บทบันทึกการเดินทางฉบับนี้เป็นการเรียงร้อยเอาความงดงามของ 3 ภูมารวมไว้ด้วยกัน

ดินแดนแห่งดอกไม้ สายหมอกและขุนเขาเหนือสุดในสยาม “เชียงราย"

อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางในแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL https://www.facebook.com/PEESAT.PANTIPครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่าอีกนานแค่ไหนถึงจะมีโอกาสได้เชยชมความงดงามของที่นี่


ผมมาเยือนที่นี่หลายครั้งเพื่อให้ได้สัมผัสภาพในจินตนาการใบนี้

แต่ไม่เคยเลยซักครั้งที่จะใกล้เคียงภาพในความฝัน

การเดินทางในทริปนี้เริ่มต้นที่ไร่บุญรอด


ดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่าใครมาเชียงรายต้องมาเยี่ยมเยือน

ยามเย็นของที่นี่บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความสุขจากผู้คนที่มาจากต่างที่


เมื่อรวมกับดอกไม้ในสายลมหนาว ช่างเป็นบรรยากาศที่โรแมนติกทีเดียว

เป็นอีกครั้งที่ผมมายืนที่เดิมกับบรรยากาศที่คุ้นเคย


แต่ที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งวันวานคือบอลลูนยักษ์หลากสีที่ลอยไปมาอยู่เบื้องหลัง

ช่วงเวลานี้ของที่นี่เค้ากำลังจัดงานที่มีชื่อว่า ฟาร์ม เฟสติวัล ออน เดอะฮิลล์ ครั้งที่4


มีการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตในช่วงค่ำคืนท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น

ดอกไม้หลากสีสันเป็นบรรยากาศของการพักผ่อนอย่างแท้จริง


จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ยามเย็นแบบนี้จะคราคร่ำไปด้วยผู้คน

บ้างก็มาขี่จักรยานออกกำลังกาย บ้างก็มานั่งเล่นบนสนามหญ้า


บ้างก็มาเก็บภาพความประทับใจเหมือนกับผม

บางครั้งความสวยงามก็มีอยู่ในทุกที่


เพียงแต่เราเปิดใจมอง เราก็จะเห็นความงดงามนั้น

นอกจากดอกไม้ที่สวยงามเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบหลัก


คงเป็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะปนความสุขจากผู้คนโดยรอบที่หาได้ไม่ยากจากที่นี่

ในส่วนของไร่ชายามนี้โอบล้อมไปด้วยดอกคอสมอสหลากสีสันเมื่อเข้ามาด้านใน


มีทางเดินเล็กๆ ที่ทำเอาไว้ให้ได้สัมผัสกับความสวยงามของดอกคอสมอสอย่างใกล้ชิด

เป็นความงามที่ดูแปลกตาไปจากครั้งก่อนที่ได้มาเยือน


ทุ่งดอกคอสมอสที่ปลูกบนเนินเขาเล็กๆ

ทำให้มองเห็นทัศนียภาพที่สวยงาม น่าประทับใจ

และยิ่งเมื่อรวมเข้ากับบรรยากาศของแสงสุดท้ายสีทอง


ภาพถ่ายหนึ่งใบคงจะบรรยายความงดงามได้ไม่เหมือนกับการสัมผัสด้วยสองตา

จากไร่บุญรอดผมใช้เส้นทางไปยังอำเภอเทิง เพื่อขึ้นสู่ภูชี้ฟ้า


นี่เป็นแผนที่การเดินทางทั้งหมด เริ่มจากภูชี้ฟ้า ภูชี้ดาว และสุดท้ายที่ภูหลงถัง (วนอุทยานพญาพิภักดิ์)

เวลาราวตี5 ผมเริ่มเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภู


วันนี้ลมค่อนข้างแรง อากาศหนาวเย็น และยังมืดสนิท

แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินขึ้นไปบ้างแล้ว

ความรู้สึกในตอนนี้ผมเริ่มวิตกกังวล


กังวลในเรื่องลมที่ค่อนข้างแรงอาจพัดพาเอาสายหมอกให้จางหาย

และผมไม่อยากพลาดมันอีกครั้ง

แต่แล้วความกังวลก็พลันเปลี่ยนเป็นความสุข


เมื่อแสงแรกเริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า มองเห็นอะไรชัดเจนขึ้น

ทะเลหมอกสีขาวนวลที่นอนสงบนิ่งอยู่เบื้องล่าง


มันช่างสวยงามจับใจเหลือเกิน

นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จะอยู่ด้านบนยอดภู


แต่สำหรับผมขออยู่ในมุมนี้ดีกว่า มุมที่มองเห็นได้เด่นชัดกับคำว่า “ภูชี้ฟ้า"

เพื่อนของผมมักจะถามผมบ่อยๆ ว่าทำไมถึงชอบมาที่นี่


กับการมาเยือน 4 ครั้งในรอบปีที่ผมคิดว่ามันยังมาไม่ถึงที่สุด

ผมไม่เคยเจอทะเลหมอก เจอแสงที่สวยเท่าวันนี้เลย


ถ้าเพื่อนคนนั้นถามผมอีกว่าเจอแล้วจะยังอยากมาอีกไหม

คำตอบสำหรับผมคือ ยังอยากมาเสมอ


เพราะผมหลงรักที่นี่

ภูชี้ฟ้าในวันนี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว


มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยอะพอสมควรจนดูเบียดเสียดและอันตราย

