เส้นทางเลียบคลองคูเมือง
กลิ่นอายตะวันตก ในศิลปะไทยประเพณี
หากต้องการชื่นชมวัดสวยที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว ขอแนะนำให้ลองมาเตร่แถวคลองคูเมืองเดิม ด้านตะวันออก ของพระบรมมหาราชวัง
เส้นทางเลียบคลองคูเมือง เสาชิงช้า ใจกลางพระนคร
- สวนสราญรมย์
- วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- อนุสาวรีย์หมู สะพานปีกุน
- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- สุสานหลวง
- วัดสุทัศนเทพวราราม
- เสาชิงช้า
- สามแพร่ง
- ศาลเจ้าพ่อเสือ
- วัดมหรรณพาราม
เที่ยวเลียบคลอง มีรถโดยสารหลายสายมายังสวนสราญรมย์ ซึ่งสามารถเดินต่อไปชม วัดราชประดิษฐฯ ที่อยู่ติดกัน หลังจากนั้นข้ามสะพานปีกุน ไปยังวัดราชบพิธฯ ก่อนวกกลับมายังสะพานหก และอนุสาวรีย์หมู
คลองคูเมืองนี้เคยเป็นคูเมืองของกรุงธนบุรีทางฝั่งตะวันออก เมื่อมีการย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพฯ คลองนี้จึงกลายเป็นคูเมืองชั้นในของกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะที่คลองรอบกรุงเป็นคูเมืองใหม่ที่ขยายออกไป
บริเวณนี้จึงนับเป็นสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ มีการสร้างวังของพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์โดยรอบ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกที่จะปรึกษาการบริหารราชการแผ่นดิน
เมื่อแนวคิดแบบตะวันตกเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงรัชสมัยของ ร.๔ และ ร.๕ ย่านนี้จึงกลายเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาจากการปฏิรูประบบราชการใหม่ เช่นกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศเดิม กระทรวงยุติธรรม กรมแผนที่ทหาร
จึงไม่แปลกที่พื้นที่ชั้นในของกรุงเพทฯ แถบนี้จะมีกลิ่นอายตะวันตกสอดแทรกอยู่ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งประดับประดาในวัดวาอาราม สะพานและสวน แม้กระทั่งตึกแถวเลียบคลอง นับตั้งแต่ย่านบ้านหม้อไปจนถึงย่านสามแพร่ง ล้วนแต่เจือด้วยศิลปะตะวันตก
ทั้งวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหารและวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงแบบยุติกนิกาย ต่างก็มีการตกแต่งภายในที่ปนด้วยกลิ่นอายตะวันตกเช่นกัน
การผสานศิลปะไทยและตะวันตกของสถาปัตยกรรมบริเวณนี้ ได้สะท้อนยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงของสยามและกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาร้อยปีก่อน ที่มีการเปิดรับศิลปวิทยาการของโลกตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในการพัฒนาบ้านเมืองและระบบราชการให้ทันสมัย แต่ยังคงคุณลักษณ์ความเป็นไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและสวยงาม
ออกไปเที่ยวชมรอบๆ คลองคูเมืองกันครับ หากพร้อมแล้วก็ตามมาเลย
ทริปนี้เริ่มต้นตั้งแต่สัตหีบ ออกเดินทางจากสัตหีบในเวลาตีห้า ถึงกทม.ประมาณแปดโมงเช้ากว่าๆ ต่อรถเมล์มายังสวนสราญรมย์ แต่เนื่องจากรถเมล์ที่จะไปสวนสราญรมย์ไม่มีผ่านบริเวณที่ลงรถ ต้องต่อรถเมล์ไปลงเยาวราชแล้วต่อรถเมล์อีกสายไปยังสวนสราญรมย์ ไม่ยากอะไร เช้าๆ รถยังไม่ค่อยติด แดดยังไม่ค่อยร้อน สบายๆ ครับ
นั่งรถเข้าเมืองผ่านเยาวราช สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าร้านอาหารมากมาย น่าแวะมาเที่ยวเดินชมเช่นกัน แต่เป้าหมายทริปนี้ไม่ได้อยู่ที่นี่ พับไว้ก่อน เป้าหมายเรายิ่งใหญ่กว่า รออีกเดี๋ยวครับพ้นยาวราชนี้ไปก็ใกล้ถึงแล้ว
ไม่เกิน 10นาที รวมรถติด ก็มาถึงยัง "สวนสราญรมย์"
สวนสราญรมย์แห่งนี้เคยมาแล้วเมื่อหกปีกว่าที่แล้ว จะว่าไปก็นานพอประมาณ มาครั้งนี้สถานที่ยังคงเหมือนเดิมยังคงร่มรื่นเหมือนเช่นที่เคยมา เช้าๆ มีคุณน้าคุณอาคุณลุงคุณป้า มาวิ่งออกกำลังกาย เล่นเครื่องออกกำลังกายกันอยู่เช่นเคย
สวัสดีครับ ... เป็นคำสวัสดีสั้นๆ พร้อมด้วยรอยยิ้มที่ส่งไป
สวัสดีครับ คุณอากล่าวทักสวัสดีพร้อมยิ้มให้
คุณน้าผู้หญิงอีกคนหันมามองยิ้มและสวัสดีให้เช่นกัน
สวัสดีครับ มาออกกำลังกายกันหรอครับ
อืมๆ อากาศเช้าๆ มันดี มาออกกำลังกายหน่อย สดชื่น คุณอาผู้ชายกล่าว
ผมขอถ่ายรูปเก็บภาพไว้หน่อยได้ไหมครับ จะทำหนังสือ จะทำรีวิวเรื่องราวท่องเที่ยวละแวกนี้
เอาเลยๆๆ ถ่ายได้เลย
ขอบคุณครับ กล่าวขอบคุณพร้อมเก็บภาพไปหนึ่งภาพ
ขอบคุณมากนะครับ พร้อมร่ำลา
จำได้ว่ามีบ้านทรงไทยหลังเล็กๆ อยู่อีกฟากของสวน เดินไปดูหน่อย ยังอยู่เหมือนเดิมมีอะไรเปลี่ยนบ้างไหม
บรรยากาศโดยรอบยังคงความร่มรื่นเหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อนหย่อนใจเหมือนเคย
"อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์"
"อนุสาวรีย์ที่วังสราญรมย์เป็นรูปปราสาท ๕ ยอดทำด้วยหินอ่อน งดงามมาก"
ายในสวนค่อนข้างร่มรื่น ทั้งต้นไม้นานาชนิดและนกน้อยใหญ่ที่ไม่ค่อยได้เห็นจากที่อื่น ที่มีมีให้ชมมากมาย ศาลาพักผ่อนและสระน้ำช่วยทำให้สวนดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
