SHIRAKAWAGO ... ครั้งเดียวไม่เคยพอ

หลายคนบอกว่า ชิระคะวะโก หมู่บ้านชาวนาหลังคามุงด้วยฟางข้าวในแต่ละฤดูกาลนั้นงดงามและมีเสน่ห์แตกต่างกัน และช่วงที่สวยโรแมนติกที่สุดน่าจะเป็นฤดูหนาว ไม่น่าเชื่อว่าหิมะที่ตกลงมาอย่างหนักจะรังสรรค์ความงดงามทำให้ทั่วทั้งหมู่บ้านสวยงามมีเสน่ห์น่าหลงใหลได้ถึงขนาดนี้ ภาพหิมะขาวโพลนที่แต่งแต้มทั่วทั้งหุบเขา ต้นไม้และแม่น้ำรวมทั้งที่ถูกทับถมบนหลังคาบ้านเรือน ยิ่งทำให้หมู่บ้านมรดกโลกแห่งนี้งดงามเหมือนดินแดนแห่งเทพนิยาย

เพื่อต้องการใช้เวลาอย่างไม่เร่งรีบในการเรียนรู้การใช้ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนย้อนเวลาไปในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ทริปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมาพวกเราเลือกพักค้างคืนในหมู่บ้านที่เปิดให้เข้าพักแบบ โฮมสเตย์ สำหรับเพื่อนๆที่คิดจะมาเที่ยว ชิระคะวะโก แนะนำให้นอนพักในหมู่บ้านอย่างน้อยซักหนึ่งคืนจะทำให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจไม่รู้ลืม

#jirobkksnow #Gasshozukuri #Shirakawago #合掌造り民家園 #白川郷

บรรยากาศ Shirakawago ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์งดงามมากครับ เพราะทั่วทั้งหมู่บ้านและหุบเขาเต็มไปด้วยหิมะขาวโพลนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้หมู่บ้านมรดกโลกแห่งนี้มีสีสันงดงามอย่างมาก ระยะเวลาสามวันช่างผ่านไปไวเหลือเกิน อยากให้เวลาเดินช้าเพราะตกหลุมรักเมืองนี้เข้าอย่างจัง

Shirakawago หมู่บ้านท่ามกลางหุบเขาห่างไกลจากโลกภายนอกมาช้านาน อยู่ในจังหวัด Gifu ผู้คนมีอาชีพหลักคือทำการเกษตร ทำนาปลูกข้าว ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานซักเท่าไหร่ก็ตามคนในหมู่บ้านชาวนาแห่งนี้ยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมๆเหมือนในอดีตซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นและเมื่อมาสัมผัสหมู่บ้านชนบทแห่งนี้จะเกิดความรู้สึกเหมือนว่าได้ย้อนเวลาไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยว Shirakawago ได้ทุกฤดูและแต่ละฤดูก็ให้บรรยากาศความงามแตกต่างกันไป


เอกลักษณ์โดดเด่นของหมู่บ้านชาวนา คือกลุ่มอาคารบ้านเรือนที่สร้างแบบโบราณซึ่งมีอายุมากกว่า 250 ปี หลังคาบ้านมุงด้วยฟางข้าว สร้างขึ้นด้วยมือที่เรียกว่าการสร้างบ้านแบบ กัตโชทสึคุริ (Gassho-zukuri 合掌造り) คำว่า "กัสโช" หมายความว่า พนมมือ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะรูปแบบของบ้านที่มีหลังคามุงด้วยฟางข้าวชันถึง 60 องศา คล้ายสองมือที่พนมเข้าหากัน มุงแบบลาดลงคล้ายหน้าจั่ว เพื่อให้ทนทานต่อหิมะและลมในฤดูหนาว


ด้วยความมีเอกลักษณ์โดดเด่นของสถาปัตยกรรมตัวบ้านหลังคามุงด้วยฟางข้าวแบบพนมมือที่เรียกว่า กัตโชทสึคุริ (Gassho-zukuri 合掌造り)และผู้คนในหมู่บ้านยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมๆเหมือนในอดีต ทำให้ Shirakawago ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 6 ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1995


