิวเลยวังไสย์..ก๋อ

จุดหมายแรกคือ ชุมชนภูป่าเปาะ ต.ปวนพุ อ.หนองหิน จ.เลย

+++++++++++++++++

ภูป่าเปาะ ภูเขาป่าไผ่ สูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร ตั้งอยู่ที่ อ.หนองหิน ตอนล่างของ จ.เลย

ไฮไลท์ของการมาภูป่าเปาะคือการมาชม ภูหอภูเขายอดตัด มีพื้นที่ราบบนยอดภูมองดูคล้ายภูเขาไฟฟูจิของประเทศญี่ปุ่น

จุดหมายที่สองคือ ท่องเทียวเชิงเกษตรนิเวศเรียนรู้รอบภูหอ สักการะพ่อพญาช้าง-นางผมหอม นอนโฮมสเตย์ ปั้นเตาดิน กินอาหารออร์แกนิค จิกหมอน นอนดูดาว

จุดหมายที่สามคือ เยือนชุมชนปวนพุ อ.หนองหิน จ.เลย

++++++++++++++++

"ถ้ำโพธิสัตว์ กุ้ยหลินเมืองเลย"

ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ชมความงดงามของหินงอกหินย้อยและเถาวัลย์อายุนับพันๆปี กับเรื่องเล่าของสวรรค์ โลกมนุษย์และเมืองบาดาล ตื่นเต้นและน่าสนใจ



"สวนหินผางาม คุนหมิงเมืองเลย"

แนวผาหินปูนสูงใหญ่ ทอดตัวเป็นแนวยาว ตัดท้องฟ้าและทุ่งนาเขียว โดดเด่นสวยงามและลงตัว กับเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่รอการมาเยือน



"สวนสวรรค์"

จุดเช็กอินน้องใหม่ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และความดิบของภูเขา กับจุดชมวิวสูงสุดที่เหมือนสวนแห่งสวรรค์

เรียนรู้การดำนาที่นาหนองกอก ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย กับวิถีชีวิตที่พอเพียง ความภูมิใจของชุมชนบ้านหนองบัว

เริ่มต้นบันทึกการเดินทางในตอนเย็นวันแรกที่จังหวัดเลย หลังจากเช็คอินที่โฮมเสตย์ (ซึ่งมีอยู่ราวๆ 60 กว่าที่บริเวณรอบภูป่าเปาะ) เราก็ขับรถมาที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูป่าเปาะ ติดต่อรถอีแต๊กเพื่อขึ้นมาชมพระอาทิตย์ตกดิน

จุดชมวิวภูป่าเปาะมีทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน แต่ละจุดอยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร

- จุดที่ 1 เป็นจุดชมวิวที่เห็นภูหอได้ชัดเจนที่สุด

- จุดที่ 2 เป็นจุดชมวิวด้านทิศตะวันตกเช่นกัน

- จุดที่ 3 เป็นจุดชมวิวด้านทิศตะวันออก มองเห็นทิวเขาและชมพระอาทิตย์ขึ้นสวยงาม

- จุดที่ 4 จุดชมวิว 360 องศา สามารถมองเห็นภูหอ ภูหลวง ภูเรือ ภูกระดึง นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็น อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จ.ขอนแก่น อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ วนอุทยานแห่งชาติ นายูง-น้ำโสม จ. อุดรธานี และ ถ้ำเอราวัณ จ.หนองบัวลำภู

การเดินทาง

การเดินทางขึ้นจุดชมวิวภูป่าเปาะต้องใช้บริการรถอีแต๊กของชุมชนเท่านั้น เราสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการฯ อยู่ซ้ายมือก่อนถึงทางเข้าภูป่าเปาะประมาณ 50 เมตร ค่าบริการคนละ 60 บาท มาคนเดียวรถก็ออก จากศูนย์บริการใช้เวลาเดินทางแค่ 15 นาทีเราก็จะถึงจุดชมวิวที่ 1

บนภูป่าเปาะไม่มีร้านค้า แต่มีร้านค้าที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เราสามารถนำน้ำดื่มและอาหารขึ้นไปเองและเก็บขยะกลับมาทิ้งด้านล่างด้วยทุกครั้ง

เปิดให้บริการตั้งแต่ 5:00 น.

จุดชมวิวที่ 1 ของภูป่าเปาะจะมีระเบียงปูนและระเบียงไม้อยู่ด้านขวามืออีก 1 ระเบียง บรรยากาศเย็นนี้เมฆค่อนข้างเยอะ ฟ้าปิด แต่ยังคงความงดงาม สันเขายาวๆ หลังภูหอนั้นคือภูหลวงนั่นเอง

ไกด์เล่าว่า แต่เดิมนั้นไม่ได้เรียกฟูจิเมืองเลย จนกระทั่งมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางมา พอได้เห็นภูหอนี้ จึงร้องอุทานว่า โอ้ ฟูจิยาม่า นับตั้งแต่นั้นเลยขนานนามที่นี่ว่า ฟูจิเมืองเลย