สวนพฤษศาสตร์แห่งแรก
สวนสาธารณะแห่งนี้เดิมเป็นพระราชอุทยานของวังสราญรมย์ที่ ร.๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างใน พ.ศ.๒๔๐๙ ตรงบริเวณตึกดินเก่า เพื่อเป็นที่ประทับหลังทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรถแล้ว แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
จนมาแล้วเสร็จในรัชสมัยของ ร.๕ ซึ่งพระราชทานให้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์เมื่อแรกเสด็จกลับวังหลวง ก่อนที่วังส่วนพระองค์จะสร้างเสร็จต่อมา
ส่วนแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาล ราวปี พ.ศ.๒๔๑๗ ร.๕ โปรดเกล้าฯ ให้นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกันเป็นผู้ออกแบบ และจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์อย่างที่มีในต่างประเทศ และยังเป็นผู้สั่งกล้วยไม้รวมทั้งแคทลียามาแสดงในสวนอีกด้วย และเมื่อเสด็จไปที่ใด พบพันธุ์ไม้แปลกๆ ก็โปรดให้นำมาปลูกเพิ่มเติมที่สวนสราญรมย์อยู่เสมอ
สวนในพระราชวังแห่งนี้จึงแตกต่างจากส่วนอื่นๆ จากเดิมที่นิยมปลูกแบบจีนก็กลายเป็นสวยแบบฝรั่ง มีสระน้ำ ประติมากรรมน้ำพุ ศาลาต่างๆ ไม้ดอก ไม้ประดับนานาชนิด และถนนเล็กสำหรับเดินเล่น
ในรัชสมัยของ ร.๖ สวนสราญรมย์ ถูกใช้เป็นที่ฝึกซ้อมวิชาทหารแก่มหาดเล็กรักษาพระองค์และเป็นศูนย์กลางขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและแนวคิดใหม่ๆ ในนาม "ทวีปัญญาสโมสร" หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้กลายเป็นที่ตั้งของสโมสรคณะราษฏร์สราญรมย์ และถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓
นอกจากร่มไม้ชายน้ำแล้ว ภายในสวนกลางใจเมืองแห่งนี้ ยังมีพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทรกุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตนที่ ร.๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิและเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์
ก่อนออกจากสวนสราญรมย์แวะเข้าห้องน้ำสักหน่อย
ระหว่างเข้าห้องน้ำ ได้ยินคุณลุงสามสี่คนที่มาออกกำลังกาย พูดคุยเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่น่าสงสัยไม่ใช่อะไร แต่เป็นเสียงที่คุณลุงพูดคุยกันนี่ต่างหาก ... คุยอะไรกัน ยืนอยู่ด้วยกัน ใกล้กันติดกันขนาดนี้ ทำไมต้องคุยเหมือนตะโกนใส่กัน จะเสียงดังไปไหนกันนะ (แอบคิดในใจ) แต่ก็ไม่ได้อะไร แอบคิดไปถึงเวลาเจอพวกทัวร์จีน ที่ชอบคุยกันเสียงดังที่ชอบตะโกนคุยกัน อารมณ์ประมาณนั้นเลยครับ
ออกจากสวนสราญรมย์เดินอ้อมไปด้านหลัง สถานที่ถัดไป "วัดราชประดิษฐ์"
"ัวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร"
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน เช่นที่สุโขทัย พิษณุโลกและพระนครศรีอยุธยา
แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชการที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถานปนาวัดสลัก เป็นวัดพระนิพพานาราม และเปลี่ยนเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่ต่อมามีพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีวัดมหาธาตุ จึงเปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดมหาธาตุและพระสัมพันธวงค์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพรศรสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดเลียบ ต่อมาได้นามว่าวัดราชบูรณะ ยังคงขาดแต่วัดราชประดิษฐ์เท่านั้น จึงทรงสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระราชอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านายข้าราชการที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก วัดราชประดิษฐ์จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้น เพื่อพระสงฆ์นิกายนี้ เพราะวัดอื่นๆ ของฝ่ายธรรมยุติกนิกายเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย
วัดราชประดิษฐ์สร้างขึ้นในที่ดินที่เคยเป็นสวนกาแฟของหลวง โดยก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๐๗ เดิม ร.๔ พระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม" เมื่อสร้างเสร็จได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจาลึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์รวม 10 หลัก ปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑
เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูกว่า มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต วัดทรงประดิษฐ์ ไม่ถูกต้อง กับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า "วัดราชประดิษฐ์" หรือ "วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม" หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสุสุเทโว ป.๙) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญญ ๙ ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร
เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ปีฉลู ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา ๓ วัน
วันนี้เลือกมาให้ตรงกับวันพระ เนื่องจากจำได้ว่าวันปกติวิหารจะปิด เลยถือโอกาสแวะทำบุญด้วยเลย
เตรียมข้าว กับข้าว ขนม น้ำดื่ม ดอกไม้มาพร้อม
สำหรับที่วัดราชประดิษฐ์ฯ นี้ช่วงเวลาทำบุญจะอยู่เวลาประมาณ 9-11 นาฬิกา ช่วงแรกพระจะทำวัตรเช้า สวดมนต์แล้วถึงจะถวายภัตตาหารหรือสังฆทาน มีเวลาพอที่จะเตรียมตัวได้พอสมควร
แต่ก็เป็นที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ ที่ไม่ค่อยมีประชาชนมาทำบุญ ครั้งก่อนหน้าที่เคยแวะมา นับจำนวนผู้ที่มาทำบุญถวายภัตตาหารได้ไม่ถึงสิบคน วันนี้มา เท่าที่นับได้มีประมาณยี่สิบคน แต่ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี หากจะเทียบกับวัดอื่นๆ
วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นวัดหลวง เวลามีงานพิธีหลวงหรือพิธีสำคัญ ส่วนมากจะมีมาทำที่นี่
กับครั้งแรกที่ได้เข้ามา ที่ได้ก้าวเข้ามา ข้างในนี้ กับความรู้สึกแรก ... เหมือนตัวเรากำลังเข้ามาอยู่ในที่แห่งไหนสักแห่ง ที่ๆ ต่างไปจากที่อื่น ข้างในนี้ช่างงดงามยิ่งนัก อยู่ๆ รู้สึกว่าขนลุก ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่ก็รู้สึกได้
โดยส่วนตัว "จากที่เคยไปวัดมาหลายวัด ในหลายๆ จังหวัด หากไม่นับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วฯ) แล้ว ผมว่าที่นี่คือที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว" ไม่รู้ว่าจะบรรยาย ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร อยากให้มาเห็น อยากให้เข้ามาสัมผัสเองสักครั้งครับ
วัดราชประดิษฐฯ เป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีพระอุโบสถมีเฉพาะพระวิหารหลวงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรมดังนั้นพระวิหารหลวงจึงถือว่าเป็นพระอุโบสถของวัดด้วย
ที่เบื้องหน้าพระประธาน มีพระพุทธรูป ชื่อ พระนิรันตราย ประดิษฐานอยู่ในครอบแก้วด้วยภายในพระวิหารหลวงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยใช้เทคนิคการวาดภาพแบบสีฝุ่น สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จิตรกรรมฝาผนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวัฒนธรรมของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในด้านพิธีกรรมทางศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ประเพณีไทย การแต่งกายของชาวไทยและชาวต่างชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่และสถาปัตยกรรม
จากที่ได้เดินดูรอบๆ บางภาพเป็นพิธีโล้ชิงช้า ภาพสุริยุปราคาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้น
พระเจดียหินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่
"หอพระจอม" ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม
รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ในท่านั่งแสดงธรรมเทศนา ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าปาสาณเจดีย์
วันนี้มาได้พบกลุ่มนี้ เห็นมาเดินชมอยู่บริเวณรอบๆ พระวิหาร มีอาจารย์หรือใครกำลังอธิบายเรื่องราวต่างๆ รอบๆ วัด ยืนฟังอยู่ด้วยครู่หนึ่ง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เด็กรุ่นใหม่จะได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ไปด้วย เราเองก็เช่นกัน เพราะมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ ที่ยังต้องไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมากเช่นกัน
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมจะนำมาเล่าแบ่งปันในครั้งหน้า
ออกจากวัดราชประดิษฐ์ฯ ไปกันต่อครับ
หน้าวัดราชประดิษฐ์ จะเห็นอนุสาวรีย์หมู ซึ่งแท้จริงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าอนุสาวรีย์สหชาติ
ด้วยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระยาพิพัฒน์โกษา (เศเลสติโนซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งล้วนเกิดปีกุน เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถใน ร.๕ ได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ ถวายสมเด็จพระศรพัชรินทราบรมราชินีนาถในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อเป็นที่จ่ายน้ำประปาให้ประชาชนได้ใช้อุปโภค บริโภค นับเป็นอุทกทานแห่งแรกในสยาม พร้อมกันนั้นได้สร้างสะพานปีกุนในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย
อนุสาวรีย์นี้หล่อด้วยโลหะ แต่ปัจจุบันถูกพอกด้วยปูนซิเมนต์ และไม่มีอุทกทานอีกต่อไป แต่กลายเป็นที่เคารพสักการะของบ้านในถิ่นนั้น
ตรงที่ใกล้ๆ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ นั่นคือสะพานข้ามคลอง หรือที่เรียกว่า "สะพานปีกุน"
"สะพานหก สะพานแบบวิลันดา"
ที่คลองคูเมืองเดิม บริเวณตรงข้ามกับสวนสราญรมย์ จะมีสะพานหน้าตาแปลกอยู่แห่งหนึ่ง นี่คือสะพานหกที่ใช้กันเมื่อราวร้อยปีก่อน
