เสียงโทรศัพท์กรีดกริ่งขึ้นมาในตอนเช้า….

ผมรีบลุกขึ้นมา งัวเงียเอื้อมมือไปยกหู แล้วจึงรู้ตัวว่าไม่ได้นอนอยู่ในห้องนอนของบ้านที่เมืองไทย

แต่ในวันนี้ ขณะที่นาฬิกาบนข้อมือบ่งบอกเวลา 06.00 น.นั้น เวลาในพื้นที่ของเกาะปีนังที่ผมกำลังตื่นขึ้นมาฟังเสียงปลุกจากโอเปอร์เรเตอร์ของโรงแรมโรยัล บันตัง ปีนัง ในตอนเช้าตรู่ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางนั้นหมุนเร็วไปกว่านาฬิกาของผมตามเส้นแบ่งเวลาอยู่ 1 ชั่วโมงเต็ม

ผมเดินทางมายังเกาะปีนังตั้งแต่เมื่อวานนี้พร้อมกับลูกชาย ตามคำเชิญของการท่องเที่ยวมาเลเซียประจำเกาะปีนังและประเทศไทย เพื่อให้มาเที่ยวชมคอนเสิร์ตนานาชาติในงานเทศกาล PENANG WORLD MUSIC FESTIVAL ซึ่งทางประเทศมาเลเซียได้จัดขึ้นที่บนเกาะปีนังซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหาดใหญ่ของเรา เพียงแค่ 215 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เรียกว่า สามารถเดินทางข้ามไปมาหาสู่กันได้สบายมาก

ที่สำคัญ บนเกาะปีนังนั้น แม้นักท่องเที่ยวชาวไทยจะไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ก็สามารถท่องเที่ยวที่นี่ได้อย่างสบายใจ เพราะชาวปีนังส่วนใหญ่ รู้ฟังภาษาไทยเสียเกือบค่อนเมือง ร้านค้า ร้านอาหาร หรือป้ายบางอย่างยังเขียนเอาไว้เป็นภาษาไทย เนื่องจากที่นี่ยังมีคนไทยอาศัยอยู่มากมาย

เกาะปีนังถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ปลอดภาษีอีกเกาะหนึ่งของมาเลเซียเช่นเดียวกับเกาะลังกาวี ที่อยู่เหนือขึ้นไป ไม่ไกลจากเกาะภูเก็ตของเรามากนัก เกาะเล็กๆแห่งนี้ แม้จะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ถือว่าเป็นเกาะที่สำคัญและผ่านวันเวลาแห่งประวัติศาสตร์มายาวนานที่มีหลายวัฒนธรรมรวมกันอยู่บนเกาะดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็น จีน มลายู ฮินดูและไทย รวมไปถึงชาวพม่าที่มาตั้งหลักปักฐานที่บนเกาะปีนังมานานจากการเดินทางร่อนเร่มาในมหาสมุทรอินเดีย เรียกได้ว่า มาเที่ยวปีนัง เราจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้พบ ได้เห็นเรื่องราวต่างๆมากมายบนเกาะท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยมากที่สุด

อย่างเช้าวันนี้ที่ผมก็กำลังนอนหลับอยู่อย่างสบายใจในห้องพักของโรงแรมโรยัล บินตัง ปีนัง บนเกาะปีนัง เกาะซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนของไทย ก่อนที่เราจะเสียดินแดนแห่งนี้ไป เมื่อสุลต่านแห่งเมืองไทรบุรียกเกาะแห่งนี้ให้เป็นเขตเช่าของอังกฤษเมื่อใน พ.ศ.2329 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ในครั้งนั้น ฟรานซิส ไลท์ลูกนอกกฏหมายของ พันเอกเนกัส ซึ่งเป็นชาวเมือง วู๊ดบริด์จ์ในเมือง ซัฟโฟล์คในประเทศอังกฤษ แต่ได้มาทำการค้าโดยการเปิดบริษัทส่วนตัวขึ้นมาที่เมืองมัทราสในประเทศอินเดียได้เดินทางมายังดินแดนแถบชายฝั่งทะเลอันดามันด้านตะวันตกเมื่อสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช และมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองถลางจนกระทั่งสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีกับสุลต่านแห่งเมืองไทรบุรีจนกลายเป็นมิตรสหายของกันและกัน