บรรยากาศหน้าฝน ต้นไม้เขียว มองดูแล้วสบายตา

ระเบียงชมวิวที่จุดชมวิวที่ 1

จุดชมวิวนี้ห้ามเข้าเกิน 10 คน เพื่อความปลอดภัยและความสวยงามในการถ่ายรูป แต่ช่วงนี้คนน้อยเที่ยวสบายมากๆ

คนไม่มีก็เดินถ่ายรูปวนๆ ไปครับ

เย็นนี้ฟ้าไม่ค่อยเป็นใจ เลยตัดสินใจกลับที่พักพรุ่งนี้เช้าค่อยว่ากันใหม่

เช้าวันที่สอง เราตื่นนอนล้างหน้าแปรงฟันแล้วก็ขับรถมาที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูป่าเปาะเช่นเดิม ตุนอาหารเช้าและน้ำดื่ม ติดต่อใช้บริการรถอีแต๊กเที่ยวแรกตอนตี 5

หลังจากนั่งอีแต๊กบุกป่าและเดินฝ่าดงไผ่ระยะทางชันราวๆ 70 เมตร เราก็ขึ้นมาถึงจุดชมวิวสูงสุด หน้าฝนคนน้อยมาก อาจจะดูเหงาไปหน่อย แต่ความฟินก็ยังคงอยู่

(เราคือ?) ผู้พิชิตยอดภูป่าเปาะ

ไม่ได้หอบแค่หายใจแรง ขอลุงนั่งพักแปปนึงครับ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาทอดพระเนตร ยอดภูป่าเปาะ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559

ตรงนี้วิวสวยมาก มองเห็นแนวภูเขาสวยจริงๆ หลังจากเดินถ่ายรูปเยอะพอสมควร ก็มานั่งพักเอาแรงตรงนี้อีกแปปนึงก่อนเดินกลับลงไปจุดชมวิวที่ 3

ตอนเดินลงก็สบายๆ เลย ไม่เหนื่อยไม่หอบเหมือนตอนขาขึ้น แปปเดียวก็มาถึงจุดชมวิวที่ 3 แล้ว

ถ้าเหนื่อยก็นั่งพักที่ศาลาได้ นั่งชมวิวตรงนี้ วิวดีจริงๆ

จุดชมวิวที่ 3 ณ ภูป่าเปาะ มุมด้านตะวันออก มีระเบียงไม้กว้างขวาง มองเห็นภูเขาคล้ายๆ ผู้หญิงนอนหงายเลย

จากจุดชมวิวที่ 3 เรานั่งรถอีแต๊กกลับลงมาที่จุดชมวิวที่ 2 วันไหนโชคดีเราก็จะเห็นหมอกปกคลุมยอดฟูจิเลย จุดชมวิวนี้มีการจัดแต่ง ประดับด้วยต้นไม้ดอกไม้ โดยชาวบ้านในชุมชนภูป่าเปาะ

จุดชมวิวที่ 2 กับต้นดอกบัวตอง ที่พร้อมบานในเดือน 11 หนาวนี้ไม่น่าพลาดเลยครับ

มายืนชมภูหอ ฟูจิเมืองเลย ที่มุมนี้ก็สวยไม่แพ้มุมอื่นๆ

บรรยากาศหมอกปลิวผ่านยอดเขานี่มันได้เลย

หลังจากถ่ายรูปจนเพลินแล้ว ก็ได้เวลากลับ มีโอกาสเดี๋ยวเรามาใหม่

จากภูป่าเปาะเราเดินทางมาเที่ยวกันต่อที่ถ้ำโพธิสัตว์ ซึ่งห่างออกมาราว 14 กม.

+++++++++++++



"ถ้ำโพธิสัตว์ กุ้ยหลินเมืองเลย"

ด้วยความร่วมมือของวัดและชาวบ้านพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชมความงดงามของหินงอกหินย้อยและเถาวัลย์อายุนับร้อยๆ พันๆ ปี กับเรื่องเล่าของสวรรค์ โลกมนุษย์และเมืองบาดาล ตื่นเต้นและน่าสนใจ



การเดินทางจากภูป่าเปาะ

เราขับรถเลี้ยวขวาจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ใช้ถนนหมายเลข 3029 ผ่านอุทยานผางาม สำนักสงฆ์วังวิโมกข์จะมีทางเข้าอยู่ซ้ายมือมีป้ายบอกชัดเจน

ค่ามัคคุเทศก์ 100 บาท/กลุ่ม (ไม่เกิน 10 คน)

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อบต.ปวนพุ โทร. 0 4289 4254

เราก็มาถึงถ้ำโพธิสัตว์ พบกับมัคคุเทศก์ตัวน้อยพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันสดใส จะนำพาเราไปชื่นชมธรรมชาติอันสวยงาม

- ห้ามจับหรือสัมผัสหินในถ้ำ

- นำขยะของตัวเองติดตัวกลับมาด้วยทุกครั้ง

- ห้ามส่งเสียงดังเพราะจะทำให้กวางที่หลับตกใจตื่นและหนีไป

หลังจากติดต่อมัคคุเทศก์น้อยนำทางแล้วก็เริ่มต้นกันเลย จากจุดนี้เราจะต้องเดินเท้าไปอีกประมาณ 300 เมตร