สะพานนี้เป็นสะพานไม้ที่นำแบบมาจากสะพานในประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถยกหกขึ้นลงเหมือนกระดานหก เพื่อให้เรือผ่านไปมาได้สะดวก จึงเรียกกันว่า สะพานหกแบบวิลันดา สะพานนี้สร้างขึ้นครั้งแรกสมัย ร.๔ ในกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ เมื่อตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีทั้งหมดถึง ๘ แห่ง
สะพานหก สะพานปีกุน
สร้างมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอู่หัว เป็นสะพานแบบฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) สามารถชักขึ้นลงให้เรือผ่านได้ นามนี้คงเรียกขานสืบต่อมา แม้ว่าจะได้เปลี่ยนสภาพเป็นสะพานรถข้าม
พุทธศักราช ๒๕๒๕ รัฐบาลได้ดำริอนุรักษ์โบราณสถานเพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานคร จึงร่วมใจกันบูรณะปฏิสังขรณ์สะพานหกขึ้นไว้ตามแบบเดิม สำหรับเป็นอนุสรณ์เนื่องในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ครั้งนั้น
เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา สะพานนี้เป็นสะพานที่เชื่อมเดินหากันระหว่างวัดทั้งสองวัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสถานีตำรวจสองสถานีคือ ท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง และท้องที่ตำรวจนครบาลสำราญราษฏร์
ก่อนจะข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม หันไปเห็นที่ใกล้ๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่ที่ตรงนั้น มีใครนอนอยู่ในเปลใต้ต้นไม้ใหญ่นั้น ดูแล้วน่าจะสบายเสียจริง กลางวันแดดจัดๆ ร้อนๆ แบบนี้ ผูกเปลนอนใต้ต้นไม้ใหญ่ริมคลอง แลน่าจะหลับสบายเลยครับ เดินเลียบคลองอ้อมไปอีกฟากแล้ววกกลับไปอีกฝั่งของคลอง
อ้อมมาอีกฟากของคลองซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตรย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล
วัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดแรก หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๑ ปี เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาล
วัดราชบพิธฯ เป็นวัดธรรมยิตุกนิกายสร้างตามอย่างวัดราชประดิษฐ์ โดยมีพระมาหเจดีย็เป็นหลัก ห้อมล้อมด้วยระเบียงแบบเดียวกับวัดพระปฐมเดจีย์ แต่ย่อส่วนลงมา นับเป็นพระอารามหลวงแห่งสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล
พระมหาเจดีย์เป็นแบบทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อัดพิมพ์นูนทั้งองค์ ที่นี่สวยงามด้วยกระเบื้องลวดลายวิจิตรที่ประดับประดาแทบทุกตารางนิ้วของวัด จนได้รับการขนานนามว่า "พระอารามเบญจรงค์" สะท้อนให้เห็นความนิยมเครื่องเบญจรงค์ในยุคนั้น
พระประธานในพระอุโบสถคือพระพุทธอังคีรส ที่ทำด้วยกระไหล่ทองเหลืองเคลือบด้วยทองทั้งองค์ ซึ่งเป็นทองที่ ร.๕ ใช้แต่พระองค์เมื่อทรงพระเยาว์ น้ำหนัก ๑๘๐ บาท ด้วยห้นาพระพุทธอังคีรสประดิษฐานพระนิรันตรายจำลอง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชรหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์กระไหล่ทองคำ
ขณะที่ภายนอกเป็นสถานปัตยกรรมแบบไทยที่อนุรักษ์ศิลปะไทยชั้นสูงไว้ได้อย่างดีเลิศ ภายในพระอุโบสถและพระวิหารกลับตกแต่งแบบตะวันตก เพดานเป็นศิลปะแบบกอทิก แทรกด้วยลายเครือเถาสีทอง แบบศิลปะไทยที่ผสานเข้ากันได้อย่างดี ลายประตูหน้าต่างด้านนอกของพระอุโบสถและพระวิหารทำเป็นภาพ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างตะวันตก เหนือซุ้มประตูภายในพระอุโบสถก็ทำเป็นตราแผ่นดินในสมัย ร.๕ ซึ่งเป็นตราอาร์มแบบตะวันตกอีกเช่นกัน
ด้านในพระวิหาร
นอกจากวัดราชประดิษฐ์ฯ ที่ว่างดงามแล้ว วัดราชบพิธฯ ยังเป็นอีกหนึ่งวัดหลวงที่เป็นที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว (ความเห็นส่วนตัว)
พระอารามเบญจรงค์
* เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงกำลังบูรณะ เอาภาพเก่าที่เคยถ่ายไว้มาประกอบเพิ่ม *
สุสานหลวง
ออกจากวัดราชบพิธฯ ดูเวลาแล้วก็เกือบจะใกล้เที่ยง เริ่มรู้สึกหิว จำได้ว่าฝั่งตรงข้ามวัดราชบพิธฯ เยื้องๆ ไปจะมีร้านก๋วยจั๊บญวน มีทั้งก๋วยจั๊บญวนและไข่กะทะแต่ด้วยที่มาวันนี้เป็นวันอาทิตย์ร้านปิดเลยต้องเปลี่ยนมาหาอะไรกินร้านข้างๆ แทน
วันนี้ได้ฝากท้องไว้กับราดหน้ายอดผักแทน เส้นเหนียวหมูนุ่มกำลังดี อร่อยใช้ได้เลยครับ
ท้องอิ่ม เดินกันต่อ แล้วจะไปที่ไหนกันดี ละแวกนี้มีที่ไหนน่าสนใจอีก นึกๆ ลองนึกดูสิ ว่ามีอะไรอีก . .. เสาชิงช้า
ใช่แล้ว เสาชิงช้าไง และวัดที่อยู่ติดกันตรงหน้าเสาชิงช้า ก็วัดสุทัศน์ ไม่ไกลเลย เดินไปสักพักก็คงถึง
แต่ก็ด้วยที่เคยไปมานานแล้ว เคยนั่งรถผ่านบ่อยๆ แต่ถ้าจะเดินจากตรงนี้จะไปทางไหน พอจะไปถูก แต่จะเดินเข้าซอยไหนออกซอยไหนดี ขอถามทางก่อนดีกว่า แดดร้อนๆ แบบนี้จะได้ไม่เสียเวลาเดินไปตากแดดไป
เดินผ่านร้านค้าแวะสอบถามทางคุณป้าคุณน้า ขอทราบเส้นทางไปเสาชิงช้า คุณน้าคุณป้าบอกทาง ..
