"ไปเที่ยวกันไหม ไปดูว่านครศรีฯ มีไหรนิ"

นครศรีธรรมราช : เมืองคอน เมืองเเห่งประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีความเจริญทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ในส่วนของธรรมชาติก็ไม่ธรรมดานะ มีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เลือกมากมาย ด้วยความสมบูรณ์ทั้งสองด้าน นครศรีธรรมชาติจึงเคยได้ฉายาว่า นครฯ สองธรรม คือธรรมะและธรรมชาติ ด้วยสไตล์ทริปของ Local Alike เป็นการนำเสนอการท่องเที่ยววิถีไทย ในมุมมอง ที่แตกต่างออกไป มักจะเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน ภายใต้แคมเปญ 'นครศรีฯ มีไหรนิ' เราเองก็อยากรู้ จะรออะไรอยู่ละแก เก็บเป๋าๆ



'ตำนานเมืองคล้องช้าง น้ำยางพันธุ์ดี
มากมีผลไม้ พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์'

ที่นี่ 'อำเภอช้างกลาง' ชุมชนในเส้นทางแรกของเรา#นครศรีฯมีไหรนิ


หมุดหมายเส้นทางเเรกของเราอยู่ที่ ‘กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย บ้านคลองปีกเหนือ’ คุณลุงเล่าว่า ผึ้งพวกนี้เป็นผึ้งอพยพตามฤดูกาล มันอพยพลงมาจากจันทบุรี ลงมาถึงนครศรีฯที่นี่เลย คุณน้าอยากให้เราได้ลองชิม น้ำผึ้งแท้จากรัง พร้อมกับสาธิตการเก็บรังผึ้ง ทำให้เราและชาวคณะ ต้องร่นถอยเว้นระยะห่างออกมา ราว 0.10 กิโลเมตร รังผึ้งที่ได้จะมีหน้าตาเป็นแบบนี้แล น้ำผึ้งหวานๆ ก็จะอยู่ภายในรังนี้ ทำไมน้องผึ้งสามารถทำรังได้เนี๊ยบขนาดนี้ เหมือน 3D ปริ้นเลย เท่ากันทุกช่อง เจ๋งจรุง

พอยกรังผึ้งขึ้นส่องแดดเท่านั้นแหละ หูยยยย ย ย
มีความโปร่งแสง น้ำผึ้งสีทองสลวยสวยเกร๋

ชุมชนเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้จากรังน้อง มาเป็นน้ำผึ้งแท้จากรวงสดๆ

ก็จะคั้นน้ำผึ้งออกมาแบบนี้เลย หืออออ อยากได้สดได้แท้กว่านี้ก็ต้องเอามาจากตัวผึ้งแล้วแหละ

มึให้เราได้ลองชิมกันด้วย มันหวานและหอมมากมายก่ายกอง แต่สูตรเด็ดมันอยู่ ณ จุดๆ นี้

'คุณน้าครรชิต' ‘กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย บ้านคลองปีกเหนือ’

กินน้ำผึ้งหวานๆ แล้วเราต้องมากินคาวต่อ เราเดินทางมายัง 'กลุ่มสวนขันเกษตรยั่งยืน' พี่ป้าน้าอา ต้อนรับเราด้วยมื้อเที่ยงแบบพื้นบ้าน เป็นอาหารใต้มื้อแรกของเราชาวคณะ รสจัดผิดกับข้าวแกงใต้ในกทม.ไปมากโข

ชั่วโมงงานฝีมือ ศิลปะการมัดย้อม เริ่ม!! มัดไปตามสไตล์ จะได้ลวดลายอย่างไรต้องรอลุ้นไปด้วยกัน ส่วนไหนไม่อยากได้โดนสีย้อมก็มัดให้เเน่นๆ จากนั้นนำเอาผ้าที่มัดแล้วลงไปย้อมร้อน ในหม้อที่มีสีย้อมจากธรรมชาติ ตั้งไฟร้อนๆ คอยไว้ก่อนแล้ว ย้อมร้อนทิ้งไว้สักครู่ เราก็เอาผ้าขึ้นมา ล้างด้วยน้ำเปล่า แล้วค่อยๆ คลี่ผ้าออกลุ้นไปกับลายที่จะได้