จุดแรกที่เราเดินมาถึง เด็กๆ ชี้ให้ดูและบอกว่า ที่นี่คือเสาหลักเขต แยกเมืองมนุษย์กับเมืองบาดาล

จากจุดแรกเดินเท้าต่ออีกไม่ไกลนัก ก็ถึงปากทางเข้าถ้ำ เด็กๆ มายืนรอลุงอยู่จุดนี้ พอลุงมาถึงเด็กๆ ก็พร้อมเพียงกันเล่าว่า เคยมีนักธรรีวิทยาวิจัยว่า ราว 270 ล้านปีก่อน จุดๆ นี้น่าจะเป็นทะเลและเมื่อเปลือกโลกของเราดันตัวขึ้น จึงเกิดเป็นหินชั้นๆ เรียงตัวกันสวยงาม เด็กๆ บอกว่าตรงนี้คือซุ้มบาดาลและตรงทางเข้าที่แคบๆ นั้นเรียกว่าช่องรีดไขมัน เมื่อเบี่ยงตัวจนเข้าไปได้ก็จะพบกับโถงกว้าง มีปล่องแสงสว่างจากด้านบน สัมผัสได้ถึงความเย็นภายใน

- ห้องท้องพระโรง สำหรับรับแขก

- ถ้ำนางเงือก หินรูปร่างคล้ายกับเงือกน้อย

- นักบุญแห่งป่านักฆ่าแห่งพงไพร ต้นลำไยป่าอายุนับร้อยปีที่ถูกกาฝากปกคลุมทั่วทั้งต้น แต่ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้

หยดน้ำกำเนิดโลก น้ำบริสุทธิ์ที่ไหลซึมออกมาจากหินงอกหินย้อยเดียวในถ้ำ หนึ่งหยดใช้เวลา 2 นาที

ถ้ำจรเข้กินปลา ไหนๆ มีใครหาเจอบ้างว่าอยู่ตรงไหน ถ้าปลาจะตัวใหญ่ขนาดนี้ ลุงว่า ปลาน่าจะกินจรเข้มากกว่า 555 เด็กน้อยขำใหญ่

เถาวัลย์ชิงช้า เถาวัลย์ที่ห้อยลงมาจากหน้าผาสูง มานั่งเซลฟี่ถ่ายรูปสวยๆ ได้เลย

เชื่อกันว่าถ้ารอดเถาวัลย์ชิงช้าแล้วอายุจะยืนขึ้นอีก 50/100/150 ปี ถ้าเซื่อจังซั่นก็ลงมือเฮ็ดโล้ด

ถ้ำขังแปดหรือถ้ำสามมิติ อีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของถ้ำโพธิสัตว์ สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์องค์บาก 2

เถาวัลย์พันปี เถาวัลย์ยักษ์ใหญ่แห่งถ้ำโพธิสัตว์

วัดขนาดได้กว่า 200 cm เชื่อว่ามีอายุกว่าพันปี

จุดนี้ห้ามขึ้นไปเหยียบบนเถาวัลย์นะครับ

เสาหลักเมืองบาดาลกับหินช้างสามเศียร ถ้ำดอกหินและโครงกระดูกยักษ์ผู้เฝ้าถ้ำ

เดินเพลินๆ ฟังเด็กๆ เล่าไปเรื่อยๆ ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงเราก็กลับออกมานอกถ้ำ

ก่อนจะถึงจุดไฮไลท์สุดท้าย มีทางแยกไปเมืองลับแลอีก แต่ช่วงที่ลุงไปนั้น งดการเยี่ยมชม เพราะมีพระธุดงค์ท่านมาปฏิบัติธรรมพอดี

ไฮไลท์สุดท้ายของถ้ำโพธิสัตว์ กรอบรูปธรรมชาติ เกิดจากเถาวัลย์ที่พันเกาะผาหินสวยงามมองดูคล้ายกรอบรูปที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เหมาะกับการเซลฟี่สุดๆ

จากวัดถ้ำโพธิสัตว์เราขับรถออกมาแถวๆ ตลาดชุมชนปวนพุ อ.หนองหิน จังหวัดเลย เป็นตลาดเล็กๆ ของชาวบ้านแถวนี้ กับบรรยากาศของฤดูฝน

แวะมาดูชาวบ้านที่กำลังถอนกล้า สำหรับดำนา

เริ่มจากการถอนแล้วนำมารวมพอให้ได้มัด พอดีมือจับ

จับแล้วฟาดต้นกล้าลงไปกับเท้าแรงๆ เป็นการล้างดินที่ติดอยู่ที่ต้นกล้า มองดูแล้วน่าสนุก

บางคนก็ใช้วิธีการฟาดกับไม้ไผ่ที่ปักไว้

ที่ชุมชนปวนพุชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาปลูกยาง ปลูกผักผลไม้

อาหารการกินอร่อยราคาไม่แพง

ช่วงนี้เป็นช่วงโลซีซั่นของกินไม่เยอะมากแต่พอมีร้านอยู่ตามพิกัดเหล่านี้

- ร้านต้นกล้าฟ้าใส ศูนย์บริการนทท. ภูป่าเปาะ

- ร้านข้าวเหนียว-ไก่ย่าง ร้านค้าชาวบ้านตลาดปวนพุ

- ร้านก๋วยเตี๋ยวส้มตำ ใกล้ๆ วนอุทยานผางาม

- ร้านค้าหน้าสวนหินผางาม

- ตลาดอำเภอหนองหิน (ขับรถไปอีกราวๆ 9 กม.)

