ทริปนี้เมื่อตุลาที่ผ่านมา
สิงหาก็เพิ่งไปอินทนนท์ แม่กลางหลวง แต่นาข้าวยังไม่เขียว
อยากได้เขียว ๆ เลยต้องไปใหม่ แต่เปลี่ยนที่บ้าง
ส่วนตัวเป็นคนชอบเที่ยวโครงการหลวงค่ะ ถ้าขึ้นเหนือนี่มักต้องมุ่งเน้นที่โครงการหลวงก่อนเลย
ครั้งนี้ไปที่โครงการหลวงขุนแปะ
ป่ะ ไปด้วยกันเถอะ
#การเดินทาง
เริ่มต้นแบบทุลักทุเลมาก ขอบอก
วันเดินทางของฉัน คือเช้าวันที่น้ำท่วมหนักใน กทม.นั่นแหละ
ฝนตกตั้งแต่เที่ยงคืน ตกหนักไม่ลืมหูลืมตา คิดไว้อยู่แล้วน้ำท่วมแน่ ๆ
ไฟลท์เรา เจ็ดโมงเช้า ออกจากบ้านตีสาม ฝนยังลงปรอย ๆ และก็พบว่าน้ำท่วมถึงหน้าบ้านเลยจ้าาาาา
เรื่องเรียกแท็กซี่เลิกคิด ซอยบ้านฉันปกติก็ขึ้นชื่อเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้ว คราวนี้หนักมาก
ท่วมสูงขนาดบนฟุตบาทยังเกือบหน้าแข้ง เอาไงล่ะ คิด ๆๆ
ก็ตกลงเอารถออก รถเราเป็นโฟวิว สูงพอสมควร ลองเสี่ยงออกไปดูละกัน
ค่อย ๆ ขับออกไป เกือบดับอยู่เหมือนกัน น้ำท่วมสูงมาก
พอออกมาถนนใหญ่ ค่อยยังชั่ว ท่วมไม่มาก ไปได้สบาย
แต่เราไม่อยากเอารถไปจอดดอนเมือง กลัวที่จอดเต็มจะยุ่งเข้าไปอีก
ข่าวก็บอกว่า เส้นวิภาวดีท่วมหนักมาก รถผ่านไม่ได้เลย
สุดท้ายตัดสินใจเอารถไปจอดบ้านเพื่อนแถวใกล้กาญจนาภิเษก
แล้วเรียกแท็กซี่ไปเส้นกาญจนาภิเษก ลุ้นตลอดทางจะรอดไหม
สุดท้ายรอดจ้าาาา ไปถึงสนามบินแบบเฉียดฉิว
เจอผู้คนตัวเปียกปอน บางคนหิ้วรองเท้า ถลกขากางเกงเดินกันว่อนเลย
ระหว่างรอขึ้นเครื่อง ไฟลท์อื่น ๆ ของสายการบินต่าง ๆ ก่อนหน้าเราคนตกเครื่องกันเพียบ
นั่งฟังประกาศเรียก ผดส.ครั้งสุดท้ายเพลินเลย แต่ละไฟลท์นี่ อย่างน้อย 5-6 คนที่มาไม่ทัน
ของเราก็เช่นกัน ตกเครื่องไปน่าจะ 7 คน
เครื่องรอเทคออฟเป็นแถวยาวเลย ยังนั่งขำ เออ วันนี้ไม่ใช่แค่รถติด เครื่องบินก็การจราจรติดขัดเช่นกัน
มาทราบทีหลังว่า วันนั้นนอกจาก ผดส.จะตกเครื่องแล้ว นักบินก็มีตกเครื่องด้วยเช่นกัน
แต่ถึงยังไงเราก็เดินทางถึงเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ
#รถเช่า
รอบนี้หงุดหงิดเล็กน้อย จองโฟร์วิลของ AVIS ไว้
พอไปถึงกลับบอกไม่มีรถ เปลี่ยนเป็นรถเล็กได้มั้ย อ้าว เฮ้ยยย ฉันจะขึ้นดอยไหวมั้ยนี่
แต่ก็นะ ขี้เกียจอารมณ์เสีย(ฉันเป็นคนขี้เกียจในทุกเรื่อง) ก็เลยยอม ๆ ไป ก็ได้วีออสมา
เอาน่า อ่านรีวิวแว่บ ๆ เขาว่าโครงการหลวงขุนแปะ รถอะไรก็ไปได้นี่นา วีออสก็น่าจะไหว
คนขับส่วนตัวของฉันก็ขึ้นเขาลงห้วยกันมาเยอะ ยอดดอยแค่นี้ ไม่กระไรหรอก
เอ้าลุยยยยยย
โครงการหลวงขุนแปะนี่ อยู่ใน อ.จอมทอง แต่เข้าทาง อ.ฮอดนะ
จากเชียงใหม่เดินทางไปเส้นถนนหลวงสาย 108 เชียงใหม่ - ฮอด ยาวไป ๆ
ประมาณกิโลเมตรที่ 82-83 ขวามือจะเป็นทางเข้าเล็ก ๆ มีป้ายเล็ก ๆ ปากซอย