ทาดาาาาาาา เป็นไง ลายที่ทำเองลายเดียวของโลกก็ว่าได้

'กลุ่มสวนขันเกษตรยั่งยืน' ของทีมคุณป้า แลผู้ใหญ่บ้าน ผู้หนับหนุนชุมชนอย่างเป็นทางการ

ลำธารระหว่างทาง เต็มไปด้วยก้อนหินกลมๆ เล็กใหญ่ลดหลั่นกันไปเรื่อยๆ น้ำไหลจ๊อกๆ สีใสเย็นจับใจทีเดียวเชียว

ตรงจุดนี้มีเป็นฝายกักเก็บน้ำ เป็นสะพานคอนกรีตข้ามลำธารแห่งนี้ มีประตูน้ำคอยกั้นชะลอน้ำอยู่ด้วย


สะพานบนฝาย ไปอยู่ตรงกลางให้ราวสะพานนำสายตาเข้าไปหานางแบบ(จำยอม) มันก็จะได้ภาพแนวๆ นี้ นี่ถ้าเงยหน้ามองฟ้าเสียหน่อย มันก็จะชิคชิคคูนคูน


สถานีต่อมาเป็น 'วัดสวนขัน' เข้ากราบจิตวิญญาณ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ภายในกุฏิของท่าน ที่ยังคงเก็บข้าวของเครื่องใช้ ไว้เหมือนอย่างเดิม


ภายในอาคารเดียวกัน ก็จัดข้าวของเครื่องใช้ของท่าน ถูกจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได


สถานีถัดมา 'ขนมลา' ขนมหวานพื้นบ้านของภาคใต้นิ เป็นขนมหนึ่งในห้าชนิด ที่ทำขึ้นเพื่อเอาไปถวายพระในงานบุญสารทเดือนสิบ

สถานีนี้เราต้องลงมือทำ ก่อนที่จะได้ชิม

เริ่มด้วยการตั้งสติให้มั่น ผ่อนลมหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆ ค่อยๆ โรยแป้งลงบนกระทะ วนๆ สานๆ ให้เป็นแผ่นๆ ทิ้งไว้ครู่เดียวแป้งก็สุก แล้วใช้ส้อมพับตลบแป้งให้เป็นชิ้น

กินนนน

และนี่คือมือโปรขนมลาของชุมชน ควบคุมการผลิดอย่างใกล้ชิด โดยโปรขนมลารุ่นแรก จากรุ่นสู่รุ่น

สถานีต่อมา 'วัดราษฏร์บำรุง' ภายในวัดกำลังจัดสร้าง รูปหล่อพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ความสูงกว่า 25 เมตร การก่อสร้างเกิดจากความเคารพและความศรัทธาที่มีต่อพ่อท่านคล้าย ให้เราได้กราบบารมีของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

สถานีนี้ 'วัดธาตุน้อย' องค์เจดีย์ทรงลังกาตั้งตระหง่านอยู่กลางวัด เป็นองค์เจดีย์แบบเดียวกันกับ องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เช่นนี้แลจึงเป็นที่มาของวัดธาตุน้อย ภายในเจดีย์บรรจุสรีระสังขารของ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

โดยสรีระสังขารถูกบรรจุอยู่ภายในโลงแก้ว สังขารพ่อท่านไม่เน่าเปื่อย เชื่อกันว่าแห้งและแข็งเป็นหิน ให้เราได้กราบสรีระของท่าน

เป็นอันครบถ้วนสมบูรณ์ ในการกราบสักการะ สิ่งอันเป็นมงคลทั้งสามของ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ คือ จิตวิญญาณ บารมี สรีระ