ได้มองเห็นรอยยิ้มจากผู้คนอย่างมีความสุข


เราก็พลอยมีความสุขไปด้วย

บรรยากาศโดนรอบที่เปลี่ยนไปมากจากที่ได้เคยมาเยี่ยมเยือน


ราคาที่พักที่ปรับตัวสูงขึ้น ร้านขายของที่ระลึก ของฝากมีเพิ่มมากขึ้น

แต่ไม่เคยเลยซักครั้งที่มนต์เสน่ห์จะลดน้อยลง

อากาศที่หนาวเหน็บแต่ผมกลับรู้สึกอบอุ่นไปด้วยความสุข


คงเหมือนกับหลายๆ คนที่กำลังมีความสุข


เดินขึ้นลงไปมาอยู่หลายรอบเพื่อเก็บภาพความประทับใจให้มากที่สุด

ถ้ามีซักภาพที่เป็นธรรมชาติที่สุดก็คงต้องเป็นภาพนี้


ภาพที่ผู้คนแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ

แม้ฤดูกาลนี้จะเป็นฤดูกาลที่งดงามที่สุด


แต่ผมยังรู้สึกลึกๆ ว่าทุกฤดูกาลมีความสวยงามซ่อนอยู่ในตัวของมันเอง

ผมมาที่นี่ในทุกฤดูกาลที่ผ่านมา


ในฤดูร้อนผมไม่เจอทะเลหมอก

แต่อากาศก็หนาวเย็นไม่แตกต่างมากและฟ้าค่อนข้างใส

ฤดูฝนผมมาที่นี่แต่เจอหมอกที่ฟุ้งจนมองไม่เห็นอะไรเลย


และนั่นก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่สวยงาม

ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่ร่วม 3 ชั่วโมง


มันเป็น 3 ชั่วโมงที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ทางลงยังคงใช้เส้นทางเดิมระยะทางราว 700 เมตร


แม้จะมีคนเริ่มทยอยลงบ้าง แต่ก็ยังมีคนเริ่มเดินขึ้นสวนมาอยู่เป็นระยะๆ

เด็กน้อยชาวเขายืนร้องเพลงเพื่อหารายได้พิเศษมีให้เห็นเป็นระยะๆ


บนพื้นฐานของความสุจริตและน่าเอ็นดู น่ายกย่องในสิ่งที่พวกเธอทำ

จากลาภูชี้ฟ้า ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนๆ ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป


อะไรๆ จะเปลี่ยนแปลง แต่ภูชี้ฟ้าก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวลำดับต้นๆ เสมอ

จากภูชี้ฟ้าผมมุ่งหน้าไปยังภูชี้ดาวซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร


เส้นทางที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขา ยามนี้ยังคงมีดอกบัวตองให้เห็นเป็นระยะๆ

ปลายเดือนพฤศจิกายนล่วงเข้าสู่ธันวาคมแล้ว ดอกบัวตองก็ยังไม่ร่วงโรย


แต่กลับมีเยอะมากมายจนต้องแวะเก็บภาพความประทับใจ

บ้านร่มโพธิ์เงินคือจุดหมายปลายทางที่พวกเราต้องจอดรถทิ้งเอาไว้ สำหรับภูชี้ดาวการเดินทางขึ้นไปต้องใช้รถโฟรวิลเท่านั้น บริเวณปากทางแห่งนี้จะมีรถบริการให้เช่าโดยชาวบ้านคนท้องถิ่นที่ชำนาญทาง


ข้อแนะนำควรเช่ารถขึ้นไปดีกว่าครับเพราะทางค่อนข้างลำบากมากและลื่นบางจุด สูงชันมาก

เส้นทางที่ลัดเลาะผ่านป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ ระยะทางราว 3 กิโลเมตร รถจะมาจอดที่บริเวณจุดจอดด้านบนและต้องเริ่มต้นเดินเท้าอีกราว 400 เมตร ขึ้นไปยังจุดชมวิวภูชี้ดาวที่อยู่ด้านบน ควรเตรียมน้ำดื่ม รองเท้าที่กระชับและร่างกายให้พร้อมครับ


ด้านบนของภูขี้ดาวในวันนี้ยังคงมีทะเลหมอกให้ได้ชมแม้จะเป็นเวลาร่วม 8 โมงแล้ว


หลักเขตบ่งบอกเขตแดนอย่างชัดเจน จุดที่พวกเรายืนคือสยาม ส่วนทะเลหมอกด้านล่างคือประเทศลาว

ทิวเขาที่สลับซับซ้อนปูพรมไปด้วยทะเลหมอกสีขาวนวล


ช่างสวยงามไม่แพ้ภูชี้ฟ้าจริงๆ

ภูชี้ดาวแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงรายและกำลังได้รับการจับตามอง