ก็เริ่มจะคุ้นๆ กับที่ต้องเดินเลาะไปตามคลองเล็กๆ สุดคลองแล้วก็จะถึง พอจะนึกออกแล้ว เดินไปตามคลองเล็กๆ ที่คุณน้าคุณป้าบอก
เดินเข้ามาสักรู้สึกได้เลยว่าในคลองเล็กๆ นี้ น้ำค่อนข้างใสกว่าคลองคูเมืองด้านนอก สังเกตเห็นมีปลาน้อยใหญ่อยู่มากมาย
เดินมาสักพักเจอคุณป้าท่านหนึ่ง ยิ้มให้คุณป้าแล้วสวัสดี
สวัสดีครับ คลองนี้น้ำใสมากเลยครับ ปลาเยอะมากเลย
ใช่ๆ น้ำในคลองนี้ใสนะ ใสกว่าคลองหลัก นี่คลองย่อย ข้างในนี้น้ำใสปลาเยอะ นี่วันนี้ร้านข้างๆ ปิด ปกติจะมีร้านข้างๆ ตรงนี้ให้อาหารปลา มีให้อาหารปลา ขนมปัง ปลามันเลยมีเยอะ ในคลองย่อยนี้
ใช่เลยครับ ปลาเยอะเลย ตัวใหญ่ทั้งนั้นเลย น้ำก็ใส ไม่มีขยะ
แล้วชาวบ้านแถวนี้เขาก็ดีนะครับ ไม่จับปลา ไม่ตกปลา
ใช่จร้า คุณป้าพูดพร้อมยิ้มให้
ผมจะไปเสาชิงช้า ผมเดินเลาะคลองนี้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ
ใช่จร้า เดินตรงไปเรื่อยๆ สุดคลองก็เจอเลย
ขอบคุณครับคุณป้า
เดินต่อไปอีก แอบเห็นคุณป้าอีกท่านหนึ่งกำลังตัดแต่งต้นไม้ประดับเล็กๆ
สวัสดีครับคุณป้า กำลังทำอะไรอยู่ครับ
อ๋อ ตัดใบมันหนะ ใบมันไม่ค่อยสวย ตัดออกหน่อย
แล้วต้นนี้คือต้นอะไรเรียกว่าต้นอะไรหรอครับ ผมคุ้นๆ กับต้นนี้ ลายนี้ (ชื่อต้นอะไรจำไม่ได้) ชอบลายต้นนี้ครับ ลายมันเหมือนลายของนกเหยี่ยว หรือขนของไก่หรือนกอะไรสักอย่าง
อืมๆ ต้นอะไรป้าก็จำไม่ได้แล้ว สักครู่นี้ก็มีอีกคนมาถามมาขอถ่ายรูปไปเหมือนกัน
ผมว่ามันแปลกดี ลายมันสวย งั้นผมขออนุญาตถ่ายไว้หน่อยนะครับ
เอาเลยๆ ตามสบาย
เก็บภาพไว้หนึ่งภาพ ขอบคุณมากครับคุณป้า
ไปต่อครับ ข้างหน้าก็สุดคลองแล้ว
เห็นเสาชิงช้าอยู่ใกล้ๆ นั่น แต่ตรงนี้มีประตูวัด แวะเข้าวัดสุทัศน์ฯ ก่อนดีกว่า
วัดสุทัศนเทพวราราม
หากต้องการเห็นวัดที่วางผังแบบไตรภูมิในคติพุธศาสนาที่เด่นชัดและสวยงามโออ่าอลังการที่สุด ต้องไม่พลาดวัดสุทัศนเทพวราราม
วัดสุทัศนฯ สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๕ ในสมัย ร.๑ เพื่อให้เป็นวัดกลางพระนคร และได้ถมดินจำนวนมากเพื่อยกให้วัดสูงขั้น พร้อมกับได้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ความใหญ่โตขององค์พระ ทำให้เรียกนามวัดอีกชื่อว่า "วัดพระโต"
วัดนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ๆ เป็นใจกลางพระนคร ซึ่งนับแต่สมัยโบราณเป็นที่ตั้งของพระปรางค์ วัดมหาธาตุ อันประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ วัดนี้ถูกสมมุติให้เป็นรูปจำลองจักรวาลตามคติไตรภูมิทางพุทธศาสนา อารามต่างๆ ในพื้นที่พุทธาวาส มีวัดสุทัศน์เป็นเขาพระสุเมรุกลางจักรวาล ซึ่งซื่อวัดสุทัศน์ก็สอดคล้องกับสุทัสสนะชื่อเมืองของพระอินทร์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บนยอดเขาพระสุเมรุนั่นเอง
ภายในพระอุโบสถ
เข้ามากราบพระในพระอุโบสถแล้ว เดินต่อไปยังพระวิหาร
(อยู่ระหว่างกำลังบูรณะ)
เข้าไปไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลกันครับ
(ภาพประกอบเพิ่มเมื่อครั้งเคยไปก่อนหน้านี้)
ภายในพระวิหาร
จิตรกรรมฝาผนัง
พระวิหารหลวงเปรียบได้กับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระศรีศากยุมนีเปรียบเสมือนพระอินทร์ วิหารทิศทั้งสี่เป็นวิมานของเทพประจำทิศ ถะหรือเจดีย์หินแบบจีนหกชั้นเป็นดั่งพระวิมานของกามภูมิเทวโลกหกชั้น เก๋งจีนศิลาคือวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ ส่วนฐานประทักษิณที่ยกสูงเสมือนเขาพระสุเมรุ พระระเบียงคดคือเขาสัตตบริภัณฑ์ ขณะที่พระอุโบสถทางทิศใต้เป็นดุจชมพูทวีป อันเป็นทวีปที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะถือกำเนิด ภายในพระอุโบสถจึงวาดภาพเรืองปัจเจกพุทธเจ้า
ร.๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้น เพื่อเป็นวัดสำคัญตั้งอยู่ใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในข้อความในบันทึกของกรมหลวงนรินทร์เทวี ที่กล่าวว่า ..
"..พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทร์เทพขั้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองโศกโขไทย ชะลอเลื่อนลงมากรุงประทับท่าสมโภช ๗ วัน.."