เราเดินทางมายลเเสงเย็นกันที่ ‘เขาเหมน รีสอร์ท’ เป็นที่พักแลร้านอาหารพื้นเมืองปักต์ใต้แท้ๆ แล้วยังเป็นจุกชมวิว ‘เขาเหมน’ ภูเขาที่ได้ชื่อว่า ‘ฟูจิยาม่า เมืองไทย’ ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เขาลูกนี้มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและพักค้างแรมได้ หึหึหึ เราจักต้องได้พบกันแน่นวล รอพี่ก่อนนะ

เช้าวันใหม่ตื่นตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ ออกมาตลาดเช้าหน้า ‘สถานีรถไฟคลองจันดี’ เป็นตลาดสด มีทั้งอาหารคาวหวาน ให้ได้ลิ้มลอง น้อง น้องมาขาย ‘กระท้อนทรงเครื่อง’ วันนี้โรงเรียนหยุด น้องมาช่วยแม่ขายของ

ปู๊นนนนนน เสียงหวูดรถไฟดังลั่น ไม่นานรถไฟก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าเทียบชานชลา ภายในสถานีรถไฟ เคาท์เตอร์ขายตั๋วและส่วนพักคอย ยังคงเหมือนเดิม เหมือนตอนที่เรายังเป็นเด็กน้อย ถ้าชวงนั้นใครมีโอกาสได้ใช้บริการ เชื่อว่าจะต้องเคยขึ้นไปยืนบนตาชั่งเหล็กใหญ่ๆ ที่เขาเอาไว้ชั่งของ แน่ๆ และนี่ตลาดเช้ามองจากตัวสถานี

ตอนยังเป็นเด็กน้อย เวลาที่เห็นรถไฟแล่นผ่าน โบกมือให้รถไฟกันไหม

นี่เจ้าถิ่นเขาแหละ ปักษ์ใต้เมืองสะตอ เราจะไม่เจอ ‘สะตอ’ ในตลาดสดได้เยื่องไร ‘ลูกเนียง’ อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ มันเป็นขั้นกว่าของสะตอ ‘ปลีกล้วย’ ที่นี่เรียกว่า ‘หัวปลี’ เครื่องเคียงผัดไทยชั้นดี ที่นี่เคียงได้กับขนมจีน ข้าวยำ มากกว่านั้นยังสามารถเป็นวัตถุดิบ ในการต้มยำทำเเกงได้ ตามสะดวก ‘ผักกูด’ อันนี้แนะนำเลย เมื่อมันถูกแปรเปลี่ยนเป็น ผักกูดลวกกะทิ เสริฟพร้อมกับน้ำพริกกะปิแลปลาทูทอด ตามด้วยข้าวสวยร้อนๆ นะ แหม๊ะะะ

‘ขนมหวัก’ เป็นการเอาแป้งสอดไส้หมูสับทรงเครื่อง เอามาทอด เราว่าคล้ายซาลาเปาทอด โดนที่เขาจะเทวัตถุดิบลงใน ‘จวัก’ แล้วเอาลงไปทอดในน้ำมันเดือดๆ ขนมมันก็จะมีรูปร่างเหมือนพื้นที่ภายในจวัก นั่นเองเองเอง

ปล.คำว่า ‘จวัก’ ในภาษาใต้ จะเรียกสั้นๆ ว่า ‘หวัก’


ภายในของหนมหวักเขาละ มาพร้อมน้ำจิ้มหวานอมเปรี้ยม แค่เห็นภาพ เราก็สามารถจำรสชาติของมันได้ชัดเจนนนน


เดินดุ่มๆ มาครึ่งทางแล้ว ในท้องตีกลองเป่าร้อง เราเลยแวะฝากท้องไว้ที่ ‘จันดีโอชา’ ร้านน้ำชาสภากาแฟเก่าแก่ แห่งชุมชนคลองจันดี เปิดขายมานมนานสามพันปี นานไป!!