จากนั้นเราเดินทางมาเที่ยวกันต่อที่ วนอุทยานผางาม ที่นี่บริการกลางเต๊นท์ฟรี

ระยะทางท่องเที่ยวมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติและภูผา โดยรอบแถบนี้ ถ้าจะไปถ้ำโพธิสัตว์ หรือกุ๊ยหลินเมืองเลยก็แค่ 4 กม.

ถ้าจะไปสวนสวรรค์และถ้ำตุ๊กตาก็แค่ 1 กม.

ถ้าจะไปสวนหินผางาม หรือคุนหมิงเมืองไทยก็แค่ 5 กม.

หรือจะไป ภูป่าเปาะ ก็เดินทางแค่ 8 กม. เท่านั้น เรียกได้ว่ามาโซนนี้ท่องเที่ยวได้หลากหลายทีเดียว

พวกเราเดินทางมาท่องเที่ยวกันต่อที่ "สวนสวรรค์" บ้านสวนห้อม ตำบลปวนพุ

จุดเช็กอินน้องใหม่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมธรรมชาติ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และความดิบของภูเขาหินปูน กับจุดชมวิวสูงสุดที่เหมือนสวนแห่งสวรรค์

ระยะทางจาก วนอุทยานผางามที่ผ่านมาเมื่อซักครู่ก็แค่ราวๆ 1 กม. เราก็มาถึงสวนสวรรค์ เลี้ยวซ้ายจอดรถที่ลานจอดและติดต่อศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ค่าเข้าอุทยาน 100 บาท

รถอีแต๊กหรือบางคนเรียกอีต๊อก เรียกตามเสียงของรถที่ดังต๊อกแต๊กๆ เป็นเสน่ห์อีกอย่างของการมาเที่ยวจังหวัดเลย

ระยะทางประมาณ 1 กม. ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ค่าบริการ 20 บาท

ช่วงแรกของการเดินทางจะผ่านถ้ำตุ๊กตา ชมความงดงามของหินงอกหินย้อย ควรมีไฟฉายและติดต่อมัคคุเทศก์นำทาง

การเดินทางในถ้ำตุ๊กตา เดิมทีนั้นเป็นสะพานไม้ แต่ผุและพังง่าย ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กเพื่อความแข็งแรงและมั่นคง

ในถ้ำก็จะมีจุดชมต่างๆ เช่นหินจรเข้ รากมะยมหินร้อยปีที่ห้อยมาจากเพดานถ้ำ หินขาไดโนเสาร์ ส่วนจุดนี้เรียกว่ารอดท้องช้าง ช้างข้าอยู่ไหน? มีใครเห็นช้างบ้าง? ไกด์เล่าว่ามีคนเคยมารอดท้องช้าง ตั้งจิตอธิฐาน แล้วสมหวัง หลักฐานชี้ชัดอยู่บนตาช้าง

จากจุดนี้จะเป็นการเดินออกจากถ้ำและเดินเลาะขึ้นไปบนจุดชมวิวด้านบน

ระหว่างทางก็ดูต้นไม้แปลกๆ เดินไปแวะถ่ายรูปไป ไม่ต้องรีบเดิน ใช้เวลาไม่นานนัก

ทางบางช่วงเป็นหิน บางช่วงต้องขึ้นบันได บางช่วงมีสะพานเหล็กแข็งแรง ระยะทางประมาณ 500 เมตร

ไม่นานนักเราก็ขึ้นมาถึงจุดชมวิวสูงสุดด้านบน มองเห็นภูเขาหินปูนกับต้นไม้ทนแล้งเช่นปรง มะยมหิน ฯลฯ ขึ้นสลับกันไปมา ธรรมชาติจัดวางได้อย่างลงตัวสวยงาม คุ้มค่ากับการเดินขึ้นมาสุดๆ

เห็นแล้วรู้สึกสบายตาสบายใจ เหมือนได้มาหยุดยืนอยู่บนสวนสวรรค์

ชื่นชมธรรมชาติจนอิ่มเอมแล้ว ก็ถึงเวลาเดินกลับ

แต่ขากลับเราจะไม่ได้เดินกลับทางเดิม เราจะเดินลงบันไดไปอีกทาง ใช้เวลาแป๊ปเดียว แหม๊ ทำไมไม่บอกลุงตั้งแต่แรก 5555 เอาเป็นว่าถ้าขึ้นทางนี้จะไม่ได้ชื่นชมถ้ำธรรมชาติและความหมายของการเดินทาง

จากสวนสวรรค์เราเดินทางบนถนนหมายเลข 3029 อีกประมาณ 4 กม. ก็มาถึงสวนหินผางาม

ด้านหน้าของสวนหินผางาม คุนหมิงเมืองเลย ตกแต่งจัดวางเป็นลานเซลฟี่ มีมุมถ่ายรูปเก๋ๆ เยอะมาก