ไหว้พระเก็บภาพเสร็จออกไปเก็บภาพรอบๆ เพิ่มอีกหน่อย
"จะถึงแล้ว ขึ้นไปอีกนิดสวรรค์อยู่ไม่ไกลหรอก แค่ก้าวขึ้นไป"
"มันก็เหมือนเดินอยู่บันไดบ้านเราแหละ แค่ขั้นมันสูงกว่าแค่นั้น"
เสียงชายหนุ่มพูดกับใครบางคน เหมือนกำลังให้กำลังใจให้เดินต่อไปอีกนิด
เป็นภาพที่น่ารักอีกภาพ ชายหนุ่มสองคนจูงญาติกำลังเดินขึ้นบันไดเข้าไปกราบไหว้พระ
หรือหากเราอยากชมวัดแบบมุมมอง 360องศาก็ทำได้ โดยแค่สแกนคิวอาร์โค้ด (ตามภาพครับ)
เดินเก็บภาพอีกสักหน่อย
ขอบคุณเอกสาร "ความยิ่งยงแห่งอดีต วัดสุทัศนเทพวราราม" และเอกสารเผยแพร่ ต่างๆ
ออกจากวัดสุทัศน์ฯ ด้านนอกคือ เสาชิงช้า
เสาชิงช้า ใจกลางพระนคร
นอกจากวังหลวงและวังหน้าแล้ว ย่านชุมชนที่อายุอานามเก่าพอๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ก็คือ ย่านเสาชิงช้า
เพราะนับตั้งแต่โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมายังฝั่งกรุงเทพฯ บริเวณนี้ถือเป็นใจกลางเมือง ซึ่ง ร.๑ ทรงมุ่งทำนุบำรุงให้เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาครั้งยังรุ่งเรือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม พร้อมกับเทวสถานตามอย่างคดีโบราณ เพื่อให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระนคร และเกิดความมั่นคงต่อบ้านเมือง ย่านนี้จึงเป็นศูนย์กลางแห่งความศรัทธาทั้งพุทธและพราหมณ์
เสาชิงช้าเป็นย่านที่มีร้านค้าจำหน่ายสังฆภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร เครื่องใช้ต่างๆ สำหรับศาสนาพิธีและรูปหล่อเทวรูปและพระพุทธรป ที่หนาแน่นมาก โดยเรียงรายสองฟากถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่สี่กั๊กเสาชิงช้า ไปถึงถนนมหาไชย และแหล่งผลิตสินค้าก็อยู่ไม่ไกล หากได้ลองเดินเลียบๆ เคียงๆ ตามหลังบ้านย่านนี้ คุณอาจจะได้เห็นช่างหล่อกำลังง่วนขัดแต่งรูปหล่อเทวรูปต่างๆ คนงานกำลังเย็บสบงจีวร ทำของใช้ของภิกษุแหละหากเดินเลยไปถึงบ้านบาตร ก็อาจจะได้เห็นช่างกำลังขึ้นบาตรพระซึ่งเป็นงานฝีมือล้วนๆ
ถนนอีกเส้นที่มีประวัติที่น่าสนใจคือถนนดินสอ ถนนเส้นนี้เคยเป็นย่านผลิตดินสอสดในอดีต ดินสอของไทยนั้นทำจากดินดานผสมดินสอพอง และขมิ้นผงใช้เขียนบนกระดานชนวน ปัจจุบันไม่มีการทำดินสอและดินสอพองแล้ว แต่ถนนเส้นนั้นๆ นี้กลับเนืองแน่นไปด้วยสารพัดร้านอร่อยที่ต่อเนื่องไปถึงย่านใกล้ๆ กันคือ บริเวณสามแพร่ง ที่ขยายตัวจากการตัดถนนและเป็นที่ตั้งวังเก่าของเจ้านาย ๓ พระองค์ในสมัย ร.๕ ย่านนี้จึงมีทั้งวัด ศาลเจ้า ตึกแถว และเรือนขุนนางเก่าแก่ให้ได้ชม อีกทั้งมีร้านค้าและของกินคาวหวานให้เลือกชิม การเดินเที่ยวในสองย่านเก่านี้จึงมีรสชาติขึ้นอีกมากทีเดียว
คงจะน่ารื่นรมย์ หากได้เริ่มเส้นทางนี้ด้วยการนมัสการพระศรีสากยมุนีที่วัดสุทัศน์ และเคารพเทวรูปสำคัญที่โบสถพราหมณ์ เติมพลังต่อด้วยของอร่อยที่ถนนดินสอ หรือย่านสามแพร่ง จากนั้นค่อยไปไหว้เจ้าพ่อเสือ และหล่วงพ่อพระร่วง
เสาชิงช้าใจกลางพระนคร
สิ่งที่เด่นที่สุดในย่านนี้เห็นจะไม่มีอะไรเกินเสาชิงช้า ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุง
ร.๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ สองปีหลังจากสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี โดยเชิญพราหมรณ์จากนครศรีธรรมราชขึ้นมาที่นี่ เพราะพราหมณ์ที่กรุงศรีอยุธยาแตกกระสานซ่านเซ็นไปเมื่อครั้งเสียกรุง
เสาชิงช้า ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีตรียัมพวายและตรีปวาย อันเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ เพื่อต้อนรับการเสด็จมาเยือนโลกของพระอิศวร และพระนารายณ์ การโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในราวเดือนยี่ คือธันวาคมหรือต้นมกราคมของทุกปี ตามตำนานที่ว่า พระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่งต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัว โดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไข่วห้าง เมื่อพญานาคไกวตัวเท้าพระอิศวรนั้นไม่ตกลง แสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน
พิธีโล้ชิงช้ามีสืบมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงยุติไป พราหมณ์จึงใช้เป็นเพียงเสาชิงช้าขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเทวสถานเพื่อประกอบพิธีแทน ตลอดสองร้อยกว่าปีที่ผ่ามามีการบูรณะเสาชิงช้าแล้วหลายครั้ง และเสาต้นปัจจุบันได้บูรณะแล้วเสร็จไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ โดยใช้ไม้สักทองสองต้นจากจังหวัดแพร่เปลี่ยนแทนเสาเดิมที่ทรุดโทรม