ร้านใช้กระป๋องนมข้นหวาน มาทำเป็นแก้วชากาแฟ ร้อยเชือกพร้อมหิ้ว รักในจุดนี้

คุณลุงแซ่ข้อ เจ้าของร้านยังคงชงเองขายเองคุยเอง กับลูกค้าประจำและขาจรอยู่ทุกวัน แต่เราต้องพูดดังหน่อยนะ คุณลุงไม่ค่อยได้ยิน

ถัดออกมาจากสถานีรถไฟไม่เกิน 5 นาที มีสะพานรถไฟ มีป้ายระบุไว้ว่า ‘สะพานโค้ง 100 ปี จันดี’ ชาวคณะมีหรือที่จะพลาดจุดนี้กัน

เจ๊ส้มบอกว่า “ถ่ายชั้นด้วยถ่ายชั้นด้วย”

เดินทางออกมาจากคลองจันดี มาพักฝากท้องมื้อสายกันที่นี่ร้าน ‘เรินเรา’ เป็นร้านอาหารที่คนท้องถิ่นแนะนำให้มาลอง ‘บ๊ะกุ๊ดเต๋’ ให้จงได้

สดๆ จากเตาเลย


ก่อนจะกินต้องทำไง แหมมมม ทำเป็นลืมมม อะอะ เอามีจับตะเกียบเตรียมคีบนะ ละก็ยิ้มด้วยยิ้มเยอะๆ

บ๊ะกุ๊ตเต๋ที่นี่เเจ่มแมวจริงๆ นะ เครื่องแน่นมากกกก บิดทีนี่ “บริ๊นนนนน นน” ที่สำคัญเขาบอกว่า ราคาต่อหน่วยคือ 70บาท แต่พอเอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่อะ มัน 140บาทอะ คือแบบ

เรามีเบิ้ลอะแก แฮะๆ

สุดสายเส้นทาง ‘ช้างกลาง’ ต้องกราบขอบพระคุณ ขุ่นพี่เก๋ เนวิเกเตอร์ช้างกลางของเรา เป็นอย่างสูง


'เมืองมังคุดหวาน หมู่บ้านพัฒนา ถ้ำผาสวยงาม
น้ำตกกะโรมตระหง่าน สืบตำนานอู่ข้าวอู่น้ำ'

ที่นี่ 'อำเภอลานสกา' ชุมชนในเส้นทางที่สองและวันที่สองของเรา

เริ่มกันที่นี่เลย 'วัดเจดีย์' วัดเก่าแก่ของอำเภอลานสกา เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวบ้าน

ภายในวัดประดิษฐาน 'พระมังคุด' พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ

สถานีนี้เราจะมาเยี่ยมชม 'ต้นมังคุดโบราณ' ต้นมังคุดเก่าแก่ที่สุดของอำเภอลานสกา อายุกว่า 800 ปี

ดูขนาดความสูงของคุณปู่มังคุดสิ โหว ว ว


ต่อด้วยการเยี่ยมชม 'สวนมังคุดโบราณ' นำชมโดย 'คุณลุงเชษฐ เจ้าของสวนแห่งนี้เอง

เป็นสวนมังคุดโบราณ อายุเฉลี่ยของต้นมังคุด 100 ปีขึ้นไปแทบทั้งสวนเลย ดูขนาดและวความสูงนี่สิ เท่าที่เคยไปสวนมังคุดมา ต้นมันจะสูงไม่เกิน 5 เมตร แต่ที่นี่ อื้อหือ

เดินเที่ยวเล่นรอบสวน ท้องก็ร้องหิว กลับมาถึง 'ขนำ' กลางสวน คุณป้าก็จัดสำรับมื้อเที่ยงรอไว้แล้ว

(ขนำ แปลว่า กระท่อม หรือเพิงพักที่สร้างไว้ในทุ่งนา หรือในสวน)

เสียงลือเสียงเล่าในความเป็น 'อาหารปักษ์ใต้' จะเด่นด้วยรสชาติที่จัดจ้าน เข้าใจว่าจะต้องเผ็ดร้อนไปเสียทุกเมนู แต่พอได้ลองชิมสำรับอาหารใต้แบบพื้นบ้านมื้อนี้ ก็ถึงบางอ้อเลย สำรับที่เจ๋งจะมีจานหลักที่เผ็ดร้อน จานรองให้ความเค็ม รองลงมาหวานอมเปรี้ยว ผสมผสานตัดรสไปมา มันจึงไม่เผ็ดมากจนเกินกว่าจะรับรู้รส