หลังคาบ้านมุงด้วยฟางข้าวแบบกัตโชทสึคุริ (Gassho-zukuri 合掌造り ) นั้นเมื่อเริ่มสร้างใหม่ๆจะมีความหนาถึง 1 เมตรเลยทีเดียว ที่ต้องทำหลังคาเอาไว้หนา ๆและชันถึง 60 องศานั้น ก็เพื่อลดแรงต้านเวลาหิมะตกหนัก และป้องกันอุบัติเหตุจากการสะสมของหิมะบนหลังคาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของหมู่บ้านแห่งนี้มีหิมะตกหนักมาก

และเมื่อหลังคาชำรุดถึงเวลาต้องเปลี่ยนใหม่หรือต้องซ่อมแซม ชาวบ้านในหมู่บ้านจะพร้อมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันคล้ายกับการลงแขกเกี่ยวข้าวบ้านเรา แต่คุณป้า โนะดะ เจ้าของบ้านบอกว่าปัจจุบันการออกแรง ลงแขก แบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้วิธีจ้างผู้รับเหมา

บ้านแต่ละหลังในหมู่บ้านชาวนาแห่งนี้ต้องต่อสู้กับศัตรู 3 แบบคือ การเสื่อมโทรมของบ้านตามกาลเวลา ปัญหาเรื่องเพลิงไหม้ และปัญหาจากหิมะที่ตกลงมาทับถม และเนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างบ้านแต่ละหลังเป็นไม้และฟางข้าว เพราะฉนั้นสิ่งที่คนในหมู่บ้านให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือเรื่องการเกิดอัคคีภัย การสูบบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในข้อห้ามเช่นเดียวกับการจุดพลุ

การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยเป็นเรื่องสำคัญ มีการแต่งตั้งหน่วยลาดตระเวนออกตรวจตราบริเวณรอบๆหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอและมีการทดสอบระบบการฉีดน้ำด้วยสปริงเกอร์อยู่เป็นระยะ ตามที่ปรากฏรูปการฉีดน้ำในสื่อโฆษณษาอยู่เป็นประจำ

ภาพความสวยงามของหมู่บ้านท่ามกลางหิมะขาวโพลนที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะเวียนไปชื่นชมกันนั้น กลับเป็นห้วงเวลาที่คนในหมู่บ้านต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติชนิดนี้อย่างลำบาก เพราะในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม หิมะที่ตกลงมาอย่างหนักปกคลุมหนาถึง 2-3 เมตร ชาวบ้านจำเป็นต้องปีนขึ้นไปบนหลังคากวาดหิมะลงมาเพื่อไม่ให้มันสะสมมากจนหลังคารับน้ำหนักไว้ไม่ไหว และหิมะที่เกาะแน่นจะทำให้หลังคาฟางข้าวกลายสภาพเป็นน้ำแข็ง

กระแสลมแรงหรือเวลามีไต้ฝุ่นก็เป็นภัยธรรมชาติต่อหมู่บ้านเช่นกัน แต่ด้วยภูมิปัญญาเรื่องการสร้างบ้านแบบกัตโชทสึคุริ (Gassho-zukuri 合掌造り) ที่ถ่ายทอดกันมาหลายร้อยปี ทำให้ปัญหาเรื่องลมไม่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านโบราณแห่งนี้ กล่าวคือบ้านกัตโชทสึคุริจะถูกสร้างโดยหันหลังคาไปทางทิศทางเดียวกันจากตะวันตกและตะวันออกอย่างเป็นระเบียบจึงทำให้ปลอดภัยจากกระแสลมที่พัดจากเหนือลงใต้ไปตามลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน

Shirakawago ตั้งอยู่ในหุบเขามีลำธารน้ำไหลผ่าน การเข้าถึงหมู่บ้านมรดกโลกแห่งนี้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องเดินข้ามสะพาน เดะอะอิบาชิ(Deaibashiであい橋) ที่ทอดตัวเหนือลำธารน้ำโชงะวะ (shogawa 庄川) ในฤดูใบไม้ร่วงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนภูเขาด้านหลังเหนือหุบธารแห่งนี้จะเต็มไปด้วยวิวทิวท้ศน์ใบไม้เปลี่ยนสีที่งดงามมากเหมือนมีใครนำสีมาแต่งแต้มไว้บนภูเขา

การมาเที่ยวหมู่บ้านมรดกโลกแบบเพียงครึ่งวันไปเช้าเย็นกลับ อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้สัมผัสความงดงามและวิถีชีวิตของชุมชนในหมู่บ้านนี้ได้อย่างเต็มที่ หลายคนจึงเลือกที่จะพักค้างคืนในหมู่บ้านชาวนาเพื่อใช้เวลาอย่างไม่เร่งรีบในการเรียนรู้การใช้ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนย้อนเวลาไปในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ปัจจุบันบ้านชาวนาหลายแห่งเปิดให้เข้าพักค้างคืนได้ โดยจะเป็นลักษณะโฮมสเตย์ที่เรียกว่า Minshuku (民宿) กล่าวคือพักอยู่ที่บ้านของชาวบ้านที่เปิดให้บริการให้นักท่องเที่ยวไปพักด้วย เป็นกิจการที่เปิดภายในครัวเรือน นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวนาญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

เจ้าของบ้านต้อนรับพวกเราเหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวด้วยห้องพักปูด้วยเสื่อทะทะมิ นอนบนฟูกฟุตง อาบน้ำรวมแบบโอะฟุโระ แม่บ้านทำอาหารให้ทานสองมื้อด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นรวมถึงข้าวที่ปลูกเอง การสื่อสารกับเจ้าของบ้านอาจต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใดเพราะปัจจุบันการเที่ยวในหมู่บ้านเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาษาจึงไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

บ้านพักแบบ โฮมสเตย์ ที่เรียกว่า Minshuku (民宿) ต้องใช้เวลาจองล่วงหน้ามากกว่า 3 เดือน บางแห่งอาจมากกว่า 6 เดือนในฤดูท่องเที่ยวช่วง High Season และบ้านบางหลังอาจกำหนดเงื่อนไขการจองว่าอนุญาตให้พักได้เพียงคืนเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการเปิดโอกาสแบ่งให้นักท่องเที่ยวคนอื่นๆพักบ้าง


การจองบ้านแบบโฮมสเตย์(Minshuku)ในหมู่บ้านชาวนา Shirakawago ทำได้สองวิธีคือ

1. ส่งอีเมล์ไปจองที่ [email protected] โดยบอกความต้องการพร้อมรายละเอียดและวันที่เข้าพัก หลังส่งอีเมล์ไปคนรับผิดชอบจะตอบกลับมาว่ามีบ้านหลังไหนว่างบ้าง พร้อมทั้งเลือกบ้านพักให้เรา

2. โทรศัพท์ไปจองโดยตรงกับบ้านพัก (ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสื่อสาร)

แต่ถ้าไม่มีเวลามากพอในการพักค้างแรมที่หมู่บ้านชาวนา นักท่องเที่ยวอาจหาโอกาสศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนโบราณแห่งนี้ได้ตามบ้านที่เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์ เช่นบ้านคันดะเคะ (Kandake), บ้านวาดะเกะ (Wadake) วัดเมียวเซนจิ (Myozenji)

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง MINKAEN(合掌造り民家園)

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Gasshozukuri MINKAEN(合掌造り民家園)

ข้างในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหมู่บ้านโบราณ สถานที่จำลองบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นในสมัยโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีประกอบด้วยบ้านสไตล์ Gasshozukuri ทั้งหมด 26 หลังซึ่งรวมถึงบ้าน 9 หลังที่ได้รับการประกาศให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของจังหวัดอีกด้วย

