ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พนมกุเลนได้ชื่อว่า เป็นขุนเขาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของประเทศกัมพูชา กล่าวกันว่า ปราสาททุกหลังในดินแดนกัมพูชา โดยเฉพาะที่เมืองเสียมเรียบซึ่งถือกันว่าเป็น “ดินแดนแห่งศิลานคร” เพราะว่าสร้างขึ้นมาด้วยก้อนหินนั้นก้อนหินทุกก้อนที่นำมาสร้างขึ้นเป็นปราสาท พระราชวัง และวิหารต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้นำมาจากเทือกเขาพนมกุเลนทั้งสิ้น

ทั้งนี้เนื่องจากว่า เขาพนมกุเลน เปรียบเหมือนดั่งขุนเขาไกรลาสหรือหิมพานต์ของอินเดียโบราณ เนื่องจากอารยธรรมต่างๆที่เข้ามาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดินขอมโบราณนั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับมาจากอาณาจักรศรีวิชัยโบราณ จนกลายมาเป็นอาณาจักรไศเลนทร์แห่งกัมพูชา

สำหรับจังหวัดเสียมเรียบของเขมรนั้น นอกจากพนมกุเลนแล้วยังมีขุนเขาที่สูงใหญ่อยู่อีกสามแห่งด้วยกันนั่นก็คือ พนมบาแค็งพนมกรอม และพนมบก หากแต่ภูเขาทั้งสามแห่งนั้น ไม่ได้ใหญ่โตหรือสูงเสียดฟ้าเหมือนดั่งพนมกุเลนที่ว่ามา

ภูเขาพนมบาแค็งนั้น พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงเลือกเขาลูกนี้สร้างศาสนสถานประจำเมืองหลวงขึ้นมา เรียกว่า ปราสาทบาแค็ง ในขณะเดียวกัน ทางด้านพนมบก และพนมกรอมนั้น พระองค์ก็โปรดให้สร้างศาสนสถานขึ้นมาเป็นปราสาทสามหลัง เพื่อถวายแด่พระศิวะ พระวิษณุและพระพรหม ซึ่งเป็นเทพเจ้าของชาวฮินดูทั้งปวง

อย่างที่เคยเล่าเอาไว้แล้ว เมื่อตอนที่ผ่านมาว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงย้ายราชธานีมายัง “มเหนทรบรรพต” หรือ “พนมกุเลน” ในปัจจุบันนี้ เพราะถือว่าที่นี่เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของยุคเทวราชา มีชัยภูมิที่ดี สูงเสียดฟ้า และเป็นที่ตั้งของขุนเขาที่เป็นต้นน้ำสายสำคัญ พระองค์จงทรงเนรมิตให้พนมกุเลนเป็น “มเหนทรบรรพต” ที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามลัทธิราชา ก่อนที่จะกลับไปยังหริหราลัย และสิ้นชีพตักษัยที่นั่น และหลังจากนั้นก็ไม่มีกษัตริย์ ผู้ใดกลับมาครองมเหนทรบรรพตอีกจนดินแดนแห่งนี้ถูกลืมเลือนไปในที่สุด

จนเมื่อนครวัด-นครธม ได้ถูกค้นพบเมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา ประมาณปี พ.ศ.2403 นั้น ฝรั่งเศสก็ได้เข้าครอบครองแผ่นดินนี้ และพยายามที่จะฟื้นฟูขึ้นมาจนกระทั่งกัมพูชาได้รับเอกราชกลับคืนมา และมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินกันเองตลอดมาจนกระทั่งเขมรแดงสามารถเข้ายึดครองและล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไป

แม้ว่าในสมัยหลังๆมานั้น ฝ่ายรัฐบาลเฮง สัมริน ได้ยึดอำนาจกลับคืนมาจากเขมรแดงแล้วก็ตาม หากแต่อิทธิพลทั้งหลายที่ฝ่ายเขมรแดงได้ยึดเอาชัยภูมิในเสียมเรียบเอาไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะเทือกเขาพนมกุเลนที่มีความยาวไปกว่าครึ่งค่อนประเทศนั้น ทำให้เทือกเขาแห่งนี้ ไม่มีโอกาสที่จะเปิดตัวเองออกสู่สายตาของนานาประเทศเสียที

กล่าวกันว่า สาเหตุที่เขมรแดงสามารถยึดเอาชัยภูมิบนเทือกเขาพนมกุเลนอยู่ได้นานนั้น ก็เนื่องมาจากการที่ทหารป่าเหล่านี้ ทุกครั้งที่ถอยหนีขึ้นสู่ยอดเขา ก็จะหายลับไป ไม่มีใครสามารถค้นหาได้พบ

จนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลของเขมรได้ประสานสัมพันธ์กันทุกฝ่าย ยอดเขาพนมกุเลนหรือมเหนทรบรรพตจึงปรากฏออกสู่สายตาอาณาประชาคมและมีการสำรวจค้นพบว่า บนยอดเขาแห่งนี้ คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเขมรยุคเทวราชา ซึ่งยังคงมีอำนาจลี้ลับคงอยู่แม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม

เขมรแดงบางคนซึ่งปัจจุบันนี้ กลายเป็นชาวบ้าน อาศัยอยู่แถวเทือกเขาพนมกุเลน และทำหน้าที่เป็นคนนำทางนำนักท่องเที่ยวขึ้นชมยอดเขาที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เล่าว่า ด้วยกฎบัญญัติของเขมรแดงที่ตั้งเอาไว้นั้น ทหารแดงทุกคนจะไม่เคร่งครัดยึดถือปฏิบัติเกี่ยวกับศาสนา หากแต่ถือว่า ชุมชนคือสิ่งสำคัญ แต่ทั้งนี้ และทั้งนั้น ทุกคนก็ยังยึดมั่น เกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งต่างๆอยู่ในหัวใจ

“ หลายครั้งที่พวกเราถูกฝ่ายรัฐบาลไล่ยิงจนล่าถอยมาถึงพนมกุเลน เราจะรู้สึกว่า ได้กลับมาสู่ความปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อมาถึงที่นี่ ต้นไม้ที่ขึ้นหนาทึบ กับภูเขาที่ลี้ลับ ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ สัมผัสได้ถึงความปลอดภัย และเรารู้ว่า จะไม่มีใครตาย ถ้าหากได้กลับมาถึงที่นี่”

คนนำทางท้องถิ่นชาวเขมรที่พนมกุเลนเล่าถึงเรื่องราวในความเชื่อของพวกเขาให้เราได้ฟัง

เขาบอกว่าน้ำในลำธารที่พนมกุเลนสำหรับพวกเขานั้น มีความสำคัญมากกว่าน้ำดื่มธรรมดา หากแต่ว่าสามารถนำมาชะล้างบาดแผลในร่างกายและสามารถทำให้แผลที่บาดเจ็บนั้นหายวันหายคืน

“ น้ำในลำธารที่กบาลสะเปียนเป็นยา ที่นั่นผ่านการทำพิธีตลอดเวลา จากเทพเจ้าที่อยู่ในภูเขา และไหลผ่านศิวลึงค์ที่แกะสลักอยู่ใต้น้ำถึงหนึ่งพันองค์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสร้างขึ้นมา เพื่อทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์สมัยของพระองค์ และคงหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้”

คนนำทางเล่าว่า ทุกวันนี้ชาวกัมพูชาที่เชื่อถือในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของพนมกุเลนยังคงเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ และนำเอาขวด ภาชนะมาบรรจุน้ำมนต์กลับไป แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้วนั้น หากแต่พวกเขาเชื่อกันว่าเทพเจ้ายังคงทำพิธีนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่อย่างนั้น จนป่านนี้กว่าหนึ่งพันปีที่ผ่านมา ภาพแกะสลักใต้น้ำทั้งหลายก็คงจะถูกทำลายเสื่อมสลายไปหมดแล้ว

นอกจากจะมีปราสาทโบราณซึ่งเป็นศาสนสถานของชาวฮินดูสมัยก่อนตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้ และมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมสร้างน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติที่ลำธารในกบาลสะเปียนแล้วนั้น บนยอดเขาขนมกุเลน ก็ยังมีวัดทางพุทธศาสนา เรียกว่า “วัดพระองค์ธม” ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงสุดบนขุนเขาแห่งนี้ด้วย

สำหรับการสร้างวัดพระองค์ธมนั้นกล่าวกันว่า เมื่อสมัย พ.ศ.1701 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าศรีสุคณธบุตรและพระเจ้าองค์จันทร์ที่ 1 บรรดาชาวเมืองพบว่า ได้มีลำแสงประหลาด จากขุนเขาพนมกุเลนหรือเหนทรบรรพตส่องแสงเจิดจ้าลงมายังเมืองพระนครเบื้องล่างให้เป็นที่อัศจรรย์ และเชื่อว่านั่นคือแสงบารมีจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่บนยอดเขาแห่งนี้

ต่อมาจึงได้มีการส่งคนขึ้นไปสำรวจบนยอดเขาตรงจุดที่ชาวเมืองพบว่าเป็นสถานที่ปรากฎแสงประหลาดที่สาดส่องลงมา จึงค้นพบว่ามี ก้อนหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่บนเชิงผาบนยอดเขาพนมกุเลนตรงจุดนั้น

ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอำนาจของเทพยดา ชาวเมืองทั้งหลายจึงได้ช่วยกันแกะสลักก้อนหินก้อนนั้นขึ้นมาเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขึ้นมา โดยที่ฐานขององค์พระนั้นยังคงความเป็นก้อนหินดั้งเดิมเอาไว้ และได้มีการแกะรูปสลักรูปเทพพนมและเทพถวายของให้พระพุทธองค์ประดิษฐานไว้ด้วย