สมัยนั้นอังกฤษยังไม่มีท่าเทียบเรือของตนในแถบนี้ สุลต่านเมืองไทรบุรีจึงได้เสนอผ่านฟรานซิส ไลท์ให้มีใบบอกไปยังข้าหลวงอังกฤษซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท อีสต์ อินเดีย เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยขับไล่พวกบูกิสออกไปจากดินแดนของไทรบุรี โดยที่จะยกดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเกาะหมาก หรือ เกาะปีนังแห่งนี้ให้เป็นเขตเช่าของอังกฤษเป็นการตอบแทน

แต่ปรากฏว่าอังกฤษ บอกปัดปฏิเสธข้อเสนออันนี้ไปอย่างไม่มีเยื่อใย จนกระทั่งเกิดสงคราม 7 ปี ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งบุกเข้ายึดครองเมืองมัทราสได้ทั้งทางบกและทางทะเล อังกฤษจึงจำเป็นที่จะต้องมองหาเมืองท่าแห่งใหม่ ข้อเสนอของฟรานซิส ไลท์จึงถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยอังกฤษมอบหมายให้ฟรานซิส ไลท์ เป็นคนดำเนินการกับสุลต่านแห่งเมืองไทรบุรี โดยที่จะมอบเงินค่าเช่าให้เป็นรายปี

เพราะคิดว่าอังกฤษคงจะหยิบยื่นความช่วยเหลือในเรื่องการต่อต้านผู้รุกรานเมืองไทรบุรี สุลต่านจึงได้ยินยอมทำสัญญาให้อังกฤษเช่าเกาะแห่งนี้ได้โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลา ในปี พ.ศ. 2329 ฟรานซิส ไลท์จึงได้อพยพผู้คนเข้ามาสู่เกาะปีนังซึ่งในครั้งนั้นยังเป็นเกาะที่รกร้างและมีผู้คนซึ่งเป็นชาวประมงอาศัยอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน

กองทัพของฟรานซิส ไลท์ได้ปรับพื้นที่สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาบนเกาะแห่งนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2329 เขาจึงได้อัญเชิญธงยูเนี่ยนแจ๊คอันเป็นธงชาติของอังกฤษขึ้นสุ่ยอดเสาของเกาะปีนังเป็นครั้งแรกและเปลี่ยนชื่อเกาะเสียใหม่ว่า “ เกาะปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ ” เพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์มกุฏราชกุมารของอังกฤษซึ่งตรงกับก่อนวันประสูติหนึ่งวัน

แต่หลังจากที่ฟรานซิส ไลท์ เข้าครอบครองเกาะปีนังแล้วนั้น ก็ปรากฏว่าอังกฤษหาได้ให้ความช่วยเหลือเมืองไทรบุรีในการต่อต้านศัตรูไม่ เพราะนโยบายของอังกฤษขณะนั้นจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเกี่ยวกับการเมืองของประเทศใดๆในแถบภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อไทยยกกองทัพมาปราบเมืองไทรบุรีซึ่งแข็งข้อไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ แต่อังกฤษกลับเพิกเฉยจนเมืองไทรบุรีต้องตกเป็นของไทยอีกครั้ง จึงทำให้สุลต่านแห่งเมืองไทรบุรีทรงแค้นเคืองในเรื่องนี้เป็นอันมาก และพยายามที่จะหาทางยึดเกาะปีนังกลับคืนมา ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ

ในที่สุดสุลต่านแหง่เมืองไทรบุรีจึงจำเป็นต้องยินยอมทำสัญญาสงบศึกกับอังกฤษในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2334 โดยอังกฤษสัญญาว่าจะจ่ายค่าเช่าเกาะปีนังให้เป็นรายได้ปี ละ 6,000 เหรียญ จากที่เคยตกลงกันไว้ 10,000 เหรียญ

ระยะเวลา 8 ปี หลังจากที่เข้ามาบุกเบิกสร้างเกาะปีนังที่เคยเป็นเกาะร้างกลางทะเลจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่เจริญมั่งคั่งขึ้นมาจนสามารถทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมากมายจนทำให้ประเทศอังกฤษเริ่มหันมามองดินแดนแถบนี้อย่างจริงจังขึ้นมาบ้าง ในที่สุดฟรานซิส ไลท์ มหามิตรที่ดีที่สุดของสุลต่านแห่งเมืองไทรบุรีก็ได้เสียชีวิตด้วยโรคไข้มาเลเรียบนดินแดนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2337 ขณะที่มีอายุได้ 54 ปี

อีก 6 ปี ต่อมา หลังจากที่ฟรานซิส ไลท์ได้เสียชีวิตไปแล้ว อังกฤษจึงได้ทำสัญญาขอเช่าดินแดนบางส่วนบนแผ่นดินใหญ่ตรงข้ามกับเกาะปีนังขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเพราะปลูกเนื่องจากบนเกาะปีนังนั้นไม่สามารถที่จะผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรได้ ซึ่งอังกฤษได้ให้ชื่อดินแดนใหม่แห่งนี้ว่า “ Province Wellesley” อันเป็นที่ตั้งปัจจุบันของเมือง บัตเตอร์เวิร์ธนั่นเอง