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Gasshozukuri MINKAEN ราคา 600 เยน, เด็กราคา 400 เยน(สามารถเข้าออกพิพิธภัณฑ์กี่ครั้งก็ได้ภายในหนึ่งวัน)

จุดชมวิวในหมู่บ้านชาวนา Shirakawago (白川郷)ที่นักท่องเที่ยวชอบถ่ายภาพกันมีอยู่หลายแห่ง ในจำนวนนั้นมีสามสถานที่ที่ไม่ควรพลาดคือ

1. Shiroyama View Point (城山展望台) ที่อยู่บนเนินเขา

2. บ้านสามหลังที่บริเวณ Kanmachi (かん町)

3. วัด Myozenji (明善寺)

ทั้งสามจุดดูเหมือนว่าวัด Myozenji (明善寺)เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายภาพกันอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วย Location ที่หาง่ายและโดดเด่นสดุดตาอีกทั้งบริเวณหน้าวัด Myozenji มีนาข้าวที่เป็นแอ่งน้ำทำให้เป็นที่นิยมในการถ่ายภาพเงาสะท้อนตัววัดลงบนผิวน้ำ

บ้านสามหลังที่บริเวณ Kanmachi (かん町) เป็นจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม จุดชมวิวนี้อยู่ห่างจากชุมชนอาจต้องเสียเวลาเดินสักหน่อย แต่เพื่อแลกกับภาพวิวบ้านทรงพนมมือสามหลังที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบก็นับว่าคุ้มค่าเหนื่อย

Shiroyama View Point (城山展望台)

เป็นจุดชมวิวอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคนต้องขึ้นไปยืนชมวิวหมู่บ้าน จะเดินขึ้นไปหรือใช้บริการรถบัสราคา 200 เยนก็ได้ วิวบนเนินเขางดงามมากสามารถมองเห็นป่าเปลี่ยนสีที่โอบล้อมหมู่บ้านด้านล่างไว้ (ทางเดินขึ้นจุดชมวิวปิดในช่วงฤดูหนาวเพราะอันตรายเนื่องจากหิมะที่ตกลงมาทับถมทางเดิน)

การเดินขึ้นเนินไปยัง Shiroyama View Point ก็มีข้อควรระวังคือเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากระยะหลังมี หมี ลงเขามาอาหารกินอยู่เป็นบ่อยครั้ง คุณยายเจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่าเมื่อไม่นานมานี้ชาวบ้านถูกหมีทำร้ายถูกกัดใบหูจนแหว่ง เพื่อความอุ่นใจการเดินขึ้นลงเนินเขาโดยไปกันเป็นกลุ่มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากทางเดินทำไว้ดีใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาทีเท่านั้น วิวทิวทัศน์ระหว่างทางก็งดงามแปลกตาไม่แพ้บนจุดชมวิวด้านบน

วิธีเดินทางไปเที่ยว Shirakawago

จากสถานี JR Nagoya นั่งรถไฟสาย JR Hida Wideview ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 10 นาทีไปลงที่สถานี JR Takayama จากนั้นนั่งรถ Nohi Bus ที่หน้าสถานี JR Takayama ต่อไปอีก 50 นาที เพื่อไปยังหน้าหมู่บ้าน Shirakawago

กรณีไม่มี JR Pass ให้ใช้บริการ Nohi Bus นั่งจากสถานี JR Nagoya ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งไปจนถึงสถานี JR Takayama จากนั้นนั่งรถ Nohi Bus ที่หน้าสถานี JR Takayama ต่อไปอีก 50 นาที เพื่อไปยังหน้าหมู่บ้าน Shirakawago ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ นั่งรถไฟสาย JR Hida Wideview มากกว่าเพราะเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านวิวทิวทัศน์ระหว่างทางสวยมาก

อีกวิธีคือการเช่ารถขับ อาจเลือกพักที่เมือง ทะคะยะม่า แล้วเช่ารถขับแบบไปเช้าเย็นกลับกเป็นอีกหนึ่งทางเลือก









jirobkk

 วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 12.22 น.

ความคิดเห็น