'ดอกดาหลา' หรือ 'ดอกกาหลา' พืชกระกูลเดียวกันกับ ขิงและข่า รสชาติอมเปรี้ยว ฝาดๆ เฝื่อนๆ มักจะเอาดอกดาหลามาหั่นฝอยใส่ในข้าวยำ


อิ่มท้องแล้วเราก็มาต่อกันที่ 'วังโบราณ' ว่ากันว่าในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้เกิดโรคระบาด พระองค์จึงอพยพประชากรออกจากเมือง ตามหลักฐานปรากฏว่านี้มาที่แห่งนี้ และเมื่อโรคระบาดหมดไป พระองค์จึงเสด็จกลับไปยังเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการถาว

สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็น 'วัดน้ำรอบ' แต่ก็ได้ย้ายวัดออกไป ต่อมาพระครูขาบขึงได้บูรณะขึ้นมาใหม่ และได้สร้างพระรูปจำลององค์ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช มาประดิษฐานไว้

พระรูปจำลององค์ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ภายในวังโบราณ


ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที เราก็เดินทางมาถึง 'น้ำตกวังไทร' ลำธารน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและแนวไม้เขียวชะอิ่ม บรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ นั่งชิว นี่ได้หนังสือเล่มโปรดสักเล่มนะ ยาวๆ ไป

และนี่คือสวนน้ำแบบเปิดสำหรับเด็กๆ ที่นี่ ตู้มมม มมม!! อยากจิโดดตามลงไป กลัวแต่น้ำในลำธารจะกระฉอกจนแห้งขอด

เมื่อเที่ยวเล่นจนอิ่มใจ ท้องก็เริ่มจะโวยวาย จึงต้องพุ่งตัวมาที่ 'ตลาดสวนสร้างบุญ' ตลาดที่ชาวบ้านมาออกร้านขายอาหารและของที่ระลึกพื้นเมือง

เริ่มด้วยหนมก่อนเลย

แล้วก็ตู้ม ม ม มม ม ด้วยอารมณ์โมโหหิว

ตลาดแทรกตัวอยู่ใต้ร่มไม้ ภายในตลาดจัดให้มีที่นั่งชิวๆ ใต้ร่มไม้ เหยดีนะ อิ่มดี

สุดสายเส้นทาง ‘ลานสกา’ เราต้องกราบขอบพระคุณ พี่ศักดิ์ เป็นอย่างสูง

มาถึงนครศรีฯ ได้เสพธรรมชาติแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะสัมผัสในส่วนของธรรมะ ชุมชนในเส้นทางที่สามในวันที่สามของเรา

ที่นี่ 'วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร' มักจะเรียกกันว่า 'วัดพระธาตุ' สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาอย่างยาวนาน ภายใน 'พระบรมธาตุเจดีย์' เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา ส่วนปลียอด มีการหุ้มด้วยแผ่นทองคำ ยอดบนสุดเป็นกรงทรงข้าวบิณฑ์ ถักจากลูกปัดร้อยเข้ากันด้วยเส้นลวดทองคำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

เดินผ่านระเบียงคตรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์เข้ามา จะพบกับ เจดีย์รายราวๆ 90 องค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กเหมือนองค์พระบรมธาตุเจดีย์ย่อส่วนลงมา ในส่วนนี้จะมีพื้นที่ให้ผู้ศรัทธากราบไหว้บูชา

พิธีปฏิบัติที่นิยมคือ 'การแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ' เชื่อกันว่าใครได้นำผ้าขึ้นพระธาตุและขอพรในเรื่องใด ก็จะสมหวังในสิ่งนั้น ในช่วงวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา จะมีงานแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ เหมือนเป็นงานใหญ่ประจำปีของเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ศรัทธาจะมาร่วมกันนี้กันเยอะมาก