ในขณะเดียวกันอังกฤษก็พัฒนาดินแดนบนเกาะปีนังขึ้นมาจนกระทั่งกลายเป็นเมืองท่าที่เจริญและมั่งคั่งที่สุดในแถบมลายู โดยให้ชื่อเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าบนเกาะแห่งนี้ว่า เมืองยอร์ช ทาวน์ ( George Town )

หากจะว่าไปแล้วนั้น แม้ว่าเกาะปีนัง หรือเกาะหมากจะเป็นเขตเช่าของอังกฤษ จนกระทั่งกลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียหลังจากที่ประเทศแห่งนี้ได้รับเอกราชกลับคืนเมื่อกึ่งพุทธกาลที่ผ่านมาประมาณปี พ.ศ. 2500 นั้น แต่ในขณะเดียวกัน ในความรู้สึกของคนไทยนั้น ก็ไม่เคยไม่เคยมีใครคิดที่จะแบ่งแยกเกาะปีนังออกไปจากความรู้สึกที่คุ้นเคยได้ คล้ายกับเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดกันมานานนับเป็นร้อยๆปี

และในความรู้สึกนี้ คือความผูกพันธ์ที่ยากจะแยกออกจากกันได้….

ลูกหลานชาวไทยหลายคนเคยเดินทางมาศึกษาที่เกาะปีนัง ซึ่งในสมัยเมื่อก่อนนั้นเราถือกันว่า เกาะแห่งนี้ คือสถานที่ซึ่งจะสามารถร่ำเรียนและฝึกฝนภาษาอังกฤษได้อย่างแตกฉาน ลูกหลานใครได้มาเรียนที่เมืองนี้ ก็จะถือว่าได้ผ่านสถาบันการศึกษาด้านภาษาที่ดี ที่พอจะเชิดหน้าเชิดตาให้วงศ์ตระกูลได้

และดูเหมือนว่าในอดีตที่ผ่านมาจะมีศิษย์เก่าจากโรงเรียนคอนแวนต์ในปีนังคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวไทยและต่อมาได้มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วโลกในนามของ “นางงามจักรวาล” นั่นก็คือ คุณอาภัสรา หงส์สกุล

สำหรับการเดินทางสู่เกาะปีนังนั้น ในสมัยก่อนทำได้อย่างเดียว นั่นก็คือเดินทางไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเมืองบัตเตอร์เวิร์ธซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะปีนังที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่และลงเรือเฟอรี่ข้ามเกาะไปยังปีนัง ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันนี้ รัฐบาลของมาเลเซียได้ทำการสร้างสะพานเชื่อมเกาะปีนังกับแผ่นดินใหญ่ขึ้นมาซึ่งถือได้ว่าเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก คือยาวถึง 13.5 กิโลเมตร แต่ทว่าผู้คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องข้ามไปมาระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ก็ยังอาศัยเรือเฟอรี่แห่งนี้ข้ามไปมาหาสู่กัน เนื่องจากค่าข้ามเรือนั้นไม่ได้แพงมากมายสำหรับผู้คนที่ต้องใช้สัญจรไปมา และที่สำคัญมากกว่า ก็คือจะได้ถ่ายภาพสะพานข้ามเกาะที่ยาวถึง 13.5 กิโลเมตรนั้นกลับไปเป็นที่ระลึกอีกด้วย

จากท่าเรือเฟอรี่ที่ตั้งอยู่บนถนนเจตีในเกาะปีนัง มาขึ้นฝั่งที่บัตเตอร์เวิร์ธนั้น จะมีการคิดราคาค่าข้ามเรือต่อคนเป็นรายหัว ในขณะที่รถยนต์จะข้ามกี่คนก็ได้ แต่คิดเฉพาะค่าข้ามฝั่งเฉพาะด้านขามาคือ จากท่าเรือที่บัตเตอร์เวิร์ธเท่านั้น ในอัตราคันละ 8 ริงกิต ต่อรถยนต์หนึ่งคัน ส่วนรถตู้กับรถบัสโดยสารนั้น คันละ 12 ริงกิต และ 25 ริงกิตตามลำดับ ส่วนขากลับนั้นฟรี ซึ่งเรือเฟอรี่ของปีนังนั้นจะเปิดให้บริการอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการข้ามฝั่งนานครั้งละประมาณ 15 นาที…