ผาหินด้านนี้ที่ธรรมชาติจัดวางได้อย่างลงตัวมากสวยงามจริงๆ

แค่ลานเซลฟี่ก็สวยคุ้มค่ากับการมาเช็คอินคุนหมิงเมืองเลยแล้ว

มุมนี้มีการตกแต่งและประดับด้วยดอกไม้สวยงาม

ที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีหินรูปร่างหน้าตาแปลกๆ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเลยครับ จะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยให้บริการ

ค่าเข้าชมคณะละ 100 บาท ไม่เกิน 10 คน

สอบถามเพิ่มเติมที่ อบต.หนองหิน โทร. 0814621719

หรือถ้าใครเดินมาทั้งวันแล้วก็สามารถนั่งรถอีแต๊กไปยังจุดชมวิวได้ สะดวกสบาย ค่าบริการคนละ 20 บาท ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที รถจะไปจอดบริเวณทางขึ้น เราต้องเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวอีกนิดหน่อย

ผาบ่อง ไกด์บอกว่าน่าจะเพี้ยนมาจากร่อง ที่แปลว่าช่องหรือรู เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายทำภาพยนตร์องค์บาก

จากลานจอดรถอีแต๊กด้านล่างใช้เวลาเดินบันไดเหล็กไม่ถึง 5 นาทีก็ถึงจุดชมวิวเขาคุนหมิงแล้วครับ

บนจุดชมวิวก็จะสามารถมองเห็นหินผารูปทรงแปลกตา เช่นหินหงษ์ และตรงนี้คือหินเต่า

ยอดทางซ้ายมือนี่แหละครับ ที่มีลักษณะคล้ายกับคุนหมิงของประเทศจีน

"สวนหินผางาม คุนหมิงเมืองเลย"

แนวผาหินปูนสูงใหญ่ ทอดตัวเป็นแนวยาว ตัดท้องฟ้าและทุ่งนาเขียว โดดเด่นสวยงามและลงตัว กับเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่รอการมาเยือน

แวะซื้อของฝากที่ด้านหน้าก่อนเดินทางต่อ

จากสวนหินผางาม เรามุ่งหน้าสู่ภูหอ อ.ภูหลวง

โดยใช้เส้นทางลัด วิ่งตรงเข้าไปด้านในสวนหินผางามแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลาดยาง มีป้ายบอกทางเป็นระยะ ขับง่ายสะดวกสบาย

ไม่ไกลมากนักเราก็มาถึงชุมชนภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย กันแล้ว มาที่นี่เที่ยวอะไรได้บ้าง

นอกจากภูเขารูปทรงสวยงามยอดตัดที่ตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นแล้วนั้น ที่นี่ยังจัดการท่องเที่ยวในแบบเชิงเกษตรนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน เรียนรู้และลงมือดำนา เรียนรู้การจักสาน ทอผ้าฝ้าย ปั้นเตาดิน กินอาหารท้องถิ่น อารมณ์เหมือนได้มาเที่ยวบ้านญาติประมาณนั้น

เข้าสู่ฤดูฝน ตลอดเส้นทางชาวบ้านกำลังดำนา เห็นแล้วอดกดชัตเตอร์ไม่ได้เลยครับ

ดำนาไปคุยกันไป มีแต่เสียงหัวเราะ เห็นแล้วมีความสุขไปด้วยเลย

จากสวนหินผางามใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เราก็มาถึง Banana Family

ที่นี่เขาจัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศโดยกลุ่มชาวบ้านหนองบัวและเด็กๆ ในชุมชน

แผนที่ท่องเที่ยวบ้านหนองบัวโดยน้องภูหอพาเที่ยว

FB : Phuho ecotour

มาถึงก็เลยถือโอกาสมาชมการทำขันหมากเบ็งที่บ้านยายช่วย

ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านบอกว่าใครมาถึงภูหอได้ถือว่าเป็นลูกหลานพญาช้างแล้ว ให้ไปสักการะพ่อพญาช้างด้วยขันหมากเบ็งที่ทำขึ้นเองแต่ส่วนไหนยากๆ ก็ต้องให้ยายช่วยช่วย ยายช่วยสมชื่อจริงๆ

ศาลพญาช้าง นางผมหอม วัดโนนสว่าง



ตำนาน “พ่อพญาช้าง-นางผมหอม” ที่เล่าขานกันจนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีถึงทุกวันนี้



ตำนานมีอยู่ว่า หญิงสาวหน้าตาสวยงาม เส้นผมมีกลิ่นหอมชื่อ “นางผมหอม” มีน้องสาวชื่อ “นางลุน” นางผมหอมเป็นลูกของพญาช้างที่อาศัยอยู่ในป่าภูหอ ส่วนนางลุนเป็นลูกของวัวป่า



วันหนึ่งนางทั้งสองได้ไปตามหาพ่อ จนไปเจอกับพญาช้างเชือกหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย ด้วยความกลัวทั้งสองจึงยกมือไหว้เพื่อขอชีวิต พญาช้างเห็นนางทั้งสองก็สังหรณ์ว่าจะเป็นลูกของตน จึงอธิษฐานว่าถ้าคนไหนเป็นลูกก็ขอให้ปีนงาขึ้นมาขี่หลังตนได้