ด้วยวิวทิวทัศน์และทะเลหมอกที่สวยงาม แม้การเดินทางขึ้นมาจะค่อนข้างลำบากซักนิด


แต่เมื่อมายืนตรงจุดนี้แล้ว ทำให้รู้สึกหายเหนื่อยขึ้นมาทันที

สำหรับทะเลหมอกและดินแดนของที่นี่ เชื่อมต่อไปยังภูชี้ฟ้ายังคงเป็นผืนเดียวกัน


ด้วยเหตุนี้การมาเยือนภูชี้ฟ้าต่อด้วยการขึ้นมาที่ภูชี้ดาวจึงไม่ไกลกันนัก

ดวงตะวันสาดแสงส่องกระทบผืนหมอก


แม้แสงแดดจะแรงกล้าแค่ไหนแต่ด้านบนก็ยังคงหนาวเย็น

และไม่มีทีท่าที่จะระเหือดหายของสายหมอก

ภาพบางมุมที่ดูอลังการและสวยงาม


ขุนเขาที่ยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงต่างแดน

จากจุดนี้ยังมีเส้นทางเดินให้ขึ้นไปยังจุดสูงสุดของภูชี้ดาวด้านบนได้อีก


เป็นเส้นทางเล็กๆ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินเป็นพิเศษ

เมื่อขึ้นมาด้านบนจะมีรั้วไม้ไผ่เล็กๆ กั้น แต่ไม่แข็งแรงมากนัก


มีหลักเขตบอกดินแดน และมีความสุขอยู่รอบตัวเรา 360 องศา

มองไปทางด้านซ้าย

มองไปทางด้านขวา

และมองลงไปด้านล่าง

ผมแน่ใจว่ามุมมองผ่านเลนส์ไม่ได้งดงามเทียบเท่าการมองด้วยสองตา

และผมยังแน่ใจอีกว่าที่นี่งดงามไม่แพ้ที่ไหนๆ อย่างแน่นอน

ผมลงมาสู่ด้านล่างตรงที่เราจอดรถทิ้งเอาไว้


ตรงนี้จะมีบ้านอยู่ 2-3 หลัง และมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวแบบบ้านๆ

คุณยายกำลังง่วนกับการเป่าเตาไฟต้มน้ำก๋วยเตี๋ยวอยู่พอดี

ชุมชนแถบนี้ยังเป็นชุมชนชาวจีนที่พูดไทยไม่ชัดนัก


ผมแอบดูทีวีที่เปิดทิ้งเอาไว้ก็ยังเป็นช่องสัญญาณเป็นภาษาจีน

และก๋วยเตี๋ยวของคุณยายที่ดูธรรมดาแต่ผมกลับรู้สึกอร่อยอย่างบอกไม่ถูก

จากภูชี้ดาวผมเดินทางมายังภูหลงถังซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 30 กว่ากิโลเมตร


ในเขตอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เส้นทางที่ลัดเลาะไต่ไปตามสันเขา

ทำให้คิดถึงเส้นทางลอยฟ้าของจังหวัดน่านขึ้นมาทันที

แม้ถนนจะราดยางค่อนข้างดี แต่ก็สูงชันพอสมควร ควรระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ

ถนนบางช่วงสวยงามทีเดียวก่อนถึงภูหลงถัง

“ภูหลงถัง สระมังกร ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์" ซุ้มประตูตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นเมื่อก้าวเข้ามาในดินแดนแห่งนี้

ในอดีตดินแดนแถบนี้มีการสู้รบกันอย่างยาวนานระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลไทย


ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่9

พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในปี 2525 และทรงพระทับรอยพระบาทเอาไว้ ณ ฐานปฏิบัติการพญาพิภักดิ์แห่งนี้

ทำให้ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แสดงความจงรักภักดีด้วยการเชิญธงชาติไทยขึ้นเหนือฐานที่มั่นของตนทุกแห่ง และส่งมอบอาวุธ

ยินยอมพร้อมเข้าร่วมพัฒนาชาติไทยในการต่อมา

“สระน้ำมังกร" เป็นสระน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวเขาเผ่าม้งเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของมังกร


และให้ความเคารพเป็นอย่างสูง

“ดอยพญาพิภักดิ์" เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในการสู้รบในอดีต


ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติพญาพิภักดิ์ โดยมีศาลาประทับรอยพระบาทตั้งอยู่บริเวณนี้รวมไปถึงอาคารพิพิธภัณฑ์รูปภาพประวัติศาสตร์เป็นการรวบรวมรูปภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ตลอดจนภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเสด็จฯ เยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญและพสกนิกร ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525

โดยรอบบริเวณสามารถชมวิวทิวทัศน์ในมุมสูงได้อย่างงดงามตระการตา

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดเชียงราย ขอบคุณสายการบิน NOKAIR ขอบคุณบริษัท AVIS และขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเดินทางไปเที่ยวกับบันทึกการเดินทางในชุดนี้ของผม แล้วพบกันใหม่ในทริปต่อไป สวัสดีครับ



อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางในแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL https://www.facebook.com/PEESAT.PANTIP

ความคิดเห็น