สำหรับผม นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางมาสู่เกาะปีนัง ผมเดินทางมายังเกาะแห่งนี้ หลังจากที่เคยจากไปในสมัยเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในสมัยเด็กๆหลังจากที่เรียนจบการศึกษาจากโรงเรียนประจำจังหวัดในพัทลุงแล้ว พ่อกับแม่ก็ส่งให้เดินทางมาเรียนต่อเพื่อฝึกฝนด้านภาษาที่นี่ ด้วยเหตุที่เกาะปีนังแห่งนี้อยู่ใกล้กับหาดใหญ่ เพียงแค่นั่งรถไฟเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง

ดังนั้นบรรดาผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ในภาคใต้ จึงมักจะนิยมที่จะส่งบุตรหลานของตนให้เดินทางมาเรียนต่อที่นี่มากมาย เพราะการที่ได้เข้ามาศึกษาต่อที่ปีนังนั้น นอกจากค่าเล่าเรียนจะถูกแล้ว ยังจะได้เรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับภาษาจีนด้วยกัน เนื่องจากในปีนังส่วนใหญ่นั้นจะประกอบด้วยชาวจีนเสียกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นการเดินทางในครั้งนี้ของผม จึงเหมือนกับการได้ย้อนคืนอดีตอีกครั้งหนึ่งซึ่งขาดหายไปในช่วงของกาลเวลาแห่งความทรงจำที่ยาวนาน ในขณะที่ดูเหมือนว่า แม้วันเวลาจะผ่านไปอย่างเนิ่นนาน แต่ปีนังก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเหมือนอย่างที่คิดเอาไว้ โดยเฉพาะที่ในเมือง ยอร์ชทาวน์นั้น ทางการของรัฐปีนังยังคงอนุรักษ์อาคารเก่าๆเอาไว้ให้เป็นเมืองวัฒนธรรม ส่วนความเจริญสมัยๆใหม่ ก็ย้ายไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเกาะด้านมหาสมุทรอินเดีย

ถนนหนทางสายเก่าๆที่เราเคยเดินท่อมๆไปในยามเย็นที่ว่างจากการเรียนหนังสือก็ยังคงเหมือนเก่า แคบ เล็ก ไม่ได้ขยับขยาย หากแต่ในขณะเดียวกัน ก็มีห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างมากมายในพื้นที่ซึ่งแต่ก่อนนั้นยังว่างเปล่ารกเรื้อ และสิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่เหล่านี้ ก็หาได้ทำให้ความรู้สึกอบอุ่น คุ้นเคยที่มีต่อเกาะปีนังนั้นเปลี่ยนไปไม่…

ดังนั้นในวันแรกที่มาถึง เราจึงพากันตรงไปที่ริมทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปลายแหลมบนปีนังก่อน ซึ่งบนสถานที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งนั้น เคยเป็นดินแดนที่ ฟรานซิส ไลท์ ได้ขึ้นมามาเหยียบเกาะปีนังเป็นครั้งแรก และได้สร้างป้อมปืนเอาไว้ที่ชายฝั่งทะเลแห่งนี้ ที่ใครๆเรียกกันมาว่า “ป้อมปืน คอนวาลิส” ซึ่งปัจจุบันนี้ทางด้านหน้าของป้อมคอนวาลิส ทรงรัฐบาลได้ให้มีการสร้างกำแพงเขื่อนเล็กๆขึ้นมาเพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวปีนังที่จะได้มานั่งชมทัศนียภาพที่งดงามของชายฝั่งทะเลในยามเย็นซึ่งงานเทศกาล PENANG WORLD MUSIC FESTIVAL ก็จัดขึ้นที่ในลานกว้างข้างๆป้อมปืนแห่งนี้นั่นเอง

ห่างออกไปทางด้านหลังของป้อมปืนคอนวาลิสที่อยู่ติดกันบนถนนเจตี นั้นก็คือ หอนาฬิกาขนาดใหญ่ที่สูงถึง 60 ฟิต ซึ่ง Cheah Chen Eok มหาเศรษฐีของเมืองปีนังได้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. 2440 เพื่อถวายแด่พระราชินีวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 60 ชันษา และต่อมาจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งทุกคนที่ได้มาเยือนเกาะแห่งนี้จะต้องไปเยี่ยมชม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองไปในที่สุด.......

ขอขอบคุณ -Tourism Malaysia

-สายการบินนกแอร์

- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด

- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ

- บริษัท BMC TRAVEL กัวลาลัมเปอร์

ความคิดเห็น