นางผมหอมขึ้นไปนั่งบนหลังของพญาช้างได้ แต่นางลุนตกลงมา เมื่อพญาช้างรู้ว่านางลุนไม่ใช่ลูก ก็โมโหเหยียบนางลุนตาย แล้วจึงพานางผมหอมเข้าไปอยู่ในป่าภูหอกับตนและสร้างปราสาทให้อยู่หนึ่งหลัง



นางผมหอมชอบไปอาบน้ำที่ “หนองบัว” (คือบ้านหนองบัว ต.ภูหอ อ.ภูหลวง) และที่ “ลำธารห้วยหอม” (คือ ต.หนองคัน อ.ภูหลวง)



วันหนึ่งนางผมหอมเอาเส้นผมของตน และสารรักใส่ในผอบลอยตามแม่น้ำเลย มาถึง “เมืองเซไล” (เชื่อว่าคือบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง) ท้าววรจิตร เจ้าชายเมืองเซไลเก็บได้จึงเขียนสารรักตอบและลอยผอบลงน้ำ ผอบลอยทวนน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำปากห้วยหอมที่ป่าภูหอ ท้าววรจิตรจึงตามไปพบนางผมหอม ทั้งคู่รักกัน เมื่อพญาช้างรู้เข้าก็โมโหใช้งางัดหินขึ้นจนเกลื่อนกลาดดังปรากฏที่ภูหอปัจจุบัน



พญาช้างเสียใจร้องไห้ เป็นที่มาของ “หนองน้ำตาช้าง” พร้อมสั่งเสียนางผมหอมว่าให้เป็นภรรยาที่ดี และถ้าสิ้นใจให้เอางามาทำเป็นเรือเพื่อพาลูกและสามีกลับเมืองเซไล



แล้วพญาช้างก็สิ้นใจที่ “เดิ่นช้างตาย” เมื่อเก็บศพพ่อเสร็จ นางผมหอมได้เอางาและกระดูกทำเรือตามที่พ่อสั่งเสียแล้วกลับเมืองเซไล



"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

เดินลัดเลาะไปเรื่อยๆ ก็มาถึงบ้านยายทอง นาหนองกอก

บรรยากาศบ้านๆ ที่เห็นแล้วรู้สึกสบายใจ ขอหมอนสักใบอยากลงไปนอนบนแคร่นั้น

ปกติแล้วที่นี่จะใช้เป็นที่เรียนรู้การดำนา ใครอยากลองดำนา ติดต่อที่ FB : Phuho ecotour ได้นะ

ทานข้าวกลางวัน ฝีมือยายทองอร่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นแกงปลาซิว แกงหัวปลี ส้มตำ ไข่เจียวใส่หอมแดง น้ำพริกดำ กินกับผักสดๆ ปลอดสารเคมี อร่อยทุกอย่างสั่งเลย

เป็ดของยายทอง เดินเล่นคลอเคลียสบายใจ ร้อนๆ ก็เดินลงหนองไปว่ายน้ำ แหม มีความสุขจริงๆ

วันนี้ยายทองสอนทำข้าวต้มผัด คล้ายๆ ข้าวต้มมัดบ้านเรานี่แหละ ขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก ตั้งเตากะทิใส่น้ำตาลใส่เกลือนิด ใส่ถั่ว ใส่ข้าวเหนียว ผัดให้เข้ากัน ชิมรสตามใจชอบ จากนั้นก็นำกล้วยสุกมาหั่นบางๆ แล้วนำมาห่อกับข้าวเหนียวที่ผัดแล้วด้วยใบตอง นำไปนึ่งอีกรอบ ง่ายๆ แต่อร่อยเลย

จากบ้านยายทองเราจะมองเห็นสวนพืชไทยบ้านป้าเพริศอยู่ไม่ไกลตรงโน้น สามารถขี่จักรยานข้ามคันนาไปได้เลย

ที่นี่เราสามารถมาเรียนรู้และลงมือดำนาที่นาหนองกอก บ้านหนองบัว มีภูหอเป็นแบล็คกราวน์อยู่ด้านหลัง เป็นภาพที่สวยงามสุดๆ

ที่นี่เขาทำนากันหลายๆ แบบ มีทั้งนาหว่าน นาลูกโยน และนาดำ แต่ละแบบมีข้อดีแตกต่างกัน ที่เห็นอยู่นี้ คือชาวบ้านกำลังถอนกล้า เพื่อจะเอาไปดำนาต่อ หรือถ้ามีนาแปลงไหนแหว่งๆ ก็จะเอากล้าไปดำแซมให้เต็ม เรียกว่าการซ่อมข้าว มาเที่ยวครั้งนี้ได้ความรู้เยอะเลย

หลังจากถอนกล้า มัดกล้ารวมเป็นก้อน ก็จะเอากล้ามาโยนทิ้งไว้เป็นระยะ แล้วชาวบ้านก็จะลงไปดำนา กว่าจะดำครบแปลงนึงนี่ใช้เวลาไม่น้อยเลยนะ