ส่วนเทวสถานที่อยู่ใกล้กัน เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปสำคัญในศาสนาพราหมณ์คือ พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเณศวร
ในสมัยก่อน ด้านหลังเทวสถานเป็นชุมชมพราหมณ์ขนาดใหญ่ มีพราหมณ์นับร้อยครัวเรือนอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันกลับกระจัดกระจายไปหมดสิ้น นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อกษัตริย์ถูกลดบทบาทลง พราหมณ์ราชสำนักจึงถูกลดบทบาทลงตามกัน
จากวัดสุทัศน์ ก้าวออกไปเบื้องหน้า "เสาชิงช้า" เก็บภาพเสาชิงช้าไว้สักภาพสองภาพ (อยู่ระหว่างบูรณะ) มีน้องคนหนึ่งวานให้ช่วยดูมือถือ ด้วยที่จะถ่ายภาพเสาชิงช้า ลองแนะนำไปเล็กน้อย น้องบอกอยากได้ภาพช่วยถ่ายภาพคู่กับเสาชิงช้าให้หน่อย (ได้เลยครับ)
พูดคุยกันเล็กน้อย ก่อนที่น้องจะขอตามไปเก็บภาพด้วย พากันเดินจากหน้าเสาชิงช้า เลาะไปตามทางเทวสถาน สามแพร่ง ศาลเจ้าพ่อเสือและวัดมหรรณพาราม
วันนี้ยังไม่ได้เข้ามาเก็บภาพด้านในและศึกษาเรื่องราว (ขอติดไว้ก่อน)
ระหว่างทางไปแพร่ง มีร้านค้าทั้งสองฝั่งถนนอยู่มากมาย ล้วนน่าแวะน่าฝากท้องด้วยทั้งนั้น ติดที่เวลาไม่พอ วันนี้ขอเก็บภาพบางร้านมาฝากก่อน (เป็นร้านที่เดินผ่าน)
สามแพร่ง
หากอยากลองทอดน่องท่องกรุงเทพฯ ในบรรยากาศย้อนยุค ชมบ้านเมืองในสมัย ร.๕ ขอแนะนำให้ไปเที่ยวเตร่ย่านสามแพร่ง บนถนนตะนาว ใกล้กับถนนบำรุงเมือง
ที่นี่ได้ชื่อว่าย่านสามแพร่ง เพราะมีการตัดถนน ๓ สายขวางเชื่อมระหว่างถนนตะนาวกับถนนอัษฏางค์ เกินเป็นทางแย่าง ๓ ทางต่อเนื่องกัน ชาวบ้านเรียกว่า "สามแพร่ง" หรือทายแยกทั้งสาม
ชุมชมสามแพร่งนี้ถือเป็นย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองในสมัย ร.๕ - ร.๖ เพราะหลังจากตัดถนนบำรุงเมือง เพื่องนคร พร้อมก่อสร้างตึกแถวตามแนวถนนทั้งสองแล้ว ได้ดึงดูดให้บรรดาพ่อค้าพากันมาเช่าทำการค้าขาย เปิดเป็นห้างร้านจำหน่ายสินค้าต่างประเทศในย่านนี้จำนวนมาก เป็นที่นิยมของพระบรมวงศษนุวงศ์ ข้าราชการและสาวๆ ชาววังที่พากันมาจับจ่าย อีกทั้งยังมีโรงมโหรสพที่เชิดหน้าชูตาของชนชั้นสูงอีกด้วย
น่าเสียดายว่าปัจจุบันอดีตที่เคยรุ่งเรืองของวังเจ้านายทั้งสามพระองค์มีเหลือให้ชมเพียงส่วนน้อย วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตร์ศุภกิจ มีเหลือให้ชมเพียงแนวซุ้มประตูหน้าวัง เพราะเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เผาหลาญอาคารบ้านเรือไปกจนหมด รวมทั้งตัววังด้วย ส่วนวังวรวรณเหลือให้เห็นอยู่เพียงบางส่วนตัวตำหนักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เรือนแถวเก่าอย่างตะวันตกในย่านนี้ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างดี แม้สามแพร่งจะไม่ได้กลายเป็นย่านการค้าคึกคัก ดึงดูดผู้คนด้วยสินค้าหรูหราอีกต่อไป แต่บรรยากาศวันวานยังคงอยู่ พร้อมกับร้านอาหารเลิศรสที่ยังเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเข้ามาลิ้มลอง
ซุ้มประตูวังสรรพสาภรศุถกิจ
แพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งภูธร แพร่งนรา
จากตรงนี้จะไปยังแพร่งต่างๆ ไม่ยากครับ อยู่ติดๆ กันละแวกเดียวกัน เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึง
เดินลัดเลาะมาตามถนน พบอาคารเรือนหลังใหญ่ รูปทรงเป็นเอกลักษณ์
วันนี้มาร้านค้าบางร้านปิด ส่วนบางร้านก็ยังไม่เปิดขาย (น่าจะมีบางร้านขายช่วงเย็นหรือค่ำหรือเปล่าไม่แน่ใจ) บริเวณทั้งสามแพร่งนี้ของกินมีมากมาย ว่างๆ ก็ลองแวะมาเดินเที่ยวชมแวะชมแวะชิมได้ครับ
ไปกันต่อ เดินไปศาลเจ้าพ่อเสือกันครับ
ศาลเจ้าพ่อเสือ เทพแห่งความกตัญญูและวิธีบูชาที่น่าแปลก
หากมีโอกาสมาที่ถนนตะนาวในช่วงตรุษจีนแล้ว ต้องพบกับรถติด ขอให้คิดไว้ก่อนเลยว่าสาเหตุน่าจะมาจากที่ประชาชนต่างๆ พากันมากราบไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าพ่อเสือแห่งนี้
โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีเสือจะมาสักการะเจ้าพ่อเสือที่นี่ เพื่อขอพรให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยจะถวานเนื้อหมูดิบ ไข่ดิน และข้าวเหนียมนูนเป็นเครื่องบูชา
"ศาลเจ้าพ่อเสือ" หรือที่คนจีนเรียกว่า "ตั่วเล่าเอี้ย" เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ชาวจีนนับถือและนิยมมากราบไหว้กันมาก ศาลแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว เดิมตั้งอยู่ถนนบำรุงเมือง เมื่อมีการขยายถนนในสมัย ร.๕ จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่ถนนตะนาวจวบจนปัจจุบัน อาคารศาลเจ้าพ่อเสือ คือ "เสียนเทียนชั่งตี้" หรือเจ้าพ่อเสือ ผู้ที่มาสักการะส่วนใหญ่จะขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาหัวหน้าหรือเจ้าของธุรกิจต่างเชื่อว่า การไหว้เจ้าพ่อเสือจะช่วยเสริมบารมีในการปกครองคน จากอำนาจอันน่าเกรงขามของเสือนั่นเอง