ถ้าตั้ง GPS ก็ให้ตั้งไปที่สำนักสงฆ์ถ้ำตอง อย่าตั้งบ้านขุนแปะ เพราะมันจะพาไปที่อื่น
ก็เข้าไปเรื่อย ๆ ทางขับสบาย ๆ
ดูสิมีน้ำตกริมทางด้วย ดีจัง
แต่เดี๋ยวก่อน ถนนอันสะดวกสบายมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นตลอดทาง
มันเริ่มแล้ว
คือมันเป็นถนนปูนสลับกับถนนลูกรัง ซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง
ก็ไม่ได้ลำบากเหมือนทางไปบ้านป้าเกล็นหรอก รถเล็กไปได้อยู่หละนะ
แต่ แต่ต้องใช้ทักษะในการขับพอสมควร ไต่ขึ้นดอยที่ถนนเป็นหลุมหนักมาก และลึกมาก
ต้องระวังอย่าพลาดให้ล้อหล่นลงหลุม เพราะหล่นไปสักหลุมคุณก็ไม่ได้ไปต่อหละ
คงต้องหารถมาลากขึ้น โชคดีคนขับรถส่วนตัวของฉันขับรถค่อนข้างดีมาก
เราเลยผ่านกันมาได้แบบหัวสั่นหัวคลอน
ถึงแล้วววววว
น้องวัวบอก อย่าเข้ามาาาาา ตรูกลัว!!
#โครงการหลวงขุนแปะ
ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2527 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อช่วยเหลือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ให้ได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่เพียงพอ
ลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น
โดยสร้างอาชีพหลักทดแทน
พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวง
โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง
เสด็จสำรวจพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านจำนวน 14 หมู่บ้าน
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,035 เมตร
ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปลูกพืชผักและพืชไร่ รวมทั้งผลไม้อื่นๆ
#เริ่มต้นโครงการดังนี้
*กรมพัฒนาที่ดิน
จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้าน 200 ไร่
พร้อมทั้งสร้างฝายเก็บน้ำพร้อมระบบ จำนวน 1 ฝาย
*กรมชลประทาน
ดำเนินการจัดสร้างฝายเก็บน้ำ จำนวน 2 ฝาย
และอ่างเก็บน้ำโดยรอบหมู่บ้านพร้อมกับต่อท่อน้ำลงมาให้ช่วงหนึ่ง
*การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ดำเนินการจัดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กๆ จำนวน 1 โรง
*และอำเภอจอมทอง
ได้ทำบัตรประชาชนให้ราษฏรโดยทั่วถึง
พืชที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ให้การส่งเสริมคือ
ผัก และไม้ผลเมืองหนาวโดยจะเน้นที่การปลูกไม้ผล ได้แก่ บ๊วย พลัม และพลับ
สำหรับผักเมืองหนาวได้แก่
ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมใบแดง
ผักกาดหวาน สลัดบัตเตอร์เฮด เอ็นไดว์ ผักกาดฮ่องเต้และถั่วลันเตา
ตลอดจนการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟ เสาวรส และพืชไร่อื่น ๆ
ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์และถั่วแดง
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน ๒๘,๗๖๕ ไร่
ครอบคลุม ๔ หมู่บ้าน ประชากรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจำนวน ๔๖๖ ครัวเรือน ๔๖๖ ราย
#ข้อมูลรวบรวมจาก
http://www.thairoyalprojecttour.com/?p=1079
http://kanchanapisek.or.th/kp12/project-plan/develop/develop-khunpae.htm
ในตัวสำนักงานโครงการหลวงฯมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวนะคะ
แต่ช่วงที่ไปเห็นว่าปิดปรับปรุงอยู่
นี่ค่ะ บ้านพัก มีแบ่งเป็นหลายห้อง มีระเบียงตรงกลาง
ระเบียงมองออกมาจะเห็นวิวแบบนี้
นอกจากที่พักในโครงการหลวงฯแล้ว ก็จะมีโฮมสเตย์ของชาวบ้านอีกนิดหน่อย
สามารถติดต่อสอบถามได้จากสำนักงานโครงการหลวงได้เลยค่ะ
ไปดูแปลงสาธิตต่าง ๆ ภายในสำนักงานกัน
แปลงพืชผักและสมุนไพร
แปลงทดลองไฮเดรนเยีย
กาแฟนี่ปลูกแซมไปกับต้นไม้อื่น ๆ
มีบ๊วยด้วย
เอาหละ ไปชมหมู่บ้านกันเถอะ
การเข้าชมหมู่บ้าน ต้องใช้รถของทางโครงการหลวงฯ หรือ รถรับจ้างของชาวบ้านเท่านั้นนะคะ
นักท่องเที่ยวไม่สามารถขับรถเข้าไปเองได้ ต่อให้คุณใช้ออฟโรดก็เถอะ
เพราะถนนภายในนั้นโหดมาก สูง ชัน แคบ หลุมบ่อ โคลน ครบ
นอกจากรถต้องพร้อม คนขับก็ต้องพร้อม ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่คงขับไม่ได้ค่ะ
รูประหว่างที่ถ่ายมาให้ดูได้นี่คือยังไม่โหด ไอ้ที่โหด ถ่ายไม่ได้ค่ะ ต้องเกาะรถไว้ให้มั่น
###ควรติดต่อล่วงหน้านะคะ เราไม่ได้ติดต่อไว้ก่อน
รถโครงการหลวงไม่ว่าง แต่โชคดีได้รถชาวบ้านค่ะ
ค่ารถของทริปเรา 500 บาท
รถแบบนี้ค่ะ กระโดดขึ้นมาเลย
จากสำนักงานผ่านเข้าตัวหมู่บ้าน
เราจะขึ้นไปแปลงไฮเดรนเยียกัน
แต่ระหว่างทางนั้นมีจุดให้ถ่ายรูปมากมาย
ไปต่อ ๆ
ถึงแล้ววววแปลงไฮเดรนเยีย ค่าเข้าเราสองคน 100 บาท
ไฮเดรนเยียที่นี่ตัดดอกขายได้ทั้งปี ช่อใหญ่มาก ๆ
สาว ๆ จากโครงการหลวงที่พาเรามาค่ะ
จากนั้นไปต่อที่น้ำตกกัน
จะว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่เชิง เพราะไม่เห็นมีใครมาเที่ยว
คือมันเป็นพื้นที่ของโครงการวิจัยไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
น้ำตกเล็ก ๆ กลางป่า น่ารักน่าเอ็นดู
ระหว่างทางขึ้นลงน้ำตกนั้น ก็ประมาณนี้
เจอชาวบ้านบ้างอะไรบ้าง
จากน้ำตก ขึ้นต่อไปดูยอดดอย เป็นจุดชมวิว มองลงมาเห็นหมู่บ้าน นาข้าวเขียวงาม
จริง ๆ ยังมีจุดงาม ๆ อื่น ๆ อีก แต่วันนั้นฝนจะตก เราเลยต้องรีบลงมาก่อน
ไว้คราวหน้าค่อยมาใหม่
โครงการหลวงขุนแปะ และบ้านขุนแปะ สวย สด และมีความดิบอยู่มาก
อยากให้ลองไปดูนะคะ แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ พักบนขุนแปะเลยค่ะ