เย็นๆ แดดร่มลมตก เราก็มาปั่นจักรยานเล่นเพลินๆ บนคันนา ขอยืมได้ที่ Banana Family

บรรยากาศดี ลมเย็นๆ ปั่นจักรยานถ่ายรูปเล่นที่เถียงนา เพลินมากๆ

เริ่มอิจฉาคนที่นี่แล้ว ชีวิตสโลไลฟ์สุดๆ

เป้ผ้าฝ้าย ฝีมือคุณยายช่วย ซักง่าย แห้งไวสีสันสวยงามสะดุดตา เก๋ไก๋สไตล์บ้านหนองบัว เดี๋ยวพรุ่งนี้เราจะไปดูยายช่วยทอผ้ากัน

มาดูโฮมสเตย์ที่ชุมชนภูหอกันบ้าง ที่นี่คือสวนพืชไทยโฮมสเตย์บ้านป้าเพริศ มาที่นี่เราจะได้

- เรียนรู้การปลูกข้าว 28 สายพันธุ์แห่งเดียวในประเทศไทย

- กินข้าว 28 สายพันธุ์และอาหารพื้นบ้านจากสวนเกษตรอินทรีย์

- เรียนรู้การปั้นเตาดินด้วยดินปลวกและแปรรูปสมุนไพรจากสวน

โฮมสเตย์บ้านป้าเพริศ มี 3 หลัง นอนหลังละ 2-3 คนสบายๆ ห้องน้ำห้องท่าสะดวก ไม่มีไฟฟ้านะครับ แต่มีไฟจากโซล่าเซลจะใช้ได้หลัง 18:00-21:00 น. หรือถ้าใครอยากนอนดูดาว ก็มานอนที่บ้านป้าเพริศได้เลย กางเต๊นท์นอนตรงระเบียงดูดาวฟินสุดๆ

ข้าว 28 สายพันธุ์แห่งเดียวในประเทศไทย จากฝีมือของป้าเพริศ

สวนพืชไทยบ้านป้าเพริศ

นอกจากทำนาแล้วป้าเพริศยังปลูกผักและผลไม้ไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแก้วมังกร มะม่วง มะไฟ ลำไย มะนาวไร้เมล็ด ปลอดสารเคมี เก็บสดๆ กินจากต้นได้เลย

แก้วมังกร ที่สวนป้าเพริศ เก็บกินสดๆ จากต้น กินได้ไม่อั้น สดและหวานมาก

เนื้อแดงหวานนนนนสุดๆ แบบนี้ ป้าเพริศบอกกินได้เต็มที่ ลุงจัดไป 4 ลูกติดๆ รสยังติดลิ้นอยู่เลย

ใครอยากนอนดูดาว ก็สามารถกางเต๊นท์นอนตรงนี้ได้เลยนะครับ มีห้องน้ำบนบ้านด้วย ป้าเพริศแกออกแบบปลูกสร้างเองทั้งหมด

ยามเย็นมายืนเล่นที่ระเบียง ชมพระอาทิตย์ตกดินที่หลังภูหลวง เงียบสงบ ยืนนิ่งๆ ก็มีความสุขอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ

เย็นวันนี้เมฆเยอะไปนิดแต่ก็มีแสงสวยๆ ให้ชื่นใจ

สักพักเมฆก็เต็มฟ้า มองไม่เห็นดาวสักดวง ไม่เป็นไรเนอะ เหนื่อยมาทั้งวันอาบน้ำแล้วนอนดีกว่า

ตื่นเช้าล้างหน้าแปรงฟันแล้วก็ออกมาเดินเล่นที่คันนา สูดโอโซนบริสุทธิ์

นาข้าวเขียวๆ เห็นแล้วสบายตา

ชอบจริงๆ ทั้งเตะทั้งฟาดดดดดด 555

ต้นกล้าอ่อนๆ สีเขียวอ่อนๆ สะท้อนน้ำในนา ฟิลกรีนและฟิลกู๊ดมาก

ต้นกล้าที่พร้อมสำหรับการดำนา

มื้อเช้าเราฝากท้องไว้ที่สวนและฟาร์มไก่บ้านป้าเพริศ ออกไปเก็บกันสดๆ ทั้งผัก หน่อไม้ และไข่ไก่ ป้าเพริศมีทุกอย่าง อยากกินอะไรบอกได้เลย

ฟาร์มไก่อินทรีย์

ป้าเพริศจะให้กินกล้วยหมักด้วยนะ กินแล้วมูลจะไม่เหม็น ขนาดเดินเข้าไปใกล้ๆ ยังไม่ได้กลิ่นเลย

หลังจากกินข้าวแล้วก็มาเรียนรู้การปั้นเตาดินจากดินปลวก ป้าเพริศเล่าให้ฟังว่า ที่ต้องปั้นเตาเองเพราะว่าสั่งเตาแล้วเตาไม่มาส่ง โมโหเลยปั้นใช้เองเลย แบบนี้ก็ได้ด้วย ป้าเพริศทำได้ทุกอย่างจริงๆ