เจอป้ายนี้ทำเอางงอยู่สองนาที คำว่า 'ดับ' ในที่นี้ อาจย่อมาจากคำว่า 'ประดับตกแต่ง' โดยรวมแล้วต้องการสื่อสารว่า 'ห้ามเข้ามาจัดหรือเก็บรองเท้า โดยเด็ดขาด' นั่นเอง

อันนี้มีโอกาสต้องลอง 'มังคุดคัด' มันคือมังคุดที่ยังไม่สุก ปอกเปลือกและยางออก แล้วเอามังคุดที่ได้ไปแช่น้ำปูนใส เสียบไม้พร้อมดื่ม

นึกถึงนครศรีธรรมราช ของขึ้นชื่ออีกอย่างที่ไม่ควรพลาดนั่นคือเครื่องเงิน เราจึงมาที่ 'กลุ่มนครหัตถกรรม' สถานที่ผลิตและสืบสานวิชาช่างศิลป์ชั้นสูง เครื่องถมเงิน และ ครูนิคม ครูช่างเครื่องถม ผู้สืบสานวิชาช่างศิลป์ไทยชั้นสูงนี้มากว่า 30 ปี

ตัวอย่างกำไลเงิน ที่ตอกลายลงไปแล้ว เมื่อตอกลายลงไปแล้ว ต้องเอาไปถมดำ จากนั้นเอามาขัดให้เนื้อโลหะเรียบเนียนเสมอกัน มันก็จะเงาๆ งามๆ แบบนี้ แล้วก็มีให้เราได้ลองทำด้วย จะได้แผ่นโลหะคนละหนึ่งแผ่น ให้เราได้สร้างงานเครื่องถมที่มีชิ้นเดียวในโลก ด้วยฝีมือเรา เป็นของที่ระลึกติดมือกลับบ้าน เก๋ๆ

ด้วยความปราณีตและตั้งใจ
“ปั๊ก ปักปัก ปั๊ก อู้ยยย” ตอกโดนมือ แฮะๆ

เราก็ไม่พลาดนะ จัดสักหน่อย เย่เย่

ในส่วนของหน้าร้าน ก็มีให้สายชอปได้จัดหนัก เครื่องเงินกับนครศรีเป็นของคู่กัน คุณภาพและราคา น่ารักน่าคบหา

นี่เลย 'กาหยูคาราเมล' ขนมพื้นบ้านเมืองใต้แหละ มันคือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ฉาบด้วยน้ำตาล รสชาติหวานมันหนุบหนับกรุปๆ

(ในภาคใต้จะเรียก 'เม็ดมะม่วงหิมพานต์' ว่า หัวครก เม็ดล่อ ยาร่วง ท้ายล่อ กาหยูฯ )

แล้วนี่ด้วย 'จำปาดะทอด' ผลไม้ท้องถิ่นของภาคใต้ เป็นขั้นกว่าของขนุน ทั้งกลิ่นและรสชาติ เขาเปลี่ยนผลไม้มาเป็นขนม โดยการเอามาชุบแป้งทอด แป้งภายนอกจะกรอบ เนื้อในนิ่มนุ่มหวาน เม็ดสุกหวานมัน ต้องลอง

ได้ลองทำงานหัตถศิลป์ชั้นสูงแล้ว เราจะมาต่อกันที่งานศิลปะวัฒนธรรมอันเลื่องชื่อของปักษ์ใต้ เราเดินทางมาที่ 'บ้านศิลปินแห่งชาติ หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน' บ้านครูหนังตะลุงและครูช่างสลักรูปหนัง ฝีมือชั้นยอดแห่งเมืองนครฯ

ในปัจจุบัน 'ครูวาที ทรัพย์สิน' ครูช่างหนังตะลุงรุ่นที่สองสืบทอดเจตนารมณ์ ในการสืบสานและรักษาศิลปะวัฒนธรรมนี้เอาไว้ จาก 'ครูสุชาติ ทรัพย์สิน' ผู้เป็นพ่อ