พระพุทธรูปองค์ใหญ่ หรือที่ต่อมาใครๆก็เรียกว่า “พระองค์ธม” นี้ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาพนมกุเลนมานานเกือบหนึ่งพันปี โดยที่ในเวลาต่อมานั้นได้มีการสร้างโบสถ์ลอยฟ้าขึ้นมา เพื่อครอบคลุมองค์พระเอาไว้ มิให้ต้องตากแดด ตากฝนอย่างเดียวดาย และทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเขมรขึ้นมา เรียกว่า 20 ดอลลาร์ที่จ่ายให้ไปกับทางการของกัมพูชาก็เพื่อที่จะขึ้นมากราบพระใหญ่บนวัดแห่งนี้แหละ เพราะนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาวเขมร ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ ก็มีจุดหมายปลายทางที่ตรงนี้ทั้งนั้น

“ ใครมาถึงที่นี่แล้ว ก็จะต้องขึ้นมาไหว้พระบนนี้ เพราะที่นี่ เราถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของสองศาสนาที่สามารถเชื่อมโยงเข้ามาอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน น้ำจากลำธารที่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จากการบูชาองค์พระศิวะที่ไหลผ่านช่องโยนีของพระแม่อุมาเทวี ในขณะที่บนยอดเขา เราก็มีพระพุทธรูปที่เราเชื่อกันว่า เมื่อเราลำบากกาย ปีนป่ายขึ้นบันไดมาไหว้พระองค์นี้ได้ ก็เหมือนมีวาสนาต่อกัน และคำอธิษฐานนั้นจะเป็นจริงขึ้นมาด้วยใจที่ศรัทธาของเราเอง”

คนนำทางชาวพื้นเมืองของเรา กล่าวพลางชี้ให้เห็นถึงบรรดาคนเฒ่าคนแก่ และนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่ส่วนใหญ่เดินทางขึ้นมาสู่ยอดเขาขนมกุเลน เพื่อที่จะได้กราบไหว้พระพุทธรูป “พระองค์ธม” กันด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา

เรามาถึงวัดพระองค์ธมในช่วงบ่ายแก่ๆเกือบเย็นแล้ว หลังจากที่กลับลงมาจากเทวาลัยร้างที่บนยอดเขาพนมกุเลน ร้านค้าที่หน้าวัดซึ่งปกติจะคึกคักมากในตอนกลางวัน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวตอนนี้ชาวบ้านเก็บข้าวของหมดแล้ว ผมเดินขึ้นไปบนบันไดที่นำไปสู่วัดพระองค์ธมพร้อมกับช่างภาพ โดยมีเด็กๆข้างวัดสองสามคนพาขึ้นไปและพยายามอธิบายให้เราได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเป็นภาษาเขมร

ภูผาหินที่แกะสลักเป็นตั้งตระหง่านอยู่กลางวัด โดยมีบันไดทางขึ้นสองทางด้วยกัน บนยอดของหินศักดิ์สิทธิ์นั้น มีกั้นไม้และมุงหลังคาเหมือนอุโบสถ โดยภายในโบสถ์ลอยฟ้านั้น จะมีพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ของพระองค์ธม หรือ พระเจ้าใหญ่ประดิษฐานอยู่เกือบเต็มพื้นที่ และมีดอกไม้ธูปเทียนวางไว้ให้ได้จุดสักการะ

คนเขมรเชื่อกันว่า หากประสงค์สิ่งใด แต่ตั้งใจจะให้สมปรารถนา จะต้องมาขอพรที่พระเจ้าใหญ่ทั้งนั้น แม้กระทั่งผู้นำของกัมพูชาทั้งในอดีตและปัจจุบัน เมื่อมีงานสำคัญ ก็จะมาขอพรพระเจ้าใหญ่ที่วัดพระองค์ธมทั้งนั้น เล่ากันว่า มีผู้นำของเขมรท่านหนึ่ง เคยมาขอพรพระใหญ่ที่นี่ เพื่อที่จะให้ตนได้มีอำนาจขึ้นมาเหนือใคร และสุดท้าย ก็ได้ตามนั้นจริงๆ

น่าเสียดายในยุคสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ที่ผ่านมา พวกเขมรแดงไม่มีศาสนา ไม่นับถือสิ่งใด ไม่งั้นป่านนี้คงจะครองกัมพูชาตามความปรารถนาไปแล้ว นี่แหละที่เขาว่า มีของดีอยู่กับตัวแต่ไม่รู้จักขอ ก็เหมือนกับ “ลิงได้แหวน” หรือ “ไก่ได้พลอย”นั่นเอง....

ชมคลิปท่องเที่ยววัดแห่งนี้ที่นี่ 



ขอขอบคุณ

- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด

- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ

อาร์ม อิสระ

 วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 05.32 น.

ความคิดเห็น