จากบ้านป้าเพริศสวนพืชไทยมาต่อกันที่บ้านโบราณ บ้านตาควร-ยายบัว

ยายบัว ผู้ที่มีฝีมืองานจักสานอันดับหนึ่งแห่งบ้านหนองบัว ปกติแล้วยายบัวจะอิ้วฝ้าย แต่ช่วงนี้ฝ้ายยังไม่ออกดอก ยายเลยใช้เวลาว่างๆ จักสานเครื่องไม้ไผ่ไว้ใช้งาน ถ้าใครอยากได้ติดมือก็ลองถามยายดู ยายขายไม่แพง

วันนี้ยายกำลังสานกระด้ง กระด้งกลมๆ เวลาสานก็ต้องทำเต็มสีเหลี่ยมแล้วไปขึ้นขอบตัดส่วนเกินทิ้งอีกที เห็นแล้วก็รู้สึกทึ่งกับภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนจริงๆ

ตรงนี้เป็นขอบกระด้ง ใช้ตอกเส้นเล็กเพื่อความแน่นหนาต้องมีอุปกรณ์ตอกช่วยด้วย

ตาควรสอนสานหวดสำหรับนึ่งข้าวเหนียวและคอยจักตอกให้ยายบัว แต่จริงๆ แล้วตาไม่ได้ชื่อควร ตาชื่อสวน อ่าวงง!!

คนแถวนี้เขาจะเรียกชื่อพ่อแม่ ตามชื่อลูกคนแรก...

ลูกคนแรกของตาสวนชื่อควร ชาวบ้านจึงเรียกชื่อตาสวนว่าตาควรนั่นเอง

เส้นตอกที่ทำจากไม้ไผ่ หาได้ทั่วๆ ไปในชุมชนบ้านหนองบัว

วันนี้โชคดีได้เจอตาศิวาด้วย ตาอายุ 87 แล้วนะ แต่ยังแข็งแรงมาก ตาแอบกระซิบว่ามีสมุนไพรสูตรเด็ด ว้าว!!

นั่งคุยกันเผลอๆ แป็ปเดียว ออกมาเป็นนกแล้ว ตาบอกว่าให้เอาไปตัดแต่งปากและปีกอีกหน่อย เป็นของฝากให้ฟรีๆ เลย คุณตาใจดีมาก

เรียนรู้วิธีการทอผ้ากับยายช่วย กลุ่มทอผ้า

ยายช่วยจะนำเอาฝ้ายที่บ้านยายบัวที่ผ่านการอิ้ว แล้ว มาดีด ล้อ เข็น ถก ... อีกหลายขั้นตอน สุดท้ายก็นำมาทอมือ ผ้าทอยายช่วยสวยมาก

กว่าจะได้ผ้าแต่ละฝืน ต้องผ่านขบวนการหลายขั้นตอน เห็นที่ทอผ้าเห็นวิธีการทอ เท้าก็ต้องเหยียบยกสลับกัน มือก็สอดกระสวยร้อยเรียงเส้นด้ายหลากสี ภูมิปัญญาคนสมัยก่อนนี่น่าทึ่งมาก

สุดท้ายที่ Banana Family

ที่นี่เป็นเหมือนศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน โดยกลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย ทดลองทำ Banana Stick สไตล์เด็กๆ และเลือกชม/ซื้อสินค้าและของฝากจากชุมชนบ้านหนองบัว ย่ามคุณยาย เครื่องจักสานฝีมือของชาวบ้าน หมวกผ้าเก๋ๆ ทรงภูหอ ราคาไม่แพง

ผลิตภัณฑ์และของฝากจาก Banana Family

- ทองม้วนกล้วย อร่อยๆ

- น้ำผึ้งแท้ๆ กับสลากแฮนด์เมดน่ารักๆ

- ที่เด็ดสุดคือ Banana Stick ขายดีจนผลิตไม่ทัน สะอาดปลอดภัยถูกหลักอนามัยด้วยมาตรฐาน GMP

จุดชมวิวน้ำตกเลยหง่า

จากชุมชนบ้านหนองบัว ใช้ถนนเส้น 2016 ระยะทางประมาณ 20 กม. ก็มาถึงจุดชมวิวน้ำตกเลยหง่า

ที่จุดนี้สามารถมองเห็นภูหลวงได้อย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นน้ำตกตาดเลยหง่า น้ำตกสวยแห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

จุดเช็คอินเลยวังไสย์...ก๋อ

จุดเช็คอินสุดท้ายของเรา อยู่ตรงกันข้ามกับจุดชมวิวน้ำตกเลยหง่า ที่นี่มีกิจกรรมนั่งรถอีแต๊กปลูกป่า ล่องแพลำน้ำเลย ชมธรรมชาติที่สวยงาม พร้อมทำกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย เป็นอันจบทริปเลยที่สุดประทับใจ แบกเอาความสุขและรอยยิ้มกลับมาเพียบ

สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวที่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ อ.ภูหลวง โทร 0923428308, 0857769505

+++++++++++++++++++



ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของทั้งสามชุมชน ที่น่าท่องเที่ยวและน่าสนใจทีเดียวครับ ขอบคุณสำหรับการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ

ม่วงมหากาฬ

 วันพฤหัสที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เวลา 20.52 น.

ความคิดเห็น