ข้างในศาลเจ้าพ่อเสือ ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีงิ้วแสดงอยู่ไหม แต่จากที่ยืนอยู่ข้างนอก ได้ยินเสียงจากข้างใน คิดว่าน่าจะยังมีอยู่ (ข้างในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ)
แวะอุดหนุดขนมคุณยาย เห็นคุณยายเล่าว่าทำขายมานานแล้ว ขายกันมาเป็นรุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองโน้น (คุณยายท่านเล่าให้ฟัง)
(แถวๆ นี้สองข้างฝั่งถนนมีของกินของอร่อยมากมาย บางร้านอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ก็มีบางร้านไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ต้องดูให้ดีๆ ด้วยนะครับ)
จากศาลเจ้าพ่อเสือ ถัดไปใกล้ๆ ฝั่งตรงข้าม เยื้องไปเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของวัดมหรรณพาราม
วัดมหรรณพาราม
เคยได้แวะมาครั้งหนึ่ง ถือโอกาสเข้ามาไหว้พระขอพรอีกสักครั้ง
วัดมหรรณพาราม
ผู้คนโดยมากมักเข้าใจว่า วัดไตรมิตรเป็นวัดเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีพระพุทธรูปทองคำ ที่จริงแล้ววัดมหรรณพาราม ถนนตะนาว ก็มีพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร
วัดมหรรณพาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัย ร.๓ และได้มีการอัญเชิญหลวงพ่อพระร่วงจากสุโขทัยเพื่อนำมาเป็นพระประธานในโบสถ์ แต่เนื่องจากการเดินทางที่ยากลำบาก ทำให้เคลื่อนย้ายหลวงพ่อพระร่วงมาไม่ทัน จนต้องปั้นพระประธานองค์ใหม่ขึ้น และเมื่อพระพุทธรูปองค์นี้เดินทางมาถึง จึงนำมาประดิษฐานไว้ในวิหารแทน
หลวงพ่อพระร่วงนั้นมีหน้าตักกว้างถึง ๒.๓๐ เมตร ย่อมกว่าหลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตรที่มีหน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านแถบนั้นชอบที่จะมาบนบานศาลกล่าวหลวงพ่อพระร่วงอยู่ไม่ขาด พร้อมถวายตะกร้อและว่าว ส่วนหนึ่งถือคติว่าตะกร้อมีตารอบตัว การถวายตะกร้อจะทำให้รอบรู้ราวกับมีตารอบทิศ ส่วนว่าวนั้นเป็นสิ่งที่อยู่สูง เมื่อถวายว่าวจะทำให้อุ้มชูตนให้สูงไปด้วย
นอกจากนี้วัดมหรรณพารามยังเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของไทย ซึ่ง ร.๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อสามัญชนทั่วไป ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ มีชื่อว่าโรงเรียนวัดมหรรณพ์ เป็นการพระราชทานการศึกษาออกสู่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก วัดมหรรณพาราม จึงเป็นโรงเรียนวัดในการศึกษาแผนใหม่แห่งแรก ซึ่งเราจะพบพระบรมราชานุสาวรีย์ ของ ร.๕ ประทับยืนอยู่ในบริเวณวัดด้วย
เรื่องราวทั้งหมดนี้
สืบเนื่องจากข้าพเจ้าต้องการถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ต่างจากการท่องเที่ยวอย่างที่เคยทำมา เหตุที่เลือกท่องเที่ยวบางกอก เนื่องจากที่นี่เป็นประวัติศาสร์หน้าหนึ่ง ในยุครัตนโกสินทร์ที่ใกล้ตัว และสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ไม่ว่าจากหนังสือ สื่อออนไลน์ต่างๆ หรือแม้แต่จะศึกษาด้วยตนเองก็ตาม
ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมา หากจะศึกษาให้หมดคงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น แต่มันก็ทำได้ถ้าตั้งใจ แม้จะไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยขอให้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้บ้างสักเล็กน้อยก็ยังดี ถ้าไม่เริ่มจากวันนี้ก็จะไม่มีทางรู้ได้
ประเทศอื่นเขาส่งเสริมให้คนในชาติเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างจริงจัง ในเมื่อสยามไม่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่ชาติใดแล้วไซร้ คนในสยามจะไม่ยอมเรียนรู้เอาไว้บ้างหรือ วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อมีลูกก็บอกลูกได้ เมื่อมีหลานก็บอกหลานได้ อย่าให้ลูกหลานถามแล้วตอบไม่ได้ จะอายเขา
หวังว่าข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ในโพสต์นี้รีวิวนี้คงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
หากมีข้อมูลประการใดที่ผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน ก็ขออภัยมา ณ ที่นี่
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม และสวัสดี
zoonvors
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ ซอกแซกบางกอก
zoonvors
วันพฤหัสที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 06.19 น.