จะบ้านพักโครงการหลวง หรือ โฮมสเตย์ก็ตาม น่าจะเก็บความสวยงามกลับมาได้มากมาย
ดูสิ วิวดี ๆ แบบนี้ หน้าระเบียงบ้านพักโครงการเลยหละ
ส่วนเราทริปนี้นั้น เนื่องจากมีข้อมูลค่อนข้างน้อย มาแบบเดาสุ่มเอา
ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีโฮมสเตย์ รู้แค่ว่ามีบ้านพักในโครงการฯ แต่ปิดปรับปรุง
เราเลยจองที่พักไว้ใน อ.ฮอดค่ะ
#มาว่ากันด้วยเรื่องที่พัก
ภูอันนาอีโค่ เฮ้าส์ เราจองไว้ก่อนมาวันสองวันเอง
ทีแรกจะกลับมาพักแถวแม่ริม แต่คิดว่าจะมืดเกินไป เลยหาละแวกนั้น
ก็ออกจากขุนแปะย้อนมาทางเดิม เข้าที่พักค่ะ
ที่พักดีงามเดินทางสะดวก เพราะอยู่ในตัวเมืองฮอดเลยหละ
ไม่น่าเชื่อเนอะ ธรรมชาติแบบนี้ที่ใจกลางเมือง
รีสอร์ทเข้าซอยเล็ก ๆ ไปนิดเดียวเอง
เดินออกมา(หรือปั่นจักรยาน)มาปากซอยก็เป็นตลาดหละ ของกินมากมาย
ไม่ต้องกลัวลำบากค่ะ
ภูอันนา มีแค่ ๘ ห้อง บนอาคารสองชั้น
ราคาเป็นมิตรสุด ๆ ๑,๐๐๐ บาทรวมอาหารเช้า สำหรับห้อง ๒ คน
(ราคาช่วงตุลานะคะ ช่วงอื่นเราไม่ทราบว่าเปลี่ยนแปลงไหม)
เราได้ห้องชั้นบนค่ะ
ในห้องพัก ความสะดวกสบายพร้อม มีแอร์ ทีวี ตู้เย็น เครื่องอาบน้ำ
ไดซ์เป่าผม รองเท้าแตะ มีครบแบบโรงแรมดี ๆ มีนั่นหละค่ะ
การตกแต่งก็แสนจะสบายตา นอนได้แบบสบายใจ
ห้องน้ำประมาณนี้
วิวหน้าห้อง
บรรยากาศรอบ ๆ มีความฟิน
มีนกเล็ก ๆ แปลก ๆ เต็มไปหมดเลยค่ะ เห็นมีคนเขามาส่องนกกัน
แต่ฉันถ่ายนกไม่ค่อยเป็น ถ่ายไม่ทัน
เขามีบ้านให้นกด้วย
ที่พักไม่มีร้านอาหารนะคะ ฉะนั้นอาหารมื้ออื่นต้องออกไปหาทานตามร้านข้างนอกค่ะ
ส่วนอาหารเช้า มีให้รวมในค่าห้องแล้ว
มื้อค่ำเราออกไปกินที่ร้านชื่อ น้องแบงค์ ค่ะ
ทางรีสอร์ทแนะนำ จริง ๆ เขาแนะนำหลายร้านแต่ฉันเอาใกล้ ๆ นี่หละ
อยู่ปากซอย ข้ามฝั่งไป ติดถนนใหญ่เลย
ก็อาหารตามสั่งหน้าตาบ้าน ๆ นี่หละค่ะ
รสชาติอาหารก็จัดว่าดี แต่บางเมนูติดหวานไปนิดตามประสารสมือทางเหนือเนาะ
โดยรวมก็อร่อยค่ะ ปริมาณเยอะ ราคาไม่แพง
อิ่มแล้วก็กลับมานอน เสียดายฟ้าปิด เมฆเยอะ ไม่มีดาวให้ส่อง
มื้อเช้าก็แบบนี้ค่ะ
มีให้เลือกแบบ อเมริกัน หรือพื้นเมืองเหนือ ก็เลือกไว้ตอนเช็คอิน
แจ้งไว้ว่าจะลงมากินกี่โมง
ชุดอาหารเหนือ ฟินมากเลย
ชา กาแฟ เครื่องดื่ม ชงเองเติมเองตามสะดวกค่ะ
รอบ ๆ อีกสักหน่อยก่อนกลับ
โดยรวม ชอบที่นี่ค่ะ เงียบ สงบ สะอาด อากาศดี
เจ้าของดูแลเอง อัธยาศัยดี
จบรีวิวแต่เพียงเท่านี้ค่ะ
อันที่จริงทริปนี้มีต่อ ที่โครงการหลวงแม่ทาเหนือ
แต่เกรงว่ากระทู้จะยาวเกินไป เอาแค่นี้ก่อน
เดี๋ยวค่อยมาขึ้นรีวิวแม่ทาเหนืออีกทีดีกว่านะคะ
ขอบคุณทุกท่านแวะมาเยี่ยมเยียนกระทู้ค่ะ
Paramee Na Prasri
วันพฤหัสที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เวลา 18.11 น.