ครูวาที เริ่มเล่าถึงประวัติความเป็นมา พร้อมเปรียบเทียบหนังตะลุงไทยกับหนังตลุงต่างชาติ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ครูวาที บอกว่าเมื่อเข้ามาในบ้านศิลปินแห่งนี้ เราจะได้เรียนรู้สิ่งสามอย่าง คือ พิพิธภัณฑ์รูปหนังโบราณ การแกะหนังตะลุง และการแสดงหนังตะลุง

ครูวาที เป็นผู้เชิดและขับกลอนหนังตะลุงเอง โดยปกติหนังตะลุงจะเล่นเรื่องละครพื้นบ้าน เหตุบ้านการเมือง การดำเนินเรื่องก็จะยิงมุกตลกอยู่แทบทุกฉากทุกตอน เพื่อความเพลิดเพลินในการรับชม ขั้นตอนการเล่นหนังตะลุง เริ่มตั้งแต่ การตั้งเครื่อง แตกแผง เบิกโรง ลงโรง ออกฤาษี ออกรูปพระอิศวร ขับร้องบทเกี้ยวจอ แล้วจึงเริ่มแสดงเป็นเรื่องราว

'เติ้ล' และ 'ภูมิ' เด็กน้อยที่หลงรักในมนต์เสน่ห์แห่งหนังตะลุง เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของครูวาที ใช้เวลาที่ว่างจากการเรียน มาฝึกฝนตั้งแต่การตอกสลักรูปหนัง การขับกลอนหนัง การเล่นดนตรีประกอบ แววตาทั้งคู่ดูมุ่งมั่นและภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำเป็นอย่างมาก

ถัดมาเป็นส่วน 'พิพิธภัณฑ์รูปหนังโบราณ' บริเวณโถงทางเข้า มีภาพครูสุชาติและครูวาที ขณะที่เข้าเฝ้าเชิดหนังตะลุงถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ดูเป็นมุมแห่งความภาคภูมิ ด้านบนชั้นสอง ถูกจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง จัดแสดงรูปหนังและอุปกรณ์การเเสดงให้เราได้ชม จัดแสดงรูปหนังตะลุงที่มีอายุ 50-100ปี รูปหนังตลุงจากต่างชาติ

ส่วนที่สามคือ การแกะหนังตะลุง ครูวาทีสาธิตการตอกรูปหนังตะลุง นิยมใช้หนังวัวหนังควาย มีความหนาและเหนียวทนทาน จากนั้นนำมาฟอกสีจะมีลักษณะโปร่งแสง ลงสีแล้วจะให้สีสวยงามไม่ทึบ มันเป็นงานที่ต้องการความปราณีต วิจิตรบรรจง แต่ก็ต้องใช้เเรงใช้น้ำหนักมือลงค้อน

เห็นครูลงค้อน ชาวคณะเราก็อยากที่จะลองบ้าง ครูก็มีรูปหนังกระดาษเตรียมไว้ในเด็กและเราชาวคณะได้ลองมือลองแรง

ครั้งที่ครูสุชาติเข้าเฝ้าและถวายรูปหนังตะลุงให้ในหลวง พระองค์รับสั่งว่า
"หนังตะลุงเป็นศิลปวัฒนธรรม ช่วยถ่ายทอด อย่าหวงวิชา"
หลังจากได้รับรับสั่งเถิดไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ครูสุชาติและครูวาที ก็เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมรูปหนังโบราณมาให้ได้ศึกษา ปรับบ้านให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้ที่อยากได้วิชาอยากฝากตัวเป็นศิษย์ งานเหล่านี้ครูวาทีได้ทำตามคำที่พ่อได้สอนไว้ ว่า

'ทำงานเพื่อตัว หมองมัวชั่วชีวิต
ทำงานเพื่ออุทิศ สิ้นชีวิตยังอยู่'

ครูวาที ทรัพย์สิน


สามารถแวะไปเยี่ยมเยือนแลพูดคุยกันกับเราได้ที่

https://www.facebook.com/whenigoout/


แค่อยากออกไป

 วันพฤหัสที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 09.30 น.

ความคิดเห็น